โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๕. โขนบรรดาศักดิ์ (๒)

 

          ตัวโขนบรรดาศักด์ที่ได้ออกพระนามและนามมานั้น ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้มาเป็นนักเรียนชุดแรกของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง มีเลขประจำตัวเรียงลำดับ ดังนี้

          ๑. หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์

          ๒. หม่อมราชวงศ์มานพ เกษมสันต์

          ๓. หม่อมหลวงอุรา คเนจร  ท่านผู้นี้เป็นหัวหน้านักเรียนคนแรกด้วย

          ๙. นายเล็กสอน สุเรนทรานนท์

          ๓๗. นายประเสิรฐ บุนนาค

          ๓๘. นายโชน บุนนาค

 

          อนึ่ง ในวันเดียวกันนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงรามสูรชิงแก้ว กับพิธีกุมภนิยา โดยมีผู้แสดงสำคัญคือ ช่วง [] (เมขลา), หลาบ [] (รามตัวชิงแก้ว), ขุนระบำภาษา [] (รามสูรตัวไล่เทวดา และขุนนัฏกานุรักษ์ [] (พระราม) ด้วย

 

 

สูจิบัตรการแสดงโขนสมัครเล่น
ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวารอัฐิเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๔

 


     
    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ คณะโขนสมัครเล่นได้ออกแสดงอีกครั้งโดยพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ [] เนื่องในการบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวารอัฐิเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๔ [] ณ สนามไชย หน้าพระราชวังสราญรมย์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๓ มีรายการแสดงที่ปรากฏในสูจิบัตร คือ เรื่องดึกดำบรรพ์ ชุด สุดาวตาร (เบิกโรง) กับชุด พรหมมาศ โดยมีตัวละครชุด สุดาวตาร (เบิกโรง) ดังนี้
 

พระอิศวร

หม่อมหลวงฟื้น

จิตุบท (เทพบุตรรับใช้พระอิศวร)

นายประณีต บุนนาค

จิตุบาท (เทพบุตรรับใช้พระอิศวร)

นายเดชน์ ธนสุนทร []

จิตุราช (เทพบุตรรับใช้พระอิศวร)

นายจิตร จิตตเสวี []

จิตุเสน (เทพบุตรรับใช้พระอิศวร)

นายประสิทธิ์ บุนนาค

พระนารายณ์

หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ

พระยาครุฑ

นายอู๊ด สุจริตกุล

นางนารายณ์

นายช่วง

นนทุก

นายหลาบ

 

 

 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้บรรดามหาดเล็กข้าหลวงเดิมรุ่นโตเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก ส่วนมหาดเล็กรุ่นเด็กที่ยังอยู่ในวัยเล่าเรียนนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ไปเล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) ทั้งยังได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังพระยาไพศาลศิลปสาตร (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) [] กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงโดยมีความตอนหนึ่งว่า
 

               "มีอยู่อีกข้อ ๑ ซึ่งฃ้าควรจะบอกเจ้าไว้ คือมีนักเรียนหลวงบางคนได้เคยฝึกหัดวิชาโขนอยู่แล้ว ถ้าจะทิ้งเสียฃ้าก็ออกเสียดาย เพราะวิชานี้มันจะสูญเสียแล้ว ยังมีที่หวังอยู่แต่ในพวกนี้ เพราะนั้นฃ้าอยากจะขอให้ได้มีโอกาสฝึกซ้อมต่อไปบ้างตามสมควร และบางครั้งบางคราวถ้าจวน ๆ จะเล่นอาจจะต้องขอมาซ้อมผสมบ้าง การซ้อมผสมเช่นนี้บางทีก็มีต้องอยู่ดึกไปบ้าง แต่คงจะไม่มีบ่อยนัก และฃ้าเข้าใจว่าเด็ก ๆ ไม่ใคร่จะรู้สึกอะไร เพราะเคยสังเกตมาแล้วว่า เวลาที่มิใช่บทเฃาก็แอบไปหลับไปงีบกันได้ ถ้าแม้จะต้องฃาดในระเบียบเวลาไปบ้างก็คงจะมีแต่ในตอนเช้า ซึ่งเห็นจดไว้เปนเวลาสำหรับหัดทหารหรือหัดยิมนาสติกส์อยู่ในตัวแล้ว ผู้ที่ฃ้าจะขอมาฝึกซ้อมโขนเปนพิเศษเช่นกล่าวมาแล้วนั้น คงจะเปนจำพวกนักเรียนหลวงทั้งสิ้น ซึ่งแปลว่าถ้าเสียเวลาเรียนบ้าง จะต้องอยู่ในโรงเรียนช้าไป และเสียเงินค่าเรียนนานไปอีก ก็เปนเงินของฃ้าเอง ไม่ต้องเกรงใจใคร”  [๑๐]

 

          ด้วยกระแสพระราชดำริดังกล่าว เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้มีการซ้อมโขนละคร จึงมักจะโปรดเกล้าฯ ให้ส่งรถยนต์หลวงไปรับนักเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งบางคนเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมมาร่วมฝึกซ้อมเป็นเสนายักษ์บ้าง เสนาลิงบ้าง เป็นผู้ชมบ้าง และโดยที่การซ้อมโขนละครแค่ละคราวนั้นกว่าจะเริ่มลงโรงซ้อมกันก็ราวห้าทุ่มล่วงแล้ว และกว่าจะเลิกก็ล่วงตีสองตีสามของวันใหม่ ในระหว่างการซ้อมโขนละครนั้นจึงมักจะมีเรื่องแปลก ๆ ถึงขนาดทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลอยู่บ่อย ๆ เช่น มีอยู่วันหนึ่งมีการซ้อมโขนตอนพระรามยกทัพออกมารบกับทศกัณฐ์ พระรามแผลงศรถูกพวกยักษ์ล้มตายเกลื่อนกลาด รบกันจนถึงย่ำพระทินกรก็ยังหาแพ้ชนะกันไม่ ทศกัณฐ์จึงเจรจาหย่าทัพ ว่ารุ่งขึ้นจงมารบกันใหม่ให้แพ้ชนะกันไป พูดแล้วทศกัณฐ์ก็ยกทัพกลับเข้ากรุงลงกา บรรดาเสนายักษ์ที่ต้องศรพระรามล้มลงนอนตายก็รีบลุกขึ้นกลับเข้าโรงไป แต่มีเสนายักษ์ตนหนึ่งเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง ต้องศรพระรามจนหลับไปจริงๆ พวกยักษ์เพื่อน ๆ จะเข้าไปปลุก ก็ทรงห้ามไว้พร้อมกับมีพระราชกระแสว่า “ปล่อยให้มันนอนตามสบาย” จนกระทั่งกองทัพพระรามยกพลกลับเข้าโรงจนหมดแล้ว เสนายักษ์ตนนั้นจึงรู้สึกตัวลุกขึ้นนั่ง เมื่อเหลียวมองไม่เห็นผู้ใด จึงทำท่าเร่อร่าวิ่งเข้าโรงไป ล้นเกล้าฯ ถึงกับทรงพระสรวลและปรบพระหัตถ์ไล่หลัง ข้างฝ่ายฝ่ายเสนาลิงนั้นก็มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในการฝึกซ้อมบางคราวถึงกับเต้นลงไปในกระบะหมากของครูบ้าง เตะรางระนาดแทบล้มบ้าง จูบเสากลางโรงเข้าตูมเบ้อเร่อบ้าง เข้าประตูโรงไม่ถูกบ้าง ผิดแถวบ้าง ชนกันเองบ้าง นอนหลับกันกลางโรงบ้าง คลานเหยียบหางกันเองถึงกับหงายหลังกันบ้าง ยิ่งเวลารบกัน ยักษ์ลิงฟาดฟันกันนัวเนียจนถึงหัวโนห้อเลือดก็มีให้เห็นอยู่เนือง ๆ
 

          ภายหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมโขนหลวงเป็นส่วนราชการขึ้นสังกัดในกรมมหรสพซึ่งขึ้นตรงต่อกรมมหาดเล็ก โปรดให้ครูโขนละครผีมือดีมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามต่างๆ กันตามความสามารถของแต่ละบุคคล ประกอบกับเมื่อเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติแล้วได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดและโปรดให้คณะโขนบรรดาศักดิ์หรือโขนสมัครเล่นเปลี่ยนมาเล่นละครพูดแทน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมคณะผู้แสดงละครพูดจัดเป็น “คณะละครศรีอยุธยารม” และได้โปรดให้คณะละครนี้จัดการแสดงละครพระราชนิพนธ์และละครอื่น ๆ เพื่อเก็บเงินบำรุงสาธารณกุศลมาเป็นลำดับตราบจนสิ้นรัชสมัย

 

 
 

 

[ ]  นามเดิม ช่วง พัลลภ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอินทราภิบาล

[ ]  นามเดิม กุหลาบ โกสุมภ์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสถานพิทักษ์

[ ]  นามเดิม ทองใบ สุวรรณภารต ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพรหมาภิบาล

[ ]  นามเดิม ทองดี สุวรรณภารต ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานัฏกานุรักษ์

[ ]  ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้เฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

[ ]  ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้เฉลิมพระนามพระอัฐิเป็น สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
[ ] 
ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นจงภักดีองค์ขวา

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภูมีเสวิน

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

[ ๑๐ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศ.๔/๕๙ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑ มกราคม ๒๔๕๓ - ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๗).

 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |