โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๕. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ()

 

 

ท่านกระลาโหม

 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๒ ฉบับที่ ๒๒ (๑๐ พฤษภาคม ๒๔๖๒)

นาม

จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม

อธิบาย

ท่านกระลาโหม หมายถึง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาราชการ ฝ่ายทหารบก ทั้งเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการประกาศรับสมัครและคัดเลือกชายฉกรรจ์เป็นทหารอาสาไปในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป จนได้รับผลสำเร็จอย่างดียิ่ง กองบินทหารบกที่ไปในการพระราชสงครามครั้งนั้นได้ไปเรียนรูและฝึกการบิน จนสำเร็จเป็นนักบินถึง ๙๕ นาย และอีกกว่า ๒๐๐ นายได้เรียนรู้วิชาซ่อมสร้างอากาศยาน เมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศสยามแล้ว นายทหารเหล่านั้นได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกรมอากาศยานทหารบกซึ่งได้พัฒนาเป็นกองทัพอากาศในเวลาต่อมา ส่วนกองทหารบกรถยนต์นั้นก็ได้เข้าปฏิบัติการในสนามด้วยความกล้าหาญ จนรัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบตรา Croix de Guerre ประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพล เป็นเกียรติประวัติของกองทัพบกสยาม

 

          ในภาพ จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต แต่งเครื่องแบบเต็มยศนายทหารบกยศชั้นจอมพล ทหารบก สวมเสื้อทูนิคสีขาว ติดดุมทองเกลี้ยงที่อกเสื้อ ๗ ดุม คอ และข้อมือเสื้อเป็นสักหลาดสีดำปักดิ้นทองเป็นลายไชยพฤกษ์ ที่คอเสื้อประดับเข็ม เครื่องหมายนายทหารพลรบประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมี มีอินทรธนูไหมทองถัก ติดตามยาวบ่าทั้งสองข้าง ที่ปลายอินทรธนูทั้งสองข้างประดับเครื่องหมายยศเงินรูปกระบี่ไขว้กับคฑา ที่กึ่งกลางอินทรธนูเบื้องขวาประดับอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร.พระเกี้ยวยอด หมายเป็นราชองครักษ์มาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กึ่งกลางอินทรธนูเบื้องซ้ายประดับเครื่องหมายสังกัดรูปพระคชสีห์เงิน หมายเป็นนายทหารสังกัดกรมบัญชาการกระทรวงกลาโหม สอดสายสะพายมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกเฉียงบ่าขวา [] อกเสื้อเบื้องซ้ายในแนวดุมเม็ดที่ ๑ ประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ถัดลงมาประดับดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวม ๓ ดวง เอวคาดรัดประคตไหมทองถักพร้อมพู่ไหมทอง สวมกางเกงสักหลาดดำติดแถบคู่สีบานเย็น กว้างแถบละ ๓ ซนติเมตร วางเคียงห่างกัน ๑.๕ เซนติเมตรโดยมีลวดสีบานเย็นคั่นกลาง มือขวาถือคทาจอมพล มือซ้ายถือกระบี่พร้อมหมวกขนดำ (Cock hat) ใบพับ ประดับพู่ขนนกขาวสลับแดงสำหรับนายทหารพลรบยศชั้นจอมพลและนายพล อกเสื้อเบื้องขวาประดับสายราชองครักษ์ไหมทอง ที่คอเสื้อประดับดวงดาราน้อยพร้อมแพรแถบและติดดวงดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีที่อกเสื้อเบื้องขวา หมายเป็น “มหาโยธิน” แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี โดยมีความชอบตามประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ว่า

 

“จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ได้รับราชการทหารมาช้านานเปนเวลาถึง ๔๗ ปีแล้ว และได้ประจำในตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบก ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกกรุงเทพฯ ซึ่งในครั้งนั้นมีน่าที่บังคับบัญชากองทหารซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ทั่วไปด้วย ยกรบัตรทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกะลาโหม จนบัดนี้ได้รับราชการอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกะลาโหม ย่อมเปนผู้ได้ปฏิบัติราชการเป็นผลดียิ่ง สำหรับความเจริญรุ่งเรืองแห่งกำลังทหาร”  []

 

 

มหาปริญญามาตย์นายก

 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๒ ฉบับที่ ๒๓ (๑๗ พฤษภาคม ๒๔๖๒)

นาม

มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล

อธิบาย

มหาปริญญามาตย์นายก เป็นการสนธิคำระหว่างคำว่า “มหาเปรียญ” กับ “มหาอำมาตย์นายก” กล่าวคือ เจ้าพระยายมราชนั้น เมื่อก่อนเข้ารับราชการได้เคยบวชเรียนเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม สอบไล่ได้เป็นเปรียญธรรม ๓ ประโยค จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า “พระมหาปั้น เปรียญ” เมื่อลาสิกขาแล้วเข้ารับราชการก็เจริญก้าวหน้าในราชการจนได้รับพระราชทานยศสูงสุดของฝ่ายพลเรือนเป็น มหาอำมาตย์นายก ซึ่งเทียบเท่ายศจอมพลของทหารบก โดยมีผู้ที่ได้รับพระราชทานยศชั้นนี้เพียง ๒ ราย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ และเจ้าพระยายมราช ซึ่งเวลา นั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล []

 

          ในภาพ เจ้าพระยายมราชแต่งเครื่องแบบเต็มยศขาวข้าราชการพลเรือนชั้นยศมหาอำมาตย์นายก สวมเสื้อผ้าขาวแบบราชการ คอและข้อมือสักหลาดดำปักดิ้นทองรอบ กับติดเครื่องหมายยศเงินรูปจักรกับตรีทับลายปักบนข้อมือเสื้อทั้งสองข้าง ที่คอเสื้อติดเครื่องหมายประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงิน กางเกงสักหลาดดำติดแถบทองลายไชยพฤกษ์กว้าง ๕ เซนติเมตรที่ตะเข็บขากางเกงทั้งสองข้าง สวมถุงเท้ารองเท้าหนังดำ ห่มจีวรพาดสังฆาฏิและมัดอกทับเสื้อเครื่องแบบ เพราะเคยบวชเรียนในพระอารามฝ่ายมหานิกาย มือขวาถือพระแสงปฏัก เนื่องจากได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้เป็นพระยาแรกนาในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ บนโต๊ะด้านซ้ายตั้งพัดเปรียญเป็นเครื่องหมายว่าสอบไล่ได้เป็นเปรียญธรรม มีกาน้ำร้อนตั้งบนโต๊ะแทนเครื่องยศ บนสังฆาฏิประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ ๔ อัศวิน เพราะเป็นผู้ได้รับพระราชทานถานันดรเป็น “มหาโยธิน” แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ดังมีความชอบปรากฏตามประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ว่า

 

“มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช ซึ่งในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลได้อำนวยการเรื่องเกณฑ์พลเมืองในเขตรกรุงเทพพระมหานครเข้ารับราชการตามพระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหารแต่เริ่มใช้พระราชบัญญัติในเขตรนี้มาจนบัดนี้... ในทางเสือป่าก็ได้รับราชการในตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ แต่ต้นมาอันเปนตำแหน่งยากมาก เพราะต้องบังคับบุคคลต่างกระทรวงทบวงการมากหลาย...

 

          อนึ่งเนื่องในการประกาศสงครามแก่ประเทศเยอร์มเนียและเอ๊าสเตรียฮุงกาเรีย ได้เปนผู้อำนวยการจับกุมชนชาติศัตรูทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนคร การอันนั้นได้สำเหร็จไปอย่างเรียบร้อยดียิ่ง”  []

 

 

ผู้แทนสยาม ณ ปารีส

 

   

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๒ ฉบับที่ ๒๔ (๒๔ พฤษภาคม ๒๔๖๒)

นาม

มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยาม
ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

อธิบาย

เมื่อเกิดมหาสงครามขึ้นในทวีปยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้น รัฐบาลสยามได้ตั้งตนเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ครั้นทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยแล้วว่า หากสยามจะคงเป็นกลางในสงครามครั้งนี้ต่อไป คงจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศสยามในกาลข้างหน้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะนำสยามเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสงครามครั้งนั้น ในชั้นต้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีสเป็นผู้แทนไปเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นการลับ จนฝรั่งเศสตอบรับให้รัฐบาลสยามจัดส่งกอง
ทหารไปร่วมรบ ณ สมรภูมิทวีปยุโรป และเมื่อกองทูตทหารและกองทหารอาสาซึ่งประกอบไปด้วยกองบินทหารบก กองทหารบกรถยนต์ และหมวดพยาบาล เดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศสแล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรยังได้ทรงเป็นพระธระประสานกับรัฐบาลและกองทัพฝรั่งเศสในการดูแลอำนวยความสะดวกตลอดจนดูแลสุขทุกข์ของกองทหารอาสาของไทยตราบจนกองทหารอาสาเดินทางกลับสู่ประเทศสยามโดยสวัสดิภาพ

 

          เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรได้ทรงเป็นอัครราชทูตพิเศษผู้แทนรัฐบาลสยามพร้อมด้วยหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล [] ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ไปร่วมประชุมทำสัญญาสันติภาพที่แวร์ซาย ในการนั้นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ได้ทรงแสดงพระปรีชาทางการทูตจนประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาได้กล่าวในที่ประชุมนั้นว่า “ท่านพูดถูกแล้ว อเมริกาจะทำสัญญาฉบับใหม่แก่ประเทศสยาม”

 

          ในภาพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรทรงฉลองพระองค์สากลแบบมอร์นิ่งโค๊ต (Morning Coat) ทรงฉลองพระองค์เชิ้ตขาวอกแข็งพร้อมเสื้อกั๊กไว้ภายใน ทรงพระสนับเพลาลายเส้นสีเทา พระหัตถ์ขวาทรงถือพระมาลาทรงสูง (Top Hat) สีดำ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือธารพระกรพร้อมถุงพระหัตถ์

 

          อนึ่ง ดุสิตฉบับเดียวกันนั้นยังได้ลงพิมพ์บทพระราชนิพนธ์ “ผู้แทนสยาม ณ ปารีส” โดยมีความดังนี้

 

          “ในฉบับนี้เราลงรูป “ผู้แทนสยาม ณ ปารีส”, ซึ่งเราเห็นว่าเปนการสมควรและเหมาะแก่กาล, เพราะในเวลานี้กำลังมีกิจการเนื่องด้วยสันติภาพ ซึ่งกรุงสยามก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยไม่น้อยเหมือนกัน, เหตุฉนั้นผู้แทนสยามที่ปารีสก็เปนบุคคลสำคัญมิใช่น้อย, และเราเห็นว่าเปนการเหมาะและสมควรที่จะลงรูปคนสำคัญซึ่งอยู่นอกประเทศสยามเปนครั้งแรกเพื่อเหตุนี้.

 

          โดยมากรูปบุคคลที่เรานำลงใน “ดุสิตสมิต” ไม่เคยต้องมีคำอธิบายกำกับ; แต่เพราะเหตุที่ครั้งนี้เราลงรูปบุคคลที่มิได้อยู่ในกรุงสยาม, (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือตาแห่งชาวกรุงเทพฯ ซึ่งมักถือตนว่าเปน “สยาม”), และมีความเสียใจที่จะต้องกล่าวว่าความจำของคนเราสั้นจนน่าใจหาย, เราจึ่งรู้สึกว่าควรลงคำอธิบายนี้ประกอบด้วย.

 

          พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร, เมื่อยังเสด็จอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะเสด็จออกไปเปนอรรคราชทูต ณ กรุงปารีส, ได้เคยทรงเปนบุคคลสำคัญองค์ ๑ ในราชการ, เพราะได้ทรงเปนถึงเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม. แม้ ณ กาลบัดนี้เสด็จอยู่ห่างจากหูจากตาของชาวเราก็จริง. แต่ก็นับว่าทรงกระทำราชการเปนคุณประโยชน์มากสำหรับกรุงสยาม, เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะอยู่ในความคำนึงของชาวเราไม่น้อยกว่าใครๆ ที่ทำคุณประโยชน์ในที่ใกล้หูใกล้ตาชาวเราเหมือนกัน.”  []

 

 

 


[ ]   ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาสะพายเฉียงบ่าซ้าย

[ ]  “ประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิศริยาภณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๕ (๒ ธันวาคม ๒๔๖๑), หน้า ๒๑๗๗ - ๒๑๙๔.

[ ]  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๕ เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมาจนตราบสิ้นรัชสมัย

[ ]   “ประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิศริยาภณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๕ (๒ ธันวาคม ๒๔๖๑), หน้า ๒๑๗๗ - ๒๑๙๔.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรทัย

[ ดุสิตสมิต เล่ม ๒ ฉบับที่ ๒๔ (๒๔ พฤษภาคม ๒๔๖๒), หน้า ๑๙๓.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |