โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๕. พระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑)

 

 

          ในบทที่ ๒ ของหนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้กล่าวถึงลักษณะโครงสร้างพระราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกล่าวพาดพิงไปว่า พระราชสำนักฝ่ายหน้าในรัชสมัยนี้เป็นเสมือนพระราชสำนักฝ่ายใน ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ข้าราชบริพารฝ่ายหน้าหรือผู้ชายแทนข้าราชบริพารฝ่ายในหรือผู้หญิงเช่นในรัชกาลที่ผ่านมา โดยกล่าวถึง "ที่รโหฐาน" ในพระราชสำนักรัชกาลที่ ๖ ไว้ว่า

 

 

          "ขณะที่รัชกาลที่ผ่านมา กษัตริย์ทรงใช้พระราชสำนักฝ่ายในเป็นพื้นที่รโหฐานเพื่อประทับและทรงพระสำราญร่วมกับนางในหญิงสาว แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นพื้นที่ส่วนพระองค์เพื่อทรงพระสำราญร่วมกับบรรดาพระสหายชายหนุ่มด้วยการประกาศว่าในพระราชวังและสโมสรสถานสมาคมภายในพระราชวัง สวนหลวง และที่ดินที่ติดต่อกับพระราชฐานให้เป็น "ที่รโหฐาน" "  []

 

 

          ที่รโหฐาน

 

          "พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยที่ระโหฐานในพระราชสำนักนิ์" ได้ให้คำจัดความคำว่า "ที่รโหฐาน" ไว้ว่า

 

               "ข้อ ๑ ที่ระโหฐานแปลว่าที่ลับลี้ ที่เงียบ จึงเปนที่สำราญ แลผู้คนไม่พลุกพล่าน

                ข้อ ๒ พระราชวังทุกแห่ง สวนหลวงฤาที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐาน ให้ถือว่าเปนที่ระโหฐานทั่วไป ถึงวังเจ้านายฤาบ้านข้าราชการ ตลอดจนถึงบ้านราษฎรก็ย่อมเปนที่ระโหฐานแห่งเจ้าของ"  []

 

 

          มูลเหตุของการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยที่ระโหฐานในพระราชสำนักนิ์นี้ เป็นเพราะแต่เดิมมาในบริเวณพระราชฐานชั้นนอกนั้นมีแต่ศาลาลุกขุนเป็นสถานที่ทำการของกรมพระกระลาโหม และกรมมหาดไทย มีนายเวรรับราชการประจำอยู่ที่ศาลาลูกขุนคอยรับใบบอกที่มาจากหัวเมืองทั้งที่ศาลาลูกขุนฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ก่อนที่จะนำเรียนสมุหพระกระลาโหมและสมุหนายกเพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเวลาเสด็จออกขุนนาง แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนระเบียบวิธีจัดการปกครองแผ่นดินจากระบบจตุสดมภ์มาเป็นกระทรวงเสนาบดีแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศใช้อาคารในบริเวณพระราชฐานชั้นนอกเป็นศาลาว่าการกระทรวงนั้นๆ ทำให้มีข้าราชการพลเรือนที่มิใช่ข้าราชสำนักเข้าไปประจำปฏิบัติราชการในพระราชฐานชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น

 

 

ศาลาลูกขุนในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งต่อมาเป็นศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

          "ต่อมาเกิดมีข้าราชการบางจำพวก ซึ่งมีความคิดความเห็นเปนอย่างที่ตนเองเข้าใจว่าเปนอย่างใหม่ สำคัญคิดว่าตนมีวิชาความรู้ดีกว่าบิดามารดาปู่ย่าตายายของตน คนจำพวกนี้ดูเหมือนจะเข้าใจไปเสียว่า พระราชวังเปนสาธารณสถาน คือเปนที่ใครจะไปจะมาเมื่อใดๆ ก็ได้ตามใจ แลโดยความทะเยอทะยานของตนที่จะเสนอน่ากับคนอื่น เห็นใครเข้าได้ถึงไหนก็จะเข้าไปถึงบ้าง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินโดยทรงพระมหากรุณาแก่ข้าราชการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าได้โดยเสมอน่ากัน อย่างมากที่สุดที่จะพึงจัดให้เปนไปได้ แต่ถ้าแม้ว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการทุกคนเฝ้าได้ทุกแห่งไปก็เปนการฟั้นเฝือเหลือเกิน แลสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็จะไม่ทรงมีเวลาที่จะทรงพระราชสำราญโปร่งพระราชหฤทัยได้บ้างเลย จึงต้องมีกำหนดขีดขั้นว่าที่นั้นๆ เพียงนั้นๆ เปนที่ระโหฐาน ฤาเรียกตามศัพท์ที่เข้าใจกันอยู่โดยมากว่าเปนข้างในในที่เช่นนี้ ในชั้นต้นมีกำหนดเข้าใจกันอยู่ว่า เฉภาะข้าราชการในพระราชสำนักนิ์เท่านั้นจึงจะเข้าไปได้ ครั้นต่อมาข้าราชการมีจำนวนมากขึ้นความรู้ในขนบธรรมเนียมแลพระราชนิยมก็ไม่มีทั่วถึงกัน จึงเกิดมีความเข้าใจผิดไปได้ต่างๆ"  []

 

 

          ฉะนั้นการที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวถึงที่รโหฐานว่า "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นพื้นที่ส่วนพระองค์เพื่อทรงพระสำราญร่วมกับบรรดาพระสหายชายหนุ่มด้วยการประกาศว่าในพระราชวังและสโมสรสถานสมาคมภายในพระราชวัง สวนหลวง และที่ดินที่ติดต่อกับพระราชฐานให้เป็น "ที่รโหฐาน" "  []  นั้น จึงเป็นการตีความที่ผิดไปจากพระราชประสงค์ที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยที่ระโหฐานในพระราชสำนักนิ์โดยสิ้นเชิง

 

 

          การคัดเลือกผลิตบุคลากรเข้ารับราชการในภาครัฐ

 

          ส่วนเรื่องที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้นำเสนอเรื่องการคัดเลือกบุคลากรเข้ารับราชการในภาครัฐโดยกล่าวว่า "เมื่อมีพระราชประสงค์จะคัดเลือกตัวบุคคลออกไปบริหารงานต่างพระเนตรพระกรรณในหัวเมืองต่างๆ ตามพระบรมราโชบายมักทรงคัดเลือกจากมหาดเล็ก เนื่องจากทรงรู้จักนิสัยใจคอ ความประพฤติ บุคลิก สติปัญญาความสามารถ จนไว้วางพระราชหฤทัย"  [] นั้น ก็เคยเป็นความจริงสำหรับช่วงเวลาหนึ่ง เพราะเมื่อมีการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับมีการจัดระเบียบปกครองแผ่นดินเป็นระบบกระทรวง และโปรดเกล้าฯ ให้เลิกประเพณีการเสด็จออกขุนนางโดยเปลี่ยนมาเป็นการประชุมเสนาบดีทุกสัปดาห์แทนแล้ว การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการจึงเริ่มเปลี่ยนไปรับนักเรียนที่จบการศึกษาจากระบบโรงเรียน และเมื่อมีการจัดตั้งสำนักฝึกหัดราชการฝ่ายพลเรือนขึ้นในกระทรวงมหาดไทยเพื่อฝึกหัดนักเรียนออกรับราชการแล้ว การคัดสรรมหาดเล็กออกไปประจำรับราชการในหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐก็หมดความสำคัญลง แต่เพื่อรักษาพระราชประเพณีเดิมไว้ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้นักเรียนฝึกหัดราชการฝ่ายพลเรือนที่สำเร็จการศึกษาแล้วได้ถวายตัวก่อนออกไปประจำรับราชการในหัวเมือง ซึ่งเมื่อมีพระราชดำริเห็นชอบด้วยกับความเห็นของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว นักเรียนฝึกหัดราชการฝ่ายพลเรือนจึงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมีตำแหน่งเฝ้าในฐานะมหาดเล็กหลวงสืบมา ส่วนสำนักฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือนของกระทรวงมหาดไทยก็ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนมหาดเล็ก" มาแต่บัดนั้น ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามลำดับ

 

          เมื่อหมดความจำเป็นที่จะโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กหลวงออกไปประจำรับราชการในหน่วยราชการอื่นๆ นอกพระราชสำนักเช่นในอดีตแล้ว แต่ก็ยังคงมีความจำเป็นที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเลือกใช้มหาดเล็กที่ทรงรู้จักนิสัยใจคอ ความประพฤติ บุคลิก สติปัญญาความสามารถจนเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย จึงต้องมีการคัดเลือกมหาดเล็กไปรับราชการในส่วนราชการอื่นในพระราชสำนัก ดังความปรากฏในหนังสือของเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี [] (นพ ไกรฤกษ์) หัวหมื่นมหาดเล็กเวรศักดิ์ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ตอนหนึ่งว่า "บางนายที่อ่อนแอไม่ว่องไวพอจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่มหาดเล็กตลอดไปได้ ควรเลื่อนไปยังกรมใดกรมหนึ่ง เช่น กรมพระตำรวจ"  []

 

          ฉะนั้นการที่มหาดเล็กในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ออกไปรับราชการในส่วนราชการอื่นนอกพระราชสำนักจึงมิใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด นอกจากนั้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบปกครองหัวเมือง

 

 

          "ซึ่งแต่เดิมอุปราชและสมุหเทศาภิบาล มีสังกัดทางกระทรวงมหาดไทย ผู้ไม่มียศทหารก็พระราชทานยศฝ่ายพลเรือนเป็นชั้นมหาอำมาตย์ แต่ภายหลังเพื่อจะให้อุปราชและสมุหเทศาภิบาลเป็นข้าราชการรับผิดชอบในราชการทุกกระทรวงทะบวงกรมตามหน้าที่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงโปรดเล้าฯ ให้อุปราชและสมุหเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ เปลี่ยนมาสังกัดกระทรวงวังใช้ยศทางราชสำนักคือ ยศชั้นมหาเสวกบ้าง ยศชั้นจางวาง (มหาดเล็ก) บ้าง ส่วนผู้ที่มียศทหารอยู่แล้วให้ใช้ยศทหาร"  []

 

 

จางวางเอก เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

แต่งเครื่องแบบเต็มยศขาว จางวางเอกกรมมหาดเล็ก

 

 

          นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศมหาดเล็กแก่ข้าราชการฝ่ายพลเรือนในสังกัดกระทรวงต่างๆ ซึ่งท่านที่ได้รับพระราชทานยศมหาดเล็กนั้นต่างก็ถือกันว่า เป็นผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพิเศษเหนือข้าราชการพลเรือนสามัญทั่วไป และมักจะแต่งเครื่องยศมหาดเล็กเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทหรือในเวลาปฏิบัติราชการประจำเสมอๆ ดังเช่น จางวางเอก เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม จางวางเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ จางวางโท พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (รื่น ศยามานนท์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ รองหัวหมื่น เจ้าราชบุตร (น้อยแก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) ผู้รั้งเจ้านครลำปาง จ่า พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ใน "พ.ศ. ๒๔๖๘ ปีสวรรคต มีข้าราชการสัญญาบัตรกรมมหาดเล็กมีจำนวนทั้งหมด ๘๙๐ คน และมีข้าราชการนอกจากชั้นสัญญาบัตร ๑๑๒ คน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าข้าราชการกระทรวงอื่นหลายกระทรวง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงทหารเรือ"

 

          ส่วนเรื่องที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวว่า มหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น "บางคนก็เป็นเจ้าลาวที่เป็นประเทศราช บางคนก็เป็นเชื้อจีนลูกจีน บางคนก็เป็นลูกเสือต่างจังหวัดที่ตามเข้ามากับกองลูกเสือ บางคนก็เป็นลูกหลานชาวปักษ์ใต้ บางคนก็ติดหน้าตามหลังข้าราชการผู้ใหญ่เข้ามา"  [] นั้น หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า เจ้าลาวประเทศราชที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กนั้น ปรากฏความในพระราชหัตถ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๔. ว่า "พระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ได้ส่งพระบริรักษโยธี  [๑๐] ผู้ว่าราชการเมืองแพร่ กับพระยาบุรีรัตน์ ลงมารับถึงอุตรดิษฐ์ ทั้งได้จัดส่งบุตรหลานเจ้านายลงมาเปนมหาดเล็กตามเสด็จด้วยอีก ๔ นาย คือ วงษตวัน [๑๑] บุตรเจ้าอุปราช  [๑๒] เมืองเชียงใหม่ ๑ น้อยไชยวงษ  [๑๓] บุตรเจ้าราชวงษ  [๑๔] นครลำพูน ๑ น้อยแก้วเมืองพรวน [๑๕] บุตร์เขยเจ้านครลำปาง ๑ เจ้าราชดนัย  [๑๖]  บุตรพระเจ้าน่าน ๑"  [๑๗]  ส่วนลูกหลานชาวปักษ์ใต้นั้นก็ปรากฏความในจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ว่า บิดาของเด็กนั้นได้ถวายบุตรของตนเป็นมหาดเล็ก นี้ย่อมเป็นพยานแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่พระราชทานแก่บรรดาข้าราชการและพ่อค้าผู้อุทิศตนทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงได้ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงบุตรหลานของท่านเหล่านั้นเป็นการตอบแทน

 

          แต่ในประเด็นที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวว่า "พระราชสำนักของรัชกาลที่ ๖ จึงไม่ได้มีสำนักชัดเจนเหมือนพระราชสำนักของรัชกาลที่ผ่านมา เช่น ในรัชกาลที่ ๕"  [๑๘]  นั้น โดยขนบประเพณีแต่โบราณมา กุลบุตรจะถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนกุลสตรีนั้นจะถวายตัวเป็นคุณข้าหลวงในพระอัครมเหสี ฉะนั้นการที่กุลบุตรถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรงจึงเป็นเรื่องปกติของราชสำนักสยาม ส่วนการที่ไม่มี "สำนัก" ในพระราชสำนักฝ่ายหน้านั้นก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะมหาดเล็กหลวงทั้งหมดล้วนเป็นข้ารับใช้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หาได้เป็นข้ารับใช้ในพระอัครมเหสีพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเช่นข้าราชสำนักฝ่ายใน

 

 

 


[ ]  "นายใน", สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๙

[ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยที่ระโหฐานในพระราชสำนักนิ์, ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ (๒๓ มิถุนายน ๑๓๑, หน้า ๑๐๐ - ๑๐๖.

[ ]  เรื่องเดียวกัน.

[ "นายใน", สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๙.

[ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๐.

[  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ อ.๑๗/๑๐ เรื่องสัญญาบัตร เครื่องราชอิศริยาภรณ์ ประทวน และเหรียญ ทางกรมพระตำรวจและกรมมหาดเล็ก (๖ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๙ - ๒๖ กันยายน ๑๒๙).

[ ]  "ประวัติเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี", พระราชหัตถเลขา ถึง เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล), หน้า ซ.

[ ]  "นายใน", สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๒๑.

[ ๑๐ ]  นามเดิม เวท ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิริยพิชัย แล้วต้องพระราชอาญาถูกถอดจากยศบรรดาศักดิ์

[ ๑๑ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น เจ้าราชบุตร นครเชียงใหม่

[ ๑๒ ]  นามเดิม แก้ว ณ เชียงใหม่ ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น เจ้าแก้วนวรัฐฯ เจ้านครเชียงใหม่ที่ ๙

[ ๑๓ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น เจ้าอุตรการโกศล นครลำพูน

[ ๑๔ ]  นามเดิม หนานไชยเทพ หรือบุญเป็ง ธนัญชยานนท์

[ ๑๕ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น เจ้าราชบุตร นครลำปาง แล้วได้เป็นผู้รั้งเจ้านครลำปางต่อจากเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต

[ ๑๖ ]  นามเดิมน้อยยอดฟ้า ณ น่าน

[ ๑๗ ]  หอวชิราวุธานุสรณ์. พระราชหัตถเลขสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๔.

[ ๑๘ ]  "นายใน", สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๒๑.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |