โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๙. รับ-ส่งเสด็จ (๑)

 

          เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคมที่ผ่านมา ชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์เห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินผ่านแถวนักเรียนที่รอรับเสด็จอยู่ที่ริมถนนราชวิถีแล้ว ช่างเป็นภาพที่น่าปลาบปลื้มและชวนให้ระลึกบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า

 

“กตัญญูฝังจิตติดวงใจ จนเติบใหญ่ไม่จางไม่บางเบา”

 


          เรื่องการตั้งแถวรับ - ส่งเสด็จนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเคยเกิดขึ้น นักเรียนวชิราวุธรุ่นก่อนและรุ่นใกล้เคียงกับผู้เขียน ล้วนเคยชินกับการตั้งแถวรับ - ส่ง เสด็จ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งกว่าการเรียนหนังสือ เพราะขาดเรียนก็แค่ถูกลงโทษ นั่งกรงลิงบ้าง ยืดเครื่องหมายสามารถบ้าง หรือให้มารายงานตัวกับท่านผู้บังคับการก่อนเข้าเรียนชั่วโมงหนึ่ง ซึ่งมีเพื่อนผมคนหนึ่งเคยทำสถิติรายงานตัวตอน ๖ โมงเช้ามาแล้ว แต่ขาดภารกิจไปรับหรือส่งเสด็จนั้น ความผิดร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก เพราะไม่จงรักภักดีเลยทีเดียว เรื่องนี้ผู้เขียนมีประสบการณ์กับตัวเอง ที่จวนเจียนจะโดนตัดไฟแต่ต้นลมเสียตั้งแต่ประถม ๕ แต่คงจะเป็นเพราะจะต้องเป็นข้ารับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาจนถึงทุกวันนี้ วันนั้นเลยแค่โดนฝ่ามือพิฆาตเป็นคนแรกของรุ่น แต่ก็คุ้มที่ไม่ต้องเดินไปเหมือนคนอื่นๆ เพราะได้นั่งรถเบนซ์ไปลงที่หน้าประตูสวนจิตรลดาเลยทีเดียว

 

          การรับส่ง - เสด็จนี้ เป็นหน้าที่สำคัญของนักเรียนวชิราวุธมาตั้งแต่แรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเลยทีเดียว เริ่มจากเมื่อทรงตั้งกองลูกเสือ และลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ทำพิธีเข้าประจำกองเป็นกองลูกเสือกองแรกของประเทศไทย และได้รับพระราชทานนามว่า “กองลูกเสือหลวง” เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว รุ่งขึ้นวันที่ ๓ กันยายน เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่พระราชวังสนามจันทร์ ก็โปรดให้ลูกเสือหลวงตามเสด็จไปพักอยู่ที่เรือนพระมนูที่พระราชวังสนามจันทร์ด้วย

 

          เนื่องจากโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนไปตามเสด็จคราวนั้น ท่านผู้ปกครองนักเรียนที่ท่านส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนก็พากันไปร้องกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งเวลานั้นเป็นกรรมการจัดการโรงเรียนว่า ท่านผู้ปกครองเหล่านั้นส่งนักบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็เพื่อให้มาเรียนหนังสือ ไม่ได้ส่งมาให้ไปตามเสด็จจนเสียเวลาเล่าเรียน
เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ก็มีพระราชกระแสตอบกลับลงมาว่า

 

          เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ก็มีพระราชกระแสตอบกลับลงมาว่า

 

          “ความตั้งใจฃองฃ้าที่ให้นักเรียนมหาดเล็กไปตามเสด็จนั้น อันที่จริงตั้งใจให้ไปแต่เฉพาะผู้ที่เปนนักเรียนหลวง คือเด็กที่ฃ้าออกเงินค่าเล่าเรียนให้เองเท่านั้น เพราะเด็กเหล่านี้ฃ้าถือว่าฃ้าเปนผู้ปกครองอยู่เอง จึ่งไม่ต้องถามผู้ ๑ ผู้ใดก่อน การที่ให้ตามเสด็จก็ด้วยความประสงค์อันดี คือประสงค์จะให้เด็กได้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยเฃ้าเจ้าเฃ้านายได้แต่เล็กอย่าง ๑ ประสงค์จะให้ได้มีโอกาสได้เฃ้าที่สมาคมอันดี เพื่อจะได้เปนประโยชน์แก่ตัวเด็กต่อไปภายน่าอย่าง ๑ ประสงค์ให้ได้มีโอกาสเห็นเมืองไทยนอกจากบางกอก จะได้ไม่หลงไปว่าเมืองไทยหมดอยู่เพียงบางกอก ซึ่งจะทำให้คนกลายเปนกบอยู่ใต้กลาครอบอย่าง ๑ ฃ้ามีความประสงค์อยู่เช่นนี้เปนที่ตั้ง จึ่งได้ให้นักเรียนของฃ้าตามเสด็จ โดยความเชื่ออยู่ในใจว่าจะเปนประโยชน์แก่ตัวเด็ก และจะนับเนื่องเฃ้าในการศึกษาของเด็กส่วน ๑ ก็ได้ เจ้าย่อมรู้อยู่แล้วว่าฃ้าไม่เห็นด้วยในการที่คนไทยรุ่นใหม่จะมุ่งแต่เปนเสมียนอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึ่งอยากให้การศึกษาของเด็กเปนไปในทางอื่นๆ นอกจากทางเรียนหนังสืออย่างเดียว

 

          ในชั้นต้น เมื่อยังมิได้มีกองลูกเสือขึ้น ก็ไม่เคยได้มีปัญหาอันใดในการที่นักเรียนไปตามเสด็จ เพราะคงมีตามเสด็จแต่เฉพาะนักเรียนซึ่งฃ้าปนผู้ปกครองเองเท่านั้น ครั้นต่อมาเมื่อมีลูกเสือขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็ก จึ่งเกิดมีธรรมเนียมขึ้นว่า ใครเปนลูกเสือได้ตามเสด็จ ดังนี้จึ่งเกิดมีเด็กที่เปนนักเรียนสมัคตามเสด็จไปด้วย ที่ฃ้ามิได้ทักท้วงประการใดขึ้นก่อนนี้ ก็เพราะเฃ้าใจว่าผู้ที่ไปนั้นสมัคจะไป และผู้ปกครองของเด็กก็เต็มใจให้ไป ทั้งฃ้าเห็นว่าถึงแม้เด็กจะมิใช้ผู้ที่ฃ้าปกครองโดยเฉพาะก็ดี ควรได้รับความสม่ำเสมอกับนักเรียนหลวงผู้เปนลูกเสืออยู่ด้วยกันนั้น

 

          แต่เมื่อมาปรากฏว่าผู้ปกครองของนักเรียนสมัคบางคนเห็นว่าการตามเสด็จเปนอันเสียเวลาเล่าเรียนส่วน ๑ ฉะนี้ ฃ้าก็ไม่อยากจะกระทำความไม่พอใจให้แก่ผู้ ๑ ผู้ใดเลยเปนอันฃาด เพราะฉะนั้นแต่นี้ต่อไป ให้ถือเปนธรรมเนียมดังนี้ คือ

          ๑. ถ้าแม้มีเสด็จพระราชดำเนินประพาศแห่งใดๆ และโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนตาม
เสด็จได้ ให้โรงเรียนมหาดเล็กจัดให้แต่เฉพาะนักเรียนหลวง คือผู้ที่พระราชทานพระราชทรัพย์เปนค่าเล่าเรียนและทรงเปนผู้ปกครองเองนั้น ตามเสด็จไป
          ๒. ถ้านักเรียนสมัคผู้ใดมีความประสงค์จะตามเสด็จต้องยื่นใบสมัค และให้มี
จดหมายจากผู้ปกครอง ขอฝากเด็กนั้นให้ตามเสด็จด้วย ให้กรรมการผู้อำนวยการฤาอาจารย์ใหญ่นำความกราบบังคมทูล เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึ่งจะยอมให้นักเรียนผู้นั้นตามเสด็จได้
          ๓. ถ้าแม้เสด็จไปประทับแรมอยู่แห่งใดมีกำหนดนานวัน และผู้ปกครองของนักเรียนสมัคผู้ที่ได้ตามเสด็จไปนั้นจะมีความประสงค์ให้นักเรียนกลับเมื่อใด ก็ต้องอนุญาตให้กลับโดยทันที ไม่จำเปนที่จะต้องรอเสด็จกลับ


          ข้อบังคับเหล่านี้ ตลอดทั้งความปรารภของฃ้าในเบื้องต้นแห่งจดหมายนี้ ให้พระยาพศาลคัดบอกไปยังผู้ปกครองนักเรียนสมัคให้ทราบทั่วกัน ขออย่าให้เฃ้าใจผิดกันอีกต่อไปเลย”  []
 

 

          เมื่อมีพระราชกระแสทรงชี้แจงเรื่องที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลูกเสือหลวงและนักเรียนมหาดเล็กหลวงตามเสด็จไปหัวเมืองแล้ว บรรดาผู้ปกครองนักเรียนทั้งหลายคงจะเข้าใจและทราบซึ่งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่เด็กๆ จึงไม่ปรากฏหลักฐานอีกเลยว่า มีผู้ปกครองนักเรียนท่านใดบ่นถึงการที่นักเรียนต้องขาดเรียนเพื่อไปตามเสด็จอีกเลย

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์
พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งฝ่ายทหาร พลเรือน เสือป่า
ลูกเสือหลวง (เสื้อกากี กางเกงดำ) และนักเรียนมหาดเล็กหลวง (สวมหมวกหม้อตาล กางเกงขาสั้น)
ที่เชิงบันไดนาคมณฑปพระพุทธบาท เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปในการยกยอดมณฑปพระพุทธบาท
วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๖

 


          อนึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น แม้ในบางโอกาสจะมิได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงได้ตามเสด็จไปยังหัวเมืองก็ตาม แต่ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนได้ไปรอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทส่งเสด็จและคอยรับเสด็จในยามที่เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระนครเสมอๆ ธรรมเนียมคงเป็นมรดกตกทอดกันมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งยามที่มีพระราชอาคันตุกะมาเยือนประเทศไทย นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจะต้องหยุดเรียนเพื่อไปตั้งแถวรับพระราชอาคันตุกะที่ริมถนนพระรามที่ ๕ หรือบางคราวก็ไปรอรับเสด็จที่ริมถนนศรีอยุธยาด้านสนามม้านางเลิ้ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน สำหรับครั้งที่ผู้เขียนได้รับรางวัลฝ่ามือพิฆาตนั้นเป็นคราวที่พวกเราเข้าไปตั้งแถวอยู่ที่หน้าประตูพระวรุณอยู่เจน ซึ่งเป็นประตูทางเข้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และเมื่อพระราชอาคันตุกะจะเสด็จหรือเดินทางกลับ และแวะมากราบถวายบังคมลาที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานนั้น นักเรียนวชิราวุธก็ต้องไปคอยส่งเหมือนเวลาที่พระราชอาคันตุกะเดินทางมาถึง

 

          ในระยะหลังพระราชอาคันตุกะที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยมีน้อย และนานๆ จึงจะมีสักครั้ง นักเรียนวชิราวุธในยุคหลังจึงค่อนข้างห่างเหินจากการรับเสด็จ คงเหลือที่ยังคงรักษาประเพณีสืบมาคือการไปตั้งกองเกียรติยศรับเสด็จในเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐิน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดไว้

 

 

พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระราชวังดุสิต
ซึ่งเป็นสถนที่ประชุมเสนาบดีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          นอกจากการรับส่งเสด็จในโอกาสต่างๆ ดังได้กล่าวแล้ว นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงหลายท่านทั้ง น.ร.ม.จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) น.ร.ม.จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) และ น.ร.ม.ชิวห์ บุนนาค ต่างห็เล้าไว้ตรงกันว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทุกเย็นวันจันทร์และวันศุกร์ หลังจากรับประทานน้ำชาอาหารว่างตอนบ่ายกันเสร็จสรรพแล้ว คุณครูหลวงหัดดรุณพล (จ้อย พลทา) ท่านจะเรียกแถวลูกเสือหลวงซึ่งตอนหลังเป็นนักเรียนเสือป่าหลวง และนักเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วออกเดินจากโรงเรียนมีแตรเดี่ยวเป่าเพลงเดินนำแถวไปตามถนนอู่ทองใน เข้าไปในพระราชวังดุสิต เวลาเดินแถวผ่านกองรักษาการทหารมหาดเล็ก คุณครูหลวงหัดฯ ท่านก็จะสั่ง “แลขวา” เคารพธงไชยเฉลิมพลและกองรักษาการณ์ที่ประจำอยู่ที่พระราชวังดุสิต แล้วจึงไปตั้งแถวรอรับเสด็จอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับทรงเป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดีสภาที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต นักเรียนเก่าอาวุโสท่านเล่าว่า เวลารถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่านแถวลูกเสือหลวงและนักเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ล้นเกล้าฯ จะทรงผินพระพักตร์มาทอดพระเนตร “เด็กในหลวง” ด้วยสายพระเนตรที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และดูจะทรงปิติทุกคราวที่ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กๆ ข้าในพระองค์ สมดังพระราชกระแสที่พระราชทานไว้ว่า

 

“เจ้าหล่านี้ข้าถือเหมือนลูกของข้า ส่วนตัวเจ้า เจ้าก็ต้องนึกว่าข้าเป็นพ่อเจ้า”

 

          แต่พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่นักเรียนมหาดเล็กหลวงและนักเรียนวชิราวุธ รวมทั้งการแสดงกตเวทิตาเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณนั้นหาได้สิ้นสุดลงเพียงที่เล่ามา ยังมีเรื่องเล่าของนักเรียนเก่าอาวุโสที่จะขอยกมาสู่กันในตอนต่อไป

 

 
 

 

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศ.๔/๕๙ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑ มกราคม ๒๔๕๓ - ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๗).

 

 
 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |