โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๒๑ | ๑๒๒ | ๑๒๓ | ๑๒๔ | ๑๒๕ | ๑๒๖ | ๑๒๗ | ๑๒๘ | ๑๒๙ | ๑๓๐ | ถัดไป |

 

๑๓๐. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒)

 

ทรงฉายพร้อมด้วยสามเณร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ที่พระแท่นหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

คราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร

ระหว่างวันที่ ๑๐ กันยายน – ๒๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔)

 

 

          ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่ตำหนักนอร์ธลอดจ์นี้เอง ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นที่กรุงเทพฯ เนื่องมาจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ “...พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารไว้สืบต่อไป จึงทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มีพระเกียรติยศเปนที่สองรองสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มาแต่เดิม สมควรจะได้รับพระอิศริยยศในตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารได้...”  [] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๑๗ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) เสร็จพิธีแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพันเอก พระยาเสมอใจราช (ทองดี โชติกเสถียร) [] เป็นข้าหลวงพิเศษอัญเชิญเครื่องราชอิสริยยศและเครื่องราช-อิสริยาภรณ์ พร้อมด้วยสัญญาบัตรพระยศ “...นายร้อยโท ในกรมทหารราบ “มหาดเล็ก”  [] แลนายพันเอกพิเศษ ในกรมทหารราบ “ล้อมวัง”  [] ...”  [] ออกไปถวาย ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้นายพันโท พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) [] และนายร้อยเอก หลวงสรสิทธยานุการ (อุ่ม อินทรโยธิน) [] ออกไปเป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชด้วย

 

          อนึ่ง เมื่อเสร็จการพระราชพิธีประกาศสถาปนาพระอิสริยยศ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโทรเลขพระราชทานพรไปยังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีความว่า

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

 

 

“วันที่ ๑๗ มกราคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๓

 

          ถึงเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ลูกผู้เปนที่รักอย่างยิ่ง เจ้าได้รับตำแหน่งมกุฎราชกุมารแลรัชทายาทโดยการประชุมใหญ่ ในเวลานี้แล้ว ด้วยเดชะผลแห่งความเลื่อมใสในพระรัตนไตรย แลความรักใคร่ของบิดามารดา จงให้มีความเจริญตั้งมั่นอยู่ในอิศริยยศอันใหญ่นี้ยั่งยืน ได้บำรุงรักษาวงษตระกูลกับทั้งพระราชอาณาเขตร แลบำรุงราษฎรให้อยู่เย็นเปนศุขสืบไป ขอให้รู้สึกตัวว่าเปนผู้ซึ่งจะต้องรับภาระอันหนักเพื่อประชาชนทั้งหลาย แล้วแลอุสาหเล่าเรียนวิชาการอันสมควรแก่ตำแหน่งนั้น โดยฉันทะวิริยอันแรงกล้า ให้สำเร็จดังประสงค์ทุกประการเทอญ”  []

 

          เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับพระราชโทรเลขพระราชทานพรนั้นแล้ว ได้ทรงมีพระราชโทรเลขกราบบังคมทูลพระกรุณาสำแดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังนี้

 

“วันที่ ๑๗ มกราคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๓

 

          ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ

          ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณา รับพระพรอันมงคลนั้นไว้เหนือเกล้าฯ แลขอพระราชทานปฏิญาณไว้ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะอุสาหะทนความยากลำบาก ที่จะเล่าเรียนศึกษาวิชาการทั้งปวง จนให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เปนคนสมควรที่จะนับได้ว่า เปนลูกผู้ที่จะฉลองพระเดชพระคุณในทูลหม่อม  [] ในสมเด็จป้า [๑๐] แลในเสด็จแม่  [๑๑] โดยเสมอภาคเท่ากันหมด แลโดยความซื่อตรงด้วย”  [๑๒]

 

 

ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และนักเรียนสยาม

ที่ร่วมประชุมฟังประกาศสถาปนาพระอิสริยศักดิ์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ณ สถานอัครราชทูตสยาม กรุงลอนดอน

เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗

 

 

          คณะข้าหลวงพิเศษอัญเชิญเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์พร้อมทั้งสัญญาบัตรพระยศทหาร ซึ่งออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ และไปถึงกรุงลอนดอนในวันที่ ๔ มีนาคม ปีเดียวกันนั้นแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณได้เชิญเสด็จ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและนักเรียนสยามซึ่งประจำรับราชการและเล่าเรียนอยู่ ณ ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ค และเนเธอร์แลนด์ มาร่วม “การประชุมมอบเครื่องราชอิศริยยศ เครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลประกาศสถาปนาพระฐานันดรยศ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ณ สถานราชทูตสยามกรุงลอนดอน” ในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗

 

          ในระหว่างการประชุมเลี้ยงอาหารค่ำในคืนวันเดียวกันนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎ ราชกุมาร ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ที่ชุมนุม ซึ่งต่อมา “สามัคคีสาร” [๑๓] ได้อัญเชิญกระแส พระราชดำรัสตอนหนึ่งมาลงพิมพ์ไว้ในวารสารเล่ม ๕ ตอน ๒ ว่า

 

          “The Late King Rama VI, in His student days, made a memorial speech…in which He said, among other things, that “He would return to Siam more Siamese then when He left it.” These words have left a host of meanings in their wake.” [๑๔]

 

          แม้จะทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็นพระรัชทายาท ซึ่งส่งผลให้พระประมุขและเจ้านายต่างประเทศพร้อมกันถวายพระเกียรติยศยิ่งกว่าเดิม ดังเช่นสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย (Queen Victoria) แห่งประเทศอังกฤษ ได้โปรดพระราชทานพระสุธารสแสดงความยินดีในการที่ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎรากุมาร ณ พระราชวังวินด์เซอร์ (Windsor Castle) ซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ก็ตาม แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ยังทรงดำรงพระองค์เป็น “เจ้าชายที่น่ารัก ทรงมีความเป็นสง่าแต่อ่อนน้อมอยู่เสมอ” ดังที่วารสาร Vanity Fair ของประเทศอังกฤษ ได้กล่าวถึงพระราชจริยาวัตรไว้ในวารสารฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๕ (พ.ศ. ๒๔๓๘) ว่า

 

 “...The honours that have been trust upon him have not all spoiled him. He is dignified, polite, very amiable boy of some promise. He is so nice a Prince that no one is jealous of him...” [๑๕]

 

          การถวายพระอักษรในรูปแบบ Home School ที่นายทอมสันจัดถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ให้ทรงเล่าเรียนร่วมกับหม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์ ณ พระตำหนักที่ประทับนั้น คงจะดำเนินไปได้รวดเร็ว

 

 

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาส

ปาร์กดาริอานา (Parc d’ Ariana) เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

ซึ่งในปาร์กมีต้นสนใหญ่ต้นหนึ่งงามดี มีกิ่งยื่นออกจากต้นประมาณ ๒๐ ฟิต

ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อใด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอ และคณะผู้ตามเสด็จพระราชดำเนิน

 

 

          กว่าการศึกษาในโรงเรียนสามัญทั่วไป จึงมีหลักฐานปรากฏว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ แม้จะต้องทรงปลีกพระองค์ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรปครั้งแรกที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ แล้วได้ตามเสด็จไปประพาสประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รวมทั้งต้องทรงเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถไปทรงร่วมงานเพชราภิเษก (Diamond Jubilee) [๑๖] ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรียแล้ว ยังได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถไปในการเสด็จประพาสประเทศเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เสปน โปรตุเกส และอิตาลี จนได้ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ก็ตาม แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ทรงพระอุตสาหะเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาได้ในปีเดียวกันนั้น และได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ (Royal Military Academy, Sandhurst) เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยมีหม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์ โดยเสด็จไปศึกษาร่วมด้วย

 

          เนื่องจากการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์นั้นมีระเบียบว่า ผู้ที่จะเข้าศึกษาต้องมีความรู้วิชาทหารเบื้องต้น เช่น การขี่ม้า มาก่อน ประกอบกับสัญญาเช่าพระตำหนักนอร์ธลอดจ์ใกล้จะสิ้นสุดลง สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราชจึงทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักใหม่ชื่อ เกรตนี่ย์ (Graitney) ที่เมืองแคมเบอร์ลี่ย์ (Camberley) ซึ่งอยู่ใกล้โรงทหารที่ที่ออลเดอร์ช็อต (Aldershot) พร้อมกันนั้นรัฐบาลสยามก็ได้ขอให้นายพันโท ซี.วี. ฮยูม (Lieutenant - Colonel C. V. Hume) มาจัดการถวายพระอักษรแทนนายเบซิล ทอมสัน

 

 

 


[ ]  “การสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร”, ราชกิจจานุเบกษา ๑๑ (๒๐ มกราคม ๑๑๓), หน้า ๓๔๒.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น จางวางโท พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี

[ ]  ปัจจุบัน คือ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  ปัจจุบัน คือ กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์

[ ]  “การสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร”, ราชกิจจานุเบกษา ๑๑ (๒๐ มกราคม ๑๑๓), หน้า ๓๔๓.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร ตำแหน่งสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และร่วมเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฏฐมรามาธิบดินทร

[ ]  “พระราชโทรเลขพระราชทานพร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร”, ราชกิจจานุเบกษา ๑๑ (๒๐ มกราคม ๑๑๓), หน้า ๓๕๕.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ๑๐ ]  สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

[ ๑๑ ]  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

[ ๑๒ ]  “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กราบบังคมทูลตอบพระราชโทรเลข”, ราชกิจจานุเบกษา ๑๑ (๒๐ มกราคม ๑๑๓), หน้า ๓๕๕.

[ ๑๓ ]  วารสารของนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ

[ ๑๔ ]  ต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรองประธานกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ถอดความตอนนี้ไว้เป็นบทร้อยกรองว่า

          พระมหาธีรราชประกาศไว้ ที่อังกฤษสมัยทรงศึกษา
ว่าเมื่อไรเสด็จกลับพารา จะเป็นไทยยิ่งกว่าเมื่อมาเรียนฯ.

[ ๑๕ ]  ข้อความนี้มีคำแปลอยู่ที่หน้า ๔๖ ในหนังสือ “เจริญรอยพระยุคลบาท ๒๕๒๗” ของหอวชิราวุธานุสรณ์ว่า “พระเกียรติยศอันสูงที่ทรงได้รับมิได้ทำให้เสื่อมเสียไปในทางใดๆ ทรงมีความเป็นสง่าแต่อ่อนน้อม พอจะกล่าวได้ว่าเป็นเด็กที่มีความหวังอยู่ข้างหน้า เป็นเจ้าชายที่น่ารักที่ใครๆ ก็ชอบ”

[ ๑๖ ]  การฉลองสิริราชสมบัติในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |