โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๑. นายใน นางใน (๑)

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี

ประทับฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ

เมื่อคราวทรงเตรียมพระองค์ก่อนเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ

 

 

          สืบเนื่องมาจากวิทยานิพนธ์ฉบับหนึ่งที่ถูกคัดเลือกให้นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ ในชื่อ "นายใน สมัยรัชสมัยรัชกาลที่ ๖" โดยได้กล่าวถึงมหาดเล็กในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไม่มีฝ่ายในว่าเป็น "นายใน" แทน "นางใน" เช่นในรัชกาลก่อน ๆ ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นการขัดกับข้อเท็จจริง เพราะโครงสร้างพระราชสำนักสมัยรัตนโกสินทร์นั้นแม้จะรับอิทธิพลมาจากราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งกำหนดให้ "พระราชสำนักฝ่ายในอยู่ในพื้นที่ทั้งหมดของพระราชฐานชั้นใน ถือว่าเป็นที่รโหฐาน พื้นที่ส่วนพระองค์ของกษัตริย์สำหรับประทับพักผ่อนหาความสำราญส่วนพระองค์ร่วมกับ "นางใน" ซึ่งได้แก่ พระมเหสี พระสนม เจ้าจอม พระราชธิดา ข้าบาทบริจาริกา ข้าราชสำนักฝ่ายใน" [] นั้น แต่พระราชประเพณีดังกล่าวก็ได้เปลี่ยนไปตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มจากเมื่อพระราชโอรสเจริญพระชนมายุและโสกันต์แล้ว ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ประทับอยู่ในพระราชฐานชั้นในร่วมกับพระชนนีหรือเจ้าจอมมารดาต่อมาอีกราว ๖ - ๘ เดือน จนพระเกศาเจริญงอกงามแล้ว จึงจะโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปทรงศึกษาที่ยุโรปเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี และเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เมื่อปลายเดือนธันวาคม และต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๓๕ [] ขณะที่ทั้งสองพระองค์ทรงเจริญพระชันษาครบ ๑๒ พรรษา แล้ว ก็ยังคงโปรดเกล้าฯ ให้ประทับในพระราชฐานชั้นในต่อมาอีก ๗ เดือนเศษ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทั้งสองพระองค์นั้นเสด็จออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี (ซ้าย)

ประทับฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วย พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ พระอภิบาล (กลาง)

และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

แรกเสด็จออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ

 

 

          อนึ่ง นับแต่เกิดวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น นอกจากจะทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องตัดสินพระราชหฤทัยดำเนินพระบรมราชวิเทโศบายทางการทูตเพื่อทรงนำสยามประเทศให้รอดพ้นจากภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมแล้ว ยังต้องทรงปรับรูปแบบราชสำนักสยามให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ด้วยการทรงรับวัฒนธรรมการมีคู่ครองแบบ "ผัวเดียว เมียเดียว" ของตะวันตก เข้ามาปรับใช้ในพระราชสำนักสยาม และได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็น The Real Queen เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมราชินีของชาติตะวันตกเป็นพระองค์แรก เมื่อครั้งทรงสำเร็จราชการรักษาพระนครในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔

 

          นอกจากเรื่องพระราชสำนักฝ่ายในแล้ว ในหนังสือ "นายในสมัยสมัยรัชกาลที่ ๖" ยังได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของ พระมเหสี พระสนม เจ้าจอม พระราชธิดา ข้าบาทบริจาริกา ข้าราชสำนักฝ่ายใน ซึ่งในหนังสือนั้นเรียกรวม ๆ กันว่า "นางใน" ไว้ว่า
 

 

          "ในการปรนนิบัติรับใช้กษัตริย์ นางในแต่ละนางจึงมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันตามความถนัด เช่น เจ้าจอมมารดาเที่ยง บังคับบัญชาการห้องพระเครื่องต้น เป็นผู้ตั้งเครื่องและถวายงานในเรื่องต่างๆ ในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณจอมมารดาแพ ถวายเครื่องสำอางเมื่อตื่นบรรทม ตั้งเครื่องพระกระยาหารต้ม ถวายการรับใช้ในห้องบรรทมเมื่อเสด็จขึ้นจากราชการจนถึงเช้าอย่างใกล้ชิดในต้นรัชกาล, พระนางเจ้าสุขุมาลยมารศรี เป็นราชเลขานุการ, พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น, เจ้าจอมมารดาอ่อน ตั้งเครื่องเสวย, เจ้าจอมเอี่ยม ถวายงานนวด, เจ้าจอมมารดาเหม ถวายงานทุบ, เจ้าจอมเอิบ แต่งพระองค์และเปลื้องฉลองพระองค์ หากเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงองค์ใดมีความรู้ความสามารถด้านใดเป็นพิเศษมักเป็นพระอาจารย์ฝึกสอนวิชานั้น ๆ เช่น ด้านอักษรศาสตร์ วิชาช่างฝีมือ

 

          สำหรับนางในเชื้อพระวงศ์ชั้นล่าง เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม ตลอดจนลูกหลานข้าราชการที่ถวายตัวและเคยรับราชการมาตั้งแต่รัชกาลก่อน หรือสามัญชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้านายระดับสูง จะรับราชการเป็นพนักงานปฏิบัติงาน มีตำแหน่งเรียกต่างๆ ตามลักษณะงาน เช่น พนักงานพระภูษา พนักงานพระสุคนธ์ พนักงานพระสุธารส พนักงานเฝ้าหอพระมณเฑียร พนักงานเช็ดกวาดห้องบนพระที่นั่งไปจนถึงพนักงานลงพระบังคน โขลนดูแลคุกในพระราชวัง โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยหวัดส่วนพระองค์ หรือเป็นางมโหรี นางละคร ขับร้องฟ้อนรำถวายเพื่อความสำราญส่วนพระองค์"

 

 

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)

เมื่อครั้งเป็นจางวางมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          การถวายปรนนิบัติรับใช้ดังกล่าวนั้น เป็นเพียงการถวายปรนนิบัติรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเฉพาะในเวลาเสด็จประทับ ณ พระราชฐานชั้นในเท่านั้น เพราะในเวลาที่ประทับทางฝ่ายหน้านั้น การถวายการรับใช้ก็คงเป็นหน้าที่มหาดเล็กถวายการรับใช้เช่นเดียวกับในรัชกาลอื่นๆ ดังที่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จางวางมหาดเล็กในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงการถวายการรับใช้ในหน้าที่มหาดเล็กห้องพระบรรทมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ในหนังสือชื่อ "บุรุษรัตน" ว่า

 

          "ในการเสด็จประพาสสิงคโปร์และชะวาคราวนี้   [] นายสุจินดา  [] ได้เป็นผู้ตามเสด็จด้วย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ และเป็นครั้งแรกในตำแหน่งพนักงานห้องพระบรรทม มีหน้าที่ถวายเครื่องแต่งพระองค์ และเป็นผู้เก็บรักษาเครื่องพระภูษาฉลองพระองค์ทุกอย่าง ทั้งเครื่องทรงพระอักษร และรับใช้การเบ็ดเตล็ดในพระองค์ทั่วไป ในการปฏิบัติหน้าที่นี้นายสุจินดาจะต้องติดต่อและปะปนอยู่ในเขตฝ่ายใน เพราะมีฝ่ายในตามเสด็จด้วย และตั้งแต่นั้นมาเมื่อเสด็จตามตำบลและเมืองต่าง ๆ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นายสุจินดาตามเสด็จใกล้ชิดพระองค์ทุกแห่ง

 

ฯ ล ฯ

 

          ตามปกติเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีห้องที่ประทับระโหฐานชั้นใน คือ พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร (มุขห้องเขียว) ห้องที่นายสุจินดาอยู่ประจำคอยรับใช้เป็นเขตฝ่ายนอก (พระที่นั่งจักรีชั้นล่าง) เมื่อจะทรงเรียกต้องใช้กริ่ง ทรงเห็นว่าเดินไปเดินมาเสียเวลา จึงมีรับสั่งให้เข้าไปประจำรับใช้ในมุขห้องเขียวฝ่ายในไม่ต้องเสียเวลาเรียก มุขห้องเขียวเป็นที่สำหรับเสด็จออกประทับไปรเวต เพื่อปรึกษาข้อราชการกับเจ้านาย และข้าราชการผู้ใหญ่บางท่าน เช่น เจ้าพระยาอภัยราชา (กุสต๊าฟโรลิน ยัคมินส์)  [] ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็นต้น และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าออกได้ในเวลาบรรทมตื่นแล้วโดยลำพัง ไม่ต้องมีเถ้าแก่หรือพนักงานเฝ้าที่ควบคุมอย่างใด และในเวลาว่างๆ ก็พระราชทานจดหมายของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอที่ถวายมาแต่ยุโรป ให้รวบรวมเก็บเข้าเรื่อง นายสุจินดาต้องนั่งทำงานที่โต๊ะเขียนหนังสือ ที่มุขห้องเขียวนั้นแต่ผู้เดียว และจะกลับบ้านได้ต่อเมื่อเสด็จเข้าห้องพระบรรทมแล้ว"  []

 

          ต่อมาในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ซึ่งไม่มีฝ่ายในโดยเสด็จไปในกระบวน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ยังได้บันทึกไว้อีกว่า "ได้ทรงมอบหน้าที่ให้นายจ่ายวดเป็นพนักงานห้องพระบรรทม และการเบ็ดเตล็ดทั่วไปในพระองค์ มีผู้ช่วย คือ นายกวด หุ้มแพร  []  นายพินัยราชกิจ [] นายสุจินดา [] และนายเพิ่ม  [๑๐]  มีหน้าที่ต้องอยู่ประจำรับใช้ตลอดเวลา แม้เวลาเสด็จเข้าที่พระบรรทมก็โปรดให้ถวายอยู่งานนวดบ้าง ถวายอยู่งานทุบบ้างและถวายอยู่งานพัดบ้างจนกว่าจะบรรทมหลับ จึงจะได้ลงจากพระแท่นที่บรรทมและปูที่นอน ๆ อยู่ปลายพระแท่นนั้น"  [๑๑]  และต่อมาเมื่อครั้งเสด็จขึ้นที่เกาะพะงันสรงน้ำตกธารประพาสอีกครั้งหนึ่ง ในคราวเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันตกในระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ก็ "ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายจ่ายวดสนองพระเดชพระคุณฟอกสบู่ถูพระองค์ และคอยถวายเครื่องพระภูษาเครื่องพระสำอางที่ธารนั้น"  [๑๒]

 

          ส่วนที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ยังได้กล่าวถึงราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ ๖ ไว้ว่า

 

          "เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พระราชสำนักของรัชกาลที่ ๖ มีจำนวนนางในน้อยคือ พระองค์ทรงรับอุปการะชายหนุ่มมาเป็นข้าราชบริพารมหาดเล็กรับใช้ส่วนพระองค์แทนการอภิเษกสมรส มีพระมเหสีเทวี ข้าบาทบริจาริกา นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งกว่าที่พระองค์จะมีพระมเหสีก็บั้นปลายพระชนม์ชีพแล้ว"  [๑๓]

 

          ความในหนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ยกมาข้างต้น ย่อมเป็นพยานยืนยันว่า นับแต่เกิดวิกฤต ร.ศ. ๑๑๒ ราชสำนักสยามได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนจากระบบจารีตแบบเดิมหันมาคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตกมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด "ผัวเดียว หลายเมีย" มาเป็นระบบ "ผัวเดียว เมียเดียว" พร้อมกับการปรับทัศนคติการปกครองบ้านเมืองจากระบบมูลนายมาเป็นระบบบริหารแบบตะวันตก และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครพร้อมกับคตินิยมแบบตะวันตกใน พ.ศ. ๒๔๔๕ โดยทรงปฏิเสธที่ "จะเอาน้องมาเป็นเมีย" ตามโบราณราชประเพณี จึงยิ่งทำให้ราชสำนักสยามในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มปรับเปลี่ยนไปจากเดิม และมีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาแทนที่ค่านิยมแบบตะวันออกมากขึ้นเป็นลำดับ 

 

 

 


[ ]  "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า

[ ]  ในเวลานั้นปีปฏิทินของไทยยังคงเริ่มต้นปีในวันที่ ๑ เมษายน และไปสิ้นสุดปีในวันที่ ๓๑ มีนาคม เพิ่งจะมาเปลี่ยนปีวันขึ้นใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีเพียง ๙ เดือน คือ วันที่ ๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม)

[ ]   ระหว่างวันที่ ๙ พฤษภาคม – ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๙

[ ]  นามเดิม นพ ไกรฤกษ์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ.

[ ]  เป็นชาวเบลเยี่ยม เคยเป็นเสนาบดีของประเทศเบลเยี่ยมมาก่อน.

[ ]  พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์). บุรุษรัตน, หน้า (๑๑) - (๑๓).

[ ]  นามเดิม ม.ล.วราห์ กุญชร ฤกษ์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ และเป็นพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ในรัชกาลที่ ๖

[ ]  นามเดิม อ้น นรพัลลภ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช และเป็นพระยานิพัทธราชกิจ ในรัชกาลที่ ๖

[ ]  นามเดิม ชม นิมิหุต ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสิทธิ นายเวร

[ ๑๐ ]  นายเพิ่ม ไกรฤกษ์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเสริฐศุภกิจ

[ ๑๑ ]  บุรุษรัตน, หน้า (๑๗).

[ ๑๒ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า (๒๘)

[ ๑๓ ]  "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๖ - ๗.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |