โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๒๑ | ๑๒๒ | ๑๒๓ | ๑๒๔ | ๑๒๕ | ๑๒๖ | ๑๒๗ | ๑๒๘ | ๑๒๙ | ๑๓๐ | ถัดไป |

 

๑๒๖. ราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ ๖ ()

 

          แต่การก็ล่วงมาจนถึงคราวประกวดภาพที่โรงละครพระราชวังพญาไทในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ได้เสด็จ "มาชมหลายครั้ง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทักทายด้วย"  [] จนตอนค่ำวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ "พอสมเด็จพะเจ้าน้องยาเธอทั้ง ๒ คือ ทูลกระหม่อมติ๋ว  [] และทูลกระหม่อมฟ้าน้อย  [] ได้เสด็จกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนทนากับหม่อมเจ้าวรรณวิมล เริ่มต้นด้วยพระราชทานเสมาฝังเพชรแก่ท่านหญิงวรรณวิมล และท่านหญิงพิมลวรรณ"  [] ครั้นถึงเวลาเสวยเครื่องว่าง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชิญหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลไปประทับทางขวาของพระองค์ โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ประทับทางซ้าย มีท่านหญิงท่านชายในราชสกุลวรวรรณ ได้นั่งโต๊ะเสวยในวันนี้อีก ๖ ท่าน นอกจากนั้นก็มีท่านเจ้าคุณต่างๆ ในพระราชสำนัก"  []

 

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงเป็นนายพลเรือโท พระยาสมุทโยธิน

หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี วรรวรรณ ทรงแสดงเป็นคุณหญิงสมุทโยธิน

หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ วรวรรณ ทรงแสดงเป็นนางสาวสายหยุด สมุทานนท์

และพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) แสดงเป็นนายเรือเอก หลวงเชี่ยวชลธาร

ในละครพระราชนิพนธ์เรื่อง โพงพาง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงที่กรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ ๖ - ๗ พฤศจิกายน และที่นครปฐม เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓

 

 

          ในโอกาสเดียวกันนั้นทรงชวนหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล ทรงร่วมแสดงละครเป็นคุณหญิงสมุทโยธิน ในละครพระราชนิพนธ์เรื่อง "โพงพาง" ซึ่งทรงแสดงเป็นนายพลเรือโท พระยาสมุทโยธิน นับเป็นครั้งแรกที่การแสดงละครพูดในพระราชสำนักเริ่มเปลี่ยนเป็นการจัดแสดงในรูปแบบชายจริงหญิงแท้

 

          แล้วต่อมาวันที่ ๙ พฤศจิกายนปีเดียวกัน ก็ทรงหมั้นกับหม่อมเจ้าวรรณวิมล วรวรรณ แล้วโปรดสถาปนาเป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี จึงทำให้เกิดฝ่ายในขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้น "ทรงเลือกหาแต่ผู้มีตระกูลและพระญาติวงษ์ให้เข้าไปอยู่ด้วย คือคุณหญิงภูบาลบันเทิง (ตระกูล อมาตยกุล) เป็น Lady in Waiting นางสนองพระโอษฐ์, หม่อมหลวงป้อง มาลากุล เป็น Lady Bed-Chamber ต้นพระตำหนัก และแม่เปรื่อง  [] , แม่ประไพ สุจริตกุล  [] สองคนพี่น้องเป็น Maid of Honour นางพระกำนัล"  [] จึงนับเป็นครั้งแรกที่ราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีฝ่ายในตามแบบราชสำนักของชาติต่างๆ ในยุโรป

 

          ในช่วงเวลาที่ทรงหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับของพระคู่หมั้น และเมื่อทรงหมั้นกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณในเวลาต่อมา ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระตำหนักจิตรลดาองค์เดิมที่มุมพระลานพระราชวังดุสิตให้เป็นที่ประทับ

 

          ครั้นทรงราชาภิเษกสมรสด้วยพระสุจริตสุดา และพระอินทราณี พระสนมเอก และได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เป็นพระนางเธอลักษมีลาวัณแล้ว

 

          "ก็เลยอยู่ในพระราชวังพญาไทนั้นด้วยเป็นสามนาง... งานทุกงานในเวลานั้นพระองค์ลักษมีเป็นผู้นำและนั่งคู่กับในหลวง มีพระสุจริตสุดากับพระอินทรานีพี่น้องเป็นผู้เดินตามอย่างธรรมเนียมโบราณ แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระนิสสัยที่ชอบมีเมียคนเดียว จึงไม่โปรดที่จะอยู่พร้อมๆ กันหลายๆ คน แม้จะถวายการฝึกหัดท่านเท่าไร ท่านก็ย้ายที่ประทับไปอยู่เสียแต่ลำพังกับคนเดียว เช่นที่พระปฐมเจดีย์เสด็จไปประทับกับพระอินทรานีที่พระตำหนักย่าเหล—มารี  [] ปล่อยให้พระองค์ลักษมีกับพระสุจริตสุดาอยู่บนพระที่นั่งใหญ่  [๑๐] ย้ายเรื่อยๆ ไปจนลงท้ายพระองค์ลักษมี out of place ก็เท่ากับถูกลอยกระทง จึงเลยต้องเข้าไปอยู่เสียที่ตำหนักหนึ่งในพระราชวังสวนดุสิต"  [๑๑]

 

 

หมู่พระที่นั่งในพระราชวังพญาไท

องค์ขวาสุด คือ พระที่นั่งไวกูณฑ์เทพยสถาน องค์กลางที่มีโดมสูง คือ พระที่นั่งพิมานจักรี

องค์ที่มีโดมทางซ้าย คือ พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส อาคารซ้ายสุด คือ ห้องบิลเลียด

 

 

          ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่พระราชวังพญาไทนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับทางฝ่ายหน้าที่พระที่นั่งไวกูณฑเทพยสถาน ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินีนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับที่พระที่นั่งพิมานจักรีซึ่งจัดเป็นพระราชฐานฝ่ายใน "บ่าย ล้นเกล้าฯ จะต้องเสด็จมาทรงรับสมเด็จ เสด็จออกไปเสวยทางฝ่ายหน้า ห้องเสวยอยู่ชั้นล่างของพระที่นั่งพิมานจักรี พร้อมข้าราชบริพารของพระองค์ท่าน มีพวกมหาดเล็กนายเวรเชิญและตั้งเครื่องแบบฝรั่ง"  [๑๒] เมื่อเสวยเสร็จแล้ว

 

          "ล้นเกล้าฯ จะเสด็จมาพร้อมกับสมเด็จฯ อีก และเสด็จลงสนามที่หน้าพระที่นั่งศรีสุทธนิวาศ พวกข้าหลวงสมเด็จฯ จะคอยหมอบเฝ้าอยู่แถวนั้นด้วย พระองค์ล้นเกล้าฯ และสมเด็จฯ ท่านทรงโปรดการกีฬามากแทบทุกชนิด แต่ตอนเย็นนี้พวกชาวที่จะมาจัดเกม Rounders  [๑๓] ไว้ถวาย สมเด็จฯ และล้นเกล้าฯ จะทรงแยกกันประทับพระองค์ละข้าง ซึ่งจะต้องมีผู้เล่นฝ่ายละเท่ากัน... เวลาทรงอะไรฝ่ายใน จะไม่มีผู้ชายคนใดเข้ามาได้นอกจากคุณโต สุจริตกุล (นายกวด หุ้มแพร)  [๑๔] ซึ่งเป็นผู้ชายคนเดียวที่เข้านอกออกในได้ทุกเวลาและทุกแห่งที่สมเด็จฯ ท่านประทับอยู่ และตอนที่ทรงกีฬาเกมนั้นก็มี คุณจ่ารงค์ (แจ่ม สุนทรเวช)  [๑๕] เข้ามาแต่ผู้เดียวทุกเวลา ไม่ว่าจะเสด็จลงทรงเกมนี้ตอนเช้าหรือเย็น เข้ามาเพื่อจดรายการเล่นแพ้ - ชนะกันกี่ Round คนอื่นไม่เห็น... ท่านหญิงอรอำไพฯ  [๑๖] กับท่านหญิงผ่องฯ  [๑๗] กมะลา  [๑๘] เป็นผู้วิ่งแทนพระองค์ทั้งล้นเกล้าฯ และสมเด็จฯ เพราะเวลาท่านทรงตีลูกบอลแล้วต้องวิ่งรอบหลัก จึงต้องมีคนคอยวิ่งแทน... กีฬานี้จะทรงอยู่จวนค่ำจึ่งเสด็จขึ้น และบางคราวก็จะเสด็จอยู่ที่ลานหน้าพระที่นั่งพร้อมทั้งรถที่นั่งรอง รถตามเสด็จของมหาดเล็กเชิญเครื่อง... เมื่อมีรถพระที่นั่งมาคอยรับเสด็จอยู่ ก็จะต้องมีพวกนักเรียนรับใช้ เช่น ม.จ.อัศนีฟ่องฟ้า เทวกุล ม.จ.โชติศรีกฤติกา  [๑๙] ม.จ.อรชุณชิษณุ  [๒๐] เทวมิตร กุญชร  [๒๑] สุจินต์ สุจริตกุล แต่งตัวแบบนักเรียนรับใช้คล้ายอุศเรนมาคอยตามเสด็จด้วย ทางที่เสด็จมักจะเป็นทางล่าง รถพระที่นั่งจะแล่นออกจากพระราชวังพญาไท ไปทางสวนจิตร ผ่านพระบรมรูป ออกทางถนนราชดำเนิน ออกเจริญกรุง ไปทางห้างไวทเวย์ สีลม วิทยุ สาธร ศาลาแดง แล้วก็เสด็จกลับ เสวยน้ำชา จนเวลาในราว ๒ - ๓ ทุ่มจึงจะเสด็จมารับสมเด็จฯ เสด็จไปร่วมโต๊ะเสวยทางฝ่ายหน้าอีก... ระยะนี้จะทรงรับสั่งต่อกัน และบางวันก็จะประทับอยู่ทรงพระอักษรประทาน สมเด็จฯ เสด็จเข้าพระวิสูตรแล้ว ล้นเกล้าฯ จะประทับบนเก้าอี้นวมองค์ใหญ่ มีโคมไฟตั้งข้างๆ มีม้าบุนวมแพรเตี้ยๆ รองพระบาท สีเข้าชุดกับพระเก้าอี้ ปกติองค์ล้นเกล้าฯ จะแต่งพระองค์ทรงพระสนับเพลาแพรจีนสีตามวัน ทรงคาดแพรสีแก่ - อ่อนสลับสีให้เข้ากันกับพระสนับเพลา ที่ตรงพระนาภีห้อยชายไม่ยาว ฉลองพระองค์ผ้าป่านหรือมัสลิน, ลินนิน, สีขาวบางเนื้อดี ผ่าตรงพระอุระติดกระดุมเม็ดเล็กที่ตรงพระศอ ฉลองพระองค์ชั้นนอกแพรฝรั่งเศส ฉลองพระบาทเป็นแบบคัทชูน่ารัก

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อย่างอยู่กับบ้าน

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษ์พร้อมด้วยสุนัขทรงเลี้ยง "ย่าเหล"

 

 

เพราะพระบาทของท่านเล็กไม่เหมือนผู้ชายทั่วไปเลย เวลาประทับบนเก้าอี้จะทรงถอดฉลองพระบาท และวางพระบาทไว้บนม้าเตี้ยบุแพรนั้น ...เด็กๆ ก็จะเปลี่ยนกันเข้าไปปัดยุงถวายด้วยแส้หางม้าด้ามงาอันสั้นๆ หมอบกราบแล้วก็หมอบปัดยุงถวาย ความจริงยุงก็ไม่เห็นจะมีแต่ต้องทำตามระเบียบ ปัดไปปัดมานานเข้าก็อดง่วงไม่ได้ ถึงกับซบตัวม่อยหลับตรงนั้นเอง ดูเถิด ! นี่แหละเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ท่านทรงมีพระจริยานุวัตรอย่างไร ท่านไม่เห็นทรงกริ้ว กลับทรงพระเมตตากระดิกนิ้วพระบาทแต่น้อยๆ พอให้รู้สึกว่าท่านจะทรงลุกขึ้นละ พอเรารู้สึกตัวกลัวเสียแทบตายต้องหมอบกราบขอประทานโทษเป็นการใหญ่ ท่านก็ไม่รับสั่งว่ากระไร กลับทรงพระสรวลเสียอีก เสด็จมานอกห้องพระบรรทม ท่านถอดฉลองพระองค์แขวนไว้ข้างนอก ตอนนี้พวกพี่สาวๆ ก็จะคอยจ้องว่าใครจะเป็นผู้ได้ถวายฉลองพระองค์นั้น ใครไวกว่าได้ถวายฉลองพระองค์ทรงก็รู้สึกจะสดชื่นดี มหาดเล็กห้องพระบรรทมจะมาคอยรับเสด็จอยู่นอกพระทวาร และเสด็จลงทางฝ่ายหน้าอีกจนดึกดื่น เพราะท่านทรงมีเกมจะเล่นอะไรอีกมากมายกับเหล่าราชบริพารของพระองค์ท่าน ซึ่งทางฝ่ายหน้านี้มีข้าราชบริพารฝ่ายชายมากมาย บางครั้งสมเด็จฯ ก็เคยตามเสด็จลงทางฝ่ายหน้าบ้างเหมือนกัน...

 

          วันใดเมื่อเสวยเสร็จแล้วไม่เสด็จลงสนามทรงกีฬากลางแจ้งก็จะประทับอยู่บนพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส บนพระเก้าอี้นวมยาวร่วมกันสองพระองค์ที่ห้องโถง เพราะทรงโปรดให้มีโต๊ะบิลเลียดขนาดเล็กสุดมาตั้งไว้ โต๊ะปิงปอง แล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สอนให้เล่นให้เป็นในหมู่คุณพนักงานข้าฯ ของพระองค์ ไม่ว่าใครลงได้เป็นข้าฯ ในพระองค์ท่านแล้ว องค์ล้นเกล้าฯ จะไม่ปล่อยให้โง่งมงาย พระองค์ท่านโปรดคนพูดจาฉะฉานคล่อง-แคล่วว่องไว ปฏิภาณดีถ้าใครอืดอาดจะต้องทรงกริ้ว" [๒๒]

 

 

 


[ ]  อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๙.

[ ]  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

[ ]  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา

[ ]  อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๙.

[ ]  อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๙.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น พระสุจริตสุดา พระสนมเอก

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

[ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๖๘.

[ ]  คือ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ ในพระราชวังสนามจันทร์

[ ๑๐ ]  คือที่พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี

[ ๑๑ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๗๒.

[ ๑๒ ]  รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ, หน้า ๑๙.

[ ๑๓ ]  เกมชนิดนี้ชาวอเมริกันนำไปปรับเป็นเกมกีฬาที่รู้จักกันในชื่อ เบสบอล (Baseball)

[ ๑๔ ]  ท่านผู้นี้เป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ และพระสุจริตสุดา

[ ๑๕ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นอมรดรุณารักษ์

[ ๑๖ ]  หม่อมเจ้าหญิงอรอำไพ เกษมสันต์ ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์และได้เสกสมรสกับนายโฉลก โกมารกุล ณ นคร

[ ๑๗ ]  หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ ต่อมาทรงเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์

[ ๑๘ ]  คุณกมะลา สุทธสินธุ์ ต่อมาได้สมรสกับ นายกวด หุ้มแพร (โต สุจริตกุล)

[ ๑๙ ]  หม่อมเจ้าโชติสีกฤติกา เทวกุล

[ ๒๐ ]  หม่อมเจ้าอรชุณชิษณุ สวัสดิวัตน์

[ ๒๑ ]  เทวมิตร กุญชร ณ อยุธยา

[ ๒๒ ]  รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ, หน้า ๑๙ - ๒๔.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |