โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๒๑ | ๑๒๒ | ๑๒๓ | ๑๒๔ | ๑๒๕ | ๑๒๖ | ๑๒๗ | ๑๒๘ | ๑๒๙ | ๑๓๐ | ถัดไป |

 

๑๒๘. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ

 

          ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลในสมัยนั้นได้ตระหนักถึงความ สำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาชีวศึกษา จึงได้พิจารณาปรับหลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญซึ่งเดิมจัดไว้ ๑๒ ปี ลงเหลือ ๑๐ ปี เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ - ๔ ไปจนถึงชั้นมัธยมปีที่ ๑ - ๖ โดยตัดชั้นมัธยมปลายหรือมัธยมปีที่ ๗ - ๘ ออกจากหลักสูตรวิชาสามัญ และให้จัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมขึ้นในสถาบันการศึกษาชั้นอุดมศึกษา เพื่อให้นักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๖ และประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้มีเวลาเตรียมตัวเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่ประสงค์จะเลือกศึกษาต่อ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมอุดมได้ก็จะได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษา จะได้ไม่เสียเวลาเล่าเรียนในชั้นมัธยมปลายไปโดยเปล่าประโยชน์

 

 

อาคารเรียนโรงเรียนมัธยมหอวัง

ที่ถูกแปรสภาพมาเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

          เมื่อรัฐบาลได้ประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งกำหนดให้ยุบเลิกชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา" จึงได้จัดตั้งขึ้นที่โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มรับนักเรียนเข้าศึกษาเป็นครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา ๒๔๘๑ ต่อมาในตอนปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยุบเลิกโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยนายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้เหตุผลที่จะยุบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาว่า "...เนื่องด้วยต้องการคนมีอาชีพชั้นสูงมากขึ้น จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยผลิตคนไม่ทันใช้ รัฐบาลจึงจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่หัวเมืองสัก ๔ แห่ง ตามหัวเมืองรัฐบาลอาจตั้งโรงเรียนเตรียมขึ้นได้ แต่ที่กรุงเทพฯ รัฐบาลจะไม่ทำ..."  [] แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลในเวลาต่อมา การยุบเลิกโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ล้มเลิกไปโดยปริยาย

 

 

พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย

(สินธุ์ กมลนาวิน)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๘๕

 

 

          อนึ่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในหัวเมืองนั้น "...คุณหลวงสินุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ... ท่านหมายตาไว้ว่าจะตั้งที่เชียงใหม่ สงขลา และอุบลราชธานี ทุกแห่งจะต้องมีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาด้วย..."  [] หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดม ศึกษาจึงได้รับมอบหมายให้สำรวจและจัดหาสถานที่ตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่จังหวัดสงขลาเป็นแห่งแรก แต่ "...มีข่าวว่าสงครามโลกจะลามมาถึงเมืองไทยและเข้าทางปักษ์ใต้ เราจึงต้องรอสงขลาไว้ก่อน..."  [] แล้วไปเริ่มจัดที่อุบลราชธานี แต่ก็ทำได้เพียงซื้อที่ดินก็ประจวบกับเวลาที่ญี่ปุ่นยกกำลังเข้าโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาเบอร์ (Pearl Harbour) พร้อมกับยกกำลังบุกเข้าประเทศไทยเพื่อเดินทัพผ่านไปตีพม่าซึ่งในเวลานั้นยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่จังหวัดอุบลราชธานีจึงต้องหยุดลงตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สภาวะสงคราม และเมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ แล้ว มิชชันนารีอเมริกันซึ่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย และโรงเรียนดาราวิทยาลัยบางส่วนต้องลี้ภัยสงครามออกไปนอกประเทศ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งต้องถูกควบคุมตัวเป็นเชลยสงคราม จึงต้องฝากโรงเรียนทั้งสองไว้กับครูชาวไทย และเมื่อมีข่าวว่าทหารญี่ปุ่นจะเข้ายึดครองโรงเรียนทั้งสองเช่นเดียวกับที่ได้เข้ายึดครองโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ มาแล้ว รัฐบาลไทยจึงได้ออกคำสั่งยึดโรงเรียนทั้งสองซึ่งเป็นทรัพย์สินของชนชาติศัตรูเข้าเป็นของรัฐ และกระทรวง ศึกษาธิการก็ได้มี "...คำสั่งด่วนให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ ขึ้นไปยึดโรงเรียน Prince Royal ที่เชียงใหม่ เป็นการให้ชิงเข้าไปเสียก่อนญี่ปุ่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพจึงมีกำเนิดขึ้น..."  [] เป็นโรงเรียนหนึ่งแยกต่างหากจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ มีตราและมีสีของตนเอง แต่มีผู้อำนวยการเป็นคนเดียวกัน คือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

 

 

โบสถ์คริสเตียนในโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

 

 

          โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพนั้น นอกจากจะจัดเป็น "...ร.ร.สำหรับชาวเชียงใหม่และชาวจังหวัดในพายัพ..."  [] แล้ว และโดยเหตุที่มีนักเรียนจากจังหวัดใกล้เคียงซึ่งรวมถึงนักเรียนจากกรุงเทพฯ ที่ย้ายมาเล่าเรียนในประเภทนักเรียนจากจังหวัดใกล้เคียงมาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก ทางโรงเรียนจึงได้จัดให้นักเรียนชายที่มาจากต่างจังหวัดพักอยู่ที่หอนอนของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยในความดูแลของนายสงวน เล็กสกุล รองผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ ส่วนนักเรียนสตรีที่มีนางสาวดารา ไกรฤกษ์  [] อาจารย์ผู้ปกครองสตรี หรือ อ.ป.ส. เป็นผู้ดูแลนั้นพักอาศัยอยู่ที่ "ดาราเหนือ" หรือโรงเรียนดาราวิทยาลัยฝ่ายมัธยมที่หนองเส้งติดกับโรงพยาบาลแมคคอร์มิคซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนดาราวิทยาลัย แต่เวลาเล่าเรียนนักเรียนหญิงต้องเดินไปเรียนร่วมกับนักเรียนชายที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

 

 

นักเรียนมหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

เมื่อครั้งเป็นนักเรียนเสือป่าหลวง

 

 

          วันหนึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเอง มี "...ข่าวมาตอนกลางคืนว่ารุ่งขึ้นญี่ปุ่นจะเข้ายึดสาขา Prince Royal ที่เชิงสะพานวรัตน์   [] รงเรียนต้องปลุกนักเรียนที่เข้านอนแล้วให้ช่วยกันยกเตียงนอนหลายๆ เตียงไปไว้ที่สาขาแห่งนั้น ก็เป็นเรื่องชิงเข้ายังที่ก่อนญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน..."  [] เมื่อญี่ปุ่นมาถึงโรงเรียนในตอนเช้าเห็นนักเรียนอยู่กันเต็มก็เลยเลิกล้มความตั้งใจที่จะเข้ายึดพื้นที่โรงเรียนนั้น

 

          แม้สถานการณ์สงครามจะทวีครามรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ มีการโจมตีทางอากาศจนเสมียนหญิงคนหนึ่งของโรงเรียน "...ถูกกระสุนปืนกลจากเครื่องบิน อาการสาหัส..."  [] แต่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพก็ยังคงเปิดการเรียนการสอนต่อมาจนสิ้นปีการศึกษา ๒๔๘๗ เพราะขาดการติดต่อกับทางกรุงเทพฯ จึงไม่ทราบว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนอื่นๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงซึ่งประสบภัยทางอากาศได้ปิดการเรียนการสอนไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗

 

          เมื่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพต้องปิดการเรียนการสอนลงในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๘ แล้ว ทางโรงเรียนได้มีการลำเลียงนักเรียนส่วนหนึ่งกลับสู่กรุงเทพฯ

 

          "...นักเรียนชายเดินทางมาเมื่อเดือนเมษายน ๒๔๘๘ ใช้พาหนะหลายอย่าง รวมทั้งเดินเท้าประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ระหว่างปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายนนั้น รองผู้อำนวย การ ต.อ.พ. และอาจารย์หญิงคุมนักเรียนหญิงอพยพกลับมาหลายคนโดยเครื่องบินกองทัพอากาศ จากเชียงใหม่บ้างจากลำปางบ้าง ลำที่อาจารย์สุรัต [๑๐] คุมนักเรียนมาต้องแวะลงที่พิษณุโลกเพื่อหลบเครื่องบินข้าศึก ลำที่อาจารย์บุญยิ่ง [๑๑] คุมมาแวะลงเสียที่หล่มสักเฉยๆ "เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน" แต่ข้าพเจ้า [๑๒] คิดว่านักบินคงไหวทัน เพราะถ้าตรงมาดอนเมือง ก็จะพบเครื่องบินข้าศึกกำลังโจมตีกรุงเทพฯ ครั้นในตอนบ่ายบินมาดอนเมือง เห็นภาพลวงตาเป็นไฟไหม้ดอนเมือง เครื่องบินจึงกลับไปลงที่โคกกะเทียม..." [๑๓]

 

          เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ แล้ว กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ส่งมอบโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยและโรงเรียนดาราวิทยาลัย ซึ่งเกือบจะไม่ได้รับความเสียหายจากผลของสงครามเพราะทางราชการได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพนั้น กลับคืนให้แก่มิชชันนารีอเมริกันซึ่งกลับเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนทั้งสองนั้นอีกครั้ง

 

 

 


[ ]   หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. "ประวัติย่อของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา", ๖๐ ปี เตรียมอุดมศึกษา ๒๔๘๐ - ๒๕๔๐, หน้า ๒๘.

[ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๑๓๐.

[ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๑๓๐.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๓๑.

[ ]  ดารา (ไกรฤกษ์) ไชยยศสมบัติ. ต.อ.พ. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ, หน้า ๒๐๑.

[ ]  คุณหญิงดารา ไชยยศมสมัติ (ดารา กฤษณามระ)

[ ]  ที่ถูกนั้นคือ โรงเรียนดาราวิทยาลัยแผนกประถมที่เวลานั้นยังตั้งอยู่ที่เชิงสะพานวรัฐ ตรงที่เป็นคริสตจักรที่ ๑ เชียงใหม่ ในปัจจุบัน

[ ]  อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๑๓๑.

[ ]   "ประวัติย่อของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา", ๖๐ ปี เตรียมอุดมศึกษา ๒๔๘๐ - ๒๕๔๐, หน้า ๓๑.

[ ๑๐ ]  อาจารย์สุรัตน์ เกษเสถียร

[ ๑๑ ]  อาจารย์บุญยิ่ง เจริญยิ่ง

[ ๑๒ ]  หมายถึง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

[ ๑๓ ]  "ประวัติย่อของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา", ๖๐ ปี เตรียมอุดมศึกษา ๒๔๘๐ - ๒๕๔๐, หน้า ๓๗.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |