โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

          มื่อท่านกรรมการอำนวยการโรงเรียนเรียกตัวไปพบ พร้อมกับมอบหมายให้มาเขียนเรื่องราวนำเสนอผ่านหน้าเวบนี้ ท่านได้กำชับมาด้วยว่าให้ไปคิดชื่อคอลัมน์มาด้วย นึกอยู่นานว่าจะตั้งชื่อคอลัมน์นี้ว่าอะไรดี สุดท้ายนึกขึ้นได้ว่าเมื่อผมจบจากโรงเรียนไปปีแรก ได้รับเลือกให้ร่วมเล่นละครพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เรื่อง “ฉวยอำนาจ” มี “อาจือ” วิจิตร คุณาวุฒิ นักเรียนเก่าอาวุโส ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” ของเมืองไทย เพราะตั้งแต่ท่านทำภาพยนตร์มาท่านก็กวาดตุ๊กตาทองไว้คนเดียวกว่า ๓๐ ตัว เป็นผู้กำกับการแสดง

          ละครเรื่องนี้มีผู้แสดงหลากหลายอายุ ตั้งแต่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงอายุกว่า ๘๐ ปี เรื่อยลงมาจนถึงรุ่นเพิ่งจบใหม่อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี เช่นผู้เขียนและเพื่อน ๆ ที่แสดงเป็นพลทหาร สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ใช่นักเรียนเก่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจจะงงว่า แล้วคนที่อายุต่างกันมากเช่นนี้สามารถมาร่วมงานกันได้อย่างไร? เมื่อท่านติดตามอ่านคอลัมน์นี้ต่อ ๆ ไปก็คงจะได้คำตอบว่า นักเรียนเก่าโรงเรียนนี้แม้อายุจะต่างกันเป็นสิบ ๆ ปี แต่ก็สามารถคุยกันได้เป็นวัน ๆ โดยไม่มีอาการเคอะเขิน

          ละครฉวยอำนาจนั้นได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง ๙ บางขุนพรหมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ ก่อน แล้วท่านนายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ขอให้ไปแสดงออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง ๓ ที่หนองแขมซึ่งเวลานั้นอยู่ไกลสุดกู่เลยทีเดียวอีกครั้ง จบการแสดงออกอากาศทางโทรทัศน์ครั้งหลังแล้ว สมาคมนักเรียนเก่าฯ ได้จัดเลี้ยงขอบคุณที่โรงแรมราชศุภมิตรของนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงประจวบ บุรานนท์

          ในวันเลี้ยงขอบคุณนั้น ศาสตราจารย์สรรเสริญ ไกรจิตติ นายกสมาคมนักเรียนเก่าฯ ในเวลานั้นได้กล่าวขอบคุณนักเรียนเก่ารุ่นปู่ รุ่นพ่อที่กรุณาสละเวลามาร่วมแสดงด้วยความจงรักภักดี พลันคุณพระมหามนตรีศรีองครักษ์สมุห (ฉัตร โชติกเสถียร) นักเรียนเก่าอาวุโสในวัย ๘๐ เศษ ท่านชิงกล่าวขึ้นมาในทันทีว่า “ไม่ใช่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ หรือรุ่นลุง ต้องเรียกว่ารุ่นพี่ เพราะล้นเกล้าฯ ทรงนับว่าพวกเราเป็นลูกของพระองค์ เราทุกคนจึงเป็นพี่น้องร่วมพ่อเดียวกัน”

          จากคำพูดของคุณพระมหามนตรีฯ ครั้งนั้น ประกอบกับคำสั่งเสียของบรรดานักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเมื่อร่วม ๆ ๔๐ ปีที่แล้ว ที่ท่านกล่าวกับผู้เขียนว่า ตัวท่านเหล่านั้นนับวันก็เหมือนไม้ใกล้ฝั่งที่นับวันจะร่วงโรงลงไป คงต้องฝากความหวังไว้ที่ผู้เขียนให้ช่วยสืบทอดเรื่องราวต่อจากท่านเหล่านั้น แล้วนำไปถ่ายทอดแก่น้อง ๆ สืบไป เมื่อได้รับมอบหมายให้มาถ่ายทอดเรื่องเก่า ๆ ผ่านหน้าเวบนี้ จึงขอขนานนามคอลัมน์นี้ว่า “ฝากเรื่องราวไว้กับน้อง ๆ

          ในฐานะที่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทุกคนล้วนได้ชื่อว่า “เด็กในหลวง” ประจวบกับอีกไม่กี่วันก็จะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ ๖๐ พรรษาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะเริ่มฝากเรื่องราวไว้กับน้อง ๆ ด้วยเรื่องเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

          พระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารของไทยเรานี้ เพิ่งจะเริ่มมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ไปภายหลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต ใน พ.ศ. ๒๔๒๘ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๒๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์แรก แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ หรือ “ทูลกระหม่อมใหญ่” พระองค์นี้ทรงดำรงพระชนมายุมาได้เพียง ๑๗ พรรษาเศษก็ทรงพระประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ถัดมาอีก ๒ สัปดาห์ก็ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสพระองค์โต คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่สอง

 

 

การประชุมถวายเครื่องราชอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ณ สถานอัครราชทูตสยามกรุงลอนดอน

เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗

 

          แต่เนื่องจากเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์โตนั้นประทับทรงศึกษาวิชาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยยศที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพันเอก พระยาเสมอใจราช (ทองดี โชติกเสถียร – ต่อมาเป็น จางวางโท นายพลตรี พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี) ซึ่งเป็นคุณปู่ของ “พี่อ๋อง” นรฤทธิ์ โชติกเสถียร โอวี ๔๐ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์เชิญเครื่องราชอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออกไปถวายที่ประเทศอังกฤษ

          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์ที่สองนี้ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับแต่นั้นมาแผ่นดินสยามก็ไม่มีการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชอีกเลย ตราบจนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระมหากรุณาสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

เมื่อทรงพระเยาว์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งมีท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์ ธิดาคนหนึ่งของท่านอดีตผู้บังคับการพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) เป็นอาจารย์ใหญ่

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ

และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ประทับทอดพระเนตรการแสดงเรื่อง “เฮเลน ออฟ ทรอย”

ในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัล ณ วชิราวุธวิทยาลัย

วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

 

          อนึ่ง ก่อนที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะเสด็จเข้าทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา ท่านผู้กำกับคณะและหัวหน้านักเรียนในเวลานั้นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายเครื่องแบบนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแด่สมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมาเมื่อทรงเจริญพะชนมายุที่จะทรงเป็นลูกเสือสำรองแต่ในเวลานั้นโรงเรียนจิตรลดายังมิได้จัดตั้งกองลูกเสือ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จมาเข้าประจำกองลูกเสือที่วชิราวุธวิทยาลัย โดยมีพระยาภะรตราชา ผู้บังคับกองลูกเสือวชิราวุธวิทยาลัยเป็นผู้กระทำพิธีเข้าประจำกองถวาย ต่อจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้เข้าไปแข่งขันฟุตบอลกับทีมโรงเรียนจิตรลดาซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงร่วมการแข่งขันที่สนามโรงเรียนจิตรลดาอีกหลายคราวจนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ต่างประเทศ จึงอาจจะนับได้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ทรงเป็นนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเหมือนกัน

          ครั้นทรงจบการศึกษาและเสด็จนิวัติพระนครแล้ว ก็ทรงรับพระราชธุระเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วชิราวุธวิทยาลัยอยู่เสมอ ๆ นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในรุ่นต่อ ๆ มาจึงได้มีโอกาสเฝ้าแหนและถวายการรับใช้โดยใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอีกครั้ง และได้ทรงพระมหากรุณาให้คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้เฝ้าทูลละอองพระบาทตามโอกาสอันควรเสมอมาตราบจนถึงปัจจุบัน ยิ่งเมื่อครั้งได้ชมข่าวในพระราชสำนักเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ คราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จออกแทนพระองค์ ณ วังศุโขทัย พระราชทานพระราชวโรกาสให้ท่านผู้บังคับการ ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ นำคณะนักเรียนที่จะบรรพชาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗ รอบ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานผ้าไตร ซึ่งในวันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้บังคับการและนักเรียนนั่งเฝ้าทูลละอองพระบาทเฉกเช่นคุณมหาดเล็กในพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณพิเศษที่พระราชทานเฉพาะแต่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยผู้เป็นข้าในพระองค์เท่านั้น

          ในส่วนพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นั้นเล่า นอกจากจะเสด็จพระราชสมภพในปีมะโรงเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เมื่อเรกเสด็จพระราชสมภพนั้นผู้ใหญ่หลายท่านกล่าวไว้ตรงกันว่า ทรงเป็นเสมือนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาพระราชสมภพอีกครั้ง ครั้นทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้นคำกล่าวนั้นก็ดูจะมีน้ำหนักมากขึ้น ด้วยเป็นที่ประจักษ์ว่าทรงโปรดการเป็นทหารและทรงสนพระราชหฤทัยในวรรณคดีไทยเป็นพิเศษ แต่ที่อดมิได้ที่จะไม่กล่าวถึงเลยก็คือ พระราชจริยาวัตรที่ได้ประจักษ์ด้วยสายตาตนเองเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปิดพระบรมราชะประทรรศนีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยที่พื้นที่หอวชิราวุธานุสรณ์ชั้นสามซึ่งเป็นที่ตั้งพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ นั้นค่อนข้างคับแคบ การจัดพิธีต่าง ๆ ในเบื้องต้นจึงต้องจัดกันที่โรงละครชั้นล่าง เสร็จพิธีแล้วจึงเชิญเสด็จขึ้นบันไดไปทรงเปิดพระบรมราชะประทรรศนีย์ฯ ที่ชั้น ๓ ทันทีที่เสด็จพระราชดำเนินถึงชั้นที่ ๓ ก็เสด็จพระราชดำเนินตรงไปทรงคมสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประธานกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ประทับรอรับเสด็จฯ อยู่ ณ ที่นั้น ทรงมีพระราชปฏิสัณฐานด้วยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงทรงพระดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่อไป

          ก่อนเสด็จพระราชดำเนินลงจากชั้นสามมายังชั้นสองของหอวชิราวุธานุสรณ์ ได้มีรับสั่งถามด้วยทรงห่วงใยในพระพลานามัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ เสด็จขึ้นมาได้อย่างไร?” ผู้เขียนได้กราบบังคมทูลตอบว่า “เสด็จโดยลิฟท์พระพุทธเจ้าข้า” และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงไปทอดพระเนตรพระบรมรูปที่ห้องชั้น ๒ เมื่อผู้เขียนกราบบังคมทูลว่า “ห้องนี้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จำลองมาจากห้องทรงพระอักษรที่พระที่นั่งบรมพิมาน” ก็มีรับสั่งว่า “มิน่าล่ะ ดูคุ้น ๆ” ครั้นทอดพระเนตรพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งครบทุกพระองค์แล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ

พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ในงานพระราชทานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัล ณ วชิราวุธวิทยาลัย

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐

ในภาพ อนุสนธิ์ ชินวรรโณ กำลังกราบบังคมทูลรายงานการทดลองทางวิทยาศาสตร์

 

          ตลอดเวลาที่ทอดพระเนตรพระบรมรูปแต่ละพระองค์นั้น ได้ มีรับสั่งถามเรื่องฉลองพระองค์รวมตลอดทั้งพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ด้วยความสนพระราชหฤทัย การที่ทรงพระมหากรุณาพระราชทานความเป็นกันเองแก่ผู้เขียนนั้น อาจจะเป็นเพราะเมื่อได้รับเชิญไปเฝ้าทูลละอองพระบาทในคราวนั้นผู้เขียนยังเป็นครูวชิราวุธวิทยาลัยจึงแต่งเครื่องแบบครูวชิราวุธวิทยาลัยไป และคงจะทรงนึกถึงนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่ได้กราบบังคมทูลถวายงานการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินมาในงานพระราชทานประกาศนียบัตร ณ วชิราวุธวิทยาลัยในอดีต

          พระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้พระราชทานไว้แก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้นมีมากเกินกว่าที่จะบรรยายได้หมดในพื้นที่ที่จำกัดเช่นนี้ ฉะนั้นในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษาในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนี้ จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่านได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพร้อมกันตั้งจิตถวายไชยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ทรงเป็นพระมิ่งมงคลแห่งเหล้าราชบริพารในวชิราวุธวิทยาลัยสืบไปชั่วกาลนาน

 

 
 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |