โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๒๑ | ๑๒๒ | ๑๒๓ | ๑๒๔ | ๑๒๕ | ๑๒๖ | ๑๒๗ | ๑๒๘ | ๑๒๙ | ๑๓๐ | ถัดไป |

 

๑๒๔. ราชสำนักสยาม ()

 

                    ข. เวรสิทธิ์มีหน้าที่ในการโยธาต่างๆ เจ้าหมื่นเสมอใจราชเป็นผู้บังคับการอยู่ในทุกวันนี้ ใน "พระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงกรมมหาดเล็ก รัตนโกสินทรศก ๑๑๖" มีว่าดังนี้

 

                             "(๓) ตำแหน่งเวรสิทธิ์ มีหัวหมื่น ๑ นายเวร ๑ จ่า ๑ ได้บังคับบัญชามหาดเล็ก เวรสิทธิ์ มีจำนวนคนตามสำมะโนครัวและบัญชีเบี้ยหวัดมหาดเล็กเวรเดิมทั้ง ๔ ยกเลิกเด็กชาเข้าสมทบ มีหน้าที่ราชการดังนี้

 

                                        (ก) เป็นพนักงานตกแต่งพระที่นั่งที่ประทับ ยกหามการหนักในจังหวัดพระที่นั่ง หรือที่ประพาสอันเป็นหน้าที่ของตน

 

                                        (ข) เป็นผู้ช่วยการเลี้ยง คือ ยกของส่ง เช็ดขัดภาชนะ รักษาความสะอาดทั้งปวง (แต่การเดี๋ยวนี้ตกไปอยู่เวรศักดิ์)

 

                                        (ค) เป็นหน้าที่ประทีบโคมไฟในพระราชฐานและที่เสด็จพระราชดำเนิน และการพระราชพิธีทั้งปวง

 

                                        (ฆ) เป็นหน้าที่จัดการคู่แห่อินทร์พรหม พระแสงทวนและบรรดาการแห่ที่มี

 

                                        (ง) เป็นหน้าที่จัดการพระราชพิธี มีทอดพระแสง ตั้งเครื่องพระขันหมาก เครื่องนมัสการ เฝ้าหอศัสตราคม บัตรหมายที่เกี่ยวกับหน้าที่ราชการอย่างเห่า บรรดาการวิ่งเต้นตามเคยตลอด (แต่การเดี๋ยวนี้ตกไปอยู่เวรศักดิ์ "พวกนี้คงได้รับเงินเดือนในกรมเด็กชาเดิม มีแต่เวรไม่ต้องมียามประจำ"

 

                    ค. ส่วนเวรฤทธิ์ มีหน้าที่ในราชการรถม้าทั้งปวงในกรมรถ ในเวลานี้หัวหมื่นไม่มีตัว นายเวรบังคับการแทน คือ หลวงฤทธิ์นายเวร ใน "พระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงกรมมหาดเล็ก รัตนโกสินทรศก ๑๑๖" มีว่าดังนี้

 

                                  "(๔) ตำแหน่งเวรฤทธิ์ มีหัวหมื่น ๑ นายเวร ๑ จ่า ๑ สำหรับราชการกรมรถม้า ๑ กรมโขน ๑ กรมพิณพาทย์ กรมรำโคม และมหาดเล็กช่าง มีน้าที่ตามที่กรมเหล่านั้นมีอยู่เดิม เงินเดือน หัวหมื่น นายเวร จ่า คงรับอยู่ในตำแหน่งมหาดเล็ก แต่นอกนั้นคงไว้ตามเดิม

 

                    ฆ. ส่วนเวรเดช ให้เป็นเวรที่รวบรวมทะเบียนมหาดเล็ก บรรดาศักดิ์ และมหาดเล็กวิเศษทั้งหลาย อันไม่มีหน้าที่ราชการประจำในกรมมหาดเล็ก ทั้ง ๓ เวรที่กล่าวมาแล้วนั้น ในบัดนี้หัวหมื่นเวรเดชไม่มีตัว นายเวรบังคับการแทน คือ หลวงเดชนายเวร ใน "พระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงกรมมหาดเล็ก รัตนโกสินทรศก ๑๑๖" มีว่าดังนี้

 

                                  "(๕) ตำแหน่งเวรเดช มีหัวหมื่น ๑ นายเวร ๑ จ่า ๑ สารวัด ๒ เป็นหัวหน้ามหาดเล็กที่รับราชการในกระทรวงต่างๆ มหาดเล็กหัวเมืองบรรดาเป็นฝ่ายพลเรือนมีหน้าที่ดังนี้

 

                                        (ก) ตรวจรายงานอันโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจในหัวเมืองและในกรุง ตรวจพระอาการและอาการ (แต่บัดนี้ทำอยู่ในเวรศักดิ์)

 

                                        (ข) ตรวจสอบความรู้ของมหาดเล็กที่จะรับราชการในกระทรวงต่างๆ ในความรู้อันสมควรแก่หน้าที่และประโยชน์ที่ได้รับ

 

                                        (ค) เป็นหน้าที่ที่จะจัดให้มหาดเล็กในเวรของตนรู้ระเบียบเฝ้าแหนและมีกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อยในที่จะเข้าสู่ธารกำนัล

 

                                        (ฆ) เป็นหน้าที่ทำรายงานกราบบังคมทูลพระกรุณาในความดำเนินไปแห่งมหาดเล็ก ซึ่งรับราชการในหน้าที่ต่างๆ ว่าผู้ใดมีความเจริญในความรอบรู้ราชการ หรือได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ประการใดๆ นั้นทุกประการ"

 

                                  แต่ส่วนจำนวนคนนั้น ย่อมโย้ย้ายคลาดเคลื่อนไปตามกาล หาคงที่ไม่"  []

 

          อนึ่ง นอกจากราชสำนักฝ่ายพระบรมมหาราชวังแล้ว ในยุคที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชนั้น ยังมีราชสำนักฝ่ายฝ่ายพระราชวังบวรซึ่งถ่ายแบบไปจากราชสำนักฝ่ายพระบรมมหาราชวัง ดังมีความปรากฏใน "แบบเรียนราชการกรมมหาดเล็ก" ว่า

 

          "ตำแหน่งมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวร แต่ก่อนมี

 

จางวาง ๒ คือ พระยาบำเรอบริรักษ์ ๑ พระยาภักดีภูบาล ๑ มีเวร ๔ เวร คือ

เวรชิดภูบาล

มี

หัวหมื่น

จมื่นมหาดเล็ก

    นายเวร หลวงชิดภูบาล
    จ่า นายจ่านิต
    หุ้มแพรต้นเชือก นายพิทักษ์ราชา
เวรชาญภูเบศร์ มี หัวหมื่น จมื่นเด็กชา
    นายเวร หลวงชาญภูเบศร์
    จ่า นายจ่าจิตรนุกูล
    หุ้มแพรต้นเชือก นายปรีดาราชา
เวรเสน่ห์รักษา มี หัวหมื่น จมื่นมหาสนิท
    นายเวร หลวงเสน่ห์รักษา
    จ่า นายจ่าสรวิชิต
    หุ้มแพรต้นเชือก นายสุริยาวุธ
เวรมหาใจภักดิ์ มี หัวหมื่น จมื่นจิตรเสน่ห์
    นายเวร หลวงมหาใจภักดิ์
    จ่า นายจ่าเนตร
    หุ้มแพรต้นเชือก นายราชจำนง

 

 

 

 

มีหุ้มแพรอีกเวรละ ๔ นาย เป็น ๑๖ นาย คือ

นายจงใจภักดิ์ ๑ นายรักษ์ภูวนารถ ๑ นายภักดีนารถ ๑ นายราชบริรักษ์ ๑ นายพิศาลสรรพกิจ ๑  นายพิจิตรปรีชา ๑ นายนรินทร์ธิเบศร์ ๑ นายนเรศร์ธิรักษ์ ๑ นายราชาภักดิ์ ๑ นายรักษ์ภูมินทร์ ๑ นายบำเรอราชา ๑ นายนราธิบาล ๑ นายสุดจำลอง ๑ นายฉลองนัยนารถ ๑ นายราชจินดา ๑  นายทรงใจรักษ์ ๑ รวมเป็น ๒๐ ทั้งต้นเชือก"  []

 

          มหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรนี้ หากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลผู้ทรงเป็นเจ้าของกรมได้ทรงรับสิริราชสมบัติหรือเสด็จทิวงคตลงก่อนพระมหากษัตริย์ก็ตาม มีพระราชประเพณีให้บรรดาขุนนางรวมทั้งมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรและไพร่พลยกไปสมทบรับราชการในพระบรมมหาราชวังเสมอมา ต่อเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ใหม่แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางและมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรที่ยกมาสมทบรับราชการในพระบรมมหาราชวังกลับไปรับราชการทางฝ่ายพระราชวังบวร สลับกันไปมาเช่นนี้ตลอดมา

 

          เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระมหาอุปราชพระองค์สุดท้ายเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. ๒๔๒๘ นั้น นอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้โปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรมาสมทบกับมหาดเล็กฝ่ายพระบรมมหาราชวัง โดย "เวรชิดภูบาลสมทบในเวรศักดิ์ เวรชาญภูเบศร์สมทบในเวรสิทธิ์ เวรเสน่ห์รักษาสมทบในเวรฤทธิ์ เวรมหาใจภักดิ์สมทบในเวรเดช ครั้นเมื่อโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนแปลงหน้าที่ราชการปี ๑๑๖ มหาดเล็กเหล่านี้ก็ตกไปตามรูปใหม่เหมือนกับมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวังทั้งสิ้น คือผู้ที่มีหน้าที่ได้รับราชการในที่ใด ก็ไปรับราชการ ผู้ที่ไม่มีหน้าที่ราชการ ก็ตกไปคงบัญชีอยู่ในเวรเดช" [] แล้ว นับแต่นั้นมาราชสำนักฝ่ายพระราชวังบวรจึงถูกยุบเลิกไป คงมีแต่ราชสำนักฝ่ายพระบรมมหาราชวังสืบต่อมาตราบจนถึงปัจจุบัน ส่วนราชการในพระราชฐานชั้นในฝ่ายพระราชวังบวรนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะรักษามิให้พระบวรราชวังเป็นที่ร้าง จึงโปรดเกล้าฯ ให้คงจัดรักษาเป็นพระราชวัง ให้มีเจ้าพนักงานรักษาหน้าที่อยู่อย่างเดิม ทรงมอบหมายการปกครองให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าดวงประภา และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวหัว ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในทั่วไป มาจน

 

 

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าวงศ์จันทร์

ผู้สำเร็จราชการพระราชวังบวรพระองค์สุดท้าย

 

 

"พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์สิ้นพระชนม์  [] ปรดให้พระองค์เจ้าวงจันทร์  [] ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังน่าแทนพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ต่อมา จนปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์เจ้าวงจันทร์ สิ้นพระชนม์ เจ้านายข้างในยังเหลืออยู่น้อยพระองค์ สมัคจะเสด็จไปอยู่ในพระบรมมหา-ราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายฝ่ายในพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปอยู่ในพระราชวังหลวง แลทรงพระราชดำริห์ว่า พระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังบวรฯ ซึ่งเปนที่ประดิษฐานพระอัฐิกรมพระราชวังบวร ฯ แต่ก่อนมา ชำรุดทรุดโทรมมากนัก ไม่สมควรจะเปนที่ประดิษฐานพระอัฐิต่อไป จึงโปรดให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระอัฐิกรมพระราชวังบวร ฯ ทั้ง ๔ พระองค์ แห่มาจากพระราชวังบวร ฯ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๖๐ มาประดิษฐานไว้ที่วิหารพระธาตุ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนที่วังน่านอกจากบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานนั้นโปรดให้กระทรวงกลาโหมดูแลปกครองรักษาต่อมา"  []

 

          ในส่วนการปรนนิบัติรับใช้พระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระราชธิดา และพระราชโอรสที่ยังมิได้โสกันต์ และการดูแลรักษาพระที่นั่งและพระตำหนักที่ประทับในเขตพระราชฐานชั้นในภายในพระบรมมหาราชวัง รวมตลอดทั้งการประกอบพระเครื่องต้น และเครื่องเสวยต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ ล้วนเป็นหน้าที่คุณพนักงานฝ่ายใน ซึ่งในบท "พระไอยการนาตำแหน่งนาพลเรือน" ได้กำหนดบรรดาศักดิ์ และศักดินา ของคุณพนักงานฝ่ายในไว้ ดังนี้

 

          ท้าวอินสุเรนทร์ ท้าวศรีสุดาจัน ท้าวอินทรเทวี ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ๔ ตำแหน่งนี้เป็น พระสนมเอก ศักดินาคนละ ๑๐๐๐

 

          ท้าววรจัน ศักดินา ๑๐๐๐ เป็นที่สมเด็จพระพี่เลี้ยง (หมายถึงพระพี่เลี้ยงกษัตริย์หรือพระราชโอรสที่ยังมิได้โสกันต์ และพระราชธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ) นอกจากนั้นยังเป็นหัวหน้าท้าวนางทั้งปวง ได้บังคับบัญชาทั่วไปในราชสำนักฝ่ายใน ตลอดจนมีหน้าที่ตักเตือนว่ากล่าวพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และพระสนมกำนัล ต่อมาภายหลังมีการตั้งตำแหน่ง ท้าววรคณานันท์ เพิ่มเติม เป็นตำแหน่งท้าวนางสูงสุด ในข้าราชสำนักฝ่ายใน ทำหน้าที่ดูแลปกครองข้าราชสำนักฝ่ายในต่างพระเนตรพระกรรณ ขึ้นตรงต่อเสด็จอธิบดี ซึ่งในภายหลังการปรับโครงสร้างของข้าราชสำนักฝ่ายใน มีผลทำให้ตำแหน่งท้าววรจันทร์ มีอำนาจบังคับบัญชาราชการรองลงมาจากท้าววรคณานันท์ นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งท้าวนางผู้ช่วยในลำดับถัดลงไป คือ

 

          ท้าวสมศักดิ์ ท้าวโสภา ๒ ตำแหน่งนี้ทำหน้าที่ฉลองพระโอษฐ์เชิญพระราชโองการพระราชกระแส แจ้งต่อไปยังผู้รับพระบรมราชโองการ หรือผู้รับๆ สั่งนั้นๆ รวมทั้งว่าการพนักงานทั้งปวง เช่น ในแผนกจัดเครื่องพระสุธารส และพระศรี เครื่องนมัสการ ดูแลหอพระและปูชนียสถานในราชสำนักฝ่ายใน

 

          ท้าวอินทสุริยา ว่าการห้องเครื่องวิเสทหลวง ศักดินา ๑๐๐๐ มี ท้าวเทพภักดี ท้าวทองพยศ ท้าวทองกีบม้า ท้าวยอดมณเฑียร ท้าวอินทกัลยา ท้าวมังศรี ถือศักดินา ๔๐๐ เป็นผู้ช่วย

 

          ท้าวศรีสัจจา ว่าการโขลนจ่า ทวารบาลไพชยนต์ (ผู้รักษาประตูพระที่นั่งและพระราชวัง) รวมทั้งการอารักขาท้ะวไป ศักดินา ๑๐๐๐

 

          ท้าวทรงกันดาร ว่าการพระคลังใน ซึ่งรวมทั้งคลังเงิน - ทอง ผ้าแพรพรรณ เครื่องทองขาว เครื่องทองเหลือง ศักดินา ๘๐๐

 

          นางเถ้าแก่ หรือ คุณเถ้าแก่ มีหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมการปฏิบัติงานของโขลนทวารบาลไพชยนต์ ในตำแหน่งรองจากท้าวศรีสัจจาถือศักดินา ๖๐๐

 

          จ่าก้อนแก้ว จ่าก้อนทอง จ่าราชภักดี จ่าศรีพรม ๔ ตำแหน่งนี้ มีหน้าที่เป็นหัวหน้าโขลน ดูแลรักษาพระทวารประตูวัง และดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพระราชฐานชั้นใน ถือศักดินา ๔๐๐

 

          พนักงานโขลน - นายประตู - เสมียน ถือศักดินา ๘๐

 

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี

อธิบดีกรมโขลน

 

 

          อนึ่ง เมื่อคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง) ทรงสำเร็จราชการรักษาพระนคร ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้มีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้

 

"ตั้งกรมโขลนขึ้นสำหรับปฏิบัติราชการฝ่ายในพระราชวัง กรมโขลนนี้มีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เป็นอธิบดี ชาววังออกพระนามว่า "เสด็จอธิบดี" และมีที่ทำการอยู่ที่ใต้ชั้นต่ำของพระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกำแพงแก้วพระที่นั่งจักรพรรดิพมาน ที่ทำการนี้เรียกว่า "ศาลาว่าการกรมโขลน" หรือเรียกย่อว่า "สาลา" กรมโขลนมีหน้าที่ราชการคล้ายกับตำวจนครบาล คือ รักษาความสงบเรียบร้อย ปรกติมีกองรักษาการณ์ตั้งอยู่ที่ศาลา และมียามประจำตามสี่แยกหรือตามที่สำคัญ เช่น ประตูพระบรมมหาราชวังชั้นใน" []

 

          ราชการในพระราชสำนักทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในนั้น คงถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตราบจนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว จึงได้เลิกบรรดาศักดิ์และศักดินาของข้าราชการในพระราชสำนักฝ่ายหน้าและฝ่ายในไปพร้อมกับการเลิกบรรดาศักดิ์และศักดินาของข้าราชการทั่วไป และกระทรวงวังได้แปรสภาพมาเป็นศาลาว่าการพระราชวัง แล้วกลับเป็นกระทรวงวังอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๘ เปลี่ยนสถานะเป็นสำนักพระราชวัง มีฐานะเป็นส่วนราชการอิสระเทียบเท่ากรม มีเลขาธิการพระราชวังเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จัดแบ่งส่วนราชการภายในสำนักพระราชวังเป็น กอง ส่วน ฝ่าย แผนก เช่นเดียวกับส่วนราชการพลเรือนทั่วไป

 

 

 


[ ]  "แบบเรียนราชการกรมมหาดเล็ก", เรื่องมหาดเล็ก ของ กรมศิลปากร, หน้า ๑๗ - ๒๕.

[ ]  เรื่องมหาดเล็ก ของ กรมศิลปากร, หน้า ๒๗ - ๒๘.

[ ]  เรื่องมหาดเล็ก ของ กรมศิลปากร, หน้า ๒๙.

[ ]  เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕

[ ]  พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ พระราชธิดาพระองค์ที่ ๓๐ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม ทรงเป็นพระขนิษฐภินีร่วมพระชนนีในพระบวรราชเจ้าบวรวิไชยชาญ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการวังหน้า ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๕ - จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๓ เรื่อง ตำนานวังน่า, หน้า ๘๖.

[ ]  เกรียงไกร วิศวามิตร. "สนม ๓", สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๗, หน้า ๑๗๑๐๑ - ๑๗๑๐๒.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |