โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๐. กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ()

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงช้างพระที่นั่ง “พังปี”

ผูกเครื่องกูบสัปคับสี่หน้าลายทองของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร)

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสน้ำตกโยง จังหวีดนครศรีธรรมราช

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘

 

 

          อนึ่ง ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างพระที่นั่ง เช่น คราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ. ๒๔๖๐ เมื่อจะเสด็จพระราชดำเนินจากเมืองชุมพรไปยังตำบลทับหลีที่ริมแม่น้ำปากจั่น เมืองระนอง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ [] ทรงจัดช้างพระราชพาหนะผูกสัปคับที่กลางช้างเป็นที่ประทับ สัปคับที่กลางช้างนั้นมีเชือกห้อยลงมาผูกยึดติดกับขาช้างทั้ง ๔ ขา มีพระตำรวจและราชองครักษ์ประจำที่ขาช้างทั้ง ๔ โดยพระตำรวจอยู่ชิดติดขาช้างเดินไปพร้อมกับช้างเพื่อถวายอารักขา และทำหน้าที่จับเชือกเหนี่ยวรั้งมิให้สัปคับที่กลางช้างเลื่อนไปทางศีรษะช้างในเวลาช้างเดินลงห้วย และเลื่อนไปทางท้ายช้างเวลาขึ้นจากลำห้วย

 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราม

แสดงให้เห็นเจ้ากรมพระตำรวจหลวงทั้งสี่เดินประจำสี่เท้าช้างพระที่นั่ง

 

 

          นอกจากหน้าที่ราชการประจำของกรมพระตำรวจดังได้กล่าวมาแล้ว พระตำรวจหลวงยังมีหน้าที่พิเศษที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกหลายอย่าง เช่น ไปดูการประหารชีวิตนักโทษที่นอกพระนคร เริ่มจากก่อนการประหารชีวิต ๑ วัน พระตำรวจหลวงต้องถือหมายไปขอพบนักโทษในเรือนจำ เพื่อสอบถามชื่อนามสกุล หมายเลขประจำตัว และฐานความผิดของนักโทษให้ถูกต้องตรงตามหมาย ถ้าตรวจสอบแล้วนักโทษไม่ตรงตามหมายต้องสั่งระงับการประหารแล้วรีบนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อให้มีการไต่สวนใหม่ แต่ถ้าตรวจสอบแล้วตรงตามหมาย วันรุ่งขึ้นจึงคุมนักโทษออกไปประหารด้วยการตัดศีรษะที่วัดภาษี ริมคลองบางกะปิ เสร็จการประหารนักโทษแล้วพระตำรวจหลวงที่ไปดูการประหารชีวิต “ต้องจดเวลาลงดาบ...และเพชณฆาตดาบ ๑ ดาบ ๒ ชื่ออะไร นามสกุลอะไร ข้าราชการที่อยู่ในม่านทั้งหมดต้องจดชื่อ นามสกุล เพื่อจะได้นำมาทำรายงานกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ” []

 

          เมื่อการก่อสร้างเรือนจำบางขวางแล้วเสร็จในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงเลิกการประหารชีวิตด้วยวิธีตัดศีรษะและเปลี่ยนมาเป็นการประหารด้วยวิธียิงเป้าเช่นนานาอารยประเทศภายในเรือนจำบางขวาง พระตำรวจหลวงจึงไม่ต้องไปดูการประหารนักโทษตั้งแต่บัดนั้น

 

          นอกจากนั้นยังมีการเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่พระตำรวจหลวงต้องปฏิบัตืสืบต่อกันมาแต่โบราณกาล คือ การยกพระบรมโกศทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้ว่าจะเปลี่ยนให้นายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จ.ป.ร.เป็นผู้ยกพระบรมโกศมาแต่ครั้งประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว แต่พระตำรวจหลวงก็ยังคงมีหน้าที่ยกพระโกศทรงพระศพพระบรมวงศ์และสมเด็จพระสังฆราช รวมถึงการยกพระคันธารราษฎร์แห่นำพระชัย พระอัฐิและพระอัฐิ มาจนถึงปัจจุบัน

 

          กรมพระตำรวจหลวงคงทำหน้าที่เป็นกรมทหารรักษาพระองค์ในสังกัดกระทรวงวังเช่นเดียวกับกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. มาจนสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังพิจารณาการในพระราชสำนักทุกแผนกให้การดำเนินไปตามกระแสพระราชดำริห์ เมื่อผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังเห็นว่า “ตำแหน่งราชการที่มีอยู่เดิม บางตำแหน่งไม่เหมาะแก่น่าที่ นอกจากนี้ก็ยังพอที่จะยุบรวมกันตัดลดให้น้อยลงได้ทั้งคนและเงินงบประมาณ จึ่งได้กำหนดโครงการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว” [] จึ่งให้ยุบตำแหน่งต่างๆ ในกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ที่ได้มีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คงเหลือพระตำรวจประจำการเพียง ๒ หมวด คือ หมวดพระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห กับพระยามหาเทพกษัตนสมุห หรือกรมพระตำรวจใน ขวา ซ้าย ตามทำเนียบเดิม และห้ยกหมวดพระตำรวจหลวงทั้งสองหมวดนั้นไปสังกัดกรมวัง ในบังคับบัญชาสมุหพระราชมณเฑียร คงทำหน้าที่ถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เรื่อยมาจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว กรมพระตำรวจหลวงจึงถูกยุบเลิกไปตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

 

 

สี่พระตำรวจนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 

 

          ต่อมาภายหลังสงคามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวังแล้ว ได้มีการรื้อฟื้นพระราชประเพณีสำคัญในพระราชสำนักขึ้นใหม่ รวมทั้งได้รื้อฟื้นให้มีพระตำรวจหลวง “ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยในเป็นประจำทุกวันตลอด ๒๔ ชั่วโมง กับป้องกันรักษาพระองค์ และถวายประดับพระเกียรติยศในการปฏิบัติหน้าที่ รับ - นำเสด็จพระราชดำเนินไปในงานพระราชพิธี, รัฐพิธี, งานประเพณี และงานสาธารณกุศลค่างๆ ตามหมายรับสั่ง และหมายกำหนดการ ทั้งในปริมณฑลและต่างจังหวัด” [] คงเป็นหน่วยราชการเดียวในพระราชสำนักที่ยังคงใช้เครื่องแบบเหมือนที่เคยใช้มาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

          ปัจจุบันพระตำรวจหลวง เป็นส่วนราชการระดับฝ่ายในสังกัดกองวัง สำนักพระราชวัง แบ่งส่วนราชการภายในเป็น ๓ งาน คือ

          ๑. งานเวรตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ๑

          ๒. งานเวรตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ๒

          ๓. งานธุรการ / พสดุ ฝ่ายตำรวจหลวงรักษาพระองค์

 

 

ครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยร่วมกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ

ในฐานะพระตำรวจหลวงและมหาดเล็กคู่แห่ในกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ

ในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

 

 

          อนึ่ง ในงานพระราชพิธีสำคํญที่ต้องใช้พระตำรวจหลวงเข้าร่วมกระบวนแห่จำนวนมาก ก็จะใช้ครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแต่งเครื่องแบบมหาดเล็กหลวงและพระตำรวจหลวงเข้ากระบวนแห่เป็นคราว ๆ ไป

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

[ ]  ขุนตำรวจโท พระสุริยะภักดี, หน้า ๔๐.

[ ]  “ประกาศเปลี่ยนแปลงและยุบตำแหน่งราชการในกระทรวงวัง”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๓ (๙ มกราคม ๒๔๖๙), หน้า ๖๐๗ - ๖๐๘.

[ ]  นายพุฒิพร คุ้มสดวก. การบริหารงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ของฝ่ายตำรวจหลวงรักษาพระองค์, หน้า ๑๓.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |