โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๔. นายใน นางใน (๔)

 

 

          แต่ภายหลังจากที่ทรงประกาศการพระราชพิธีหมั้นในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ด้วย“มีพระราชปรารถนาที่มีพระมเหษีเป็นเพื่อนได้อย่างฝรั่ง แต่ต้องพระราชประสงค์ผู้ปฎิบัติอย่างไทยๆ และให้เชื่อในความรักต่อกันและกันด้วยมีคำว่า Honour” [] แต่การนั้นก็มิอาจเป็นไปดังพระราชประสงค์ เพราะ

 

 

          "พระองค์วัลภาฯ เข้าใจว่าเพื่อนที่ดีก็ต้องช่วยแก้ไขป้องกันต่างๆ... ส่วนการเชื่อในความรักซึ่งกันและกันนั้น เมื่อพระองค์วัลภาฯ ถูกยั่วให้หึงอยู่ทุกวันทุกเวลาแล้ว ความเชื่อก็ค่อยๆ น้อยลงๆ ยิ่งขึ้นทุกที จนถึงเดือนมกราคมซึ่งเป็นเวลาเสด็จไปประทับยังวังสนามจันทร์พระปฐมเจดีย์ทุกปีไป พระองค์วัลภาฯ ก็เสด็จไปประทับอยู่ที่สวนนันทอุทธยานพร้อมด้วยแฟมมิลี่ของพระองค์ท่าน และเสด็จไปมาเยี่ยมอยู่เสมอมิได้ขาด วันหนึ่งเสด็จไปเสวยค่ำกับพระเจ้าอยู่หัวที่สนามจันทร์ เสวยแล้วก็ทรงเล่นบิลเลียด พวกผู้หญิงโดยมากเป็นผู้นั่งดู พระองค์ลักษมีลาวัณเกิดอยากเล่นบิลเลียดขึ้นมาบ้าง แต่แทงไม่เป็น ต้องเรียกหาคนช่วยสอน! จนลงท้ายก็เป็นในหลวงทรงสอน ผู้หญิงที่เขาอยู่ในเวลานั้นบอกว่า  "โธ่, ท่านไม่เห็นท่าดิ้นอยู่ในพระทรวงในหลวงนั่น นึกถึงท่าจับมือให้แทงบิลเลียดซี ใครๆ ก็ทนไม่ได้!" ด้วยเหตุนี้พระองค์วัลภาฯ ก็ลุกกลับ ในหลวงทรงตามออกมาส่งดังเช่นเคย ครั้นพอจะขึ้นรถพระองค์วัลภาฯ ก็เมินหน้าไม่ยอม Good Night ตอบพระเจ้าอยู่หัวต่อหน้าคน! ตายจริงๆ ผู้ที่รู้จักว่า Pride ขัตติยะมานะของกษัตริย์มีอยู่เป็นพิเศษแล้ว จะไม่แปลกเลยที่จะรู้ว่า พอเสด็จขึ้นเข้าห้องพระบรรทมแล้วก็ตรัสเรียกเจ้าพระยารามฯ และพระยาอนิรุธฯ เข้าไปปรับทุกข์ว่า "ฉันผิดเสียแล้ว จะทำอย่างไร? ยิ่งนานวันก็ยิ่งเป็นแม่ขึ้นทุกที! แล้วก็น้ำพระเนตร์ไหลด้วยเจ็บและอาย สองคนนั้นกราบทูลว่า เห็นว่าถ้าจะเลิกกันก็เลิกเสียเดี๋ยวนี้ดีกว่าไปเลิกเอาเมื่ออภิเษกแล้ว แต่เขาเป็นเด็กควรจะทรงปฤกษาเจ้าพระยาธรรมาฯ  [] เสนาบดีกระทรวงวังดูอีกคน ก็มีรับสั่งให้หาเจ้าพระยาธรรมาฯ ขึ้นไปเฝ้า เจ้าพระยาธรรมาฯ กราบทูลว่า ให้ทรงปฤกษาสมเด็จกรมพระยาเทววงษ์ฯ  [] เห็นจะดี ในคืนนั้นพอเข้าที่พระบรรทมแล้ว มหาดเล็กห้องบรรทมชื่อโต สุจริตกุล [] ได้ยินเรื่องข้างบนนี้แล้วก็รีบขึ้นรถถีบไปบอกคุณเปรื่องพี่สาวที่พระองค์วัลภาฯ ประทับในทันที Maid of Honour ผู้ใจดีก็ปลุกพระองค์วัลภาฯ ขึ้นปฤกษากันว่า จะทำอย่างไร? ตกลงกันว่าให้พระองค์วัลภาฯ เขียนจดหมายไปขอพระราชทานโทษเสียแต่เช้า พระองค์วัลภาฯ ก็ทำตามแต่ช้าเสียแล้ว ไม่เป็นประโยชน์อันใด ต่อมาอีก ๒-๓ วันก็ถึงเวลาเสด็จกลับกรุงเทพฯ สมเด็จกรมพระยาเทววงษ์ฯ ทรงกราบทูลแนะนำว่า ถ้าจะเลิกกันก็บอกเสียว่า  "เจ็บ" ก็แล้วกัน"  []

 

 

          ภายหลังจากโปรดเกล้าฯ ให้ออก "ประกาศเลิกการพระราชพิธีมั่น" แล้ว "เจ้าพระยาธรรมาฯ เป็นผู้ไปขอแหวนหมั้นคืนและเชิญพระองค์วัลภาฯ เข้าไปประทับในวังหลวง พระราชทานตำหนักใหญ่ให้อยู่หลังหนึ่งและเงินเลี้ยงชีพเดือนละ ๑,๐๐๐ บาทต่อไป ส่วนการหมั้นหรือพระมเหสีต่อมานั้นไม่มีประกาศอื้ออึงอย่างพระองค์วัลภาฯ เป็นแต่ประกาศตั้งเป็นตำแหน่งนั้น ในราชกิจจานุเบกษา และมีงานเป็นไปรเวตในพระราชสำนักตามพระราชอัธยาศัย"  []

 

          ฉะนั้นการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี เสด็จไปประทับในพระบรมมหาราชวังนั้น จึงเป็นการเชิญเสด็จไปประทับตามพระเกียรติยศ "คนหลวง" ซึ่งตามพระราชประเพณีนั้นถือว่า ผู้ที่ถวายตัวเป็นคนหลวงแล้ว ย่อมได้รับพระราชทานที่พักอาศัยตามแต่จะทรงพระมหากรุณา แต่การจะออกไปไหนมาไหนนั้นต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต และเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพาหนะพระราชทานพร้อมมีเถ้าแก่และกรมวังตามเสด็จ

 

          การที่ต้องจัดให้มีเถ้าแก่และกรมวังตามเสด็จนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานคำอธิบายแก่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาไว้ว่า ก็เพื่อให้เถ้าแก่ไปเป็นพยานว่าไม่ได้ไปเที่ยวเหลวไหลอย่างใด เขาจึงเลือกเอาคนเถ้าคนแก่ซึ่งมีเวลาได้รู้จักอุบายของโลกมาแล้วมาตามเสด็จ ส่วนกรมวังที่เป็นผู้ชายนั้นก็เผื่อถ้ามีภัยอันใดเกิดขึ้น เช่นรถเกิดยางแตกก็จะได้มีกำลังช่วยกันแก้ไขให้นำเสด็จกลับได้โดยปลอดภัย ซึ่งธรรมเนียมนี้ยังคงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกวันนี้

 

          ดังนั้นการที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทรงถูก "ขังวังหลวง" นั้น จึงเป็นเพียงคำเปรียบเปรย หาใช่ต้องรับพระราชอาญาถึง "จำสนม" ซึ่งตามพระราชประเพณีนั้น หากพระบรมวงศ์กระทำผิดถึงต้องรับพระราชอาญาจำคุก ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานพานโซ่ทองไปเกาะพระองค์มากักไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงวังในพระบรมมหาราชวัง ส่วนข้าราชสำนักที่ต้องรับโทษจำขังก็จะโปรดเกล้าฯ ให้กักตัวไว้ที่ที่ทำการกรมสนมพลเรือนในพระบรมมหาราชวัง

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศจอมพล ผู้บังตับการพิเศษ

กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงฉายพร้อมด้วยพระนางเธอลักษมีลาวัณ

 

 

          นอกจากนั้นหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ยังได้ทรงนิพนธ์ไว้ใน "พระราชวงศ์จักรี" อีกว่า การที่ทรงหมั้นกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ และทรงเลิกการหมั้นภายหลังจากที่ทรงอภิเษกสมรสด้วยคุณเปรื่อง สุจิตกุล และทรงพระมหากรุณาสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเธอลักษมีลาวัณนั้นก็เพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ที่จะทรงได้รับพระราชทานเงินปีๆ ละ ๒๐,๐๐๐ บาทในฐานะพระอัครมเหสี ส่วนการที่ทรงอภิเษกสมรสด้วยคุณประไพ สุจริตกุล ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี และคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี นั้นก็ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะมีพระราชกุมารเพื่อสืบราชสันตติวงศ์ต่อไปเท่านั้น และแม้กระนั้นก็โปรดที่จะประทับร่วมกับพระมเหสีเพียงครั้งละพระองค์เท่านั้น

 

          ดังได้กล่าวมานี้ย่อมเห็นได้ชัดว่า ราชสำนักสยามได้มีการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับฝ่ายหน้าและฝ่ายในกันมาแต่โบราณกาล แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยสิริราชสมบัตินั้น ราชสำนักฝ่ายในในเวลานั้นก็ยังคงเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา และเจ้าจอมในรัชกาลก่อนๆ ประกอบกับการที่ทรงเจริญพระชนมายุมาในท่ามกลางวัฒนธรรมอังกฤษยุควิคตอเรียน เมื่อยังมิได้ทรงอภิเษกสมรสจึงโปรดที่จะประทับเยี่ยงชายโสดทางฝ่ายหน้ามาตลอดรัชสมัย แม้จะทรงเริ่มมีฝ่ายในแล้วก็ยังโปรดที่จะแยกประทับกับฝ่ายในดังเช่นราชสำนักและครอบครัวขุนนางในยุโรป

 

          ส่วนเรื่องที่หนังสือ " "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖" กล่าวว่า "หลังจากที่อ้างว่าทรงแท้งบ่อยครั้ง พระนางจึงถูกเปลี่ยนพระอิสริยยศจาก "พระบรมราชินี" เป็น "พระวรราชชายา" ใน พ.ศ. ๒๔๖๘"  [] นั้น เจรียง ลัดพลี ก็ได้กล่าวถึงการตกพระครรภ์ (แท้ง) ไว้ว่า

 

 

        "แล้ววันที่พระราชวังพญาไทที่แสนสุขสนุกสนานเบิกบานใจคล้ายแดนสวรรค์ ก็มีวันที่แสนเศร้าเหมือนกัน วันหนึ่งตอนสายๆ ขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งพิมานจักรี ดิฉันยังเด็กไม่ทราบเรื่องอะไรดี พบมีคนอยู่หลายคนแล้วที่ห้องเสวยกลางวันและมีพระแท่นบรรทมของสมเด็จฯ ตั้งอยู่ เห็นมีผู้ชายเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เจ้าคุณแพทย์พงศา (สุ่น สุนทรเวช) []  หรือหลวงไวทย์  [] จำไม่ได้แน่แต่มีหมอปัวซ์  [๑๐] (หมอฝรั่ง) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่พร้อมกัน ในมือเจ้าพระยาธรรมาฯ เชิญพานทององค์ใหญ่มากมีผ้าขาวปูอยู่ในพานนั้น เห็นล้นเกล้าฯ ท่านทรงพระกรรแสงซับพระเนตรด้วยผ้าเช็ดพระพักตร์ เราหน้าตื่นถามพี่ๆ ผู้ใหญ่ก็ได้ความว่าสมเด็จฯ ท่านทรงแท้งพระโอรสพระชันษาได้ ๗ เดือนเสียแล้ว"  [๑๑]

 

 

            ส่วนการที่โปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามใหม่เป็น พระวรราชชายา ในตอนปลายรัชสมัยนั้น คงจะมีพระราชประสงค์ที่จะโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี เมื่อทรงมีพระราชกุมาร ดังที่นายแพทย์แมนเดลสัน (R. W. M. Mendelson) ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลกลางซึ่งเป็นผู้ถวายผ่าตัดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวทรงพระประชวรครั้งที่สุดก่อนเสด็จสวรรคต ได้บันทึกไว้ใน "Professional Record of The Last Illness of His Majesty Rama VI, King of Siam" ซึ่งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ "บันทึกของหมอแมนเดลสัน ผู้ถวายการผ่าตัดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ว่า เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ใกล้จะมีพระประสูติการ "ทางราชการเตรียมการไว้อย่างเต็มที่ ถ้าพระนางเจ้าฯ มีพระประสูติการเป็นพระราชโอรส ทหารปืนใหญ่ที่ท้องสนามหลวงจะยิงสลุต ๑๐๑ นัด พระสงฆ์จะชยันโตทั่วประเทศ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าองค์เล็กเป็นพระราชธิดา เรื่องเหล่านั้นจึงระงับไป มีประโคมด้วยดนตรีเพียง ๘ นาที อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พอพระราชหฤทัยรับสั่งกับหมอว่า "The next time it would be a boy"  [๑๒]

 

            อนึ่ง การที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ พยายามเปรียบเทียบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนิทสนมกับมหาดเล็กมากกว่าข้าราชสำนักฝ่ายใน เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ก็มีข้อที่ควรพิจารณาว่า สตรีไทยในยุคก่อนนั้นมีโอกาสได้เล่าเรียนเขียนอ่านน้อยมาก เรื่องราวในพระราชสำนักฝ่ายในจึงไม่เคยมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จนล่วงเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ข้าราชสำนักฝ่ายในได้เล่าเรียนเขียนอ่านกันมากขึ้น จากนั้นจึงเริ่มมีการบันทึกเรื่องราวภายในพระราชสำนักฝ่ายในเป็นลายลักษณ์อักษรออกเผยแพร่ แต่ในส่วนของบุรุษนั้นถึงแม้จะได้เล่าเรียนจนอ่านเขียนได้คล่องกันมาช้านาน แต่ก็ไม่ใคร่จะมีมหาดเล็กคนใดบันทึกเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฝ่ายหน้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะมีข้อปฏิบัติของมหาดเล็กที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า "การนำความในของเจ้าไปเล่าภายนอกนั้น เจ้าก็ไม่พอพระหฤทัย ทั้งผู้ที่ฟังก็ไม่นับถือผู้เล่า กลับจะเห็นเป็นคนเลวอันห้ามปากตนเองไม่ได้ แต่เขาคบก็เพราะเขาประสงค์จะใช้เป็นเครื่องมือของเขาเท่านั้น"  [๑๓]  ทั้งผู้ที่นำความในของเจ้านายออกไปแพร่งพรายที่ภายนอกนั้นยังจะต้องรับโทษทัณฑ์ที่ร้ายแรง

 

            ฉะนั้นเมื่อมีการนำเรื่องราวการปฏิบัติราชการของข้าราชสำนักฝ่ายในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกมาเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่เรื่องราวในพระราชสำนักฝ่ายหน้าแทบจะไม่มีผู้ใดกล่าวถึง คนรุ่นหลังที่ไม่มีพื้นความรู้เรื่องขนบประเพณีในพระราชสำนักมาก่อน เมื่อได้อ่านแต่บันทึกเรื่องราวภายในพระราชสำนักฝ่ายในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็มักจะหลงเข้าใจผิดไปว่า การถวายการรับใช้บางอย่าง เช่น การถวายงานนวดนั้นต้องเป็นหน้าที่ของข้าราชสำนักฝ่ายในเท่านั้น ทั้งที่ในตำแหน่งราชการกรมแพทย์ในพระราชสำนักในรัชกาลก่อนๆ มา ก็มีทั้งกรมหมอยา กรมหมอนวด กรมหมอกุมาร ฯลฯ ทั้งยังมีบรรดาศักดิ์สำหรับข้าราชการในกรมต่างๆ เหล่านี้ในบทพระไอยการตำแหน่งนาข้าราชการมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วย

 

 
 

*******************

 

 


[ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๖๙.

[ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล)

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทรงเป็นพระมาตุลาและทรงเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในเวลานั้น

[ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายกวด หุ้มแพร

[ พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๖๙ - ๒๗๐.

[  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๑.

[ ]  "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๑.

[ ]  พระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี แพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  หลวงไวทเยศรางกูร (ม.ล.เชื้อ อิศรางกูร) สูตินรีแพทย์

[ ๑๐ ]  พระยาอัศวินอำนวยเวทย์ อาร์ ปัวซ์ (A. Poix) นายแพทย์สัญชาติฝรั่งเศส

[ ๑๑ ]  รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ, หน้า ๑๙ - ๒๖.

[ ๑๒ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. "บันทึกของหมอแมนเดลสัน ผู้ถวายการผ่าตัดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว", มานวสาร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๗ (กรกฎาคม ๒๕๒๙), หน้า ๒๓ - ๓๖.

[ ๑๓ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. "พระบรมราโชวาท เรื่อง มหาดเล็ก", เรื่องมหาดเล็ก ของ กรมศิลปากร, หน้า ๙๕.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |