โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๓. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ()

 

 

มหาดไทยนายก

 

  

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับที่ ๖ (๑๘ มกราคม ๒๔๖๑)

นาม

มหาเสวกเอก เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

อธิบาย

มหาดไทยนายก คือ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการปกครองหัวเมืองมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรต่างพระเนตรพระกรรณ

 

          ภาพนี้ทรงเขียนขึ้นในคราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ จากเจ้าพระยาสัญญาบัตรขึนเป็นเจ้าพระยาหิรัญบัตร เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑

 

          ในภาพ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ แต่งเครื่องแบบเต็มยศขาวข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักสังกัดกระทรวงวัง สวมเสื้อขาวแบบราชการ (ราชปะแตน) ติดดุมทองตราพระมหามงกุฎ ๕ ดุม ที่คอติดแผ่นคอพื้นกำมะหยี่สีบานเย็น (สีกระทรวงวัง) ทาบแถบไหมทองเต็มทั้งแผ่นคอ ที่กึ่งกลางแผ่นคอทั้งสองข้างประดับพระมหามงกุฎรัศมีเงิน หมายเป็นข้าราชสำนักประจำการ มีดาราเงินหมายยศติดที่ต้นแผ่นคอในแนวตั้งข้างละ ๒ ดวง และที่มุมแหลมปลายแผ่นคอข้างละ ๑ ดวง หมายยศเป็น มหาเสวกเอกกระทรวงวัง สอดสายสะพายประถมาภรณ์ช้างเผือกเฉียงบ่าขวา อกเสื้อเบื้องขวาประดับเข็มสมุหมนตรี รูปอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร. มีรัศมีรอบ และมีพระมหามงกุฎอยู่เหนือ หมายว่าเป็นข้าราชการพลเรือนที่ได้ทรงเลือกให้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท มีเกียรติยศเสมอด้วยราชองครักษ์ฝ่ายทหาร อกเสื้อข้างซ้ายประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่แนวดุมเม็ดต้น ถัดลงมาประดับดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์รวม ๓ ดวง ที่เอวข้างซ้ายขัดกระบี่ข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักยอดพระเกี้ยวพร้อมโกร่งกระบี่ทอง ฝักกระบี่หนังดำเครื่องทอง ผูกพู่กระบี่ไหมทอง กางเกงสักหลาดสีดำติดแถบไหมทองลายไชยพฤกษ์กว้าง ๕ เซนติเมตร ที่ตะเข็บขากางเกงด้านนอกทั้งสองข้าง สวมถุงเท้าดำรองเท้าหนังสีดำแบบผูกเชือก

 

 

เสนาธิการของเรายก
 

  
 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับที่ ๗ (๒๕ มกราคม ๒๔๖๑)

นาม

นายพลเสือป่า พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม๊ค เศียนเสวี) เสนาธิการเสือป่า

อธิบาย

เนื่องจากวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นวันเริ่มเข้าค่ายเพื่อการฝึกซ้อมและประลองยุทธเสือ ป่าประจำปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปรสภาพพระราชวังสนามจันทร์เป็นค่ายหลวงพระราชวังสนามจันทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปรพระราชฐานจากพระที่นั่งพิมานปฐมมาประทับแรมที่พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ สำนักงานดุสิตสมิตจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เรือนแพหลังพระตำหนัก ภาพล้อฝีพระหัตถ์ในช่วงการซ้อมรบเสือป่าประจำปีนี้ จึงเป็นภาพที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับการซ้อมรบเสือป่า เริ่มจากภาพ "เสนาธิการของเรา" คือ ภาพพระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี เสนาธิการเสือป่า ผู้มีหน้าที่อำนวยการฝึกหัดและจัดการศึกษาวิธียุทธของเสือป่า

 

          ในภาพ พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี เสนาธิการเสือป่า แต่งเครื่องแบบปกตินายพลเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์ สวมหมวกแก๊ปสีกากี กระบังหน้าหนังดำปักลายสร้อยไชยพฤกษ์ด้วยดิ้นทองที่ขอบนอกและขอบในของกระบังหมวก มีสายรัดคางหนังเหลือง ติดตราพระมหามงกุฎรัศมีเงินที่หน้าหมวก พันขอบหมวกด้วยสักหลาดสีแดง สวมเสื้อตัวในเป็นเชิ้ตผ้าสีกากีผูกผ้าผูกคอสีกากีเงื่อนกลาสี เสื้อชั้นนอกผ้าสีกากีแบบคอแบะ ติดดุมทองเกลี้ยงที่หน้าอก ๔ ดุม มีกระเป๋าใบปก ๔ กระเป๋า ที่ปากกระเป๋าติดดุมทองเกลี้ยงขนาดเล็ก ๑ ดุม มีอินทรธนูผ้าสีกากีติดตามยาวบ่าทั้งสองข้าง มีดุมทองเกลี้ยงขนาดเล็กติดที่ข้างคอเสื้อข้างละ ๑ ดุม ที่ใบปกคอเสื้อทั้งสองข้างประดับแผ่นทาบคอเสื้อรูปต้นเสี้ยมปลายตัด พื้นสักหลาดแดงปักไหมทองเป็นลายสร้อยไชยพฤกษ์ที่กึ่งกลาง หมายเป็นนายเสือป่าประจำกรมเสนาธิการเสือป่า ที่อกเสื้อเบื้องขวาประดับสายราชองครักษ์ไหมเหลือง กลางอินทรธนูเบื้องขวาประดับเข็มเงินอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ร.ร.๖ พระมหามงกุฎ หมายเป็นราชองครักษ์เสือป่าในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กระเป๋าเสื้อเบื้องซ้ายประดับเข็มข้าหลวงเดิมรูปพระวชิราวุธ หมายว่า เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ ข้อมือเสื้อทั้งสองข้างติดใบปกรูปชายแฉลบพื้นสีกากี มีขอบเป็นแถบไหมสีน้ำตาล ที่กึ่งกลางชายแฉลบปักไหมสีขาวเป็นรูปกระบี่ไขว้มีพระมหามงกุฎเปล่งพระรัศมีอยู่เหนือ มีแถบไหมสีน้ำตาลทำเป็นบั้ง ๔ บั้งที่รอบข้อมือเสื้อ หมายชั้นยศนายพลเสือป่า มีเข็มขัดหนังเหลืองพร้อมซองกระบี่สะพายเฉียงบ่าขวา ที่แขนซ้ายเหนือข้อศอกติดผ้าพันแขนขนาดกว้าง ๖ เซนติเมตร กึ่งกลางเป็นริ้วสีแดงกว้าง ๒ เซนติเมตร ถัดออกไปทั้งด้านบนและด้านล่างเป็นริ้วสีขาวสลับสีแดงริ้วละ ๑ เซนติเมตร ที่กึ่งกลางผ้าพันแขนปักดิ้นเงินเป็นรูปกระบี่ไขว้ มือขวาถือไม้เท้าเสือป่า สวมกางเกงผ้าสีกากีแบบกางเกงขี่ม้า รองเท้าสูง (บูท) หนังแดง ติดเดือยทองขาวแทงม้าที่รองเท้า

 

          ที่อกเสื้อเบื้องซ้ายตอนบนประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นที่ ๔ อัศวิน [] หมายเป็น "มหาโยธิน" แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี โดยมีความชอบตามประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ว่า

 

"นายพลเสือป่า พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี เปนผู้ได้จัดวางรเบียบแบบแผนการฝึกหัดสั่งสอนเสือป่าทั่วไปให้เปนผลเจริญดียิ่งขึ้นเปนลำดับแต่เริ่มตั้งกองเสือป่ามาจนบัดนี้ เห็นได้ชัดในเวลารวมพลฝึกซ้อมวิธียุทธประจำปี ขณะนี้เสือป่าสามารถทำการได้ดียิ่งกว่าแต่ก่อนผิดกันไกล คณะที่ปฤกษาได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าเปนความชอบในทางปฏิบัติราชการให้เปนผลดีสำหรับความรุ่งเรืองแห่งกำลังทหาร"  []

 

 

แดงครวญ

 

      

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๑ ฉบับที่ ๘ (๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑)

นาม

นายกองตรี พระยาพิทักษ์ภูบาล (สวัสดิ์ วิเศษศิริ) [] สารวัดใหญ่ในพระราชสำนัก และ
หัวหน้าแผนกสารวัดเสือป่า กองเสนาหลวงรักษาพระองค์

อธิบาย

เมื่อถึงกำหนดซ้อมรบเสือป่าประจำปี บรรดาข้าราชสำนักทั้งหลาย ก็จะแปรสภาพจากคุณมหาดเล็กและพนักงานพระราชพิธีไปเป็นเสือป่ากองเสนาหลวงรักษาพระองค์เข้าประจำกรมกองที่สังกัด การที่นายเสือป่ามาประชุมพร้อมกันในค่ายหลวงเป็นจำนวนมาก ๆ เช่นนี้ ย่อมจะต้องมีผู้ประพฤติผิดวินัยอยู่เนืองๆ จึงต้องจัดให้มีสารวัดกองเสนา หลวงรักษาพระองค์ทำหน้าที่เป็น "สารวัดเสือป่า" มีสัญลักษณ์เป็นเข็มรูปพระมหามงกุฎเหนือเพระวชิระโลหะสีทองติดทับบนผ้าพันแขนสีแดงเหนือข้อศอกซ้ายขนาดกว้าง ๖ เซนติเมตร เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นเด่นชัดแต่ไกล จึงมีคำเรียกขานบรรดา
สารวัดเสือป่าว่า "แขนแดง" และเมือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สารวัดเสือป่า
เปลี่ยนไปใช้หมวกแก๊ปสีแดงเหมือนสารวัดทหารของอังกฤษแล้ง สารวัดเสือป่าก็ถูกกล่าวถึงในชื่อ "หัวแดงหน้าบุบ"

 

          เนื่องจากสารสัดเสือป่าเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความประพฤติและระเบียบการแต่งกายของเสือป่า รวมทั้งทำหน้าที่สืบสวนเหตุการณ์หรือข่าวคราวเพื่อประโยชน์แก่การรักษาความสงบราบคาบภายในค่ายหลวง เช่นเดียวกับสารวัดทหาร จึงมักจะถูกเพื่อนเสือป่าด้วยกันตั้งข้อรังเกียจ สมดังบทพระราชนิพนธ์ "แดงครวญ" ที่พระราชทานไว้พร้อมกับภาพล้อฝีพระหัตถ์นี้ว่า

 

          "ศักระวาคิดมาน่าน้อยจิต เออยิ่งคิดยิ่งหมองไม่ผ่องใส
เสียแรงสู้เหนื่อยยากลำบากใจ ไม่มีใครชอบเราเศร้าอุรา
เสียแรงคอยสอดส่องมองคอยเหตุ มิให้เภทภัยพาลเกิดฉานฉ่า
ชนกลับชังคอยนั่งแต่นินทา แขนแดงจ้าหน้าดำครำเครียดเอย ฯ"

 

          ในภาพพระยาพิทักษ์ภูบาล สารวัดกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ แต่งเครื่องแบบปกตินายกองตรีเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์ สวมหมวกแก๊ปสีกากี กระบังหน้าหนังดำ ปักลายสร้อยไชยพฤกษ์ด้วยดิ้นเงินที่ขอบนอกของกระบังหมวก มีสายรัดคางหนังเหลือง ติดตราหัวม้าเงินที่หน้าหมวก พันขอบหมวกด้วยสักหลาดสีแดง สวมเสื้อตัวในเป็นเชิ้ตผ้าสีกากีผูกผ้าผูกคอสีกากีเงื่อนกลาสี เสื้อชั้นนอกผ้าสีกากีคอแบะ ติดดุมเงินเกลี้ยงที่หน้าอก ๔ ดุม มีกระเป๋าใบปก ๔ กระเป๋า ที่ปากกระเป๋าติดดุมเงินเกลี้ยงขนาดเล็ก ๑ ดุม ที่ใบปกคอเสื้อทั้งสองข้างประดับเครื่องหมายเหล่าเป็นรูปหัวม้าเงิน มีอินทรธนูทำเป็นแผ่นสักหลาดสีน้ำเงินหม่นกว้าง ๔ เซนติเมตรติดตามยาวบ่าทั้งสองข้าง กับมีดุมเงินขนาดเล็กกลัดติดกับตัวเสื้อด้านที่ติดกับคอเสื้อข้างละ ๑ ดุม ด้านบนอินทรธนูมีแถบเงินกว้าง ๑ เซนติเมตรติดที่ริมขอบรอบ และมีแถบเงินขนาดเล็กพาดกลางตามทางยาวอินทรธนูอีก ๑ เส้น ปลายอินทรธนูเป็นใบปกหุ้มเกราะโซ่เงินคลุมปกไหล่ ติดเครื่องหมายยศเงินรูปพระมหามงกุฎเปล่งพระรัศมีที่กึ่งกลางใบปกคลุมไหล่ทั้งสองข้าง หมายยศเป็นนายกองตรี ที่อกเสื้อเบื้องขวาประดับสายราชองครักษ์ไหมขาว กลางอินทรธนูเบื้องขวาประดับเข็มเงินอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ร.ร.๖ พระมหามงกุฎ หมายเป็นราชองครักษ์เสือป่าในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถัดลงมาเหนือกระเป๋าเสื้อเบื้องขวาประดับเข็มกาชาดสยาม หมายเป็นสมาชิกสภากาชาดสยาม อกเสื้อเบื้องซ้ายตอนบนประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่กึ่งกลางกระเป๋าเสื้อเบื้องซ้ายประดับเข็มข้าหลวงเดิมรูปพระวชิราวุธ หมายว่า เป็นข้าหลวงเดิมที่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ ที่แขนซ้ายเหนือข้อศอกติดผ้าพันแขนสีแดงพร้อมเข็มเงินรูปพระมหามงกุฎเหนือพระวชิระ หมายให้เห็นเด่นชัดว่าเป็นสารวัดกองเสนาหลวงรักษาพระองค์

 

 

 


[ ]  พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี มีบทบัญญัติพิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ว่า

         มาตรา ๒๑ ให้ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี มีถานันดรพิเศษ คือ

                    ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานชั้นที่ ๑ มีถานันดรเรียกว่า "เสนางคะบดี"...

                    ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานชั้นที่ ๒ มีถานันดรเรียกว่า "มหาโยธิน"...

                    ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานชั้นที่ ๓ มีถานันดรเรียกว่า "โยธิน"...

                    ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานชั้นที่ ๔ มีถานันดรเรียกว่า "อัศวิน"...

         มาตรา ๒๓ ผู้ใดได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นสูงกว่าที่ ๔ ขึ้นไป ให้ใช้ประดับตราดวงเล็กชั้นที่ ๔ แทนเครื่องราชอิศริยาภรณ์ชั้นที่ตนได้รับพระราชทานสำหรับเวลาแต่งกายเครื่องแบบทหารอย่างปรกติ หรือเครื่องฝึกหัดเครื่องสนามนั้นได้ แต่ต้องจัดหาเองไม่พระราชทานของหลวง เวลาแต่งครึ่งยศเต็มยศให้ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตามชั้นที่ได้รับพระราชทาน ส่วนเวลาแต่งเครื่องราตรีสโมสร จะประดับหรือไม่ก็ได้ หรือจะประดับตราจำลองก็ได้.

         มาตรา ๒๔ ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีหรือเหรียญรามมาลานี้แล้ว เมื่อแต่งเครื่องแบบทหาร ควรประดับตรานั้นด้วยเสมอ ตามวิธีซึ่งกล่าวมาแล้วในมาตรา ๒๓ เว้นแต่เวลาแต่งเครื่องราตรีสโมสรจะประดับหรือไม่ก็ได้ดังว่ามาแล้ว

[ "ประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิศริยาภณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี", ราชกิจจานุเบกษา ๓๕ (๒ ธันวาคม ๒๔๖๑),
หน้า ๒๑๗๗ - ๒๑๙๔.

[ ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น นายพลเสือป่า

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |