โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๐. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ()

 

 

          ๔. ภาพล้อเชิงเสียดสี เป็นภาพที่ทรงวาดขึ้นภายหลังจากที่เยอรมนีลงนามในสัญญาสงบศึก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการที่พระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ ๒ นำประเทศเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ จนพ่ายแพ้ยับเยิน ทั้งในระหว่างสงครามนั้นกองทัพเยอรมนียังได้กระทำการด้วยความป่าเถื่อนโหดร้าย ครั้นเยอรมนียอมสงบศึกแล้ว พระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ ๒ และผู้เกี่ยวข้องก็ต้องสละบัลลังก์แล้วต้องเร่ร่อนหาที่พักพิง โดยไม่มีมิตรประเทศใดให้การต้อนรับ ภาพล้อพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ ๒ พร้อมพระญาติและผู้เกี่ยวข้องนี้ทรงวาดไว้เป็นชุด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไปลงในดุสิตสมิต ตั้งแต่ฉบับที่ ๒ วันเสาร์ที่ ๑๔ ธันวาคม ไปจนถึงฉบับที่ ๑๑ วันเสาร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ดังนี้

 

 

(ดุสิตสมิต ฉบับที่ ๒)

 

 

(ดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ เฉลิมพระชนม์พรรษา ๒๔๖๑)

 

 

(ดุสิตสมิต ฉบับที่ ๖)

 

 

(ดุสิตสมิต ฉบับที่ ๘)

 

 

(ดุสิตสมิต ฉบับที่ ๑๐)

 

 

(ดุสิตสมิต ฉบับที่ ๑)

 

 

          สำหรับภาพ "อะธรรมานุสาวะรีย์" ซึ่งเป็นภาพสุดท้ายในชุดนี้ ทรงพระราชนิพนธ์บทความชื่อ "อธรรมานุสาวีย์" กล่าวถึงบุคคลในภาพวาดฝีพระหัตถ์นี้ไว้ว่า

 

" "อะธรรมานุสาวะรีย์"

 

          งานมหาสงครามที่ได้กระทำแก่กันในมหาทวีปยุโรปจบลงแล้วในปีนี้ นับว่าได้สำแดงพยานปรากฏแก่โลกอีกครั้งหนึ่งแล้วว่า อะธรรมะถึงแม้จะมีแสนยานุภาพหนุนอยู่ก็ไม่สามารถจะสู้อำนาจแห่งธรรมะได้. เราผู้รักธรรมะควรที่จะจดจำข้อนี้ใส่ใจไว้. และเพื่อช่วยความจำอันนี้ เรา (ดุสิตสมิต) จึ่งได้นำรูปของผู้ที่เป็นหัวหน้าข้างฝ่ายอะธรรมะมาลงไว้ ณ ที่นี้. บุคคลที่มีปรากฏในรูปเหล่านี้ ได้มีชื่อเสียงขึ้นแล้วในทางอะธรรม, กล่าวคือ

 

          ๑. วิลเฮล์มที่ ๒ แห่งวงศ์โฮเฮนซอลเลอร์น, ไกเส้อร์เยอรมันและเจ้าแผ่นดินปรูชานอกตำแหน่ง, เปนผู้ที่ก่อการมหาสงครามขึ้นเพราะมุ่งจะเปนเจ้าโลก. แพ้ภัยตนเองแล้ว, จึงต้องลาออกจากราชสมบัติ สมน้ำหน้า !

 

          ๒. วิลเฮล์ม แห่งวงศ์โฮเฮนซอลเลอร์น, รัชทายาท (โครนปรินซ์) นอกตำแหน่ง. มีชื่อเสียงขึ้นในระหว่างงานสงครามว่าเป็นคนขี้ขะโมย; ยกทัพไปถึงไหนก็หยิบฉวยทรัพย์สมบัติที่นั่น, เปนตัวอย่างสำหรับทหารทั่วไป.

 

          ๓. แฮร์ ฟอน เบ็ทมันน์ - ฮอลลเวค, อัครมหาเสนาบดีเยอรมันเมื่อเวลาที่เกิดสงครามขึ้น; เปนผู้ที่เรียกสัญญาว่า "เศษกระดาษ," และเปนผู้กล่าวแก้ความประพฤติชั่วร้ายต่างๆ ของเยอรมันว่า "ความจำเปนไม่รู้จักธรรมะใดๆ."
๔. จอมพล ฟอน ฮินเด็นเบอร์ค, เสนาธิการทัพบกเยอรมัน, ผู้ที่มีชื่อเสียงขึ้นในการรบทางชายแดนตวันออก. ชาวเบอร์ลินได้สร้างรูปขึ้นด้วยไม้แล้วชักชวนกันตอกตะปูรูปนั้น. เพื่อเก็บเงินค่าซื้อตะปู.

 

          ๕. กร๊าฟ ฟอน แบร์นส์ตอร์ฟ, เอกอรรคราชทูตเยอรมันในสหปาลีรัฐอะเมริกา. ผู้ได้ฉวยโอกาศนั้นเพื่อทำการเปนหัวหน้าผู้ร้าย, คิดการทำลายสพานรถไฟ, โรงทำกระสุน. ฯลฯ เพื่อจะมิให้อะเมริกาช่วยฝ่ายสัมพันธมิตร์. กิจการของทูตผู้นี้ได้บันดาลให้อะเมริกาแลเห็นความชั่วร้ายของฝ่ายเยอรมัน, จึ่งได้ตกลงประกาศสงครามเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร์.

 

          ๖. จอมพลเรือ ฟอน ดีร์บิตซ์, เสนาบดีทหารเรือเยอรมัน, ซึ่งเมื่อเห็นว่ากองทัพเรือเยอรมันจะไม่สามารถต่อสู้กับกองทัพเรืออังกฤษโดยเปิดเผยแล้ว, จึ่งคิดการใช้เรือ "อู" (ดำน้ำ) ทำร้ายเรือพาณิชย์กลางทะเลหลวง, ประหารชีวิตสัตรีและทารกผู้มิได้ทำสงครามด้วยเลย.

 

          ในระหว่างรูปบุคคลผู้เปนหัวหน้าผู้ร้ายทั้ง ๖ คนนี้ เราได้ให้เขียนรูปเครื่องมือสำคัญของเยอรมัน ๒ อย่างที่ฝ่ายเขาหวังว่าจะเปนเครื่องช่วยให้สมปรารถนาอันชั่วร้ายของเขา, คือ โพยมนาวาเซปปลิน, ซึ่งส่งลอยไปรังควานที่ลอนดอนและปารีส, ทิ้งลูกระเบิดลงไปทำลายบ้านเรือนและชีวิตพลเรือน, โดยหวังจะให้เกิดความอลหม่าน, แต่ซึ่งแท้จริงไม่มีผลยิ่งไปกว่าฆ่าผู้หาผิดมิได้บางคน และทำให้ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสตั้งใจเอาชัยชนะมากขึ้นเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง คือ เรือดำน้ำ, ซึ่งได้ใช้ประหารเรือพาณิชย์และคนเดินทเลเป็นอันมาก, ทั้งที่เป็นชนชาติศัตรูของเยอรมันและชาติเป็นกลาง.

 

          "ธัมมะเทสฺสี ปะราภะโว !" - ผู้ที่ชังธรรมะย่อมถึงซึ่งความฉิบหาย, และมหาชนทั่วสากลโลกย่อมพากันว่าสาแก่ใจอ้ายฮั่นทั้งนั้น !"  []

 

          ๕. ภาพล้อบุคคล เป็นภาพที่ทรงวาดขึ้นโดยทรงหยิบยกบุคลิกลักษณะหรือความรู้ความสามารถของบุคคลต่างๆ มาวาดเป็นภาพลายเส้น ตามที่ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ใน "อธิบายเรื่อง "คาร์ตูน" ของเรา" ที่พระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิตฉบับที่ ๒๐ วันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ความว่า

 

          "ดูเหมือนจะได้มีผู้อ่านของเราถามอยู่บ้าง, (หรือแม้จะมิได้ถามก็ช่างเปนไร) ว่าภาพ "คาร์ตูน" ที่เปนรูปบุคคลนั้น เหตุไฉนจึ่งได้มีออกบ้างไม่ออกบ้างใน "ดุสิตสมิต", เราจึ่งขอถือโอกาศอันนี้เพื่ออธิบายแก่ท่านที่ถาม (และท่านผู้ที่มิได้ถามด้วย) ว่าการออก "คาร์ตูน" ของเราได้ตั้งเกณฑ์ไว้ว่า :-

 

          ๑. จะให้มีแต่รูปข้าราชการผู้ใหญ่อันมีบรรดาศักดิ์และเกียรติศักดิ์, ซึ่งเราเห็นว่าเปน ผู้ที่ควรชนจะนับถือ, (และที่เราเองเห็นเปนคนดี)

 

          ๒. ต้องเปนผู้ที่เราคาดว่าเมื่อมีรูปลงใน "ดุสิตสมิต" แล้วจะไม่ถือว่าเปนการถูกค่อน แคะ หรือหมิ่นประมาท

 

          ๓. เลือกลงรูปบุคคลให้เหมาะแก่กาละ เช่นลงรูป "เสนาธิการของเรา" ในเวลาชุมพลเสือป่าเปนตัวอย่าง

 

          เมื่อได้แสดงหลักแห่งการลงรูป "คาร์ตูน" ของเราเช่นนี้แล้วเราหวังใจว่าจะได้รับผลอันพึงปรารถนา, คือ :-

          ประการที่ ๑ จะรอดจากการถูกติว่าลง "คาร์ตูน" เปนการลักลั่น

          ประการที่ ๒ จะรอดจากการถูกผู้ที่มีรูปใน "คาร์ตูน" นั้นเคือง

          ประการที่ ๓ จะรอดจากการถูกหาความว่าตั้งใจค่อนแคะ, กระทบกระเทียบ, หรือหมิ่นประมาท. การหาความเช่นนี้เปนวิธีแสดงความเจ็บร้อนแทนผู้ใหญ่, อันเปนองค์ ๑ แห่งการสอพลอ, เพราะฉะนั้นจึ่งหลีกเลี่ยงยากนัก. แต่เมื่อได้อธิบายเกณฑ์ของเราแล้วใครยังจะขืนหาความอีกก็ ... !"  []

 

          ภาพล้อบุคคลที่ลงพิมพ์ในดุสิตสมิตมีทั้งสิ้น ๒๓ ภาพ กับภาพพิเศษที่ทรงวาดเป็นพระองค์เองอีก ๑ ภาพ ภาพล้อฝีพระหัตถ์นี้เมื่อลงพิมพ์ในดุสิตสมิตแล้ว บุคคลในภาพที่ถูกล้อเลียนนั้นมักจะขอพระราชทานซื้อภาพต้นฉบับนั้นไปเป็นที่ระลึก ส่วนรายได้จากการจำหน่ายภาพนั้นก็ได้พระราชทานไปบำรุงการกุศลสาธารณะ อาทิ สมทบจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วง สมทบซื้อปืนให้เสือป่า และบำรุงสภากาชาดไทย โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

 

 

 


[ ]  ดุสิตสมิต เล่ม ๑ ฉบับที่ ๑๑ (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑), หน้า ๑๗๕ - ๑๗๖.

[ ดุสิตสมิต เล่ม ๒ ฉบับที่ ๒๐ (๒๖ เมษายน ๒๔๖๒), หน้า ๑๔๑.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |