โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๖. งานกรีฑา (๔)

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว มีกำหนดจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกวชิรมงกุฎอีกครั้งในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕ และกล่าวกันว่า ในวันเดียวกันนั้นจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปะวิทยา แก่หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) สถาปนิกผู้ร่วมออกแบบ แต่เมื่อถึงกำหนดวันให้มีเหตุที่ไม่อาจเสด็จพระราชดำเนินได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร [] เสด็จทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ หลวงวิศาลศิลปกรรมจึงยังมิได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา มาจนถึงคราวฉลองพระนคร ๒๐๐ ปีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงเพิ่งจะได้รับพระราชทานเหรียญดังกล่าว

 

 

พระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนธาตุผลิน)
ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
(๑ สิงหาคม ๒๔๗๘ - ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๕)

 

 

          จากนั้นมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้เสด็จพระราชดำเนินยังวชิราวุธวิทยาลัยอีกเลย งานประจำปีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤศจิกายนก็เป็นอันต้องงดไป เพราะในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เกิดเหตุ “กบฏบวรเดช” ขึ้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีต้องเสด็จพระราชดำเนินหลีกหนีความวุ่นวายทางการเมืองไปประทับที่จังหวัดสงขลา จนเหตุการณ์สงบลงจึงเสด็จพระราชดำเนิกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ต่อมาวันที่ ๒๐ มกราคม ปีเดียวกันก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระองค์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และมิได้เสด็จนิวัติพระนครอีกเลยจนทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฏฐมรามาธิบดินทร ทรงรับสิริราชสมบัติและทรงรับวชิราวุธวิทยาลัยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่ในเวลานั้นยังประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์ แลนด์ การจัดงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมิได้จัดขึ้นอีกเลย ตราบจนรัฐบาลในเวลานั้นได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้พระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนธาตุผลิน) ซึ่งเคยเป็นผู้กำกับคณะพณิช (คณะพญาไท) มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย แทนพระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว พระพณิชยสารวิเทศจึงได้ริเริ่มจัดงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นอีกครั้งในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘

 

สูจิบัตรงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘

 

 

          งานประจำในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่จัดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๘ นั้น ออกจะแปลกกว่างานประจำปีที่เคยจัดกันมา เพราะงานประจำปีคราวนี้จัดขึ้นในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่ต่างประเทศ จึงมิได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นองค์ประธานในงานเช่นทุกคราวที่เคยจัดมาแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือพระบรมวงศ์พระองค์ใดเป็นผู้แทนพระองค์ในงานคราวนี้

 

          นอกจากนั้นในงานคราวนี้ยังไม่มีการแข่งขันกีฬาหน้าพระที่นั่งเช่นทุกคราว แต่มีการแสดงสุนทรพจน์และการแสดงละครดังเช่นประเพณีปฏิบัติจองโรงเรียนในประเทศตะวันตก ซึ่งมีรายละเอียดในกำหนดการจัดงานคราวนั้น ดังนี้

          ๑. ผู้บังคับการรายงานกิจการของโรงเรียน

          ๒. รายงานของกรรมการตัดสินให้รางวัลแก่นักเรียนผู้แสดงความสามารถเรียนรู้พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖

          ๓. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ อุปนายกกรรมการวชิราวุธวิทยาลัยให้โอวาท แจกโล่และถ้วยซึ่งคณะต่างๆ ในวชิราวุธวิทยาลัยแข่งขันชนะ และประกาศนียบัตรและเครื่องหมายความสามารถแก่นักเรียนที่ได้รับในระหว่างปี

 

 

นายนาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)

 

 

          ๔. สุนทรพจน์โดย นายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย [] อธิบดีกรมพลศึกษา กรรมการวชิราวุธวิทยาลัย

          ๕. ร้องเพลงไทยทำนองช้างประสานงา โดยนักเรียนชั้นเตรียม (เนื้อเพลงของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)

          ๖. สุนทรพจน์โดยผู้ปกครองนักเรียน
          ๗. ร้องเพลงสากล โดยนักเรียนชั้นเตรียม
          ๘. ละครพูดเรื่อง เลือดกตัญญู ของ พระพณิชยสารวิเทศ แสดงโดย นักเรียนชั้น ๘

 

 

นามผู้แสดงละคร

   

นายสว่าง  เรืองคุณ เศรษฐีหนุ่ม อายุ ๒๕ ปี

- นายไพโรจน์  โตกะหุต

พระไพบูลย์ชินกิจ ลุงนายสว่าง อายุ ๗๕ ปี

- นายสมาน  เนียวกุล

นายแจ่ม  ภักดีคุณ ผู้จัดการบ้านเรือนของนายสว่าง

- นายประจักษ์  โรจนประดิษฐ์

นายเพ็ง  มุ่งการดี คนใช้เก่าแก่ของพระไพบูลย์

- นายจรัญ  อมรเวช

นายเวทย์  รักธน ทนายความประจำของพระไพบูลย์

- นายอุทิศ  อุดมศิลป์

นาย บี. อา. ซาเว คนขายเลหลัง

- นายนึกสม  เศขรฤทธิ

เสมียนของนายซาเว

- นายปัทม์  ปัทมัษฐาน

นายกุ่ย จีนซื้อของเลหลัง

- ม.ร.ว.ไกรเทพวงศวิชิต  เทวกุล

นายเฮง จีนซื้อของเลหลัง

- นายบุญเลื่อน  ศรีสวัสดิ์เล็ก

นายฮ้อ จีนซื้อของเลหลัง

- นายสำรวล  พุกกะณานนท์

เพื่อนนายสว่าง

- นายสมรัตน์  ศรีศิลปะนันทน์

 

- นายเสขศรี  ธรรมสโรช

 

- นายสิทธิไชย  อัศวนนท์

 

- นายจำนง  เนียวกุล

 

- นายเหลี่ยงสุย  นิมมานเหมินท์

 

- นายสนอง  อูนากูล

 

- นายผงาด  มนธาตุผลิน

 

- นายบุญสืบ  ศุภศิริ

   

สรรเสริญพระบารมี

 

 

          ต่อมาในการจัดงานประจำปีของโรงเรียนในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ยังได้พบหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่า โรงเรียนได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาระหว่างคณะ เช่น วิ่งกระสอบ วิ่งสามขา ในงานประจำปี และในเวลานั้นได้มีการใช้สีประจำคณะแล้ว คือ

 

คณะพณิชยสารวิเทศ (คณะผู้บังคับการ)

- สีเหลือง

คณะประคองวิชาสมาน (คณะดุสิต)

- สีน้ำเงิน

คณะประทัตสุนทรสาร (คณะจิตรลดา)

- สีเขียว

คณะปวโรฬารวิทยา (คณะพญาไท)

- สีชมพู

 

          งานประจำปีในสมัยพระพณิชยสารวิเทศได้ดำเนินต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ แล้วต้องงดไปเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ และกรุงเทพฯ ประสบภัยทางอากาศ จนโรงเรียนต้องย้ายไปเปิดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวที่พระราชวังบางปะอิน ในขณะเดียวกันพระพณิชยสารวิเทศได้พ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย โดยมีพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) มารับตำแหน่งแทน

 

(ยังมีต่อ) 

 

 


 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

[ นามเดิม บุง ศุภชลาศัย ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น นายนาวาเอก หลวงศุภชลาศัย

 

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |