โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๕. เสวยต้น ()

 

 

          เมื่อเสวยเครื่องคาวเป็นที่พอพระราชประสงค์แล้ว ถึงเวลาถวายชำระพระหัตถ์เพื่อกำจัดกลิ่นอาหารโดยเฉพาะพวกกลิ่นน้ำพริกที่ติดพระหัตถ์ เริ่มจากทรงทอดพระหัตถ์ออกมาเหนือพระสุพรรณราช ทันใดนั้นคุณพระนายก็จะรินน้ำชำระพระหัตถ์จากคนโทเงินถวายพอเปียก และเม็ดข้าวถูกชำระออกไปหมดก็หยุด แล้วถวายฟอกด้วยสบู่เปียโซป (Pears Soap) อย่างก้อนกลม เมื่อทรงฟอกด้วยสบู่แล้ว คุณพระนายหยดน้ำหอมลาเวนเดอร์ถวายจนหมดสบู่ แล้วถวายน้ำดอกไม้สดลอยดอกมะลิกุหลาบ เสร็จแล้วจึงถวายใบส้มป่อยทรงขยำ แล้วทรงใช้ผิวมะกรูด แล้วถวายล้างด้วยน้ำดอกไม้เทศ ต่อจากนั้นจึงหยิบผ้าซับพระหัตถ์คลี่ออกถวายทรงเช็ดแห้งดีแล้ว บางทีก็ทรงวางลงที่โต๊ะทองคำหรือส่งคืนผู้ถวาย ในขณะที่กำลังชำระพระหัตถ์นั้นคุณหลวงนายซึ่งเป็นผู้ช่วยก็จะจัดการเลื่อนพระสุพรรณภาชน์ออกมาทีละองค์ ส่งต่อๆ กันออกไปภายนอก ซึ่งเจ้าพนักงานวรภาชน์จะคอยรับอยู่ข้างนอกพระทวาร เสร็จแล้วจึงเชิญพระสุพรรณภาชน์องค์หวานสององค์เข้ามาทอดถวาย บนพระสุพรรณภาชน์นี้จะมีส้อมหรือช้อนเตรียมมาพร้อม เครื่องหวานที่มีรสหวานจัดๆ นั้น ถึงจะจัดมาถวายก็ไม่ใคร่จะเสวยมากนัก

 

          เครื่องหวานที่จัดถวายนั้น แม้จะมีขนมไทยขนานดั้งเดิมอยู่บ้างเช่นฝอยทอง วุ้นหวาน บรรจุพิมพ์ ก็เกือบจะไม่ค่อยทรงแตะต้องของที่หวานจัดเท่าใดนัก จะมีก็แต่พวกผลไม้เช่นลูกตาลสดน้ำเชื่อม มะตูมสดกับน้ำกะทิ สะท้อน (กระท้อน) ลอยแก้ว ลิ้นจี่สดกับเยลลี่ นอกจากนั้นก็เป็นผลไม้ปอกคว้านต่างๆเช่น มะปราง เงาะ น้อยหน่า ซึ่งมีวิธีทำที่พิสดารและพิเศษยิ่ง อาทิ

 

          ๑. ลูกตาลสดน้ำเชื่อม ชาวห้องเครื่องหวาน จะเลือกสรรหาเอาเฉพาะตาลอ่อนเต้าเล็กๆ ขนาดลูกละพอคำ วิธีปอกเอาแต่เนื้อนั้น ใช้มีดทอง (เหลืองของไทยที่นิยมใช้กันดั้งเดิมเป็นชุดรูปร่างต่างๆ) ค่อยๆ ผจงลอกเปลือกล่อนออกหมดทั้งลูก จนขาวใสสะอาดโดยไม่ช้ำแตก ลูกตาลนี้จะถูกบรรจุลงในโถแก้วย่อมๆ ที่มีฐานรองและฝาครอบทำด้วยเงิน ฐานเงินที่รองชั้นล่างนั้นมีที่ว่างพอสำหรับใส่น้ำแข็งก้อนเล็กๆ หล่อไว้ในโถแก้วเพื่อทำให้น้ำเชื่อมเย็น โดยไม่ทำให้รสหวานจาง ในเมื่อน้ำแข็งละลายลง

 

          ๒. มะตูมน้ำกะทิ คือ มะตูมสุกหอมเนื้อเป็นปุยสีจำปารสหวาน ใช้ช้อนตักเป็นคำๆ เขี่ยเม็ดออกให้หมด บรรจุลงในภาชนะโถแก้วอย่างเดียวกัน แล้วใช้น้ำกะทิที่ปรุงรสเค็มมันพออร่อย คล้ายครีมข้นๆราดข้างบน

 

          ๓. สะท้อน (กระท้อน) ลอยแก้ว เลือกสะท้อนทับทิมอย่างดีชนิดเนื้อเป็นปุยขาว ปอกเปลือกจนเหลือส่วนที่มีรสฝาดหรือเปรี้ยวเพียงน้อยที่สุด เซาะเอาแต่ส่วนเนื้อที่รสหวานสีขาวรอบระหว่างเม็ด ลอยลงในน้ำเชื่อมที่ปรุงรสหวานจัดอมรสกร่อยด้วยเล็กน้อย น้ำเชื่อมลอยแเก้วนี้มักอบหอมด้วยกลิ่นดอกไม้ไว้ก่อนแล้ว บรรจุภาชนะอย่างเดียวกันแช่เย็น

 

          ส่วนผลไม้ปอกนั้น ถ้าหน้ามะม่วง ก็ปอกเข้ามาถวายพร้อมข้าวเหนียว มะม่วงนั้นปอกได้สวยงามกลมกลึงมากจนหารอยมีดแทบไม่พบ แล้วจะฝานสองปีกออกทั้งสองแก้มผลมะม่วง ตัดส่วนหัวและปลายทิ้ง ใช้เฉพาะส่วนกลางเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม ซึ่งหมายถึงว่าซีกหนึ่งก็จะได้ประมาณไม่เกิน ๒ -๓ องค์เท่านั้น วางเรียงกันไว้ในจานคู่กับข้าวเหนียว ข้อสำคัญการปอกมะม่วงนั้นจะต้องไม่ให้ช้ำเลย ถ้าเป็นมะปราง ก็จะปอกเล่นริ้วเล็กๆ เป็นเกลียวเสมอกันตลอดลูก แล้วคว้านเอาเม็ดออก จัดลงในชามแก้ว ลิ้นจี่หรือเงาะก็เช่นเดียวกัน เฉพาะน้อยหน่านั้นออกจะพิสดารกว่าอย่างอื่น โดยเมื่อผู้ใดเห็นผลน้อยหน่าทั้งเปลือกเขียวนวลวางมาในชามเครื่องหวานแล้ว จะไม่ทราบได้เลยว่า แท้จริงน้อยหน่านั้นชาวห้องเครื่องเขาได้เซาะเอาเม็ดออกตลอดลูก โดยไม่ทำให้เนื้อภายในขาดหายและเละแหลกจนเสียรูปเลย หนำซ้ำเมื่อทรงใช้ส้อมเขี่ยเอาเปลือกที่คลุมไว้อย่างแนบเนียนนั้นออกเป็นสองซีก ก็จะเห็นน้อยหน่าเนื้อขาวที่ได้ถูกผจงแกะเอาเม็ดออกจนหมดแล้ว แต่ยังคงรูปเป็นผลอยู่อย่างไม่มีอะไรบุบสลาย พร้อมที่จะเสวยได้อย่างสะดวกที่สุด โดยไม่ต้องห่วงว่าจะคงมีเม็ดเลย

 

 

ปลอกซิการ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัท ซีปาปายาโนปูโลส จำกัด เป็นผู้จัดถวาย

 

 

          เมื่อเสวยเครื่องหวานเป็นที่พอพระราชประสงค์แล้ว คุณพระนายและคุณหลวงนายจะถอนพระสุพรรณภาชน์ส่งคืนออกไป ครั้นแล้วก็จัดการนำพานพระกล้องยาสูบ [] และพระโอสถทรงสูบเข้ามาตั้งถวายพร้อมที่เขี่ยเถ้าพระโอสถ พระสุธารสชาจีนซึ่งทรงอยู่เป็นประจำ เมื่อได้ทอดเครื่องเรียบร้อยแล้วมหาดเล็กทุกคนก็ก้มลงกราบถวายบังตมแล้วคลานถอยออกนอกพระทวารไป เวรมหาดเล็กกองตั้งเครื่องชุดนี้เป็นอันหมดหน้าที่ราชการประจำวันลงในตอนนี้ เวรมหาดเล็กชุดใหม่เข้ามาประจำหน้าที่ต่อไป หมายความว่า นับแต่เสด็จลุกจากที่ประทับออกไปในตอนนี้แล้ว หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่แห่งใดอีก มหาดเล็กชุดที่เข้าเวรใหม่ต้องพร้อมที่จะรับหน้าที่ต่อไปได้ทันที

 

 

ห้องพิพิธภัณฑ์ ภายในพระที่นั่งพิมานจักรี ชั้น ๒ พระราชวังพญาไท

ซึ่งเป็นที่ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันพร้อมฝ่ายใน

 

 

          อนึ่ง เมื่อทรงมีฝ่ายในแล้ว ก็โปรดที่จะเสวยต้นร่วมกับฝ่ายในโดยมีคุณพนักงานฝ่ายในเป็นผู้ถวายการรับใช้แทนมหาดเล็ก ดังที่คุณเจรียง (อากาศวรรธนะ) ลัดพลี อดีตคุณข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ได้เล่าไว้ว่า

 

"...ต่อมาสมเด็จฯ [] ทรงพระครรภ์ ที่พระราชวังพญาไทตอนบ่าย ล้นเกล้าฯ จึงไม่เสด็จลงเสวยฝ่ายหน้า ประทับเสวยที่ห้องโถงใหญ่บนพระที่นั่ง [] ตรงกับห้องทรงพระอักษรหลังคาแหลม ทรงประทับกับพื้นพรมมีเบาะรองพระที่นั่งพระเขนยเป็นรูปหมอนขวานอิงติดกันเพียงสองพระองค์เท่านั้น พระที่นั่งของล้นเกล้าฯ จำได้ว่าเป็นสีเหลืองอ่อน ของสมเด็จฯ เป็นสีชมพูและเล็กกว่า มหาดเล็กเชิญเครื่องถ้วยพานกาไหล่ทองขอบบนเป็นลวดลายประดับเพชรพลอยสีต่างๆ ใส่เครื่องถ้วยชาญเบญจรงค์หรือชามกังไสหลายพาน ขึ้นมาส่งให้พวกพี่ๆ ที่เป็นคุณพนักงานรอรับอยู่ข้างนอกและส่งต่อเข้ามาจนถึงคนตั้ง พวกเด็กๆ เป็นคนตั้งเปลี่ยนเวรกัน ที่ตั้งเป็นโต๊ะเตี้ยครึ่งพระองค์ ปูด้วยผ้าลินินขาว การตั้งต้องตั้งให้ถูกแบบโดยได้รับการฝึกสอนมาจากพวกคุณมหาดเล็กรุ่นพี่ เช่น วางจานเสวยพระกระยาหารตรงพระพักตร์ ฉลองพระหัตถ์ช้อนซ่อมขวา ซ้าย มีด แต่ไม่ทรงใช้เพราะเสวยด้วยพระหัตถ์ เครื่องจิ้มเป็นเครื่องเล็ก มีครบทุกอย่าง น้ำปลา น้ำตาลเชื่อม น้ำพริกหลน น้ำพริกเผา สำหรับหลนกับน้ำพริกนั้นต้องมีต่างๆ กันด้วย รวมแล้วในราว ๗ - ๘ ถ้วย วางเรียงรอบจานเสวยเป็นวงพระจันทร์ครึ่งซีก ต่อออกมาเป็นผักยำ พวกแกงอยู่รอบนอก ปลาทูปลาดุกพวกทอดกรอบนั้นอยู่ทางขวา จานผักที่พวกวรภาชน์ แกะ จัก สลัก สาน จัดมานั้นสวยงามพึงพิศมาก เกิดมาก็ไม่เคยเห็นที่ไหนเป็นรูปลายต่างๆ กัน ทุกวัน แช่เย็นเจี๊ยบอยู่ทางซ้าย กมะลา [] เป็นคนตักพระกระยาหารซึ่งเป็นโถกังไสรูปสูงใส่มา และจะมีเครื่องเคียงมาด้วย ๑ ที่เสมอ เป็นข้าวคลุกกะปิ ข้าวยำปักศ์ใต้ ข้าวผัด ข้าว ฯลฯ ก็แล้วแต่พวกห้องเครื่องจะประดิษฐ์ใส่ชามเบญจรงค์สีมีฝา พานรองขนาดใหญ่พอเสวยสองพระองค์ พระสุธารส เครื่องดื่มใส่ถาดเงินมาอีก ๑ ถาด เวลาเสวยพระกระยาหาร องค์ล้นเกล้าฯ ท่านจะทรงดื่มเบียร์ใส่เหยือกเงินมีฝาปิดเปิด หน้าที่นี้เป็นของท่านหญิงอรอำไพ [] จะคอยจัดถวายแล้วก็จะทรงรับสั่งคุยเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ทรงเสด็จประทับอยู่เมืองนอกที่อังกฤษ ต้องทรงกวาดคอกม้า ต้องทรงทำอะไรทุกอย่างเช่นสามัญชน เรื่องขบขันต่างๆ เรื่องแปลกๆ ให้เร [] ได้มีความรอบรู้เฉลียวฉลาด มีความรู้รอบตัวซึ่งแล้วแต่จะทรงโปรดเกล้าฯ... เวลาทรงเสวยก็ไม่เห็นเสวยอะไรมาก โน่นนี่อย่างละองค์สององค์เท่านั้น ที่เห็นล้นเกล้าฯ ท่านทรงโปรดมากก็เห็นจะได้แก่ หนังหมูทอดกรอบเป็นท่อนยาวๆ [] เท่านิ้วชี้จิ้มกับน้ำปลาดี นั่นแหละเสวยมากองค์หน่อย และเช่นแกงแคลาวก็จะต้องมีใส่ขึ้นไปแทบทุกวันเท่าที่สังเกต พอเสวยเสร็จ ท่านหญิงอรฯ กับท่านหญิงผ่องฯ [] เป็นผู้ถวายน้ำล้างพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์ จอกเงินมีขันน้ำพานรองคอยรดถวายที่พระหัตถ์ สบู่ที่ทรงฟอกจะเป็นสบู่มะนาวก้นแหลมรูปไข่ ถวายน้ำสบู่แล้วจะต้องคอยเอาน้ำหอมราเวนเดอร์หยดลงที่ตรงพระหัตถ์พร้อมกับที่ล้างสบู่นั้น เพื่อดับกลิ่นของเครื่องต่างๆ จนหอมกรุ่น และเช็ดพระหัตถ์ด้วยผ้าจีบอบหอมด้วยกลิ่นร่ำ เครื่องคาวลงแล้วก็มีเครื่องหวานพระองค์ละชุด มีขนมสมัยโบราณ เช่น ขนมเทียนนมสาว ขนมหน้านวล สัมปันนี ผลไม้นานาชนิดเท่าที่มีในหน้านั้น ปอก คว้าน สลักเสลาด้วยฝีมือปราณีตงดงาม เสร็จแล้วก็ถึงเครื่องดื่มเป็บเปอร์มินท์ (เหล้าเขียว) เป็นอันเสร็จ...” []

 

 

ห้องเสวยและโต๊ะเสวยที่พระที่นั่งพิมานจักรี (ชั้นล่าง) พระราชวังพญาไท

 

 

          ส่วนในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนั้น คงมีการถวายค็อกเทลและตีฆ้องสัญญาณเช่นเดียวกับเวลาเสวยกลางวัน แต่การเสวยพระกระยาหารค่ำนี้ประทับโต๊ะเสวยแบบฝรั่งเต็มรูป มีเจ้านายและเสนาบดีตลอดจนข้าราชการผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมโต๊ะเสวยเป็นประจำทุกวัน ผู้ที่ร่วมโต๊ะเสวยเป็นประจำมีเจ้าพระยาอภัยราชา มหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ส่วนมหาดเล็กมีเจ้าพระยารามราฆพ พระยาอนิรุทธเทวา และพระยาอุดมราชภักดี ซึ่งล้วนเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ทรงชุบเลี้ยงมาแต่เยาว์วัยจนได้รับราชการเป็นผู้ใหญ่ในกรมมหาดเล็ก ในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนี้โปรดให้คุณมหาดเล็กซึ่งเป็นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันถวายอยู่งานนวด [๑๐] ที่ใต้โต๊ะเป็นประจำทุกวัน

 

“พอเสด็จลงประทับโต๊ะเสวย คนใต้โต๊ะนั้นจะนั่งขัดสมาธิ ถอดฉลองพระบาท เชิญพระบาทมาอยู่บนหน้าตักทำหน้าที่ไล่ยุง และถวายอยู่งานนวดทุกส่วนแห่งพระองค์แล้วแต่พระราชประสงค์ บางครั้งต้องถวายโถลงพระบังคลเบา คนเข้าใต้โต๊ะนี้เริ่มเวลาราว ๑ ยาม จนเสวยเสร็จ บางวันจนถึงตี ๓ บางครั้งบางคราวเสวยกับข้าวอะไรโปรดขึ้นมา ยังพระราช-ทานให้คนใต้โต๊ะกินด้วย เคยมีพระราชกระแสว่าคนที่อยู่ใต้โต๊ะนี้ ต้องหูโตแต่ปากแคบ เพราะว่าเวลาประทับโต๊ะเสวยกับเจ้าพระยาเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ รับสั่งถึงเรื่องราชการแผ่นดินที่สำคัญ เช่นจะประกาศสงครามกับประเทศท่ามกลางยุโรป คนอยู่ใต้โต๊ะก็รู้ก่อนผู้อื่น”  [๑๑]

 

          เนื่องจากเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนั้นเริ่มตั้งแต่สามทุ่ม กว่าจะเสวยเสร็จก็ใกล้เที่ยงคืน บางคืนก็ล่วงไปกว่านั้น จึงมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า บางคราวมหาดเล็กที่เป็นเวรอยู่งานใต้โต๊ะนั้นมัวเพลินเที่ยวเล่นเพลินจนมิได้รับประทานอาหารเย็นมาก่อน พอได้เวลาประทับโต๊ะเสวยมหาดเล็กที่อยู่งานใต้โต๊ะนั้นก็จะมักจะสะกิดขามหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ร่วมโต๊ะเสวยในวันนั้น ท่านผู้ใหญ่นั้นก็จะกรุณาจัดแบ่งอาหารใส่จานเล็กส่งลงไปให้ผู้อยู่งานใต้โต๊ะ หรือบางทีไม่ทันใจมหาดเล็กนั้นก็จะไปหยิบอาหารที่จัดไว้ให้สุนัขทรงเลี้ยงที่ข้างโต๊ะเสวย เจ้าสุนัขนั้นก็จะส่งเสียงขู่ให้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ ก็มักจะมีรับสั่งว่า ไอ้พวกนี้แย่งหมากินอีกแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ทรงกริ้วผู้นั้นแต่ประการใด

 

          ในระหว่างเวลาประทับเสวยพระกระยาหารค่ำนั้น กล่าวกันว่า เมื่อทรงกริ้วผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นมาก็มักจะทรงกระทืบพระบาทลงไปลนตักของคุณมหาดเล็กผู้ถวายอยู่งานใต้โต๊ะ โดยเฉพาะเวลาที่ทรงกริ้วพระยาสุจริตธำรง (อู๊ด สุจริตกุล) ซึ่งทรงนับว่าเป็นพระญาติสนิทนั้นจะทรงออกแรงมากเป็นพิเศษ

 

 

พระยาสุจริตธำรง (อู๊ด สุจริตกุล)

 

 

          นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าในหมู่มหาดเล็กตั้งเครื่องอีกว่า ไม่เคยมีใครถวายอยู่งานให้ในหลวงร้องว่าเจ็บได้เลย แม้แต่พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตนานนท์) [๑๒] ซึ่งมีชื่อในเรื่องถวายอยู่งานนวด แต่แล้ววันหนึ่ง

 

“พอเสวยได้หน่อยเดียว ดูเหมือนพอซุบหมดจาน ในหลวงทรงร้องโอย แล้วชักพระบาทขึ้นจากใต้โต๊ะ ท่านที่นั่งร่วมโต๊ะเสวยพากันตกใจและประหลาดใจ แต่ทันใดนั้นเองรับสั่งด้วยพระอาการขันๆ ว่า อ้ายหมอนั่นมันบีบสันหน้าแข็งฉันเจ็บพิลึกบ้าแท้ๆ บีบที่ไหนไม่บีบดันไปบีบสันหน้าแข้ง แล้วก็ทรงพระสรวลพลางใช้พระหัตถ์เลิกผ้าปูโต๊ะ แล้วทรงก้มลงไปใต้โต๊ะรับสั่งว่า นวดดีๆ ซีวะ อ้ายปรื๊อ ความที่ทรงจำฝีมือได้ก็ทรงเรียกชื่อได้ทุกคนโดยไม่ต้องเห็นหน้า เขาผู้นั้นเป็นชาวภูเก็ต ซึ่งมักทรงเรียกผู้เป็นชาวใต้ว่าปรี๊อ”  [๑๓]

 

          การเสวยต้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ คงดำเนินมาตลอดรัชสมัยมาเลิกไปตั้งแต่เริ่มทรงพระประชวรในคืนวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ และจากนั้นอีกเพียง ๒ สัปดาห์ก็เสด็จสวรรคตตอนกลางดึกของคืนวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘

 

 

 


[ ]  เรื่องกล้องพระโอสถทรงสูบนี้ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่องสาคริก) เล่าว่า ปกติจะทรงเลือกกล้องยาสูบที่ทรงมีอยู่ประมาณ ๑๐๐ กล้องวางไว้บนพานทอง เวลามีแขกมาเฝ้าด้วยข้อราชการหรือทรงเซ็นหนังสือราชการจะทรงพระโอสถมวนที่รับสั่งเรียกว่า “ซิกาแร็ต” (Cigarette) ในเวลาประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่เรียกกันว่า “ทรงสบาย” นั้น โปรดที่จะทรงกล้องยาเส้น (Pipe) ซึ่งทรงเรียกว่า “กล้องยัดยา” ส่วนซิการ์ (Cigar) นั้นทรงเฉพาะหลังเวลาเสวยกระยาหารเท่านั้น

[ ]  คือ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

[ ]  ห้องพิพิธภัณฑ์ภายในพระที่นั่งพิมานจักรี ชั้นบน

[ ]  คุณกมะลา สุทธสินธุ์ ต่อมาสมรสกับ นายกวด หุ้มแพร (โต สุจริตกุล)

[ ]  หม่อมเจ้าหญิงอรรำไพ (เกษมสันต์) โกมาร ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับ นายโฉลก โกมารกุล ณ นคร

[ ]  หมายถึงคุณข้าหลวงเด็กๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้กว่าสิบคน

[ ]  ได้เรียนถามคุณมหาดเล็กและคุณข้าหลวงหลายท่านๆ ว่า น่าจะเป็นกระเพาะปลา

[ ]  หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ ต่อมาทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์

[ ]  “รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ”, หน้า ๒๑ - ๒๓.

[ ๑๐ ]  การถวายอยู่งานนวดนี้ในสมัยโบราณถือกันว่าเป็นการถวายการบำบัดและรักษาโรคแขนงหนึ่งตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ในราชสำนักแต่โบราณจึงมีตำแหน่งหมอนวดประจำรับราชการอยู่ในกรมหมอสังกัดกรมวัง เจ้ากรมหมอนวดมีศักดินา ๑๖๐๐ ปลัดกรม ศักดินา ๘๐๐ เท่ากับเจ้ากรมและปลัดกรมหมอยา กรมหมอนวดในราชสำนักเพิ่งยุบเลิกไปเมื่อมีแพทย์แผนใหม่ตามแบบตะวันตกเข้ามาแทนที่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่การนวดแบบราชสำนักที่เน้นการใช้นิ้วมือและมือ รวมทั้งท่วงท่าการนวดที่มีความสุภาพเรียบร้อยก็ยังคงถูกถ่ายทอดมาในหมู่มหาดเล็ก มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ ที่ได้ชื่อว่ามีฝีมือในการถวายอยู่งานนวด คือ พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) ซึ่งต่อมาได้อุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลตลอดชีวิต รู้จักกันในนามฉายา “ธมฺมวิตกฺโก”

[ ๑๑ ]  จมื่นเทพดรุณาธร (เปรื่อง กัลยาณมิตร). “เมื่อเป็นมหาดเล็ก ร.๖”, อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์, หน้า [๓๒] - [๓๓]

[ ๑๒ ]  ต่อมาในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้อุปสมบทหน้าไฟถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดเทพศิรินทราวาส แล้วครองเพศบรรพชิตสืบมาจนถึงอนิจกรรมในฉายา “ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ”

[ ๑๓ ]  จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์). อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๓๓๕ - ๓๓๖.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |