โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

 

๑๖๓. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๕)

 

พระมเหสีเทวี

 

        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “...เมื่อทรงพระเยาว์นั้น นิ่งๆ ขรึมๆ ไม่ซนเหมือนเด็กในวันเดียวกัน ...ทรงมีความสุขุมเป็นสมบัติประจำพระองค์มาแต่ปฐมวัยทีเดียว...”  [] ครั้นต้องเสด็จออกไปประทับทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๑๒ พรรษาเศษ ทั้งยังต้องประทับอยู่ท่ามกลางชาวต่างประเทศเป็นเวลายาวนานถึง ๙ ปีเศษ โดยมีคนไทยที่ตามเสด็จไปเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนเพียงคนเดียว คือ หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์ กับราชองครักษ์ประจำพระองค์อีก ๒ คน คือ นายพันโท พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) กับนายร้อยเอก หลวงสรสิทธิยานุการ (อุ่ม อินทรโยธิน) ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายให้พระราชโอรสที่ประทับทรงศึกษาอยู่ในยุโรปทุกพระองค์ ทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงนักเรียนสามัญในประเทศที่ประทับทรงศึกษา ฉะนั้นตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น จึงได้ทรงสมาคมกับคนอังกฤษดีๆ และได้ทรงใช้ชีวิตในวัยหนุ่มเยี่ยงสามัญชนชาวอังกฤษมาโดยตลอด ดังที่ได้ทรงเล่าพระราชทานแก่คุณมหาดเล็กคนหนึ่งไว้ว่า

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงเครื่องเต็มยศนายร้อยโท นายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

ทรงสอดสายสะพายมหาจักรีบรมราชวงศ์

 

 

        “...เมื่อทรงเป็นนายทหารใหม่ๆ เวลามีสวนสนามที่บริเวณไฮด์ปาร์ค ทรงแต่งพระองค์เต็มยศเครื่องสนาม ทรงสายสพายจักรีสีเหลืองสด ทรงเป็นหนุ่มทั้งแท่ง ทรงคุยอวดว่าผู้หญิงฝรั่งติดกรอ คราวหนึ่งทรงนำแถวทหารราบเบาเดอรัม พอถึงสี่แยกแห่งหนึ่งมีสุภาพสตรีอังกฤษถลันวิ่งออกมาส่งช่อดอกไม้ให้ แล้วก็จูบพระองค์กลางสนามนั่นเอง พระองค์ทรงอายเกือบแย่ ตั้งแต่นั้นมาต้องทรงรับแขกผู้หญิงอังกฤษมิได้ว่างเว้น ต้องประทานเลี้ยงน้ำชาบ้าง ดินเน่อร์บ้าง ทรงเล่าขำๆ ว่า บางวันเงินหมดต้องให้ฮื่อ  [] ไปจัดการ...”  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าเสวาภาผ่องศรี พระบรมราชินี

และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ที่อัฒจันทร์ทิศตะวันออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อแรกเสด็จนิวัติพระนคร

วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕

 

 

        ครั้นเสด็จนิวัติพระนครในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ กลับต้องทรงดำรงพระองค์ “...เปนเจ้านายเสียจนระอา...”  []  ดังที่ได้ทรงบรรยายไว้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังนายเมย์นาร์ด วิโลบี คอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard Willoughby Colchester - Wemyss) พระสหายชาวอังกฤษที่เคยรับราชการเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยประจำสถานอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๘ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

 

 

        “...พอหมดเวลาราชการแล้วมีอะไรให้ทำน้อยเหลือเกิน ไม่มีโรงละครให้ไปดูอย่างที่อังกฤษ สโมสรที่นี่ก็ไม่เหมือนที่โน่น จริงอยู่ที่ฉันเพิ่งจะจัดตั้งสโมสรที่ฉันเองเป็นประธานและมีสมาชิกจำนวนมากพอสมควรขึ้นมา แต่สโมสรแห่งนี้ก็ดูไม่ค่อยต้อนรับฉันเลยนอกจากในฐานะประธานเฉพาะเวลามีอะไรที่จะต้องทำให้สำเร็จ และไม่มีใครอยากรับผิดชอบทำงานนั้น ที่วังฉันกำลังรับอุปการะเด็กชายกลุ่มใหญ่พอสมควร ตามประเพณีที่นิยมกัน พ่อ แม่ของเด็กพวกนี้ไว้วางใจให้ฉันเป็นผู้ให้การศึกษาและอบรมสั่งสอนกิริยามารยาทชาววังให้แก่ลูกๆ ของตน ค่อนข้างจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กพวกนี้ ซึ่งมีอายุระหว่างสิบเอ็ดถึงสิบหกปี และฉันก็ไม่ได้รับความสนุกสนานจากเด็กพวกนี้เท่าที่คาดหวังไว้ เพราะพวกเขาคิดว่าฉันแก่เกินกว่าที่จะเป็นเพื่อนเขาได้ และเขาจะวิ่งหนีไปตั้งกลุ่มกันเองเมื่อใดก็ตามก็ตามที่สามารถทำได้ ทิ้งให้ฉันอยู่โดดเดี่ยวราวกับฤาษีบนภูเขา แต่ฉันก็ยังรับอุปการะเด็กพวกนี้ต่อไป เพราะฉันคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ของเขา รวมทั้งสิ่งที่พวกเขาจะรับใช้ฉันได้ในภายภาคหน้า ความเปลี่ยวของฉันครบถ้วนบริบูรณ์ที่สุดตรงที่ฉันอยู่ในฐานะสูงเกินไปที่จะไปเที่ยวเยี่ยมคุยกับใครสักคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันได้อย่างสนุกสนาน บางคืนเมื่อฉันถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง ฉันอยากให้ตัวเองกลับไปอยู่ที่อังกฤษ อย่างน้อยฉันก็อาจไปไหนมาไหนและทำตัวเยี่ยงสามัญชนทั่วไปได้...”   []

 

 

        การที่โปรดดำรงพระองค์ตามวิถีชีวิตแบบชาวอังกฤษ ซึ่ง “...ดูเผินๆ ชาว ต่างชาติมักติอังกฤษว่าจองหอง, แต่แท้จริงเฃาเปนชาติที่เรียกว่าตระหนี่ตัว, คบคนยาก, แต่ถ้าได้รู้จักดีๆ แล้วเปนมิตร์ดี...”  [] นี้เอง เมื่อเสร็จจาก พระราชกิจประจำวันในตำแหน่งจเรทัพบก ซึ่ง “...หน้าที่ดังกล่าวค่อนข้างคลุมเครือไม่กำหนดชัดเจน... นอกจากงานนี้แล้วยังมีงานจิปาถะอีกมากมายที่ฉันต้องทำให้ทั้งกองทัพบกและให้สายงานอื่นๆ เนื่องจากฉันเป็นสินค้าที่เป็นที่พึงปรารถนามากที่สุด นั่นก็คือคนที่ทำงานโดยไม่ต้องการค่าตอบแทน!...”  []  แล้ว ก็โปรดที่จะประทับอยู่ท่ามกลางข้าราชบริพารในพระองค์ “...ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มคนหนุ่ม อันได้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นที่ ๓ และบุตรของพวกขุนนาง ซึ่งแม้จะอยู่ในฐานะชนชั้นปกครองแต่ก็ยังไม่มีส่วนในการบริหารประเทศในขณะนั้น...”  []  แต่ในยามที่ได้เสด็จประพาสหัวเมืองเป็นการส่วนพระองค์กลับทรงพระเกษมสำราญที่ได้ประทับอยู่ท่ามกลางพสกนิกรของพระองค์ ดังที่ทรงพระราชบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ว่า

 

 

        “วันจันทร์ที่ ๓  [] - บ่ายวันนี้ได้ลงเรือไปเที่ยวเล่น พบเฃากำลังแห่กะฐินที่เกาะใหญ่ จึ่งเฃ้าไปช่วยลากเรือกะฐินกับเฃาด้วย เจ้าของกะฐินชื่อนายหรั่ง เฃาจะไปทอดที่วัดยม พวกเด็กๆ ผู้หญิงลูกหลานตาหรั่งที่พายเรือจูงเรือกะฐินอยู่นั้น ชวนให้ไปดูลิเกซึ่งเฃาจะเล่นฉลองกะฐินที่บ้านนายหรั่ง เราก็ไปกับเฃา เฃามีสวดมต์ฉลองกะฐินก่อน พอสวดมนต์แล้ว เขาก็ยกขนมจีนน้ำยามาเลี้ยง ขนมจีนของเฃาแป้งสด น้ำยาก็ทำดี กินได้อย่างอร่อยมาก กินเลี้ยงแล้วดูลิเก และเราได้แจกเสมา เด็กๆ เบียดกันจนร้านหัก สืบถามได้ความว่าตาหรั่งนี้อายุ ๘๖ ได้ฃายนาได้เงิน ๒ ชั่ง จึ่งทำบุญทอดกะฐิน เราก็ช่วยในการกะฐินด้วย คือออกเงินถวายพระองค์ละ ๔ บาท (มีพระรวม ๑๓ รูป) กับได้ให้เงินแก่ตาหรั่งเองอีก ๒ ชั่ง”  [๑๐]

 

 

        แม้ในคราวที่ทรงนำเสือป่ากองพลหลวงเดินทางไกลไปบวงสวรวงสังเวยพระเจดีย์ยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยใกล้ชิด ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่า

 

 

          “ราษฎรมาเฝ้าได้ให้น้ำมนต์ เช้าวันนี้ได้เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เข้ามาเฝ้าที่น่าพลับพลา เพราะได้ทราบว่าอุส่าห์พากันเดินมาแต่ทางไกลๆ กล่าวกันว่าไม่เคยได้พบปะเจ้านาย เราได้สรงพระไชยนวโลหทำน้ำมนต์ให้ประและแจกให้แก่ราษฎรไป ดูเปนที่ชื่นชมยินดีกันมาก การให้นำมนต์นี้ได้เริ่มมาแต่เมื่อวันที่ ๒๒ โดยเหตุที่ได้เห็นเฃาตั้งขันติดเทียนไว้บนโต๊ะเครื่องบูชาริมทาง และมีผู้ร้องขอน้ำมนต์ด้วย จึ่งตกลงต้องสรงพระไชยแล้วให้เจ้าเมืองรับน้ำไปแจก ก็เลยเปนธรรมเนียมต่อมา พวกราษฎรที่พบ ทั้งตามริมทางที่ผ่านมา ทั้งที่มาชุมนุมกันคอยดูอยู่ตามที่พัก ดูมีความจงรักภักดีนิยมบุญบารมีกันมาก นั่งดูกันแน่นๆ ไม่รู้จักเบื่อเลย และถ้าขอแรงให้ทำงานการอะไรก็ทำโดยความเต็มใจพร้อมเพรียงกัน ดูก็เปนที่น่าปลื้มใจมาก”  [๑๑]

 

 

“วชิราวุโธภิกขุ”

พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

 

 

        อนึ่ง เมื่อครั้งที่ได้เสด็จออกทรงผนวชตามโบราณราชประเพณีในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย ต่างก็ทรงคาดหวังและหวังกันว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งทรงเจริญพระชนมายุล่วงสู่เบญจเพสแล้ว คงจะได้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้านายลูกเธอพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เพื่อจะทรงมีพระราชกุมารสืบราชตระกูล อันจะเป็นเครื่องผดุงพระบรมราชวงศ์ให้มั่นคงสืบไป แต่การหาได้เป็นไปดังที่ทรงคาดหวังกันไว้ ด้วยมีพระราชนิยมว่า

 

 

        “...ตามโบราณขัตติยราชประเพณี พระมหเสีขององค์พระมหากษัตริย์ไทย จะต้องทรงเลือกเฟ้นจากพระน้องนาง ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระบรมชนกนาถพระองค์เดียวกัน จึงจะถือว่าพระราชโอรสพระราชธิดาที่ทรงกำเนิดมา จะได้เป็นจ้าวนายผู้สูงศักดิ์ คือเกิดดีทั้งสองฝ่าย ซึ่งตามวัฒนธรรมซึ่งเรารับมาจากอินเดีย ถือว่าเป็นอุภโตสุชาติ คือเกิดดีทั้งสองฝ่าย ดังนั้นพระอัครมเหสีของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็คือพระน้องนางเธอของพระองค์ท่าน คือเป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าแผ่นดินต่อมานั้นเอง ซึ่งทั้งนี้เป็นเหตุให้ทรงตะขิดตะขวงพระราชหฤทัย เพราะได้ทรงเสวนากับอารยะธรรมของยุโรป ซึ่งเขาถือกันยิ่งนักว่า ญาติที่ใกล้ชิดไม่สมควรจะแต่งงานกัน ทำให้การสืบสายโลหิตไม่เป็นไปตามทางที่ควร จึงทรงรังเกียจที่จะทำเช่นนั้น เพราะเกรงฝรั่งจะนินทานี้อย่างหนึ่ง และนอกจากนี้ทรงพระราชดำริว่า ถ้าหากทรงมีพระอัครมเหสี หรือเรียกอย่างสามัญว่ามีเมียเสียแล้ว จะทรงบำเพ็ญหน้าที่การงานให้แก่ประเทศชาติไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะอาจจะต้องเป็นกังวลเรื่องลูกเมียเพิ่มขึ้นอีก...”  [๑๒]

 

 

 


[ ]  พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา). “ความอาลัยรัก”, เรื่องเบ็ดเตล็ดของพระยาเทพหัสดินฯ, หน้า ๑๘.

[ ]  เป็นนามแฝงที่ทรงใช้เรียก นายพันโท พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) ราชองครักษ์ประจำพระองค์ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร ตำแหน่งสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์

[ ]  จมื่นมานิตนเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์). อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๓๑๒.

[ ]  นริศรา จักรพงศ์, ม.ร.ว.. “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๖”, ๑๐๐ปี จุลจักรพงษ์ ๑๙๐๘ - ๒๐๐๘, หน้า ๖๐.

[ ]  พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาลิทัต พรหมทัตตเวที - แปล). พระราชากับคหบดีชนบท (พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ถึงนายเมย์นาร์ด วิลโลบี คอลเชสเตอร์ - วีมซ คหบดี), หน้า ๑๔ - ๑๕.

[ ]  ๑๐๐ปี จุลจักรพงษ์ ๑๙๐๘ - ๒๐๐๘, หน้า ๖๐.

[ ]  พระราชากับคหบดีชนบท (พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ถึงนายเมย์นาร์ด วิลโลบี คอลเชสเตอร์ - วีมซ คหบดี), หน้า ๑๔

[ ]  มัลคอล์ม สมิธ (นางสาวศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์ - แปล). ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ, หน้า ๑๕๒ - ๑๕๓.

[ ]  วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖

[ ๑๐ ]  จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๐๘.

[ ๑๑ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๒๔.

[ ๑๒ ]  อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๓๑๓ - ๓๑๔.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |