โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๒๓. งานวชิราวุธานุสรณ์ (๒)

 

 

          อีกแห่งหนึ่งก็คือร้านที่มีกลไกต่างๆ เช่น มีร้านหนึ่งจัดเป็นถ้ำและมีลำธาร พาเรือลำเล็กขนาดนั่งคนเดียวลอยเข้าไปในถ้ำ แล้วพากลับออกมาเอง เราไปยืนดูเห็นประหลาดหนักหนาว่าทำไมเรือมันไปเองได้ และในน้ำมีอะไรบ้าง อยากรู้เสียจริงๆ ตกลงนักกันว่าเราจะลงกันคนละลำ (มีอยู่ ๓ ลำ) ถ้าเขาเป่านกหวีดให้เรือออก เราจะเอามือสาวฝั่ง ๒ ข้างให้มันไปเร็วเข้า จนเห็นว่าทำไมเรือมันไปเองได้ เมื่อซื้อตั๋วใบละบาทและลงนั่งในเรือแล้ว พอเขาป่านกหวีดปล่อยเรือ เราก็สาวฝั่งเข้าไปในถ้ำ พอโผล่ก็เจอผู้ชายคนหนึ่งกำลังยกโพงสังกะสีพุ้ยน้ำดังโพล่งๆ เราตะโกนพร้อมกันว่า "นั่นแน่!" ตาพุ้ยน้ำหดตัวกลับเข้าไปหลังหิน หายเงียบ เราภาคภูมิใจเสียจริงๆ ว่าจับได้แล้วว่าทำไมเรือมันไปเองได้ กลับออกมาคุยโมง จนเจ้าของร้านต้องมากระซิบว่า อย่าเอะอะไป

 

          ที่ที่สนุกอีกแห่งหนึ่ง ก็คือในเมืองจีนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  []  มีประตูตีตั๋วเข้าไปข้างใน แล้วมีร้านเป็นห้องๆ รอบสี่เหลี่ยมขายอาหารจีน ขายน้ำชา ขายจันอับ และอะไรต่างๆ ที่เป็นจีน มียกพื้นเล็กๆ อยู่ตรงกลางเมืองให้พวกตลกเล่น พวกเราติดละครตลก การเข้าเมืองนั้นเป็นอันไม่ได้ตีตั๋ว เพราะเราคุ้นเคยกับพวกขายตั๋วเสียแล้ว เราวิ่งเข้าวิ่งออกได้สบาย ส่วนเงินที่ใช้จ่ายบ้างนั้น ถ้าไม่มีหรือหมดก็เที่ยวขอพวกผู้ใหญ่ ซึ่งโดยมากเขาให้เพราะไม่ต้องการให้กวน เป็นอันว่า งานเบญจมฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นทุกคนสนุก เช่น

               ๑. ผู้ใหญ่ก็ได้พบกันทั่วถึง ทั้งได้เฝ้าในหลวง ซึ่งตามธรรมดาแม้จะเฝ้าได้ง่าย ก็มักจะเป็นในเวลาการงาน ไม่เป็นไปรเวตเช่นในงานวัดนี้ และยังได้ทำบุญตามเสด็จในการพระราชกุศลด้วยเพราะงานจะมี ๕ - ๗ วันก็ตาม ในวันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะทรงนำพระสงฆ์ออกเที่ยวด้วยพระองค์เอง และเจ้าของร้านต่างๆ ก็มีของถวายใส่ย่าม เช่น ตักบาตร วันไหนพระเที่ยว พวกเราเด็กผู้หญิงก็ถูกเก็บตัวไว้กับร้านเพราะไม่ให้เข้าไปยุ่ง

               ๒. พวกหนุ่มสาว ก็มีโอกาสได้รู้จักกัน พร้อมทั้งผู้ใหญ่ก็รู้เห็น ไม่ต้องลักขโมยรักกัน สิ่งที่น่ารำคาญที่มีอยู่ก็คือ สงครามแย่งกัน ใส่ความกัน อย่างน่าสยดสยอง สงครามเงียบชนิดนี้ ข้าพเจ้าเคยเห็นมาตั้งแต่คลุมถุง ไม่คลุมถุง และแม้ฉีกถุงแล้วก็ตาม ทุกสมัยล้วนแต่แย่งกัน เป็นมูลเหตุอย่างน่าอนาถ อย่างไรก็ตาม หนุ่มๆ สาวๆ ก็ยังได้สนุกสนานดังใจ แม้พักหนึ่งเท่านั้นเอง

               ๓. พวกเด็กก็สนุก ได้รู้ ได้ดู ได้เห็น ได้ซนสมใจ แต่ซนของเราไม่มีสิ่งสกปรกเจือปนเลย

 

          ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าระลึกถึงงานวัดเบญจมฯ และคุยถึงเรื่องงานวัด เราทุกคนที่ทันได้เห็น ยังสนุกอยู่ไม่รู้หาย แต่เมื่อผ่านวัดไปหรือเข้าไปกับพวกนักท่องเที่ยวก็ดี ข้าพเจ้าอดหยุดยืนหัวเราะและนึกขำในใจไม่ได้ ว่าเมืองจีนเมืองถ้ำเขาลำธาร มีเรือทั้งลำๆ ร้านรวงใหญ่โต ร้านข้างในเป็นแถว ร้านเจ้านาย ขุนนาง นายห้าง พ่อค้า ฯลฯ ตายจริงเนื้อที่นี้เอง"

 

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายส่วนการจัดออกร้านของหลวงและของส่วนราชการต่างๆ จากในบริเวณวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามมาจัดที่สนามสโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต ส่วนที่เรียกว่า "สำเพ็ง" ซึ่งเป็นสวนสนุกในรูปแบบงานวัดนั้นยังคงจัดอยู่ในบริเวณวัดเบญจมบพิตรตามเดิม และได้โปรดให้เปลี่ยนชื่องานวัดเบญจมบพิตรนั้นเป็น "งานฤดูหนาว"

 

 

พระราชอุทยานสราญรมย์

สถานที่จัดงานฤดูหนาวในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          งานฤดูหนาวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นที่สนามสโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิตแล้ว บางปีก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปจัดในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แล้วกลับมาจัดที่สนามสโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิตอีกครั้ง ในตอนปลายรัชกาลจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปจัดที่พระราชอุทยานสราญรมย์และบริเวณสนามไชยข้างพระราชอุทยานฯ

 

 

ผังแสดงการออกร้านในงานฤดูหนาว พ.ศ. ๒๔๕๙

ณ สนามสโมสรเสือป่า และสระน้ำในบริเวณเขาดินวนา พระราชวังดุสิต

 

 

          การออกร้านในงานฤดูหนาวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่นัวนั้น นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารายได้บำรุงวัดเบญจมบพิตรเช่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในรัชกาลนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มวัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อบำรุงการกุศลต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารายได้สมทบการจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วง ซึ่งในงานฤดูหนาวปีนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเรือรบหลวงพระร่วงจำลองไว้ที่กลางสนามสโมสรเสือป่า ในขณะเดียวกันก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการจำลองยุทธทางเรือขึ้นในสระน้ำของเขาดินวนา

 

          ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ งานฤดูหนาวได้หยุดไป ๑ ปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สยามเตรียมส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ถัดมาใน พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อเยอรมนีและออสเตรีย – ฮังการี ซึ่งเป็นชาติคู่สงครามของฝ่ายสัมพันธมิตรประกาศขอสงบศึกแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฤดูหนาวขึ้นอีกครั้งที่สวนจิตรลดา ในระหว่างวันที่ ๗ - ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อจัดเก็บรายได้บำรุงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          ในการจัดงานฤดูหนาว พ.ศ. ๒๔๖๑ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวาดภาพการ์ตูนพร้อมพระราชนิพนธ์บทความ “เราขอชักชวน” พระราชทานไปลงพิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิต "ฉบับพิเศษ สำหรับเปนที่ระฦกในงานเฉลิมพระชนมพรรษา"

 

 

 

 

 

“เราขอชักชวน---

 

          ให้ท่านชำเลืองดูรูป "คาร์ตูน" ที่เปนฝีพระหัดถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนขึ้นเพื่อพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง. ที่จริงใครๆ ก็ย่อมจะทราบอยู่แล้ว ว่าพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวทรงเขียนรูปน้อยทีเดียว. และเราได้ยินพระราชกระแสรทรงออกพระองค์อยู่เสมอว่ามิได้ทรงศึกษา
ในทางวาดเขียนเลย เพราะฉนั้นการที่ทรงเขียนรูปนี้ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรานำลงหนังสือพิมพ์ "สิตสมิต" ฉบับพิเศษนี้, จึ่งนับว่าเปนเกียรติยศพิเศษแก่คณะเราส่วน ๑ ซึ่งเราไม่สามารถจะหาถ้อยคำสำแดงความรู้สึกภูมใจให้เพียงพอได้.

 

           นอกจากนี้ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์จำลองรูปนี้ขึ้นสำหรับให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงขายในงานออกร้านที่สวนจิตรลดา, เพื่อจะได้เก็บเงินส่งบำรุงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง. เราหวังใจว่าผู้อ่านของเรา ถึงแม้ได้ซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้แล้ว ก็จะซื้อรูปจำลองที่นักเรียนมหาดเล็กจะขายนั้นอีกด้วย. เพราะรูปจำลองนั้นจะเปนแผ่นเขื่องกว่าที่แนบอยู่ในหนังสือพิมพ์นี้. ทั้งจะได้มีโอกาสเอารูปนั้นเข้ากรอบโดยไม่ต้องตัดออกจากหนังสือพิมพ์นี้ด้วย. ถ้าท่านซื้อรูปนั้นแล้วจะได้รับความพอใจเปน ๒ สถาน. คือ สถาน ๑ ได้มีรูปที่จำลองฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. อีกสถาน ๑ เท่ากับได้บำเพ็ญกุศลโดยเสด็จในการพระราชทานวิทยาทานแก่กุลบุตร์, ผู้จะเปนเหมือนกระดูกสันหลังของชาติเราสืบไป. เพราะฉะนั้นขออย่าให้ลืม เชิญซื้อจงได้นะขอรับ !

 

 

มหาสมิต"  [] 

 

 

 


 

[ ]  ทรงหมายถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งต่อมาได้ทรงรับสิริราชสมบัติและเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ดุสิตสมิต เล่ม ๑ ฉบับพิเศษ (เฉลิมพระชนม์พรรษา ๒๔๖๑), หน้า ๒๖.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |