โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๗. ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ (๑)

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งประทับทรงศึกษาที่ยุโรป

 

 

          สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงพระประชวรด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ขณะประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และแพทย์ได้ถวายคำแนะนำให้ทรงรับการผ่าตัดเปิดพระนาภี ซึ่งกล่าวกันว่า

 

“...การผ่าตัดด้วยวิธีเปิดหน้าท้องในสมัยนั้นดูเหมือนจะเริ่มทำกันมาไม่กี่รายนัก ทูลกระหม่อมพระองค์นี้ คือเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจะอยู่ในอันดับอย่างมากไม่เกินรายที่ ๓ ของการผ่าตัดชนิดนั้น...

 

          ...การเย็บบาดแผลที่ผ่าจึงไม่เรียบร้อยรัดกุม แผลเป็นจึงใหญ่ ดังนั้นที่เบื้องล่างพระนาภีซีกขวาของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ จึงมีรอยแข็งเป็นก้อนกลมประมาณสักเท่าผลส้มเกลี้ยงขนาดใหญ่ตรึงติดอยู่เรื่อย ต้องทรงใช้ผ้าแถบรัดบั้นพระองค์ขณะทรงพระสนับเพลาแพร เพื่อรัดโยงแผลนั้นไว้ มิฉะนั้นจะถ่วงพระนาภีไม่ทรงสบาย และเมื่อเสวยเสร็จใหม่ๆ มักทรงอึดอัด เพราะ พระอันตะเข้าไปกองอยู่ปากแผลที่เย็บไว้ภายใน ซึ่งเข้าใจว่ามีช่องเปิดอยู่ทางหน้าพระนาภี ซึ่งในกรณีนี้มหาดเล็ก ผู้ถวายอยู่งานนวดจะต้องค่อยๆ ช้อนตรงแผลเป็นเบาๆ ยกขึ้นข้างเหนือ แล้วเอียงเทให้คว่ำเข้าใน พระนาภี จะมีปรากฏเป็นเสียงจ๊อกๆ ยาวๆ แล้วก็ทรงสบายหายอึดอัด...”  []

 

          นอกจากนั้นการที่ทรงตรากตรำพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาตั้งแต่เสด็จนิวัติพระนครในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ต่อเนื่องมาจนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติก็ทรงทุ่มเทปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ประกอบกับพระราชจริยวัตรที่โปรดประทับกลางดินกลางทรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการซ้อมรบทหารและเสือป่า ซึ่งมักจะแปรพระราชฐานไปประทับในกระโจมสนาม ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับทหารและเสือป่าทั่วไป ยิ่งในช่วงเวลาที่ทรงเตรียมการนำประเทศสยามเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยิ่งต้องทรงตรากตรำพระวรกายเป็นทวีคูณ เป็นผลให้พระพลานามัยต้องเสื่อมทรุด จนแพทย์ต้องถวายคำแนะนำให้ทรงหยุดพักพระราชกิจและแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่หาดเจ้าสำราญ

 

 

นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พระยาอิศราชธิราชเสวี (เลื่อน บุนนาค)

 


          แม้กระนั้นก็ยังมิได้ทรงพักผ่อนจริงจังนัก จึงทำให้ปรากฏอาการพระประชวรเรื้อรังต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลาย พ.ศ.๒๔๖๐ ครั้นเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในตอนต้นปี พ.ศ.๒๔๖๓ แล้ว “...นายแพทย์ได้ตรวจพบพระอาการพระอันตะเลื่อนเข้าสู่ถุงแผลเป็นนี้บ่อยๆ จึงถวายคำแนะนำให้เสด็จออกไปทรงทำผ่าตัดใหม่ยังต่างประเทศ จนถึงได้เตรียมการกันแล้วว่าจะเสด็จผ่านทางญี่ปุ่น แล้วไปอเมริกากลับทางอังกฤษ...”  [] แต่พอใกล้วันจะเสด็จพระราชดำเนินก็ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งกราบถวายบังคมลาไปรักษาพระองค์ที่ยุโรป เกิดประชวรทิวงคตที่สิงคโปร์ จึงต้องทรงงดการเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ตามคำแนะนำของนายแพทย์ และไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้ทรงรักษาพระอาการนั้นด้วยวิธีใดๆ อีกเลย พระพลานามัยจึงเสื่อมทรุดลงเป็นลำดับ แผลผ่าตัดพระอันตะซึ่งทรงได้รับการผ่าตัดไว้เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนเริ่มแตกออกและลุกลามเป็นพระโรคเยื่อหุ้มกระเพาะอาหารอักเสบ ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๖๘ เริ่มมีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะมาโดยตลอด ครั้นเสร็จการพระราชพิธีฉัตรมงคลในวันที่
๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ แล้ว ในตอนค่ำวันเดียวกันนั้นได้เสด็จลงเสวยเลี้ยงเครื่องว่าง ซึ่งนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พระยาอิศราธิราชเสวี (เลื่อน บุนนาค) ผู้ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าเป็นพระยาพานทองเป็นเวรจัดถวายตามประเพณีของผู้ที่ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าที่หมุนเวียนกันมา

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับพระราชยาน
เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบไปประทับเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

 

          แต่คุณมหาดเล็กที่เป็นเวรถวายการรับใช้ได้เริ่มสังเกตเห็น “...พระอาการที่แปลกกว่าปกติ ทรงทำท่าคล้ายๆ จะหลับเวลาเสวย รับสั่งน้อย ไม่ทรงร่าเริงอย่างเคย...”  [] จึงพากันคาดคะเนไปว่า คงจะเป็นเพราะทรงตรากตรำพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาทั้งวัน ทั้งคงจะทรงเหนื่อยและเมื่อยล้าจากการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบ “...ซึ่งต้องประทับขึงพระองค์ด้วยพระอิริยาบถอันแน่ว เนื่องจากที่ประทับอันจำกัด...”  [] แต่ภายหลังจากที่ได้ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถภายหลังเสวยแล้ว ก็สามารถประทับทรงเล่น “นึก” กับข้าราชบริพารได้เช่นที่เคยทรงปฏิบัติมา

 

          นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ซึ่งเป็นเวรมหาดเล็กตั้งเครื่องในคืนดังกล่าว ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว

 

“ประมาณ ๔ นาฬิกาเศษ ผู้เล่าก็เตรียมจะกลับบ้าน ออกประตูเก๋งนารายณ์มาแล้ว ก็ถือรองเท้ามือหนึ่ง หมวกมือหนึ่ง เดินออกไปทางประตูพิมานไชยศรี พอถึงหลังวัดพระแก้ว ผู้เล่าเคยทรุดตัวลงถวายนมัสการทุกคราวที่เข้าและออกจากพระราชฐาน คืนนั้นก็เช่นกัน แต่พอถวายนมัสการเสร็จ ใจคิดสังหรณ์ขึ้นว่า คืนนี้เราเป็นเวรผู้ใหญ่ เมื่อยังไม่สว่างกลับไปเสียก่อนที่เวรกลางวันจะมารับ ฉวยเกิดการประสูติขึ้นจะไม่งาม ผู้เล่าก็เลยไม่กลับบ้าน ย้อนกลับไปข้างในอีก พอถึงเก๋งนารายณ์กำลังเงียบ เพราะไม่มีใครอยู่แล้ว ขณะวางรองเท้ากับหมวกลงก็พอดีได้ยินเสียง โอยดังๆ แล้วก็นิ่งไป แล้วได้ยินอีก ผู้เล่าคิดว่าใครจะละเมอจึ่งบอกนายปุกจ่าโขลนให้จัดโขลนเที่ยวดู เพราะฝ่ายในผู้ชายเข้าไปยุ่มย่ามไม่ได้ ก็ไม่พบว่าอะไร ประเดี๋ยวได้ยินเสียงเช่นนั้นอีก คราวนี้ยิ่งถี่ขึ้น ผู้เล่าก็วิ่งขึ้นไปทางพระทวารหน้าสวนกับมหาดเล็กห้องบรรทม จำได้ว่าเป็นพระอดิศัยอภิรัตน  [] กับหลวงภูมินาถสนิท  [] ซึ่งยังเป็นพระนายสรรเพ็ชร  [] และจ่ายวด [] อยู่ บอกผู้เล่าว่าประชวรพระวาโยในห้องลงพระบังคน ขอทรงดม ผู้เล่าหยิบกลักทรงดมแล้วก็วิ่งไปเข้าไปพร้อมกับเขาด้วย ได้เห็นประทับพระศออยู่บนที่ลงพระบังคน ไม่เห็นมีพระบังคนในหม้อ มีแต่เศษใบคะน้าอยู่เล็กน้อย โดยปกติก่อนจะเข้าที่พระบรรทม มักลง พระบังคนอีกครั้งแล้วจึงชำระพระโอษฐ์แล้ว สรงพระพักตร์ผลัดพระภูษาแล้วก็เข้าที่ ตอนนี้ถ้ามีอ่านหนังสือก็อ่านตอนนี้ และถวายอยู่งานตลอดไป ผู้เล่าจึงแนะนำให้ถวายชำระแล้วเชิญพระองค์ไปประทับบนพระแท่นบรรทม ขณะนั้นล้นเกล้าฯ สยิ้วพระพักตร์ แสดงว่าทรงปวดมาก ใช้พระหัตถ์ขวากุมที่พระนาภีตรงที่เป็นแผลเป็น ทรงบิดพระวรกายเล็กน้อย รับสั่งว่าปวดจริง ผู้เล่ารู้สึกว่า พระอาการจะมาก เพราะได้ติดตามพระอาการมาแต่หัวค่ำแล้ว จึ่งรีบออกไปตามหมอที่อยู่เวรประจำซองได้พระยาวิรัช (หมอเตเลกี) [] กับพระยาอัศวิน (หมอปัวร์) [๑๐] เข้ามาแล้วอะไรไม่ทราบทำให้ ผู้เล่าโทรศัพท์กราบทูลพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปตามวังต่างๆ และกราบเรียนผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ช้าก็มากันมาก ได้ทราบว่า ตอนสว่างหมอปัวร์จะถวายฉีดมอร์ฟีน ทรงอิดเอื้อนอยู่นาน พอถวายฉีดแล้วก็บรรทม ตื่นบรรทมบ่าย พระอาการดีขึ้น... วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พระอาการหนักมากขึ้นอีก ถึงทรงแน่นิ่ง (โคม่า) นายแพทย์ถวายสวนน้ำเกลือทางพระทวารหนัก ต่อมาพระอาการค่อยดีขึ้น ตอนนี้เองที่ลือกันว่าสวรรคต จนถึงพ่อค้าแม่ค้าห้างร้านที่ขายผ้าขึ้นราคาผ้าดำ ต่อมาวันที่ ๒๓ ปรากฏว่าพระอาการหนักอีก นายแพทย์ลงความเห็นว่าต้องถวายการเจาะเอาพระบุพโพออก จี่งได้ตามตัวนายแพทย์เมนเดลสัน  [๑๑] มาถวายการเจาะ ทำการเจาะเมื่อประมาณ ๑๓.๐๐ น. เสร็จ ๑๖.๐๐ น. ได้พระบุพโพเล็กน้อย เดรนสายยางเข้าไว้ปลายท่อลงขวด พอดีพระบุพโพเต็มขวด นายแพทย์ต้องเปิดแผลอีก แต่พบด้วยความเศร้าสลดใจว่า ทรงเป็นแผลเนื้อร้ายมีพิษ (GANGRENE) เสียแล้ว นายแพทย์ เมนเดลสันบอกหมดหวัง พวกเราใจจะขาดไปตามกัน ระหว่างเวลาประชวรนั้นบางวันที่บรรทมไม่หลับ ผู้เล่าต้องอ่านหนังสือถวายตลอดคืนและตลอดวัน ใช้หนังสือหลายสิบเล่ม รุ่งขึ้นวันที่ ๒๔ เจ้าพระยารามราฆพเข้าไปกราบบังคมทูลขณะมีพระสติว่า พระนางเจ้าสุวัทนาจะประสูติวันนี้ก็ทรงกระวนกระวายพระทัย พอทรงได้ยินปืนเที่ยง ทรงดีพระราชหฤทัยจนถึงทรงยิ้ม เพราะทรงมีพระราชดำรัสสั่งว่า ถ้าประสูติเจ้าฟ้าชายให้มีการยิงปืนถวายคำนับ (SLUTE) พอเจ้าพระยารามกราบทูลว่าไม่ใช่ ก็ทรงนิ่งไปอีก

 

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พระราชธิดาพระองค์เดียว ขณะเจริญพระชันษา ๔ เดือนเศษ

 

 

จนบ่ายเจ้าพระยารามราฆพเข้าไปกราบทูลว่า ประสูติแล้วเป็นเจ้าฟ้าหญิง ทรงหลับพระเนตรและรับสั่งด้วยพระสุรเสียงอันแผ่วเบาว่า “ก็ดีเหมือนกัน”  [๑๒] แล้วก็ทรงแน่นิ่งอยู่ตลอดมา จนวันที่ ๒๕ กลางวัน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เชิญสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาบรรทมบนพระยี่ภู่เข้าไปถวาย ทรงเอื้อมพระหัตถ์คล้ายๆ กับจะทรงจับ แล้วก็ทรงชักกลับ ทุกคนที่อยู่ที่นั้นสุดจะกลั้นความโศกาดูรได้ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เชิญเจ้าฟ้าพระราชธิดากลับ ตั้งแต่นั้นก็ทรงสลบแน่นิ่ง หายพระราชหฤทัยรวยๆ มีพลตรี พระยาวิบูลอายุรเวท  [๑๓] ถวายตรวจชีพจรอยู่ตลอดเวลา...”  [๑๔]

 

 

          ครั้นวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ เวลา ๐๑.๔๕ น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมหาราชวัง สิริพระชนมายุ ๔๔ พรรษา ๑๑ เดือน ๒๖ วัน เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ๑๕ ปี ๑ เดือน ๓ วัน

 

 
 

 

[ ]  อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๒๖๑ - ๒๖๒.

[ ]  ที่เดียวกัน

[ ]  อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๓๘.

[ ]  ที่เดียวกัน

[ ]  นามที่ถูกคือ พระอดิศัยสวามิภักดิ์ (สรร สันติเสวี) เป็นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงอีกท่านหนึ่ง

[ ]  นามเดิม สืบ คังคะรัตน เป็นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเช่นกัน
[ ]  หัวหมื่น เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

[ ]  นายจ่ายวด

[ ]  พระยาวิรัชเวชกิจ (โรเบิร์ต เอดวิน คุณะดิลก) นายแพทย์ใหญ่วชิรพยาบาล

[ ๑๐ ]  พระยาอัศวินอำนวยเวช (A. Poix, M.D.) แพทย์ประจำพระองค์

[ ๑๑ ]  R.W.M. Mandelson ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน รับราชการประจำอยู่ที่โรงพยาบาลกลาง
[ ๑๒ ]  นายแพทย์เมนเดลสันได้บันทึกถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ใน “The Only Professional Record” และหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลไว้เป็นภาษาไทยว่า “ในที่สุดพระนางก็มีพระประสูติการเมื่อเวลา ๑๒.๕๕ น. เป็นเจ้าฟ้าหญิง เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ได้รับสั่งว่าพอพระราชหฤทัยและว่าจะทำให้ทรงหลับได้ในคืนนี้ และได้รับสั่งกับหมอด้วยว่า “คราวหน้าจะเป็นผู้ชายแน่”.

[ ๑๓ ]  นายแพทย์ใหญ่ทหารบก นามเดิม เสก ธรรมสโรช

[ ๑๔ ]  อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๓๙ – ๔๑.

 

 
 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |