โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔. งานกรีฑา (๒)

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว งานกรีฑาของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ก็เป็นอันสิ้นสุดลง เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในพระราชสำนัก ทำให้ต้องยุบรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พร้อมกับได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมาตั้งแต่วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙

 

 

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
อดีตสภานายกสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          ครั้นโรงเรียนเริ่มเปิดการเรียนการสอนในตอนต้นปีการศึกษา ๒๔๖๙ นั้น วชิราวุธวิทยาลัยคงมีนักเรียนที่สมัครเข้าเล่าเรียนเพียงชั้นมัธยมปีที่ ๑ - ๖ และประถมปีที่ ๑ - ๓ จึงไม่มีนักเรียนที่จบชั้นสูงสุดเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรดังเช่นในรัชกาลก่อน ประกอบในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ และ ๒๔๗๐ นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ กับมณฑลปักษ์ใต้ตามลำดับ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เมื่อทรงว่างจากพระราชกิจการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในหัวเมืองแล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ []สนาบดีกระทรวงธรรมการในตำแหน่งนายกสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคต ได้เคยมีพระราชกระแสดำรัสสั่งไว้กับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงว่า "ถึงข้าจะตายไปแล้ว ก็ขอให้มีกรีฑาให้ข้าดูในวันเกิดของข้าด้วยเถิด" เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นการจัดงานประจำปีของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นมาอีกครั้ง และด้วยพระราชประสงค์ให้งานนี้ "เป็นงานที่ระลึกผู้ทรงสร้างโรงเรียน" จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานประจำปีนี้ในวันฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีพระราชภารกิจที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติเนื่องในวันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนการจัดงานประจำปีของโรงเรียนมาเป็นวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน และ "ข่าวในพระราชสำนัก" ได้บันทึกพระราชกิจในวันนั้นไว้ว่า

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
เสด็จพระราชดำเนินในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑

 

 

"วันเสาร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๑

 

          วันนี้เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิรยังโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในงานที่ระลึกผู้ทรงสร้างโรงเรียน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีขึ้นเป็นงานประจำปี ประทับทอดพระเนตรการกีฬาแล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนผู้สามารถเรียนรู้พระราชนิพนธ์รัชชกาลที่ ๖ และพระราชทานโล่ ถ้วยกับรางวัลการกีฬา เสร็จแล้วพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นักเรียนเรื่องคติอันพึงมุ่งหมายในระเบียบการโรงเรียน

 

          ในโอกาสนี้กรรมการโรงเรียนมี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ  [] เป็นอาทิ ได้นำฉลองพระองค์ครุยตำแหน่งบรมราชูปถัมภกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย”  []

 

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมจันทบุรีนฤนาถ
กรรมการพิเศษโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และสภากรรมการกิตติมศักดิ์วชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          ฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภกที่พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ อภิรัฐมนตรีและกรรมการกิตติมศักดิ์วชิราวุธวิทยาลัยเชิญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนั้น ก็คือ “ฉลองพระองค์อาจารย์” ซึ่งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปฐมเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ปัจจุบันฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้คงเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนงานประจำปีของโรงเรียนมาจัดในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน แล้วจึงได้จัดงานประจำปีของโรงเรียนในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายนต่อเนื่องกันมาจนถึงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕

 

          งานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยในปีต่อๆ มาคงมีรูปแบบการจัดงานเช่นเดียวกับใน พ.ศ. ๒๔๗๑ มีรายการที่เพิ่มมาจากปีก่อนหน้าคือ ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้อครุยแก่กรรมการอำนวยการ อาจารย์และครู กับใน พ.ศ. ๒๔๗๓ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอนาฬิกาที่คณะละครไทยเขษมจัดสร้างเป็นที่ระลึก ถวายเป็นพระราชกุศลอุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเริ่มมีการพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักเรียนที่สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๘ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน (เมื่อแรกรวมโรงเรียนใน พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น โรงเรียนเปิดสอนชั้นสูงสุดเพียงชั้นมัธยมปีที่ ๖ ปีถัดมาจึงขยายการเรียนการสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ ๗ และ ๘ มาเป็นลำดับ)

 

          การกีฬาที่แข่งขันหน้าพระที่นั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น จะมีกีฬาประเภทใดบ้างนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่คงจะเป็นการแข่งขันกันในระหว่างคณะ เพราะโรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งเคยเป็นคู่แข่งขันของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ถูกยุบรวมเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว ในชั้นนี้คงพบหลักฐานแต่เพียงว่า ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลระหว่างคณะนักเรียนเก่ากับนักเรียนปัจจุบัน ซึ่งมีบันทึกด้วยว่า เป็นการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลหน้าพระที่นั่งเป็นครั้งแรก

 

          ภายหลังการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลครั้งประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกว่าเป็นการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลระหว่างคนไทยด้วยกันเองเป็นครั้งแรกแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานพระบรมราโชวาทถึงกีฬารักบี้ฟุตบอลที่ได้ทอดพระเนตรในวันนั้นไว้ว่า "วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นนักเรียนไทยเล่นฟุตบอลล์รักบี้ ฟุตบอลล์อย่างนี้เคยมีคนพูดว่า ไทยเราเล่นไม่ได้ เพราะถ้าเล่นเข้าก็ได้ต่อยกันตาย แต่วันนี้ก็เห็นเล่นได้โดยเรียบร้อย ซึ่งแปลว่าโรงเรียนนี้ สามารถฝึกหัดให้นักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ได้จริงๆ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มมาก"  []

 

          อนึ่ง ทุกคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยนั้น จะได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเป็นเครื่องเตือนใจครูและนักเรียนทุกคราว พระบรมราโชวาทที่พระราชทานนั้นมักจะทรงหยิบยกลักษณะสำคัญของปับลิคสกูลในอังกฤษมาพระราชทาน เช่น

          พ.ศ. ๒๔๗๑ ทรงกล่าวถึงหลักทั่วไปของพับลิคสกูลที่ให้เด็กปกครองกันเองมากที่สุด ครูทำหน้าที่สอนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น รวมทั้งเรื่องของแปลกในพับลิคสกูลที่มุ่งเน้นฝึกหัดนักเรียนให้รู้จักเรื่องของสิทธิและหน้าที่

          พ.ศ. ๒๔๗๒ ว่าด้วยเด็กในโรงเรียนมีหน้าที่ดูแลกันเองเพียงไร

          พ.ศ. ๒๔๗๓ ว่าด้วย Tradition ในพับลิคสกูล

          พ.ศ. ๒๔๗๔ ว่าด้วยเรื่องการกีฬาและการปลูกฝังน้ำใจนักกีฬา

 

          แต่พระบรมราโชวาทที่พระราชทานเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นอกจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเน้นย้ำถึงหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายนแล้ว ยังได้ทรงกล่าวถึงการอบรมนักเรียนในพับลิคสกูลซึ่งชาวอังกฤษมักยกย่องว่า พับลิคสกูลสร้างคนที่มีคุณภาพออกมารองรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้พระบรมราโชวาทที่กล่าวถึงนั้นมีเนื้อความตอนหนึ่งดังนี้

 

 

          "โรงเรียนนี้ข้าพเจ้าได้มาทีไรได้ชี้เหตุผลของระเบียบการและวิธีการของปับลิคสกูลอังกฤษที่ได้ถือเป็นเยี่ยงอย่างมากล่าวเป็นลำดับมา เวลานี้ข้าพเจ้ายิ่งเห็นว่ายิ่งสำคัญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่เราจะต้องพยายามดำเนิรตามแบบอย่างเหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้นอีก เพราะเวลานี้ประเทศสยามเราจะก้าวหน้าต่อไป เราจะใช้วิธีปกครองที่เขาใช้ในประเทศที่เจริญทั้งหลาย ก็วิธีการปกครองอย่างแบบเดโมคราซี พระมหากษัตริย์และรัฐสภาปกครองประเทศร่วมกันนั้นประเทศอังกฤษเขาเป็นเจ้าของแบบเหมือนอย่างแบบปับลิคสกูลเหมือนกัน ประเทศอังกฤษได้มีการปกครองเช่นนั้นมาช้านาน และปกครองได้เป็นอย่างดียิ่ง ใครๆ ก็ยกย่องว่าดีกว่าที่อื่น จนมีชื่อว่ารัฐสภาของประเทศอังกฤษเป็นมารดาของรัฐสภาทั้งหลาย เพราะเป็นผู้ให้แบบอย่างในการปกครอง ที่ประเทศอังกฤษใช้วิธีการปกครองแบบเดโมคราซีได้ดีอย่างยิ่งนั้น เราน่าจะคำนึงให้มากว่าเป็นด้วยเหตุใด แบบวิธีใดๆ ก็ตาม ถึงแม้ว่าวิธีการและหลักการจะดีเพียงไร แต่ถ้าเอาไปใช้ไม่ถูกอาจจะมีผลไม่ดีก็ได้ เช่นจะยกตัวอย่างให้เห็นพอเป็นเลาๆ คือที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเขามีรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาใช้ปกครองประเทศของเขาได้เรียบร้อยทำให้บ้านเมืองเจริญมั่งคั่งสมบูรณ์ ประเทศเม็กซิโกก็เอาแบบธรรมนูญนั้นเองไปใช้บ้าง แต่จะเป็นโดยเหตุใดก็ตาม แบบนั้นไม่สู้จะเป็นผลดีเท่าในประเทศอเมริกา เพราะฉนั้นเราจะถือว่าเมื่อเราได้แบบมาแล้ว เราจะดีเหมือนประเทศที่เป็นเจ้าของแบบในทันทีทันใดนั้นหาได้ไม่ การปกครองที่จะดีขึ้นยิ่งเป็นแบบรัฐสภาหรือแบบปาลิเมนต์ด้วยแล้ว ถ้าจะดีได้ก็ต้องอาศัยความดีของประชาชน ต้องอาศัยน้ำใจและนิสสัยของประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าประเทศใดมีประชาชนมีน้ำใจดี รู้จักวิธีการที่จะปกครองตนเองโดยแบบมีรัฐสภาจริงๆ แล้ว การปกครองนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศเป็นอันมาก วิธีที่จะให้พลเมืองมีน้ำใจนั้นอยู่ที่การศึกษาฝึกฝน ก็การฝึกฝนน้ำใจคนของอังกฤษนั้นเขาถือวิธีของปับลิคสกูลเป็นตัวแบบที่ใช้ทั่วไป ในที่นี้เราจึงควรพิจารณาว่าวิธีฝึกฝนแบบปับลิคสกูลนั้น ให้ผลดีแก่การปกครองแบบเดโมคราซีอย่างใด จะขอหยิบยกในข้อต่างๆ ที่เคยกล่าวแล้วมากล่าวพอเป็นเลาๆ ในวันนี้"  []

 

(ยังมีต่อ)

 

 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็นเ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ในเวลานั้นทรงเป็นอภิรัฐมนตรี และเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ในสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย

[ ]  "ข่าวในพระราชสำนัก", ราชกิจจานุเบกษา ๔๕ (๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๑), หน้า ๒๓๖๘ - ๖๙.

[ ]  "พระบรมราโชวาท พระราชทานในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ฑ.ศ. ๒๔๗๕", ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๒๕๗ - ๒๖๑.

[ ]  เรื่องเดียวกัน.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |