โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๔. โขนบรรดาศักดิ์ (๑)

 

 

 

          เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ และวันอาทิตย์ที่ ๒ กันยายนที่ผ่านมา วชิราวุธวิทยาลัยได้จัดให้มีการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกพรหมมาศ ที่โรงละครศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์ จึงใคร่ขอถือโอกาสนี้บอกเล่าเรื่องราวของโขนในประวัติศาสตร์วชิราวุธวิทยาลัยฝากไว้กับน้อง ๆ
          โขนนั้นกล่าวกันว่า เป็นการแสดงชั้นสูงของไทย แต่เดิมมามีแต่โขนหลวงและโขนเชลยศักดิ์ โขนหลวง คือ โขนของพะมหากษัตริย์ ส่วนโขนเชลยศักดิ์นั้นหมายถึง โขนของเอกชนชนทั่วไป ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จนิวัติพระนครแล้วได้ทรงจัดตั้ง “โขนสมัคเล่น” ขึ้นอีกประเภทหนึ่ง เป็นคณะโขนที่ผู้แสดงล้วนเป็นมหาดเล็กข้าในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และโดยที่ผู้แสดงทั้งหมดมิได้เป็นผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยการแสดงเช่นพวกโขน ละคร ทั้งหลาย ในเวลาต่อมาโขนคณะนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โขนบรรดาศักดิ์”
          โขนบรรดาศักดิ์ หรือโขนสมัครเล่นนี้เล่ากันมาในหมู่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงว่า มีต้นกำเนิดมาจากความซุกซนของเด็ก ๆ ที่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งเวลานั้นประทับอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นจากการที่มหาดเล็กเด็ก ๆ เหล่านั้นได้ไปเที่ยวงานวัดแห่งหนึ่งบางท่านก็ว่าเป็นงานวัดโพธิ์ แต่บางท่านก็แย้งว่าเป็นงานภูเขาทองวัดสระเกศ ซึ่โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะเป็นงานวัดสระเกศเพราะยังมีร่องรอยของงานเดือน ๑๒ ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

 

พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)

 

          ท่านเล่ากันมาว่า ยามว่างจากการเล่าเรียนและล้นเกล้าฯ เสด็จไปทรงงานข้างนอกยังไม่เสด็จกลับมานั้น บรรดามหาดเล็กเด็ก ๆ ทั้งหลายอยู่ว่าง ๆ ก็เล่นโขนเป็นยักษ์เป็นลิงกันไปตามเรื่อง แล้ววันหนึ่งไปเที่ยวงานวัดกัน หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ [] บุตรชายคนเล็กของพระนมทัด [] ซึ่งเป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทมในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เกิดไปเห็นหัวโขนกระดาษหัวเล็ก ๆ ขนาดใส่หัวแมวได้ จึงซื้อกลับมา แล้วจะเอาไปสวมหัวแมวให้ออกท่าเหมือนยักษ์ลิงรบกันหรือไม่ ท่านผู้เล่าเรื่องนี้มิได้ขยายความไว้ เพียงแต่เล่าว่า เมื่อหม่มหลวงฟื้นกลับมาถึงพระราชวังสราญรมย์แล้ว ก็ได้ชักชวนมหาดเล็กเด็ก ๆ มาชุมนุมกันที่ห้องพักของท่าน แล้วแจกหัวโขนขนาดเล็กนั้นให้ผูกไว้บนศีรษะคนละหัว เอาผ้ามาขึงเป็นจอ แล้วใช้ปากทำเสียงปี่พาทย์พร้อมกับเปิดบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแสดงกันไป
          วันหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงปฏิบัติพระราชกิจภายนอก แต่วันนั้นไม่ทราบเกิดอะไรขึ้น เพราะปกติเวลารถพระที่นั่งเลี้ยวมาถึงสามแยกมุมพระราชวัง ผู้ช่วยสารถีจะต้องหยิบแตรยาว ๆ ขึ้นเป่า “ปู๊น ๆ” ให้สัญญาณให้รถที่จะผ่านมาในย่านนั้นได้ทราบว่ามีรถยนต์พระที่นั่งกำลังจะผ่านแยก เป็นการป้องกันอุบัติเหตุ ธรรมเนียมเป่าแตรนี้เมื่อสักสิบปีก่อนก็ยังเห็นผู้ช่วยสารถีรถยนต์พระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหยิบแตรยื่นออกมาเป่านอกรถเวลารถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่านสะพานผ่านฟ้า
          เนื่องจากวันนั้นไม่ได้ยินเสียงแตร อีกทั้งคงจะมีรับสั่งให้กองรักษาการณ์ที่หน้าประตูพระราชวังงดเป่าแตรคำนับเวลาเสด็จพระราชดำเนินผ่าน วันนั้นบรรดามหาดเล็กเด็ก ๆ เหล่านั้นจึงพากันเล่นเป็นลิงเป็นยักษ์กันอย่างสนุกสนาน จนเสด็จพระราชดำเนินมาประทับทอดพระเนตรอยู่ที่หน้าประตูห้องที่เด็ก ๆ กำลังเล่นกันอยู่ คงจะได้ทอดพระเนตรอยู่นานพอสมควรกว่าที่ยักษ์ ลิง เหล่านั้นจะรู้ตัว ซึ่งก็ทำให้ทราบ ฝ่าละอองพระบาทว่า เด็ก ๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้นั้นต่างก็เล่นเป็นลิงเป็นยักษ์เพราะมีใจรักในศิลปแขนงนี้
          ครั้นทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “พระนาละ” และได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะละครเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) มาจัดแสดงในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา ๒๕ พรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ แล้ว จึงทรงยืมครูโขนละครผู้มีฝีมือดีจากบ้านเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เช่น ครูทองใบ [] เป็นครูยักษ์ ครูเพิ่ม [] เป็นครูลิง ครูทองดี [] เป็นครูพระครูนาง และครูแปลก [] เป็นครูดนตรี มาฝึกสอนมหาดเล็กข้าในพระองค์
          ในการฝึกหัดมหาดเล็กข้าในพระองค์นี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีรับสั่งว่า โขนสมัครเล่นนี้ต้องให้ดีกว่าโขนหลวงหรือโขนเชลยศักดิ์ เพราะมีพื้นการศึกษาดีมาแต่เดิม และตามแบบอย่างของอังกฤษเขาถือว่า ละครสมัครเล่นต้องดีกว่าละครอาชีพเสมอ และอังกฤษก็ได้ยกย่องศิลปินให้เป็นขุนนางเหมือนกัน จึงโปรดให้โขนคณะนี้ฝึกหัดกันอย่างจริงจังและถูกต้องตามแบบแผนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

 

โขนบรรดาศักดิ์

(จากซ้าย) ๑. เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ๒. “เจ้าคุณครูผู้ใหญ่” พระยสนัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรภารต)
๓. พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูโขนละครและดนตรีมาฝึกสอนการแสดงแก่มหาดเล็กข้าในพระองค์ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ “คณะละครหลวงรุ่นเล็ก” ออกแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง พระนาละ เป็นครั้งแรกในงานเฉลิมพระชนมายุ เมื่อวันที่ ๓๐-๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ แล้วต่อมาวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ “คณะโขนสมัครเล่น” ซึ่งพัฒนามาจาก “คณะละครหลวงรุ่นเล็ก” ไปแสดงโขนตอน “องคตสื่อสาร” เป็นการทรงช่วยในงานเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมที่ถนนราชดำเนิน (ปัจจุบันเป็นกองบัญชาการกองทัพบก) โดยมีตัวโขนที่ร่วมแสดง ดังนี้
 

หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์

 

๑)  หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์

(พระ)

๒)  หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์ 

(พระ)

๓)  หม่อมราชวงศ์โป๊ะ มาลากุล []

(พิเภก)

๔)  หม่อมราชวงศ์มานพ เกษมสันต์ []

(เขน)

๕)  หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ []

(พระอรชุน)

๖)  หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ [๑๐]

(พระลกษณ์)

๗)  หม่อมหลวงอุรา คเนจร [๑๑]

(องคต)

๘)  นายคลาย บุนนาค [๑๒]

(หนุมาน)

๙)  นายพราว บุณยรัตพันธุ์ [๑๓]

(เขน)

๑๐)  นายเฉิด บุนนาค

(ลิงเล็ก)

๑๑)  นายสุนทร สาลักษณ์ [๑๔]

(เสนายักษ์)

๑๒)  นายประณีต บุนนาค  [๑๕]

(รามสูร ตัวรบ)

๑๓)  นายประสิทธิ์ บุนนาค [๑๖]

(เสนายักษ์)

๑๔)  นายประเสริฐ บุนนาค[๑๗]

(นาง)

๑๕)  นายประดิษฐ์ บุนนาค

(เขน)

๑๖)  นายอู๊ด สุจริตกุล [๑๘]

(สิบแดมงกุฎ)

๑๗)  นายสมบุญ ศิริธร [๑๙]

(เขน)

๑๘)  นายโถ สุจริตกุล [๒๐]

(อินทรชิต)

๑๙)  นายใช้ อัศวรักษ์ [๒๑]

(จำอวด)

๒๐)  นายเล็กสอน สุเรนทรานนท์ [๒๒]

(สิบแปดมงกุฎ)

๒๑)  นายโชน บุนนาค

(สิบแปดมงกุฎ)

๒๒)  นายทองแล่ง สุวรรณภารต [๒๓]

(นาง)

   
 

(ยังมีต่อ)

 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกเอก พรยาอนิรุทธเทวา

[ ]  พระนมทัด พึ่งบุญ เป็นพระนมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  ทองใบ สุวรรณภารรต ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพรหมาภิบาล

[ ]  เพิ่ม สุครีวก ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระดึกดำบรรพ์ประจง

[ ]  ทองดี สุวรรณภารต ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานัฏกานุรักษ์ เจ้ากรมโขนหลวง

[ ]  แปลก ประสานศัพท์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประสานดุริยศัพท์ เจ้ากรมพิณพาย์หลวง
[ ] 
ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาชาติเดชอุดม

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายขัน  หุ้มแพร

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ

[ ๑๐ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอนิรุทธเทวา

[ ๑๑ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานเรนทรราชา
[ ๑๒ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวิสูตรอัศดร

[ ๑๓ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นทรงสุรกิจ

[ ๑๔ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรวาจนา

[ ๑๕ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นเทพสิรินทร์

[ ๑๖ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จ่าแกว่นประกวดงาน

[ ๑๗ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายสุดจำลอง

[ ๑๘ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุจริตธำรง

[ ๑๙ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระสนิทราชการ

[ ๒๐ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุดมราชภักดี

[ ๒๑ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชอักษร

[ ๒๒ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นทรงพลหาญ

[ ๒๓ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงไพจิตรนันทการ

 

 
 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |