โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๘. ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ()

 

 

พระบรมโกศทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประดิษฐานเหนือพระเบญจาทองคำในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสา

 

 

          อนึ่ง ในการประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และการบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรง “...พระราชปรารพภ์ถึงการพระบรมศพแห่งพระองค์ ทรงพระราชหัดถเลขาไว้ รวมใจความก็เพื่อมิให้เปนการลำบากและสิ้นเปลืองดังเช่นการที่ล่วงมาแล้ว...”  []

 

 

ทหารบกทหารเรือฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง
เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

 


          ส่วนการแห่พระบรมศพตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ทรงกำหนดให้ใช้พระยานมาศตามพระราชประเพณี และจากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุมาศท้องสนามหลวงโปรดให้จัดแต่งรถปืนใหญ่เป็นรถทรงพระบรมศพ “เพราะข้าพเจ้าเป็นทหารอยากจะใคร่เดินทางระยะที่สุดนี้อย่างทหาร” นอกจากนั้นยังทรงสั่งไว้ด้วยว่า “ในกระบวนแห่นี้นอกจากทหาร ขอให้จัดมีเสือป่าและลูกเสือเข้ามาสมทบกระบวนด้วย และขอให้นักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์  [] ได้เข้ากระบวนด้วย”


          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จ พระบรมเชษฐาธิราช ทรงทราบความในพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงสั่งเรื่องการจัดการพระบรมศพนั้นแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีพระบรมศพถวายตามพระราชประสงค์ทุกประการ คงเว้นอยู่แต่เพียงข้อที่ว่า “ในการแห่พระบรมศพ... จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุขอให้จัดแต่งรถปืนใหญ่เป็นรถพระบรมศพ...”  ในวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ นั้น มีพระราชกระแสว่า “ไม่มีธรรมเนียม” จึงได้ โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมศพโดยพระมหาพิชัยราชรถ เคลื่อนขบวนพระราชอิสริยยศจากวัดพระเชตุพนมาตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินใน มีกระบวนเสือปาและลูกเสือกับนักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนมหาดเล็กหลวง นักเรียนราชวิทยาลัย และนักเรียนพรานหลวง ร่วมในกระบวนแห่พระบรมศพตามที่ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งไว้ในพระราชพินัยกรรมว่าด้วยการพระบรมศพนั้นด้วย

 

 

พระบรมโกศทรงพระบรมศพประดิษฐานเหนือรถปืนใหญ่รางเกวียน
มีทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ฉุดชักเวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ

 

 

          ครั้นขบวนเคลื่อนมาถึงประตูพระเมรุด้านเหนือ “...เจ้าพนักงานได้เชิญพระโกษฐ์พระบรมศพทางเกรินประดิษฐานล้อเกวียนปืนใหญ่มีพระมหาเศวตรฉัตรคันดาลปัก สมเด็จพระสังฆราชเจ้าขึ้นพระเสลี่ยงกงทรงพระอภิธรรมนำ พระบรมศพเวียรพระเมรุโดยขบวนพระราชอิศริยยศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมศพเวียนพระเมรุพร้อมด้วยพระบรมราชวงศ์ มีตำรวจหลวงและนายทหารเชิญธงกระบี่ธุชธงพระครุฑพ่าห์นำเสด็จพระราชดำเนิรตามเวียนพระเมรุ ๓ รอบแล้ว...”  []

 

พระบรมโกศทรงพระบรมศพประดิษฐานเหนือพระจิตกาธาน
ในพระเมรุมาศท้องสนามหลวง

 

 

เจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน ครั้นเวลา ๑๘.๑๕ น. “ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ทหารทุกหมู่กองกระทำวันทยาวุธถวายเคารพพระบรมศพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และทหารปืนใหญ่ได้ยิงปืนใหญ่ และปืนเล็กคราวละตับถวายเฉลิมพระราชอิศริยยศ และเป่าแตรเดี่ยวเสียงเปนเพลงสัญญาณนอน...”  [] เป็นการส่งเสด็จดวงพระวิญญาณครั้งสุดท้ายเยี่ยงทหาร สมดังพระบรมราชปณิธานที่ว่า


“ข้าพเจ้าเป็นทหารอยากจะใคร่เดินทางระยะที่สุดนี้อย่างทหาร”

 

 

พระไชยวัฒน์รัชกาลที่ ๖
ประดิษฐานเหนือม้าหมู่บนธรรมาสน์บุษบกในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “...มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต นับตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๘ เปนต้นมา ถึงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๙ บัญจบรอบปีครบกำหนดที่จะได้เปลื้องทุกข์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณ...”  ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ และได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เป็นประจำทุกปีมา วชิราวุธวิทยาลัยจึงได้ถือเอาวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตเป็นลำดับมา จนถึงการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อภิรัฐมนตรีผู้ทรงสำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาเสด็จมาทรงเป็นประธานในการบำเพ็ญกุศลในวันนั้น และก่อนที่จะเสด็จกลับได้มีพระบัญชาสั่งให้สำนักพระราชวังจัดการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วชิราวุธวิทยาลัยเป็นรัฐพิธีในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี นับจากนั้นมาการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วชิราวุธวิทยาลัยจึงได้จัดเป็นพระราชพิธี มีการอัญเชิญพระไชยวัฒน์ประจำรัชกาลออกมาจากพระบรมมหาราชวังมาประดิษฐานเป็นประธานบนม้าหมู่ในบุษบกธรรมาสน์บนหอประชุมสืบมาจนถึงทุกวันนี้

 

 
 

 

[ ]  “การพระเมรุมาศท้องสนามหลวง ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ พระมงกุฎเกล้าเจ้าหัว มีนาคม
พระพุทธศักราช ๒๔๖๘”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๓ (๑๘ เมษายน ๒๔๖๙), หน้า ๒๐๙.

[ ]  ประกอบด้วย โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวงมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และโรงเรียนพรานหลวง ต่อมาวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยูหัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน พร้อมกับพราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ส่วนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นั้นมีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ยุบเลิกตั้งแต่ก่อนสวรรคต โรงเรียนนี้จึงถูก
ยุบเลิกไปพร้อมกับโรงเรียนพรานหลวงเมื่อคราวจัดระเบียบราชการกรมมหาดเล็กในระหว่างประดิษฐานพระบรมศพณ พระที่นั่ง
ดุสิตมหาปราสาท ในตอนปลายปี พ.ศ.๒๔๖๘
[ ]  “การพระเมรุมาศท้องสนามหลวง ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ พระมงกุฎเกล้าเจ้าหัว มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๘”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๓ (๑๘ เมษายน ๒๔๖๙), หน้า ๒๒๑ – ๒๒๒.

[ ]  “การพระเมรุมาศท้องสนามหลวง ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ พระมงกุฎเกล้าเจ้าหัว มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๘”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๓ (๑๘ เมษายน ๒๔๖๙), หน้า ๒๒๓ – ๒๒๔.

 
 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |