โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๖. หัวใจนักรบ

 

 

 

          ก่อนหน้าที่จะมีการแสดงโขนของนักเรียนคณะเด็กเล็กนั้น หลายๆ ท่านคงจะได้ชมการแสดงละครพูดเรื่อง หัวใจนักรบ ซึ่งจัดแสดงโดยนักเรียนคณะเด็กโตกันไปแล้วตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

          ละครพูดเรื่อง หัวใจนักรบนี้ เป็น ๑ ใน ๓ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่วรรณคดีสโมสรได้ประกาศยกย่องว่าเป็นหนังสือแต่งดี ในประเภทบทละครพูด ส่วนอีก ๒ เรื่องที่วรรณคดีสโมสรยกย่องนั้นคือ พระนลคำหลวง เป็นยอดแห่งบทประพันธ์คำฉันท์ และมัทนะพาธา เป็นยอดแห่งบทละครพูดคำฉันท์

          เหตุที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องพูดหัวใจนักรบนี้ขึ้น ก็เพราะเมื่อทรงตั้งกองเสือป่าและลูกเสือขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และทรงกำหนดให้เสือป่าและลูกเสือมีเครื่องแบบที่มองเห็นได้ชัดและมีสายการบังคับบัญชาคล้ายทหาร จึงทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจแนวพระราชดำรินั้นนำไปร่ำลือกันว่า ทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นมาเป็นกองกำลังพลเรือนติดอาวุธแข่งกับทหาร เลยพลอยให้นายทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพคิดก่อการกำเริบในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่เรียกกันว่า “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” ทั้งที่ในเวลานั้นมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพ ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับกองพัน ลงมาจนถึงผู้บังคับกองร้อยและผู้บังคับหมวดได้สมัครเป็นสมาชิกเสือป่ากันเป็นจำนวนมาก

          ภายหลังจากที่ทางราชการได้จัดการไต่สวนผู้ก่อการกำเริบจนได้มีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดเฉพาะแกนนำบางคน ส่วนผู้มีส่วนร่วมที่มิใช่แกนนำสำคัญต่างก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษกันไปหมดสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่องหัวใจนักรบนี้ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๖

          บทละครเรื่องหัวใจนักรบนี้ เปิดฉากการแสดงขึ้นเมื่อพระภิรมย์วรากร ข้าราชการบำนาญแห่งมณฑลหัสดินบุรี ผู้มีความชิงชังทั้งเสือป่าและลูกเสือ เพราะเห็นว่าเสือป่าและลูกเสือนั้นเป็นกองกำลังที่หาประโยชน์ใด ๆ มิได้ ออกมาพบว่า นายสวัสดิ์บุตรชายคนเล็กเตรียมตัวจะไปสมัครเป็นลูกเสือ จึงออกคำสั่งห้าม ในขณะเดียวกันก็ห้ามอุไร ธิดาของตนคบค้าสมาคมกับหลวงมณีราษฎร์บำรุง ซึ่งเป็นผู้บังคับหมวดเสือป่า แต่กลับเห็นดีเห็นงามรักใคร่เอ็นดูนายสวายบุตรชายคนกลางที่เป็นคนอ่อนแอ รักความสะดวกสบายและแอบคบชู้อยู่กับแม่เน้ยผู้เป็นอนุภรรยาของตน และในเวลาเดียวกันนั้นเองนายซุ่นเบ๋งซึ่งเป็นพี่ชายของแม่เน้ยก็ได้ปลอมจดหมายเรียกตัวนายสวิงบุตรชายคนโตของพระภิรมย์วรากรที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารให้กลับมาบ้านด้วย

          เมื่อนายสวิงหนีราชการทหารกลับมาถึงบ้านเพราะเข้าใจว่าพระภิรมย์วรากรป่วยหนักนั้น ประจวบกับเวลาที่ข้าศึกยกกำลังเข้ามารุกรานมณฑลหัสดินบุรี และผู้บังคับกองเสือป่าซึ่งนำกลังเข้าต้านทานกลับต้องเสียชีวิตลง หลวงมณีราษฎร์บำรุง ผู้บังคับหมวดจึงต้องรับหน้าที่ผู้บังคับกองเสือป่าแทน
 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมแสดงเป็น นายหมวดโท หลวงมณีราษฎร์บำรุง ปลัดกรมเสือป่ามณฑลหัสดินบุรี

 


    
     หลวงมณีราษฎร์บำรุงตระหนักว่าจำจะต้องรีบคุมกำลังไปป้องกันรักษาสะพานข้ามลำน้ำซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญมายมิให้ทหารข้าศึกแย่งชิงหรือทำลายลง ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้เป็นเส้นทางลำเลียงพลของกองทหารที่จะยกตามมาภายหลัง นายสวิงเมื่อทราบความจริงว่าถุกหลอกให้กลับมาบ้าน จึงได้รับอาสาที่จะนำข่าวจากหลวงมณีราษฏร์บำรุงไปส่งให้ผู้บังคับกองทหารที่แนวหลังเพื่อเป็นการทำดีไถ่โทษหนีทหาร แต่ยังมิทันที่จะก้าวพ้นสวนหลังบ้านนายสวิงก็ถูกลอบยิงเสียชีวิต นายสวัสดิ์จึงอาสาใช้วิชาลูกเสือที่ร่ำเรียนมาเล็ดลอดออกไปส่งข่าวแทน

          เมื่อพระภิรมย์วรากรต้องเสียบุตรชายคนโตไปอย่างกระหันต่อหน้าต่อตา กอปรกับการได้เห็นข้าศึกเข้ามารุกรานบ้านเมืองของตน พระภิรมย์วรากรจึงได้จับปืนขึ้นยิงต่อสู้กับทหารข้าศึก แต่เนื่องจากการกระทำนั้นเป็นการละเมิดข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยการสงครามที่อนุญาตแต่เฉพาะทหารหรืออาสาสมัครที่มีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจนและมีเครื่องแบบที่มองเห็นชัดได้แต่ไกลเช่นเสือป่าหรือลูกเสือเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้จับอาวุธขึ้นสู้รบในฐานะผู้กระทำสงคราม ดังนั้นการที่พระภิรมย์วรากรซึ่งเป็นพลเรือนมาจับอาวุธขึ้นสู้ช้าศึกจึงไม่อยู่ในฐานะผู้กระทำสงคราม เมื่อกองทหารข้าศึกบุกเข้ามาถึงเรือนของพระภิรมย์วรากร ผู้บังคับกองทหารข้าศึกจึงออกคำสั่งให้จับกุมและเตรียมนำตัวพระภิรมย์วรากรไปประหารชีวิตในฐานะเป็นอาชญากรสงคราม แต่ภายหลังจากที่มีการสอบสวน พระภิรมย์วรากรได้แสดงให้เห็นว่า การที่จับปืนขึ้นสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดนั้นเป็นหน้าที่ของชาวไทยผู้รักชาติบ้านเกิดทุกคน จึงได้รับความเห็นใจจากผู้บังคับการทหารข้าศึก ยกเว้นโทษประหารให้ แต่นายสวาย บุตรชายคนกลางของพระภิรมย์วรากรซึ่งกลัวตายได้บอกความลับเกี่ยวด้วยกำลังทหารที่จะยกมาออกมาต้านทาน ผู้บังคับการทหารข้าศึกจึงปล่อยตัวนายสายไปตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ และเมื่อเน้ยชู้รักขอตามนายสวายไปด้วย ผู้บังคับการทหารข้าศึกก็ไม่ขัดข้อง แต่นายซุ่นเบ๋ง พี่ชายแม่เน้ย ซึ่งแสดงตนเป็นไส้ศึกให้แก่กองทหารข้าศึกและได้ลอบยิงนายสวิงข้างหลังนั้น ผู้บังคับการทหารข้าศึกเห็นว่า การกระทำของนายซุ่นเบ๋งนั้นเป็นการฆาตกรรมผู้ที่ไม่มีทางต่อสู้ จึงมีคำสั่งให้นำนายซุ่นเบ๋งไปประหารชีวิต

          ต่อมากองทหารซึ่งได้รับข้อมูลลับที่นายสวัสดิ์ได้เล็ดลอดนำไปส่งให้ยกกำลังมาถึงและสามารถขับไล่ข้าศึกพ้นไปจากมณฑลหัสดินบุรีได้แล้ว พระภิรมย์วรากรซึ่งรอดชีวิตมาได้มีสำนึกถึงหน้าที่ของนักรบที่พร้อมจะสละชีวิตเลือดเนื้อเป็นชาติพลีและตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการเป็นเสือป่าและลูกเสือ จึงเปลี่ยนใจและขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่า และจบการแสดงลงในฉากที่หลวงมณีราษฎร์บำรุงบอกลาแม่อุไรไปทำหน้าที่เสือป่านักรบอาสาสมัครช่วยกองทหารรุกไล่ข้าศึกที่ยกมาย่ำยีมณฑลหัสดินบุรี

          นอกจากจะทรงแสดงให้เห็นถึงบทบาทของเสือป่าและลูกเสือในฐานะกองกำลังรักษาบ้านเมืองที่ต้องช่วยกันปกปักรักษาดินแดนในยามที่ข้าศึกยกเม้ามารุกรานแล้ว ในบทละครเรื่องนี้ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์ข้อเตือนใจที่สำคัญไว้ตอนหนึ่ง เป็นบทพูดของซุ่นเบ๋งก่อนที่ข้าศึกจะยกกำลังเข้ามารุกรานมณฑลหัสดินบุรีว่า “ได้ข่าวว่าข้าศึกกำลังจะยกมาจากซ่องฮอย”

          คำว่า “ซ่องฮอย” นี้ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ผู้เคยรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทได้เล่าไว้ว่า เมื่อได้ดูละครเรื่องหัวใจนักรบนี้ ผู้ชมต่างก็ไม่ทราบว่า ซ่องฮอยนั้นอยู่ที่ไหน ต่างก็คิดกันไปว่า ซ่องฮอยนั้นน่าจะเป็นนามสมมติเช่นเดียวกับมณฑลหัสดินบุรีที่เป็นเมืองสมมติในพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง จนวันหนึ่งท่านผู้เล่าได้ค้นพบพระราชนิพนธ์เข้าเรื่องหนึ่ง ในพระราชนิพนธ์นั้นล้นเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า ฝรั่งเศสมีอาณานิคมชื่อ “อาณาจักรมังกรทอง” อยู่ในอินโดจีน โดยอาณาจักรมังกรทองนั้นประกอบด้วยดินแดน ๓ ส่วน คือ

 

ภูเขาสูง

คือ ลาว (เพราะดินแดนลาวอุดมไปด้วยเทิแกเขาสูง)

แม่น้ำเขียว

คือ กัมพูชา (เพราะมีที่ราบลุ่มริมแม่น้ำโขงที่อุดมไปด้วยพืชผลการเกษตร)

ซ่องฮอย

คือ เวียตนาม โดย ซ่อง มาจากคำว่า Saigon ส่วน ฮอย มาจากคำว่า Hanoi ซึ่งเมืองทั้งสองนี้ต่างเป็นที่ตั้งที่ทำการของเรซิดังส์หรือผู้สำเร็จราชการ แคว้นอินโดจีนของฝรั่งเศส

                    

 

ภาพปกหนังสือพระราชนิพนธ์บทละครพูด เรื่องหัวใจนักรบ
บุคคลในภาพคือ พระยาบุรีนวราษฐ (ชวน สิงหเสนี)

 

 

          ละครเรื่องหัวใจนักรบนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงเป็นครั้งแรกในงานพระราชพิธีคฤหมงคล (พิธีขึ้นเรือนใหม่) พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๖ และ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยผู้ที่รับบทเป็นพระภิรมย์วรากรซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องในคราวแรกนั้นคือ พระยาเทพทวาราวดี (สาย ณ มหาชัย - ต่อมาเป็นพระยาบำเรอบริรักษ์) กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าแสดงเป็นพระภิรมย์วรากรได้ดีที่สุด ถึงขนาดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพมาพิมพ์ไว้บนปกของหนังสือหัวใจนักรบ คือ พระยาบุรีนวราษฐ (ชวน สิงหเสนี) กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงอีกท่านหนึ่ง ท่านผู้นี้เป็นบิดาของนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พันเอก ขจร สิงหเสนี และนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง ทันตแพทย์ชิ้นพร สิงหเสนี กับเป็นคุณปู่ของพี่ชอ สิงหเสนี โอวี ๔๔ ด้วย

          อนึ่ง ในระหว่างการซ้อมละครเรื่องหัวใจนักรบที่โรงละครหลวงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานรวทั้งเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องนั้น ท่านนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงหลายท่านเล่าให้ฟังว่า มักจะโปรดเกล้าฯ ให้รถยนต์หลวงเป็นรถบรรทุกหรือสมัยนั้นเรียกกันว่า “รถกุดัง” ที่มีห้องเครื่องยื่นออกไปหน้ารถเป็นหัวสีแดงเลยเรียกกันติดปากว่า “รถแดงพญา” มารับนักเรียนไปดูซ้อมละครเป็นประจำ
วันไหนได้ไปดูซ้อมละคร ซึ่งกว่าจะเสวยเสร็จและเสด็จลงซ้อมละครก็เป็นเวลาล่วงเข้าไป ๕ ทุ่ม ๒ ยาม และกว่าจะเลิกก็ราว ๓ นาฬิกาของวันใหม่ก็ตาม แต่ท่านผู้อาวุโสก็เล่าไว้ตรงกันว่า บรรดานักเรียนที่ถูกเกณฑ์ไปดูซ้อมละครต่างก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจแต่ประการใด เพราะง่วงเข้าก็ลงนอนดูการซ้อมจนหลับคาโรงละครไปเลย เสร็จการซ้อมแล้วคุณครูท่านก็จะมาปลุกและพากลับโรงเรียน รุ่งขึ้นเช้าก็มีพระราชกระแสให้งดการเรียนในตอนเช้า ท่าน ๆ เหล่านั้นจึงชอบไปดูการซ้อมละครจนจบออกรับราชการและได้เข้าร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์กันมาโดยตลอด

          ไม่ทราบว่าในการฝึกซ้อมละครหัวใจนักรบคราวนี้ท่านผู้บังคับการจะใจดีให้น้องๆ ได้หยุดเรียนกันหรือเปล่า คงทราบมาแต่เพียงว่า การแสดงคราวนี้เป็นดำริของท่านผู้บังคับการ ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ ที่อยากจะรื้อฟื้นการแสดงละครของนักเรียนที่สมัยหนึ่งนักเรียนคณะเด็กโตเคยร่วมกันจัดเล่นละครกันในงานคณะเทอมสองทุกปีขึ้นมาอีกครั้ง แต่เมื่อยังไม่สามารถฟื้นงานคณะกลับขึ้นมาได้ ก็เลยจัดให้นักเรียนได้แสดงละครเวทีที่โรงละครศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์เป็นการชิมลาง โดยมีคุณครูศิริญญา จรเทศ เป็นผู้อำนวยการฝึกซ้อม และคุณครูปวริศ มินา ว่าที่มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากรพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งเคยแสดงและกำกับการแสดงละครของคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรมาแล้วหลายเรืองมาเป็นผู้กำกับการแสดงในครั้งนี้ด้วย

 

 

คณะผู้แสดงละครหัวใจนักรบ พ.ศ. ๒๕๕๕

 

 

          ท่านที่ได้ชมการแสดงละครเรื่องนี้แล้ว คงจะได้ตระหนักโดยทั่วกันว่า นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้นมิได้เรียนแต่หนังสือ เล่นดนตรีและกีฬา หากได้รับมอบหมายให้แสดงละครก็สามารถแสดงออกได้ไม่แพ้นักแสดงมืออาชีพ จึงขอแสดงความชื่นชมคุณครูและน้องๆ ทุกคนที่ได้ร่วมกันจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์นี้จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

 
 
 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |