โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๑. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ (๑๔)

 

 

          ภาพของบุคคลชนิดที่กล่าวนี้มีอยู่ภาพ ๑ ซึ่งต้องใจแห่งสมาชิกคณ “ดุสิตสมิต” เปนอันมากทุกคน, จนได้ตกลงกันซื้อโดยให้ราคาถึง ๒๐ บาท, คือภาพ “คาร์ตูน” ของหลวงพิทักษ์นครเขต, เรียกว่า “รู้สึกบ้างไหม?” เราได้พูดจากับหลวงพิทักษ์นครเขตเปนที่ตกลงกันว่า เราขออนุญาตใช้ความคิดของหลวงพิทักษ์ให้ช่างของเราเขียนขึ้นใหม่สำหรับจำลองลงใน “ดุสิตสมิต”. แต่บัดนี้ช่างในคณของเรายังเขียนภาพนั้นไม่แล้ว, ฉะนั้นเรามีความยินดีจะนำลงในฉบับน่า เมื่อท่านได้พิจารณาดูภาพนั้นแล้ว ท่านก็คงจะเห็นเช่นเราว่าหลวงพิทักษ์มีความคิดดีปานใด, และคงรับรองว่าสมควรที่จะได้รับคำชมเชยของกรรมการผู้ตัดสินให้รางวัลภาพ”  []

 

 

ดุสิตสมิต เล่ม ๘ ฉบับที่ ๘๓ วันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

 

 

          การประกวดภาพที่พระราชวังบางปะอินทั้ง ๒ คราวนั้น นอกจากจะจัดหารายได้สมทบจัดซื้อปืนให้แก่กรมเสือป่ารักษาดินแดนอยุธยาแล้ว “บรรดาผู้ที่ได้ส่งภาพเข้าประกวดและผู้ไปดูได้รับความบันเทิงสนุกสนานเปนอันมาก,” จึ่ง “มีพระราชดำรัสว่า อยากจะให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ชมการประกวดภาพแบบนี้บ้าง”  [] แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดภาพเป็นครั้งที่ ๓ ณ โรงละครหลวงพระราชวังพญาไท ในระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ซึ่งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เลขานุการและและเหรัญญิกของการประกวดภาพได้บันทึกไว้ในอัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ว่า ในการประกวดภาพครั้งนั้นว่า

 

          “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวาดภาพเข้าจำหน่ายและเลหลัง ๑๐๐ ภาพ ผู้อื่นส่งเข้าประกวด ๔๕๘ ภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มวาดภาพล้อ และทรงส่งจำหน่าย ๑๖ ภาพ

 

ฯ ล ฯ

 

          ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์นั้นมีเป็นชุดๆ อยู่หลายชุด คือ

               ก. ภาพล้อ ทรงเขียนหน้าคนเหมือนตัวจริงได้ดีมาก ภาพของใครใครก็พยายามซื้อเอาไป

               ข. ภาพเส้นขาด ทรงคิดขึ้นเองว่าเป็นแบบที่ดีแบบหนึ่ง เส้นของภาพไม่ต้องต่อกันก็เป็นภาพที่ดีได้

               ค. ภาพไตรรงค์ ทรงใช้เพียง สีดำ สีขาว สีแดง จะทรงวาดภาพอะไรก็ได้ เป็นของใหม่ จึงได้ทรงให้พิมพ์จำลองเป็นจำนวนร้อย เช่นภาพ “นางสาวเสนาหลวง ขอบใจท่าน””  []

 

 

คุณพ่อ

คุณแม่ คุณอา
     

ลูกชายใหญ่

ลูกหญิงกลาง ลูกชายเล็ก
     
 
“นางสาวเสนาหลวง”ขอบใจท่าน    เสวก
     
ภาพฝีพระหัตถ์ “พระนเรศวรเปนเจ้า”

 

 

          การประกวดภาพครั้งที่ ๓ ณ โรงละครหลวงวังพญาไทนั้น “มีญาติพี่น้องของข้าราชบริพารส่งรูปเข้าประกวดมาก มีภาพรวมทั้งภาพฝีพระหัตถ์ราว ๖๓๐ ภาพ ผู้ส่งภาพตลอดจนพี่น้องต่างต้องการทราบว่าภาพนั้นๆ ใครซื้อ จำนวนผู้มาชมจึงมากมาย เว้นวันที่ที่ฝนตกหนักเท่านั้น”  [] และโดยเหตุที่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยในเรื่องประกวดภาพมาก ระหว่างงาน ถ้าทรงว่างเมื่อไรก็เสด็จฯ เข้าไปข้างในเพื่อทรงวาดภาพเพิ่มเติม ดังนั้น หลายภาพไม่มีอยู่ในบัญชีภาพ ส่วนใหญ่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลหลัง “ราคาเลหลังภาพที่สูงที่สุดถึง ๒ หมื่นกว่า คือภาพ “พระนเรศวรเป็นเจ้า””  [] รายได้จากการจำหน่ายและเลหลังในการประกวดภาพครั้งนี้รวมเป็นเงินกว่า ๘๐,๐๐๐ บาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปบำรุงราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสมทบจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วงทั้งหมด

 

          นอกจากนั้นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ยังได้บันทึกไว้ใน “อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล” อีกว่า

 

          “พอถึงเวลาดึกๆ ใกล้จะเลิกงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวย่อมเสวยพระกระยาหารเครื่องว่าง มีสำคัญอยู่ ๒ วัน คือวันที่ ๑๖ กับ ๑๗ ตุลาคม ประหลาดแต่ว่างานนี้เป็นงานใหญ่ ตึกรามของพระราชวังก็มีมาก แต่เขาจัดให้เสวยพระกระยาหารในเต๊นท์!

 

          เมื่อวันที่ ๑๖ พอสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทั้ง ๒ คือ ทูลกระหม่อมติ๋ว []  และทูลกระหม่อมฟ้าน้อย  [] ได้เสด็จกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนทนากับหม่อมเจ้าวรรณวิมล [] เริ่มต้นด้วยพระราชทานเสมาฝังเพชรแก่ท่านหญิงวรรณพิมล และท่านหญิงพิมลวรรณ []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงฉายพร้อมด้วย พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

 

 

          สมเด็จพระเจ้าน้องยาเอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุมสุโขทัยธรรมราชา ได้มาเฝ้าฯ ทรงได้ยินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชงนให้หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลมาเล่นละครเรื่องโพงพางกับพระองค์

 

ฯ ล ฯ

 

          ...เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชวนให้ หม่อมเจ้าวรรณวิมลทรงเล่นละครกับพระองค์นั้น คนได้ยินกันไม่กี่คน แต่เมื่อท่านหญิงไปประทับทางขวาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โต๊ะพระกระยาหารเครื่องว่างนั้น คนเห็นด้วยตานับจำนวนร้อย และในไม่ช้าคนจำนวนหมื่นจำนวนแสนก็ได้ทราบ ในสังคมไทยสมัยนั้นพูดกันเรื่องเดียว คือเรื่องนี้”  [๑๐]

 

          จึงอาจจะกล่าวได้ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำการวาดภาพล้อแบบ Caricature เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยทรงริเริ่มวาดภาพล้อพระราชทานไปลงพิมพ์เผยแพร่ในดุสิตสมิตเป็นลำดับมานั้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความนิยมวาดภาพประกอบเรื่องราวในวารสารและสิ่งพิมพ์ของไทยเป็นการทั่วไปแล้ว ภาพฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดไว้นั้นก็ยังเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพส่วนพระองค์ในเชิงการวาดภาพ ทั้งที่ได้ทรงออกพระองค์ไว้ในดุสิตสมิตแต่ต้นแล้วว่า มิได้ทรงศึกษามาทางการวาดภาพเลย

 

          นอกจากนั้นการที่ทรงริเริ่มวาดภาพล้อ จนเป็นที่มาของการทรงจัดประกวดภาพถึง ๓ คราว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดส่งรายได้จากการจัดจำหน่ายภาพไปสมทบการจัดซื้อปืนให้เสือป่ามณฑลอยุธยา และสมทบจัดซื้อเรือพระร่วง และการประกวดภาพครั้งที่ ๓ นั้นยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในราชสำนักสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่นับจากนั้นได้เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าไปในทางที่สวยสดงดงามยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา.

 

 

 


[ ]  ดุสิตสมิต เล่ม ๘ ฉบับที่ ๘๒ (๑๗ กรกฎาคม ๒๔๖๓), หน้า ๓๓ - ๓๔.

[ ]  ม.ล.ปิ่น มาลากุล. อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๖.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๗.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๘.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๙.

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

[ ]  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ

[ ๑๐ ]  อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๙.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |