โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๒. วชิราวุธวิทยาลัย
เป็นโรงเรียนรัฐ หรือ เอกชน

 

          วชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนรัฐหรือโรงเรียนราษฎร์ คำถามนี้ตอบยาก เพราะอะไรคงต้องรบกวนให้ทนอ่านไปจนจบบทความตอนนี้ แล้วจะเห็นด้วยกับผู้เขียน แต่ถ้าหยิบยกคำถามนี้ไปถามผู้คนทั่วไปซึ่งรู้จักแต่ว่า ครูและนักเรียนโรงเรียนนี้มีเครื่องแบบพิเศษที่ไม่เหมือนโรงเรียนใด ๆ ในประเทศไทยแล้ว ก็คงจะได้รับคำตอบไปคนละทิศคนละทางเป็นแน่

 

 

จางวางเอก พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

พร้อมด้วยคณาจารย์และหม่อมพยอม แม่บ้านคณะเด็กเล็ก โรงเรียนมหาดเล็กหลวง


 

          การที่ครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมีเครื่องแบบที่แตกต่างไปจากโรงเรียนอื่น ๆ นั้น เป็นเพราะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทั้งครูและนักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้ง ๔ แห่ง คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ราชวิทยาลัย มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และพรานหลวง ล้วนมีฐานะเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็ก และอยู่ในบังคับ “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวในพระราชสำนัก” ทั้งสิ้น
          แต่ส่วนราชการกรมมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ก็เป็นส่วนราชการพิเศษในพระองค์ที่มิได้ขึ้นอยู่ในกระทรวงทบวงการใด ๆ ทั้งสิ้น หากแต่เป็นส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
          เหตุที่กรมมหาดเล็กเป็นส่วนส่วนราชการพิเศษเช่นนั้น ทรงพระราชบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ว่า เมื่อแรกเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ขอให้ทรงแยกรายจ่ายส่วนพระองค์ออกจากการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เมื่อทรงตกลงแยกการใช้จ่ายส่วนพระองค์ออกไปจากการใช้จ่ายเงินแผ่นดินแล้ว กระทรวงวังซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบการพระราชพิธีต่าง ๆ และกรมมหาดเล็กซึ่งมีหน้าที่รับใช้ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงถูกแยกออกจากส่วนราชการทั้งหลายเป็นส่วนราชการในพระองค์ และเพื่อจะแยกให้เห็นได้ชัดแต่ไกลว่าผู้ใดเป็นข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักและผู้ใดเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการในพระราชสำนักใช้แผ่นทาบคอเสื้อที่เราเรียกกันติดปากว่า “แผงคอ” แทนการติดอินทรธนูขวางปลายบ่าแบบข้าราชการพลเรือนสามัญ

          นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเครื่องประกอบเครื่องแต่งกายของข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักให้เด่นชัดยิ่งขึ้น คือ ข้าราชการกระทรวงวังโปรดให้สวมเสื้อดำปักดิ้นทอง หรือเสื้อขาวติดดุมทอง แผงคอพื้นดำทาบแถบทอง และกางเกงดำแถบทอง ส่วนข้าราชการกรมมหาดเล็กนั้นโปรดให้เปลี่ยนเสื้อและกางเกงเป็นสีน้ำเงิน ลายปัก ดุม และแถบต่าง ๆ เปลี่ยนเป็นเงิน เครื่องแบบครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันจึงมีที่มาต่อเนื่องมาจากเครื่องแบบข้าราชการกรมมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๖

          ถึงแม้ครูและนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์จะมีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักดังได้กล่าวแล้ว แต่เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ขึ้นแล้ว และในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้โรงเรียนราษฎร์ที่เปิดการสอนอยู่ก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนั้นจะมีผลบังคับใช้ ให้ยื่นความจำนงต่อเสนาบดีกระทรวงธรรมการเพื่อจะดำรงโรงเรียนต่อไป เมื่อกระทรวงธรรมการได้ตรวจสอบคำร้องและหลักฐานประกอบแล้วก็จะออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้โรงเรียนนั้น ๆ เปิดการสอนต่อไป

 

 

ประกาศกระทรวงธรรมการอนุญาตให้โรงเรียนราษภร์เปิดดำเนินการต่อไป

 

          เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟิ้อ พึ่งบุญ) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือน่าจะเทียบได้กับนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ราชวิทยาลัย และพรานหลวง จึงได้ยื่นคำขอดำรงโรงเรียนทั้งสามต่อเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และได้รับอนุญาตให้ดำรงโรงเรียนต่อไปเป็นลำดับที่ ๑, ๒ และ ๔ ของมณฑลกรุงเทพฯ โดยโรงเรียน
ราชินีได้รับอนุญาตให้ดำรงโรงเรียนเป็นลำดับที่ ๓
          ส่วนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ที่ตำยบห้วยแก้วเชิงดอยสุเทพนั้น พระยาราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน -
ต่อมาเป็นพระยาปรีชานุสาสน์) ผู้บังคับการโรงเรียนก็ได้ยื่นคำขอดำรงโรงเรียนต่อธรรมการมณฑลพายัพที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ธรรมการมณฑลพายัพเห็นว่าเอกสารยังไม่เรียบร้อยให้โรงเรียนชี้แจงเพิ่มเติม แต่เวลานั้นผู้บังคับการพานักเรียนมาซ้อมรบเสือป่า
ที่นครปฐม ธรรมการมณฑลเลยส่งเอกสารตามมากรุงเทพฯ แล้วให้ท่านผู้บังคับการชี้แจงกับกระทรวงธรรมการโดยตรง สุดท้าย
กระทรวงธรรมการก็ออกประกาศให้โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เป็นโรงเรียนราษฎร์หมายเลข ๑ ของมณฑลพายัพ

          ต่อมาในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเหตุคับขันต้องทรงตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนักเพื่อให้ค่าใช้จ่ายเข้าสู่ดุลยภาพ ซึ่งก็เป็นเรื่องภายในพระราชสำนักที่มิได้ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแต่ประการใด แต่ก็มีผู้เจตนาไม่ดีหยิบยกไปโจมตีว่าทรงใช้จ่ายฟุ่มเฟือยขนประเทศชาติจะล่มจม ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ในเมื่อทรงแยกการใช้จ่ายส่วนพระองค์ออกจากเงินแผ่นดินโดยเด็ดขาดแล้ว เมื่อต้องตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนักลง ก็เป็นผลมาจากการใช้จ่ายในเรื่องส่วนพระองค์ แล้วการใช้จ่ายเงินส่วนพระองค์จะไปส่งผลให้ประเทศชาติล่มจมได้อย่างไร?
          เนื่องจากต้องทรงตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ลงในคราวนั้น จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เมื่อสิ้นปีการศึกษา ๒๔๖๘ แต่ยังมิทันที่จะยุบเลิกโรงเรียนตามพระราชประสงค์ในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ (สมัยนั้นเปลี่ยน พ.ศ. กันในวันที่ ๑ เมษายน) ก็พอดีเสด็จสวรรคตเสียก่อน
          เมื่อล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว มีการจัดระเบียบราชการภายในพระราชสำนักโดยยุบกรมมหาดเล็กรวมเข้ากับกระทรวงวัง และมีการยุบส่วนราชการในกรมมหาดเล็กบางส่วนลง เช่น ยุบเลิกกรมมหรสพ และกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่บังคับบัญชาโรงเรียนทั้ง ๔ แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชธรรมนิเทศ เพียร ไตติลานนท์) ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย ต่างก็ถวายฎีกาคัดค้าน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ส่วนโรงเรียนพรานหลวงนั้นถูกยุบเลิกไปในคราวนั้น
          ในการจัดระเบียบราชการในพระราชสำนักคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้มีพระราชดำริว่า การที่โรงเรียนซึ่งเป็นสถานศึกษามารวมอยู่ในพระราชสำนักนั้นเป็นการไม่เหมาะสม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ครูวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้นจึงโอนไปเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมาตั้งแต่รวมโรงเรียน แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะรัฐมนตรีในสมัยประชาธิปไตยท่านกลับเห็นว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนราษฎร์แต่ครูเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดูเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงให้ปลดครูทั้งหมดออกจากราชการรับบำเหน็จบำนาญตามแต่กรณี มติคณะรัฐมนตรีกังกล่าวจึงน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนราษฎร์หรือในยุคปัจจุบันเรียกว่า โรงเรียนเอกชน แต่อาจจะต่างจากโรงเรียนเอกชนอื่น ๆ ตรงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกของโรงเรียน

 

 
 
 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |