โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๒๕. งานวชิราวุธานุสรณ์ (๔)

 

 

ล็อตตะรี่

          ในงานปีนี้ไข้ล็อตตะรี่อยู่ข้างจะชุกชุม, ซึ่งมีผู้สังเกตดังต่อไปนี้ :-

          ๑. ตั๋วฉลากรถยนต์มีหลายแห่ง, แต่เหตุใดไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้รถยนต์ไปเลย, เห็นแต่เจ้าของนำรถกลับบ้านทุกคน.

          ๒. ร้านหลวงรามเบญญามีออกฉลากเครื่องเรือน, ซึ่งถ้าใครถูกไปจักได้เปนทุนในการแต่งงาน.

          ๓. สมาชิกของเราผู้ช่างคำนวณได้กล่าวว่า :- ถ้าล็อตตะรี่ที่ข้าพเจ้าซื้อถูกหมดทุกๆ ใบ, ข้าพเจ้าจะลำบากอยู่บ้าง, เพราะจะเปนเจ้าของรถยนต์ประมาณ ๕ หลัง, ตุ้มหูเพ็ชร์ ๒ คู่, สายสร้อย ๑ สาย, แหวน ๑ วง, และเงินประมาณ ๑๐๐๐๐ บาท. แต่พะเอินไม่ได้ถูกจนรายเดียว

 

การพนัน

          คราวนี้อยู่ข้างจะชุกชุมมาก จนออกน่ารำคาญ. บางรายก็เล่นพอชอบมาพากล, แต่บางรายก็เล่นดื้อๆ. เขาว่าเจ้าพนักงานจับผู้ที่ออกเล่นโดยไม่ได้ขออนุญาตเสียก็หลายราย. สะใจ! ค่อยหายเหม็นสาบไปหน่อย!

 

          ในจำพวกนับว่าเปนอย่างผู้ดีมีอยู่ราย ๑ ที่ร้องตะโกนเชิญผู้เล่นเปนคำว่า "เชิญแทงมอนติคาโร ๑ บาทได้ ๓๐ บาท ๑ สลึงได้ ๓๐ สลึง!" แต่การที่จะแทง  "มอนติคาโร" นั้นดูออกจะยากๆ, เพราะประการ ๑ เมืองมอนติคาโรก็ไม่มีในโลก, มีแต่มอนติคาร์โล, และอีกประการหนึ่ง ๑ ก็เปนเมืองที่อยู่ห่างไกลพระราชอาณาจักรสยามมาก, น่ากลัวจะไม่มีอะไรแทงถึงได้!

 

เบ็ดเตล็ด

          ๑. ร้านหลวงมีชื่อเรียกกันต่างๆ, คือเราได้ยินผู้หญิงชาววังเรียกกันว่า  "ร้านน้อมเกล้าฯ" (เนื่องจากฉลากที่ผูกของ), และผู้ชายเรียกกันว่า  "ร้านโปเก." แต่จะชื่ออะไรก็ตาม, ของขายดีมาก, เพราะเปนร้านเดียวที่ไม่ขูดเลือดซิบๆ.

          ๒. ร้านป้อเปี๊ยมีป้ายติดตัวเบ้อเร่อ, ซึ่งเขียนรูปตัวอักษรชอบกล, จึ่งมีคนอ่านบ้างว่า "เชิญรัชรทานช้อเชี้ย!"

          ๓. ชายบางคนใช้ประทัดลมและ "คอนเฟ็ตตี้" เปนเครื่องช่วยในการสมาคมกับผู้หญิง. แต่เราเห็นว่า ถ้าจะให้ผู้หญิงต้องแลดูตนโดยแน่นอนละก็ใช้ลูกระเบิดจะดีกว่ากระมัง?

          ๔. เราได้ทราบว่า เจ้าพนักงานผู้ใหญ่ฝ่ายกระทรวงวังไม่เปนที่พอใจเลยในการที่มีผู้ชายไปเดินยุ่งอยู่ที่ริมๆ ร้านข้างใน, แต่ตรงข้าม ข้างในเองท่านไม่พอพระไทยในการที่กรมวังคอยกันคนไม่ให้ไปร้านของท่าน. พิลึกไหม?

          ๕. มีผู้ถามเราว่า ทำไมห้ามผู้ชายมิให้ไปอยู่ที่ตามร้านข้างในแล้ว, ทีตัวพวกกรมวังเองจึ่งไปอยู่ได้? เราขอตอบว่า บรรดากรมวังถือว่าเปนกะเทยทั้งนั้น!

          ๖. ใครว่าผู้หญิงของเราไม่เจริญทันสมัย? ที่จริงบัดนี้ยิ่งกว่าทันสมัยอีกเพราะข้ามสมัยด้วยซ้ำ. ขอให้ดูที่ร้านแข่งม้าสิ! ผู้หญิงที่นั้นผลัดจากผ้านุ่งก็สรวมกางเกงทีเดียว; ข้ามกระโปรงอย่างไรล่ะ. จริงไหม?

          ๗. ข้อเสียสำคัญของงานน่าหนาวคราวที่แล้วมานี้คือ ไม่หนาว, ซึ่งทำให้ได้เห็นการ  "แต่งแผน" หรือ  "โก้" หรือ "ฟรี" น้อยไป.

          ๘. สมาชิกของเราผู้ ๑ รำพรรณมาว่า  "ออกนึกสงสารผู้ที่ขาดทุนในการออกร้านเพื่อหากำไรในงานนี้, แต่ก็ยังไม่สงสารเท่าคนขอทานที่หาสตางค์ไม่ได้คุ้มค่าผ่านประตูที่เข้าไป."

          ๙. การขี่ม้าแทงสัตว์ ในวันหลังๆ มีผู้ขี่ไปเฉยๆ โดยไม่แทงสัตว์เสียมาก, เพราะเขาว่าใช้เปนเครื่องซ้อมความกล้าไปขึ้นรถเหาะ.

          ๑๐. นักเลงเที่ยวกับเจ้าของร้านมีความเห็นไม่ใคร่ตรงกัน, เพราะนักเลงเที่ยวมักจะเที่ยวอยู่จนเวลาที่สุดในวันที่สุด, แต่เจ้าของร้านบางรายรีบเก็บของเสียตั้งแต่งานยังไม่เลิก. ทีจะไม่ได้ “อินชูรันซ์” ของไว้กระมัง?

 

ไว้อาลัยต่องานสวนจิตรลดา

          ๏ เสียดายงานออกร้านฤดูหนาว เสียดายเสื้อโอเว่อร์โค๊ตสะโอดยาว เสียดายแม่สาวๆ มิได้ชม เสียแรงเตรียมเสื้อโก้ไว้โชกัน เสียแรงเตรียมผ้าพันคอไว้ถม ร้อนเหลือใจครั้นจะใส่เกรงเปนลม ร้อนระบมอมลำบากแสนยากใจ เตรียมจะเสียวเกี้ยวเจ้าสาวผมยาวสวย หนาวไม่ช่วยชวดโอกาสขาดพิสมัย ชวนหล่อนขึ้นรถเหาะก็ไม่ไป มุ่งหมายไว้จะได้กอดแม่ยอดเมือง สู้สละเงินตราห้าหกบาท ล็อตตะรี่ฉีฉกาจไม่เป็นเรื่อง ตั๋วอยู่เต็มกระเป๋าหนักชักจะเคือง ไม่กระเตื้องเฉียดรางวัลสักอันเลย หันไปแทงแข่งม้าท่าพอสู้ เอ๊ะ! มัวดูแม่สาวๆ แม่เจ้าเอ๋ย ใส่กางเกงแนบขาแสนน่าเชย เลยลืมดูม้าชนะว๊ะเสียที ตบกระเป๋าโอ้โหเบาแสนใจหาย ได้แต่เดินกรุยกรายไม่จอดที่ ต้องเที่ยวเดินหน้าเปิ่นเสียเกินดี จนราตรีล่วงลับกลับบ้านเอย ฯ"  []

 

 

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์
(สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก)
กับ หม่อมสังวาล มหิดล (สมเด็จพระศรีนคินทราบรมราชชะนี)
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ร้านหลวง งานฤดูหนาว พ.ศ. ๒๔๖๖

 

 

           ในระหว่างงานฤดูหนาวทุกปีนั้น  นอกจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปประทับ ณ ร้านหลวงซึ่งเป็นร้านส่วนพระองค์แล้ว  ยังได้เสด็จทอดพระเนตรและทรงซื้อของจากร้านค้าต่างๆ ที่มาร่วมออกร้านในงาน  รวมทั้งเสด็จไปประทับเสวยเครื่องว่างตามร้านของเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่เป็นประจำทุกคืน  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๓ เมื่อทรงหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี แล้ว  ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาในงานฤดูหนาวพร้อมด้วยพระคู่หมั้น  และปีต่อๆ มาก็ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระมเหสีและเจ้าจอมมาตามลำดับ

 

           นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ได้เล่าถึงพระมหากรณาธิคุณที่พระราชทานแก่นักเรียนมหาดเล็กหลวงที่ทรงพระมหากรุณาตั้งให้เป็น “มหาดเล็กรับใช้” ไว้ในอัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ว่า “นักเรียนมหาดเล็กรับใช้ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษอย่างหนึ่ง  คือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายเงินเดือน [] ทุกวันระหว่างที่มีงาน" []

 

 

ร้านค้าในงานฤดูหนาวจังหวัดเชียงใหม่ ณ สนามโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗

 

 

          งานฤดูหนาวนี้คงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เลิกไปเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่งานฤดูหนาวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ก็ได้เป็นต้นแบบของการจัดงานฤดูหนาวในจังหวัดต่างๆ ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

          เมื่อสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในยุคที่ หลวงเมธีนฤปกร (สดวก บุนนาค) บิดาคุณครูฉายแสง บุนนาค ได้ริเริ่มจัดงานวชราวุธานุสรณ์เพื่อจัดหารายได้สมทบการจัดเสริมสร้างฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สวนลุมพินีใน พ.ศ. ๒๔๘๓ นั้น ได้เริ่มจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ครั้งแรกที่สวนอัมพร พระราชวังดุสิต โดยกำหนดให้วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตเป็นวันเริ่มงาน และคงเริ่มงานในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปีตลอดมา โดยในช่วงแรกๆ ของการจัดงานนั้น มีกำหนดจัดงานในแต่ละปีเพียง ๓ - ๕ วัน เช่นเดียวกับงานฤดูหนาวในรัชกาลที่ ๖

 

          แต่เมื่องานวชิราวุธานุสรณ์ดำเนินมาได้เพียง ๒ ปี ก็ต้องหยุดลงเพราะประเทศตกอยู่ในสภาวะสงคราม และบรรดาสมาคมต่างๆ ในประเทศต้องถูกยุบเลิกไปตามคำสั่งของรัฐบาลในยามสงคราม จนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงและบ้านเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว คณะนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยที่เคยร่วมกันจัดงานวชิราวุธานุสรณ์มาก่อน จึงได้รวมตัวกันและรื้อฟื้นการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นอีกครั้งและคงจัดที่สวนอัมพรต่อเนื่องกันมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงได้หยุดไปอีกคราวหนึ่งเพราะมีการรัฐประหาร

 

 

นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ จอมพลประภาส จารุเสถียร
นายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๑๖

 

 

          ครั้นมีการจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๐๓  โดยมีนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ พลเอก ประภาส  จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกสมาคม  ประกอบกับในปีเดียวกันนั้นสมาคมนักเรียนเก่าฯ ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ใช้พื้นที่และอาคารในบริเวณโรงละครพระราชวังสราญรมย์เป็นที่ทำการสมาคมฯ  การจัดงานในยุคที่สามนี้จึงได้ย้ายจากสวนอัมพรไปจัดที่พระราชอุทยานสราญรมย์และสนามไชย  โดยเริ่มจัดงานในระหว่างวันที่  ๒๕ พฤศจิกายน – ๒ ธันวาคม  ๒๕๐๓ และได้เพิ่มวันจัดงานไปจนถึงวันที่  ๓ และ ๔  ธันวาคมในปีต่อๆ มา

 

          รูปแบบการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ในยุคแรกและยุคที่สองที่สวนอัมพรนั้น  จะเป็นอย่างไรยังไม่อาจหาหลักฐานได้  ส่วนการจัดงานในยุคที่ ๓ ที่พระราชอุทยานสราญรมย์นั้น  นอกจากจะจำลองรูปแบบงานฤดูหนาวในช่วยปลายรัชกาลที่ ๖  ที่จัดแบ่งพื้นที่การจัดงานออกเป็น ๒ ส่วน  โดยพื้นที่ภายในพระราชอุทยานสราญรมย์เป็นส่วนการออกร้านของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  อาทิ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ  กรมตำรวจ  กรมการรักษาดินแดน  กรมราชทัณฑ์  ฯลฯ  ร้านของส่วนราชการนั้นนอกจากจะเน้นการประชาสัมพันธ์ภารกิจของส่วนราชการแล้ว  ยังมีการออกร้านยิงปืน  และจัดให้มีม้าของทหารม้ามาให้ประชาชนได้ทดลองขี่

 

 

 


 

[ ]  ดุสิตสมิต เล่ม ๑ ฉบับที่ ๖ (๑๘ มกราคม ๒๔๖๑), หน้า ๘๑ - ๘๕.

[ ]  เงินเดือนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่นักเรียนมหาดเล็กับใช้นั้นแบ่งเป็น ชั้นใหญ่ เดือน ละ ๓๐ บาท  ชั้นเล็ก เดือนละ ๒๐ บาท

[ ]  หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล. อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล, หน้า ๒๐.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |