โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๒๐. งานกรีฑา (๘)

 

 

          ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงงานกรีฑาที่ได้รื้อฟื้นขึ้นใหม่อีกครั้งในรัชกาลปัจจุบัน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลกับทอดพระเนตรการกรีฑาของนักเรียนเป็นปฐมอีกครั้ง เมื่อเสาร์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ตึกิทยาศาสตร์ (บน)
และทอดพระเนตรผลงานศิลปหัตถกรรมของนักเรียนที่ตึกวชิรมงกุฎ (ล่าง)
เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๖

 

 

          ถัดมาใน พ.ศ. ๒๔๙๖ โรงเรียนได้จัดให้มีงานกรีฑาอีกครั้ง และได้กราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลกับทอดพระเนตรการกรีฑาของนักเรียนอีกครั้ง แต่ในปีนี้โรงเรียนได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมทั้งงานปั้น ภาพวาด ภาพถ่าย และงานประดิษฐ์จากไม้ไผ่ ซึ่งนักเรียนได้สร้างสรรค์ขึ้นไว้ในชั่วโมงเรียนศิลปะและในช่วงเข้าเพรบกลางวันตลอดทั้งปีการศึกษาที่ผ่านมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรผลงานศิลปหัตถกรรมบนตึกวชิรมงกุฎ (ตึกขาว) แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังตึกวิทยาศาสตร์ที่ด้านข้างหอประชุม ทอดพระเนตรการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ซึ่งในวันนั้นนักเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ (ปัจจุบันคือ มัธยมศึกษาปีที่ ๕ – ๖) ได้แสดงการกลั่นน้ำนมให้เป็นนมผง (Dehydration of Milk) การทำสบู่และแชมพูจากน้ำมันพืช การกลั่นสีย้อมด้วยไอน้ำ ถวายทอดพระเนตร

 

          จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพลับพลายกข้างหอประชุม นักเรียนเดินแถวถวายตัวแล้ว ทอดพระเนตรการแข่งขันกรีฑาของนักเรียนคณะเด็กโตและคณะเด็กเล็ก แล้วพระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขันกีฬาแก่หัวหน้าคณะที่ชนะการแข่งขันกีฬาแต่ละชนิดในรอบปีที่ผ่านมา เสร็จแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับโดยมีนักเรียนรายทางและเข้าเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จจนพ้นเขตโรงเรียนตามประเพณี

 

          การแข่งขันกรีฑาหน้าพระที่นั่งนั้น นอกจากเป็นการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่เพื่อเก็บคะแนนรวมกับการแข่งขันที่ได้จัดแข่งมาก่อนหน้านั้น ๓ วันแล้ว ยังมีกรีฑาประเภทขบขันถวายทอดพระเนตรด้วย กรีฑาประเภทขบขันเท่าที่มีบันทึกในวชิราวุธานุสาส์น คือ

 

 

          “ขี่จักรยานตีคลี" ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ใช้ขี่จักรยานแทนที่จะขี่ม้า แต่คงกลัวจะเสียเหลี่ยม เพราะถึงแม้ว่าไม่ได้ขี่ม้าก็ยังใช้เครื่องแต่งกายซึ่งเป็นชุดขี่ม้าแท้ๆ ทีเดียว การเล่นแบ่งออกเป็น ๒ ข้างๆ ละ ๔ คน ข้างหนึ่งมีคณะผู้บังคับการกับคณะจิตรลดา อีกข้างหนึ่งเป็นคณะพญาไทร่วมกับคณะดุสิต มีกรรมการ ๒ คน ซึ่งต้องขี่จักรยานตัดสิน คือ คุณกิตติ  [] และคุณอิฐ  [] ลูกบอลล์ที่ใช้ตีคือลูกเบสบอลล์นั่นเอง เริ่มเล่นได้ไม่นานรถของฝ่ายดุสิตคัรหนึ่งเกิดยางแตกขึ้นไม่ทราบว่าผู้ขี่ไปรับประทานอะไรมาจึงได้หนักถึงเพียงนั้น แต่ก็ยังคงสู้ต่อไปอย่างทรหด ฝ่ายคณะผู้บังคับการและ๕ณะจิตรลดาว่องไวและชำนาญในการใช้จักรยานมากจึงใช้ไม้เลี้ยงลูกไปประตูได้ ๑ ประตู (ใช้สนามรักบี้เป็นที่แข่งขัน) แต่ก็ต้องผ่านการปะทะกับฝ่ายตรงกันข้ามอย่างโชกโชน การแสดงชุดนี้ครึกครื้นดีมาก กินเวลาทั้งสิ้น ๑๐ นาที

 

          ชักคะเย่อมือเรียงแถว ใช้ห่วงเหล็กเป็นตัวกลาง คนแรกจับห่วงแล้วคนต่อไปรัดเอวเรียงกันไปจนครบข้างละ ๘ คน ข้างหนึ่งคณะผู้บังคับการอยู่กับคณะจิตรลดา อีกข้างหนึ่งคณะดุสิตอยู่กับคณะพญาไท การดึงกันนี้ต้องใช้กำลังแขนอย่างหนักโดยเฉพาะคนที่อยู่หน้าๆ ถ้าจับห่วงหรือรัดเอวคนข้างหน้าไม่แน่นก็จะพลอยทำให้เพื่อนๆ ต้องนอนคลุกฝุ่นไปตามๆ กัน ปรากฏผลว่า คณะผู้บังคับการและคณะจิตรลดาเป็นฝ่ายชนะ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งมือหลุดจากห่วงไป

 

          แข่งม้วนลิง ฟังชื่อแล้วคงคิดว่าจะได้เห็นสัตว์ชนิดหนึ่งมาเพ่นพ่านสนุกแน่ แต่การกลับกลายเป็นนักเรียน ๒ คนต่อตัวกันเป็นวงกลม แล้วม้วนตัวกลิ้งไปพื้นเป็นระยะประมาณ ๕๐ เมตร คณะจิตรลดาเห็นจะใช้น้ำมันตราม้าบินเพราะเห็นนำจนถึงหลักชัย ส่วนคณะผู้บังคับการคงจะลืมหยอดน้ำมันเครื่องมา เพราะหมุนไปได้หน่อยเดียวก็เห็นจอดเสียแล้ว
แข่งรถศึก รถคือนักเรียน ๔ คน คนขับยืนอยู่บนไหล่ ๒ คนหลัง แล้วใช้มือทั้งสองจับมือของสองคนหน้าซึ่งชูขึ้น รถของคณะดุสิตยางแตกคว่ำลงอย่างไม่เป็นท่าทั้งๆ ที่แข่งกันตามธรรมดา ไม่ทันได้ออกรบออกศึกอะไรกันเลย ส่วนคันของคณะพญาไทและคณะผู้บังคับการวิ่งคู่คี่กันน่าดูมาก แต่เนื่องจากคนขับคณะพญาไทมีฝีมือดีกว่า จึงชนะไปอย่างหวุดหวิด

 

 

การแสดงสู้วัวกระทิง เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

 

 

 

          สู้วัวกระทิง เริ่มต้นด้วยวงดนตรีบรรเลงนำแถวนักสู้วัวผู้กล้าหาญซึ่งมีทั้งเดินอยู่และนั่งอยู่บนหลังม้า แต่ละคนแต่งกายอย่างกะทัดรัดและสวยงามด้วยสีฉูฉาด เมื่อนักสู้วัวถวายคำนับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว กระทิงหนุ่มสองตัวก็ถูกปล่อยโลกแล่นออกสู่สนามทันที ชะรอยว่ามันจะได้รับการศึกษามาดีจากในป่า จึงแทนที่มันจะพุ่งเข้าหาคนที่อยู่ในสนามก่อน มันกลับค่อยๆ วิ่งมาหน้าที่ประทับ แล้วก้มหัวลงแสดงอาการคำนับอย่างนุ่มนวล ต่อจากนั้นมันก็แสดงกิริยาดุร้ายออกมาทันที ทั้งสองตัวโผนเข้าใส่กลุ่มนักสู้วัวด้วยความรวดเร็วปานลูกธนูออกจากแหล่ง พวกพระเอกเหล่านั้นก็พริ้วตัวหลบอย่างว่องไว แล้วก็ใช้ผ้าแดงโบกสะบัดหลอกล่อวัว พอได้ทีก็ใช้หอกแทงวัว ครั้นบ่อยเข้าวัวคงจะทนไม่ไหว เลยกระซิบบอกนักแทงวัวให้แทงเบาๆ หน่อย แต่เจ้าหนุ่มคนหนึ่งกำลังมันมือพุ่งหอกไปที่วัวตัวหนึ่งดังบึ้กใหญ่ ปรากฏว่าวัวตัวนั้นร้องออกมาด้วยความเจ็บปวด ด้วยเสียงแปลกกว่าวัวทั้งหลาย คือดัง “โอ๊ย!” ตอสุดท้ายมีหอกติดอยู่ที่วัวเต็มไปหมด วัวก็คงจะเหนื่อยเต็มทีแล้ว เห็นหอบ แฮ่กๆ เซไปเซมา ในที่สุดก็สะดุดขาตัวเองล้มลง ชักดิ้นชักงอนิดหน่อยแล้วก็หยุด แสดงว่าตายแล้ว เจ้าหน้าที่ก็มาแบกศพวัวไปพร้อมกับกุ่มนักสู้วัวเดินแถวตามวงดนตรีไปอย่างสง่าผ่าเผย

 

          วิ่งวิบาก มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ๘ คน โดยทั้งสี่คณะส่งนักกีฬาเข้ามาคณะละ ๒ คน เริ่มแรกโดยปิดตาผู้แข่งขันทั้งหมด แล้วจับตัวหมุน แจกไม้ให้คนละอันแล้วให้เนไปตีหม้อดินซึ่งวางอยู่ใกล้ๆ ให้แตก บางคนฟาดดินอยู่เป็นนานไม่ยักถูกสักที คนที่ตีแตกแล้วก็เปิดตารีบวิ่งไปลอดตาข่ายซึ่งขึงติดกับพื้นดินเลย ดิ้นขลุกขลักกันอยู่เป็นนานจึงออกไปอีกข้างหนึ่งได้ ต่อจากนี้ก็วิ่งไปที่ๆ หนึ่งมีลูกลอลล์วางอยู่ ต้องปาลูกบอลล์ให้เข้าช่องซึ่งอยู่ม่ไกลนัก แล้วจึงผ่านไปสู่อีกด้านหนึ่ง วิ่งกระโดดเชือกถอยหลังไปเป็นระยะ ๕๐ เมตร ต่อไปต้องวิ่งเก็บมะนาวมาใส่จานทีละผลจนครบห้าผล แล้วจึงวิ่งไปที่บาร์คู่ใช้ข้อกันนิดหน่อยแล้วหกต่ำต่อ จากนี้ก็รีบมุ่งไปด่านสุดท้ายที่หน้าที่ประทับคือ คุกเข่าใช้มือเลี้ยงไม้ซึ่งเป็นป้ายประจำคณะ คณะพญาไทถึงหลักชัยก่อน ตามติดด้วยคณะผู้บังคับการ”

 

          จากกรีฑาประเภทขบขัน ได้พัฒนามาเป็นการแสดงหน้าพระที่นั่ง เริ่มจากการประกวดเครื่องแต่งกาย ซึ่งเนรมิตนักเรียนให้เป็น “ชายจริงหญิงเทียม” จนถึงกับมีการบันทึกไว้ในวชิรา วุธานุสาส์นว่า

 

          “ถึงจะเทียมก็เทียมแต่ภายใน ส่วนภายนอกเล่าหญิงใดๆ ในหล้าเราขอท้าสู้ในด้านความงามที่อาจบดบังความงามของหญิงแสนจะสดสวยให้ละลายหายสิ้นไปได้ ฉะนั้นทั้งนี้สำเร็จมาด้วยความพากเพียรในเชิงการแต่งหน้าและเครื่องแต่งกายของ อาจารย์ ม.๗.ไกรสิงห์ วุฒิชัย ร่วมมือกับอาจารย์วัฒนาศิริ สวัสดิรณภักดิ์ เป็นอาทิ การประกวดในวันนี้ เป็นการแต่งตัวได้งดงามมากถึงกับได้รับคำขอร้องให้เดินแสดงตัวแก่ผู้ที่มาชมหลายเที่ยว จนกระทั่งช่างภาพ นสพ. ขอบันทึกภาพแห่งความงดงามอันจะนำความเจริญตาเจริญใจมาสู่ผู้พบเห็นไว้ในความทรงจำชั่วนิจนิรันดร์ ในการประกวดนี้แบ่งออกเป็นคู่ๆ คือ ชาย ๑ หญิง ๑ มาในแบบของเครื่องแต่งกายที่ต่างยุคต่างแบบกัน มีทั้งแบบในประเทศไทย ชาวยุโรปสมัยก่อนๆ และในที่สุดก็เป็นชาวอินเดียนแดงที่น่าชมรั้งขบวนอยู่สุดท้าย กรแสดงผ่านไปท่ามกลางเสียงซุบซิบวิจารณ์ของผู้มีเกียรติที่มาชมด้วยความตื่นตาและสุขใจอย่างล้นเหลือ อย่างที่ไม่นึกฝันว่าจะงดงามถึงเพียงนี้”

 

 

ยุทธกีฬาของอัศวินและสไควร์ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

 

 

          ในปีเดียวกันนั้นยังมีการแสดง “ยุทธกีฬา” ซึ่งวชิราวุธานุสาส์นฉบับเดียวกันได้บันทึกไว้ว่า

          “ความงดงามของการประกวดเครื่องแต่งกายยังมิทันจะเลือนหายไป ขบวนม้าได้เหยาะย่างเข้ามาสู่สนาม ท่ามกลางเสียงแตรที่แผดกังวานอีกฝั่งสนามเป่าขึ้นเพื่อต้อนรับเหล่าอัศวินชั้นขุนพลฝีมือดี ซึ่งกำลังขับขี่เป็นสง่าอยู่บนหลังอาชาไนยสมชาติชายชาตรีทุกๆ คน สวมเสื้อและใส่เกราะ มีพวกสไควร์ที่แต่งตัวด้วยสีฉูฉาดบาดตาเดินเป็นขบวนตามหลังขบวนม้าที่เหยาะย่างมาเบื้องหน้า ไม่ใช่ภาพยนตร์ แต่เป็นการแสดงตอนหนึ่งของเราในแบบ “ยุทธกีฬา” ของชาวยุโรปสมัยกลาง ที่คล้ายภาพยนตร์เอามากๆ เป็นการต่อสู้ในแบบชิงตำแหน่งอัศวินบนหลังม้า มีการต่อสู้ด้วยหอก สไควร์ก็จะส่งอาวุธคู่มือให้แก่อัศวินของตน เมื่อสิ้นเสียงประกาศ อัศวินรับแล้วจะปิดเกราะที่สวมบนศีรษะ สไควร์จะกระตุ้นม้าให้วิ่งพุ่งตรงข้างหน้าเข้าหากัน ท่ามกลางเสียงแตรฟัลฟาร์และกลองที่รัวขึ้นอย่างเร้าอารมณ์ หอกของแต่ละคนมุ่งตรงดิ่งหมายร่างของฝ่ายตรงข้าม อีกมือถือบังเหียนม้าและกระชับโล่ให้แนบกับตัวเป็นเกราะป้องกัน ม้าวิ่งใกล้กันเข้ามาอัศวินทั้งคู่ก็จะจิตใจให้แน่วแน่ยิ่งขึ้นทุกทีจนกระทั่งหอกในมือของตนกระทบกันและกัน ใครดีใครอยู่ก็จะรู้เมื่อตอนที่ม้าผ่านไปแล้ว ของเราแสดงกันอย่างไม่กลัวเจ็บ แทงกันแต่เพียงแค่หอกที่แทงกันหักลงไปเท่านั้นเอง การแสดงตอนนี้ผ่านไปแล้วด้วยความตื่นเต้นพอดู แต่ที่ตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้น คือการประลองอาวุธขวานอันใหญ่และคม กับลูกตุ้มเหล็กที่บนผิวที่มีแต่เหล็กแหลมประดับอยู่อย่างน่าทึ่งในความน่ากลัว ในครั้งนี้เป็นการต่อสู้แบบประชิดติดพัน และมีการรุกไล่กันอย่างน่าตื่นเต้นรอบๆ สนาม เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วขวนอัศวินก็ขี่ม้านำสไควร์กลับไป”

 

          การแสดงในวันนั้นหนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รายงานในตอนท้ายข่าวว่า “ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี รับสั่งกับพระยาภะรตราชา ผู้บังคับการว่า “น่าดูมากเจ้าคุณ บอกนักเรียนด้วยนะ” 

 

 

 


 

[ ]  กิตติ  จิระนคร  หัวหน้าโรงเรียนและหัวหน้านักเรียนคณะพญาไท

[ ]  อิฐ  สุขยางค์  หัวหน้าคณะดุสิต

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |