โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๑. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ()

 

 

          ภาพล้อบุคคลที่พระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิต มีดังนี้

 

 

ท่านนคราภิบาลผู้มี สัก

 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับที่ ๑ (๗ ธันวาคม ๒๔๖๑)

นาม

จางวางโท พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล) [] อธิบดีกรมชาวที่ และนคราภิบาลคนแรกของดุสิตธานี

อธิบาย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประทับแรมที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว

 

 

 

          "รุ่งขึ้นจากวันที่เสด็จพระราชดำเนินกลับมา คือเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม เวลาหลังพระกระยาหารค่ำ ได้ "เสด็จลงที่บ้านเมืองเล็กๆ ดูแลจับจองบ้าน" วันนี้จึงเป็นวันกำเนิดดุสิตธานี, แต่คำว่า "ดุสิตธานี" นั้นดูเหมือนจะไม่มีใครเคยได้ยิน จนกระทั่งวันที่ ๒๕ กรกฎาคม เมื่อ "พระเจ้าอยู่หัวเสด็จที่เมืองดุสิตธานี กะและสร้างคลอง, ถนนที่บ้านเมืองใหม่อีก" "  [๒]

 

           เมื่อดุสิตธานีมีอายุได้สามเดือน และแม้ว่าการร่าง "ธรรมนูญลักษณ ปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี" ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลือกตั้งนคราภิบาลครั้งแรกของดุสิตธานีขึ้น เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ และพระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล) รองอธิบดีกรมชาวที่ ได้รับเลือกเป็นนคราภิบาลคนแรกของดุสิตธานี

 

          ในภาพท่านนคราภิบาลผู้มี สัก มีรอยสักที่ข้อมือขวาเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร.พระมหามงกุฎ หมายว่าท่านนคราภิบาลผู้นี้เป็น "คนหลวง" คือ ผู้ที่ได้ถวายตัว เป็นข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๘

 

          ภาพนี้ท่านนคราภิบาลผู้มีสักแต่งชุดพลเรือน สวมเสื้อราชปะแตน นุ่งโจง สวมรองเท้าหนังดำแบบราชการ (Court Shoes) สวมหมวกและเสื้อครุยประดับสังวาล เช่นเดียวกับเครื่องยศของผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี หรือ Lord Mayor ในนครต่างๆ ของยุโรป มือซ้ายยืนเท้าโต๊ะวางขวดและแก้วเมรัย ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของโฮเต็ลเมโทรโปล และเนื่องจากในเมืองจำลองดุสิตธานีนั้นมีแต่บ้านเล็กเมืองน้อยที่คนไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้ คงมีเฉพาะห้องบิลเลียดซึ่งสมมติเป็น "โฮเต็ลเมโทรโปล" ที่เป็นอาคารเพียงแห่งเดียวที่ทวยนาครของดุสิตธานีสามารถใช้เป็นที่ประชุมเลือกนคราภิบาลและเชษฐบุรุษ รวมทั้งเป็นสโมสรที่ทวยนาครสามารถเข้าไปพักผ่อนได้จริง ห้องบิลเลียดนี้จึงเป็นเสมือนศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตราชธานีด้วย

 

 

ท่านนคราภิบาลผู้มีศุภะลักษณ์

 

 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับที่ ๓ (๒๑ ธันวาคม ๒๔๖๑)

นาม

นายกองเอก พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)

อธิบาย

พระยาอนิรุทธเทวา แต่งเครื่องแบบเต็มยศนายกองเอกเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์ สวมหมวกหนังสีดำแบบอูลานหรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า "หมวกทรงโถข้าว" มีหน้าเสือโลหะเงินติดที่หน้าหมวก มีโซ่รัดคางเงิน และพู่ขนม้าขาขาวปักที่ขวาหมวก สวมเสื้อสักหลาดดำแบบอูลาน (แบบทหารม้า) ที่หน้าอกทาบสักหลาดสีน้ำเงินหม่น ติดดุมเงินชนิดเกลี้ยงแบน ๒ แถวๆ ละ ๗ ดุม ที่ข้อมือเสื้อทาบสักหลาดสีน้ำเงินหม่น ถัดขึ้นไปเป็นลวดไหมทองถักเป็นยันต์หมายยศนายกองเอก สวมกางเกงแบบขี่ม้าสีน้ำเงินหม่นขลิบลวดเหลืองที่ตะเข็บขากางเกงด้านนอกทั้งสองข้าง สวมรองเท้าสูง (บูท) หนังดำติดเดือยแทงม้าโลหะสีเงิน

 

          ในภาพท่านนคราภิบาลผู้มีศุภะลักษณ์กำลังยืนชี้ถ้วยรางวัลการแข่งขันบิลเลียด มีถุงเงินที่จะส่งไปสมทบราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วงอยู่เบื้องหลัง

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเมืองจำลอง "ดุสิตธานี" ขึ้นที่พระราชวังดุสิต ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว ต่อมาวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทวยนาคร (พลเมือง) ของดุสิตธานีมาประชุมพร้อมกันเลือกนคราภิบาลเพื่อทำหน้าที่บริหารราชการในจังหวัดดุสิตราช ธานีเป็นครั้งแรก ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดและได้รับเลือกเป็นนคราภิบาลคนแรก คือ พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล) [] ต่อมาวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ธรรมนูญลักษณปกครองดุสิตธานี และได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการเลือกตั้งนคราภิบาลมณฑลดุสิตราชธานีเป็นครั้งที่ ๒ โดยเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองดังกล่าวในวันเดียวกันนั้นด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้พระยาอนิรุทธเทวาได้รับเลือกเป็นนคราภิบาล

 

          อนึ่ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งนคราภิบาลครั้งที่ ๒ นั้น ดุสิตธานีได้จัดให้มีการแข่งขันบิลเลียดชิงถ้วยพระยาอนิรุทธเทวา ณ โฮเต็ลเมโทรโปล มาตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อพระยาอนิรุทธเทวาได้รับเลือกเป็นนคราภิบาลคนที่ ๒ แล้ว การแข่งขันบิลเลียดชิงถ้วยท่านนคราภิบาลก็ยิ่งคึกคักขึ้นเป็นลำดับ ดังมีความละเอียด ในบทพระราชนิพนธ์ "ศุภลักษณ" ซึ่งทรงขยายความภาพล้อฝีพระหัตถ์ภาพนี้ไว้ว่า

 

 

 

"ศุภลักษณ"

 

          นึกดูก็น่าขัน. สมัยนิยมของคนเรานี้หนอ ช่างรู้จักเปลี่ยนไปได้ราวกับฤดู และเทศกาล. สุดแต่ว่าถ้ามีใครนำอะไรขึ้นคนหนึ่งก็มักจะมีคนตามกันเปนพรวน; บ้างก็ตามโดยความเห็นชอบแล้ว. บ้างก็ยัง, เห็นเขาทำก็ตามๆ เขาไปอย่างนั้นแหละ. แต่การที่จะคิดอะไรหรือทำอะไรขึ้นเพื่อให้มีคนทำตาม ตามความประสงค์นั้น คิดดูให้ซึ้งสักหน่อยก็จะเห็นว่า ไม่ง่ายเท่าที่เห็นเขาทำๆ กัน. เพราะวิธีเช่นนี้ต้องอาศัยที่ผู้ทำเปนผู้ที่กอปไปด้วยความคิดสุขุมรอบคอบ มีปรีชาญาณอันรู้เท่าถึงการกิจนั้นๆ จึ่งจะบรรลุไปได้สมดังมโนรถและพร้อมทั้งผลบริบูรณ์ดังที่มุ่งหมาย. เช่นตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ในธานีเรานี้เอง เพราะเจ้าคุณอนิรุทธเทวา, ท่านนคราภิบาลปัตยุบัน, นี้หรือมิใช่ที่ทำให้ทวยนาครโดยมากบำรุงความสนุกสำราญและร่างกายของเขาด้วยบิลเลียด? จริงอยู่, บิลเลียดเปนเกมที่เล่นกันมานานแล้วในจังหวัดเรา แต่นั่นแหละ! ถ้าท่านจะเทียบดูแต่ก่อนๆ กับหมู่นี้ท่านจะเห็นได้ว่าผิดกันไกลเท่าไร นี้ก็เพราะเจ้าคุณอนิรุทธเทวาท่านคิดให้ถ้วยเปนรางวัลแก่ผู้ชนะที่สุดในการแข่งขัน ซึ่งผู้เล่นต้องเสียคนละ ๕ บาท และคนดูคนละ ๕๐ สตางค์. รายได้ในชั้นนี้ได้แก่ราชนาวีสมาคม! เพราะใคร? ไม่ใช่เจ้าคุณอนิรุทธหรือ? คราวนี้ท่านจำได้ไหมว่าเมื่อก่อนถึงกำหนดวันแข่งขันนั้นเจ้าคุณท่านทำอย่างไร? ท่านลงแจ้งความให้ทวยนาครทราบก่อนกำหนดตั้ง ๑๐ วันในหนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งทำให้นักบิลเลียดทั้งหลายตื่นเต้นโดยความอยากสนุก เตรียมตัวและเตรียมข้อกันใหญ่ สนุกจริงๆ โฮเตลเมโตรโปล แน่นดีจริง! ซ้อมข้อกันใหญ่ เกงถ้วยกันใหญ่! ตั้งแต่เช้าจนกลางวัน กลางวันจนกลางคืน โต๊ะไม่มีว่าง ไม่ว่าเจ๊กว่าไทย หรือครึ่งชาติเต็มชาติแทบจะไม่วางคิวกันเลย ถ้ามีม๊ากเก้อแกไม่จำเปนต้องทำอย่างที่แกทำมาแล้วแกแทบลาออก หรือมิฉนั้นก็ต้องยืนนก. ฮะๆ น่าสนุกแต่เออค่าเกมล่ะต้องเสียไหม? เห็นจะแน่ล่ะท่านเปนอะไรมาเขาจะได้ให้เล่นเปล่าๆ จริงไหม. จริงซีนี่. อีตอนนี้-เม็ดเด็ดมันอยู่ตรงนี้-ฟาดเสียนับร้อยๆ ขึ้นไปเทียว. เมโตรโปลอ้วนกันอีตอนนี้เอง. พุดโธ่! นี่ไม่ใช่ฝีมือเจ้าคุณอนิรุทธหรือ? อ้าวท่านอย่าฉุนซิ บอกให้ล่ะก็. แล้วกันนึกดูให้ดีหน่อยซิ! นี่แหละเปนวิธีอย่างพิสดารของเจ้าคุณท่าน เพื่อชักชวนและนำท่านให้เข้าเรี่ยรายราชนาวีสมาคมตามๆ กันอย่างไรล่ะ, เพราะรายได้ (เช่นค่าเกม) ของโฮเตลเมโทรโปลใครๆ ก็ย่อมรู้ดีว่า คือรายได้ของราชนาวีสมาคม. ท่านที่ได้ถ้วยไปแน่ละ, ท่านรู้สึกภูมใจจริงไหม? แต่ผู้ที่ไม่สำเร็จ ก็อย่าเสียใจเลย ขอจงนึกเสียว่า เราได้แทงบิลเลียด เราได้สนุก. เอ๊กไซ้ต, กับได้ช่วยชาติ; พร้อมๆ กัน, ในคราวเดียวที่ลงชื่อแข่งขันชิงถ้วย.

 

          เออท่านทั้งหลายลองนึกดูทีถึงความเฉลียวฉลาดแลรอบคอบของท่านเจ้าคุณนคราภิบาลของเราทีฤาว่า สมกับที่ใครๆ เรียกท่านว่าเปนผู้มี "ศุภลักษณ" ไหม?"  []

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกเอก พระยาอุดมราชภักดี

[ ม.ล.ปิ่น มาลากุล. มีอะไรในอดีต (เมื่อ ๖๐ ปีก่อน), หน้า ๙.

[ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกเอก พระยาอุดมราชภักดี

[ ดุสิตสมิต เล่ม ๑ (ธันวาคม - มกราคม - กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑), หน้า ๓๗ - ๓๘.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |