โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๓. นายใน นางใน (๓)

 

 

          แต่ทว่าเมื่อกองทหารอาสาที่ไปร่วมรบในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรปเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ยังไม่ทันครบเดือน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ซึ่งทรงพระประชวรเรื้อรังมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ก็มาด่วนเสด็จสวรรคตไปอีกพระองค์หนึ่งเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ในพระราชสำนักจึงต้องมีการไว้ทุกข์ถวายต่อเนื่องกันมาอีกหลายเดือน

 

          เสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้ว จึงได้มีพระราชดำริให้มีการรื่นเริงเพื่อคลายทุกข์โศก เริ่มจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดภาพ ครั้งที่ ๒ ที่ศาลาวรนาฏเวทีสถาน พระราชวังบางปะอิน ในระหว่างวันที่ ๘ - ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วมีกระแสพระราชดำรัสว่า "อยากจะให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ชมการประกวดภาพแบบนี้บ้าง จึงได้ทรงกำหนดให้มีการประกวดภาพครั้งที่ ๓ ที่พระราชวังพญาไท ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน"  []

 

 

เสมาอักษรพระบรมนามาภิไธย่อ ร.ร.๖ ประดับเพชร

 

 

          การประกวดภาพที่พระราชวังพญาไทระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้บันทึกไว้ใน "อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล" ว่า "หม่อมเจ้าหญิงพี่น้องท่านดุลภากร  [] ก็มาชมหลายครั้ง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทักทายด้วย"  []  ต่อมาในตอนค่ำวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ "พอสมเด็จพะเจ้าน้องยาเธอทั้ง ๒ คือ ทูลกระหม่อมติ๋ว  []  และทูลกระหม่อมฟ้าน้อย  [] ได้เสด็จกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนทนากับหม่อมเจ้าวรรณวิมล เริ่มต้นด้วยพระราชทานเสมาฝังเพชรแก่ท่านหญิงวรรณวิมล และท่านหญิงพิมลวรรณ"  []  ครั้นถึงเวลาเสวยเครื่องว่าง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชิญหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลไปประทับทางขวาของพระองค์ โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ประทับทางซ้าย มีท่านหญิงท่านชายในราชสกุลวรวรรณ ได้นั่งโต๊ะเสวยในวันนี้อีก ๖ ท่าน นอกจากนั้นก็มีท่านเจ้าคุณต่างๆ ในพระราชสำนัก"  [] และในโอกาสเดียวกันนั้นยังได้ทรงชวนหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล ทรงร่วมแสดงละครเป็นคุณหญิงสมุทโยธิน ในละครพระราชนิพนธ์เรื่อง "โพงพาง" ซึ่งทรงแสดงเป็นนายพลเรือโท พระยาสมุทโยธิน นับเป็นครั้งแรกที่การแสดงละครพูดในพระราชสำนักเริ่มเปลี่ยนเป็นการจัดแสดงในรูปแบบชายจริงหญิงแท้

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงเป็นนายพลเรือโท พระยาสมุทโยธิน

หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี วรรวรรณ ทรงแสดงเป็นคุณหญิงสมุทโยธิน

หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ วรวรรณ ทรงแสดงเป็นนางสาวสายหยุด สมุทานนท์

และพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) แสดงเป็นนายเรือเอก หลวงเชี่ยวชลธาร

ในการแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง โพงพาง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดง

ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ - ๗ พฤศจิกายน และที่นครปฐม เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓

 

 

          ถัดมาวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่แก่หม่อมเจ้าหญิงในราชสกุลวรวรรณรวม ๕ พระองค์ คือ

                    หม่อมเจ้าวรรณวิมล  เป็น  หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี

                    หม่อมเจ้าวิมลวรรณ  เป็น  หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมร

                    หม่อมเจ้าพิมลวรรณ  เป็น  หม่อมเจ้านันทนามารศรี

                    หม่อมเจ้าวรรณพิมล  เป็น  หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ

                    หม่อมเจ้าวัลลีวรินทร์  เป็น  หม่อมเจ้าศรีสอางค์นฤมล

 

          ในการพระราชพระนามใหม่แก่หม่อมเจ้าหญิงทั้ง ๕ พระองค์นั้น ท่านหญิงฤดีวรวรรณ วรวรรณ [] ได้กล่าวไว้ใน "The Tresured One : The Story of Rudivoravan Prince of Siam" ซึ่งแก้วสุวรรณ แปลไว้ในชื่อ "บันทึกท่านหญิง ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ" ว่า

 

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ กับ หม่อมเจ้าหญิงฤดีวรวรรณ วรวรรณ พระธิดา

 

 

          "การได้รับพระราชทานนามจากพระเจ้าอยู่หัวนั้นถือเป็นเกียรติอย่างสูงส่ง แต่ประเพณีนี้มีความสำคัญที่แปลกประหลาดออกไปอีก ชื่อนั้นถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชาวสยาม เป็นที่เชื่อกันว่าใครก็ตามที่จะแต่งงานกันควรมีชื่อเป็นตัวอักษรที่เข้ากันได้ดีมีดวงสมพงศ์ถูกโฉลกกันตามหลักโหราศาสตร์ จึงเป็นที่คาดกันว่าสตรีที่ได้รับพระราชทานนามจากพระเจ้าอยู่หัวเหล่านี้อาจมีคนหนึ่งที่จะได้รับการเลือกให้เป็นพระราชินีก็เป็นได้

 

          หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี (ขาว หรือ เตอะ) เป็นสตรีที่เหมาะสมที่สุด แต่พระขนิษฐภคินี (น้องสาว) มีชื่อเล่นว่า "ติ๋ว" ซึ่งอยู่ในวัยอภิเษกได้ กลับมีความสวยและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานนามพระขนิษฐภคินีองค์น้องว่า "ลักษมีลาวัณ" ทำให้ผู้ที่ชื่นชมถึงกับเลิกคิ้วด้วยความแปลกใจและเริ่มกระซิบกันต่อ เพราะจากตำนานไทยนั้น "ลักษมี" เป็นชื่อของเจ้าแม่แห่งความโชคดี พระนางคือพระอัครมเหสีของพระนารายณ์ ประชาชนพากันมองเจ้าพี่หญิงของฉันและพูดกันว่า "ท่านหญิงอาจเป็นองค์ที่ได้รับเลือก ท่านหญิงลักษมีอาจได้เป็นพระราชินี"

 

          ยังมีเครื่องหมายอย่างอื่นๆ อีกที่ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัย พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นกวีและนักเขียนบทละคร และฉันคิดว่าในพระราชหฤทัยของพระองค์นั้นโรงละครหลวงเป็นที่รักยิ่งของพระองค์เทียบเท่าพระราชวังทีเดียว สมาชิกในราชสกุลของเรามักถูกเรียกไปรับบทในละครของพระองค์ท่านเสมอ หม่อมแม่ของฉัน [] เป็นที่นิยมอย่างมากที่นั่นทั้งในฐานะนักแสดงและส่วนบุคคล แต่คราใดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงรับเป็นพระเอก ครานั้นท่านพี่หญิงลักษมีจะรับบทเป็นนางเอก เมื่อถึงฉากที่ต้องแสดงความรักพระเอกจะแสดงได้สมบทบาทสมจริงยิ่งนัก ท่านพี่หญิงองค์อื่นๆ ของฉันพากันแหย่ท่านพี่หญิงลักษมีในเรื่องนี้

 

          "จำเป็นด้วยหรือที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องกอดเธอแน่นอย่างนั้นขณะที่ม่านปิด"

 

          ท่านพี่หญิงลักษมีจะมีทีท่าเขินอายอย่างมีความสุข ดังนั้นพวกเราจึงเตรียมตัวพร้อมที่จะได้ยินพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพี่หญิงลักษมี

 

          เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกพระสุณิสา ในช่วงระยะเวลา ๙ ปีที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงปกครองประเทศโดยปราศจากพระอัครมเหสี ได้มีการแข่งขันกันสำหรับพระตำแหน่งเกียรติยศอันสูงส่งนี้ บรรดาแม่ทั้งหลายต่างพากันเสนอธิดาให้พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือก มีคนหนึ่งที่ใฝ่สูงทะเยอทะยานสร้างสถานการณ์ขึ้นมาจนทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องประกาศการหมั้นอย่างเป็นทางการ ด้วยรู้ว่าหม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวีเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการพิจารณา นางนั้นกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินในทำนองว่าหม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวีมีโรคประจำตัวและขี้โรค ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและทรงแน่พระทัยว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้พระองค์หลงกลอุบายไม่เลือกท่านพี่หญิงวัลลภาเทวีเป็นพระคู่หมั้น พระองค์ทรงพระพิโรธถึงกับมีพระกระแสรับสั่งว่า

 

          "หากวัลลภาเจ็บป่วยจริง เราจะแต่งงานด้วยและจะหาแพทย์มาดูแลรักษาพยาบาลให้อย่างเหมาะสมทีเดียว" "  [๑๐] 

 

 

 


[ ]  อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๖.

[ ]  หม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ

[ ]  อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓.

[ ]  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

[ ]  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา

[  อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๙.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ]  พระนามเดิม หม่อมเจ้าฤดีวรวรรณ วรวรรณ ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรเพื่อเสกสมรส

[ ]  หม่อมสุ่น วรวรรณ สกุลเดิม เพ็ญกุล

[ ๑๐ ]  ฤดีวรวรรณ วรวรรณ. บันทึกท่านหญิง ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ, หน้า ๓๗ - ๓๙.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |