โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๖. พระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒)

 

 

          ส่วนราชการกรมมหาดเล็ก

 

          สำหรับประเด็นที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวถึง สภาผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก ที่เรียกกันว่า สภาจางวางมหาดเล็ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นสภากรรมการโดรงเรียนมหาดเล็กหลวงด้วยนั้น คงต้องย้อนกลับไปดูว่า เมื่อต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ราชการของมหาดเล็กยังคงจัดเป็น ๔ เวร คือ เวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ เวรเดช หน้าที่ราชการที่มีทั้ง ๔ เวรนั้นเหมือนกัน แต่ผลัดกันเข้าเวรปฏิบัติราชการเป็นเวรข้างขึ้นข้างแรม และมีเวลาผลัดเปลี่ยนกันใน ๔ เวร ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๔๐ แล้ว

 

 

          "ทรงพระราชดำริว่าสมควรจะเปลี่ยนแปลงจัดระเบียบราชการกรมมหาดเล็กขึ้นใหม่ เพราะแต่เดิมมานั้นการปกครองกรมมหาดเล็กมีจางวาง ๒ และหัวหมื่น ๔ เป็นผู้ช่วย แบ่งมหาดเล็กออกเป็น ๔ เวร เรียกว่าเวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ และเวรเดช ส่วนข้างขึ้น ๒ เวรเป็นของเวรศักดิ์และเวรฤทธิ์ผลัดเปลี่ยนกัน ข้างแรม ๒ เวรเป็นของเวรสิทธิ์และเวรเดชผลัดเปลี่ยนกัน เวรข้างขึ้นมีผู้รับราชการ คือหลวงนาย ๒ คนจ่า ๒ คน มหาดเล็กหุ้มแพร ๑๐ คน และนายรองมีชื่ออย่างหุ้มแพรอีก ๑๐ คน มหาดเล็กวิเศษมหาดเล็กยามและสารวัตรตามสมควร ส่วนเวรข้างแรมนั้นมีผู้รับราชการเช่นเดียวกับเวรข้างขึ้น การที่มหาดเล็กมารับราชการตามเวรข้างขึ้นข้างแรมนี้ก็เป็นการผลัดเปลี่ยนหน้ากันมาปฏิบัติราชการ มิได้มีตำแหน่งหน้าที่ประจำตัว

 

          อนึ่งทรงพระราชดำริว่าควรจะแยกหน้าที่มหาดเล็ก เพื่อให้ปฏิบัติราชการรัดกุมขึ้น ให้มีผู้รับราชการเป็นส่วนๆ และรับผิดชอบไม่ปะปนกัน เป็นเหตุหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง มีพระราชประสงค์ที่จะนำแบบอย่างขนบธรรมเนียมในราชสำนักแห่งประเทศต่างๆ มาใช้ โดยดัดแปลงให้เหมาะสมไม่ขัดต่อราชประเพณี เพื่อไว้รับรองเจ้านายต่างประเทศที่จะเสด็จเข้ามาเยี่ยมประเทศสยาม ส่วนราชประเพณีทางพระราชพิธีแต่เดิมเคยมีอยู่อย่างไร ก็ให้ดำรงไว้เพื่อรักษาระเบียบประเพณีของชาติ

 

          จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ทรงบัญชาการกรมมหาดเล็กทั่วไป มีตำแหน่งหัวหน้าบังคับการดังนี้

               เวรศักดิ์ คือ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

               เวรสิทธิ์ คือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช

               เวรฤทธิ์ คือ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ

               เวรเดช คือ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์

 

 

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์)

จางวางมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง นายจ่ายวด และได้คามเสด็จเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐

 

 

          และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายจ่ายวดผู้ซึ่งได้ตามเสด็จประพาสยุโรปและได้รู้ได้เห็นระเบียบแบบแผนในราชสำนักต่างประเทศ ในยุโรปมาแล้วให้เป็นผู้บังคับการมหาดเล็กเวรศักดิ์ ยกบรรดา จ่า หุ้มแพร นายรอง มหาดเล็กวิเศษ และสารวัตรที่เคยแยกกันอยู่ใน ๔ เวร มารวมอยู่ในเวรศักดิ์เวรเดียว เป็นเวรประจำรับใช้เฉพาะในพระองค์ ให้ฝึกหัดกิริยามารยาทมหาดเล็กในเวลาตั้งเครื่องราชูปโภค และในเวลาตั้งเครื่องเสวยรับรองเจ้าต่างประเทศเป็นต้น ให้คล่องแคล่วแนบเนียน ไม่เก้อเขินสะทกสะท้าน และจัดสถานที่รับรองตามแบบอย่างในยุโรป ตลอดจนเป็นหน้าที่ดูแลรักษาคลังวรภาชน์ และครัวพระข้าวต้น

 

          ในการจัดเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติราชการของมหาดเล็กรับใช้ให้ทันสมัยขึ้นครั้งนั้น รู้สึกว่าเป็นการใหญ่ซุ่ซ่า มีท่านผู้ใหญ่ๆ สนใจคอยเพ่งดูกิจการที่ได้จัดขึ้นใหม่นั้นจะสำเร็จเป็นผลดีเพียงไรหรือไม่ แต่ทั้งนี้ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ การปกครองบังคับบัญชาและกิจการดำเนินไปเป็นที่เรียบร้อย สมพระราชประสงค์ทุกประการ ส่วนมหาดเล็กอีก ๓ เวร คือ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ และเวรเดชนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯให้จัดหน้าที่ใหม่เป็นส่วนๆ คือ เวรสิทธิ์รวมชั้นมหาดเล็กยาม เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาพระที่นั่งและรับใช้การงานโยธา เวรฤทธิ์เป็นหน้าที่ราชพาหนะ คือรถม้า และการมมหรศพ เวรเดชเป็นหน้าที่ปลัดบัญชีและทะเบียน"  []

 

 

          ส่วนตำแหน่งบังคับบัญชาราชการในกรมมหาดเล็กนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหน้าที่จางวางมีตำแหน่งยศเป็นพระยาและเจ้าพระยา และเมื่อจัดหน้าที่ราชการกรมมหาดเล็กใน พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น ได้ทรงกำหนดอำนาจหน้าที่ของจางวางมหาดเล็กไว้ ดังนี้

 

 

          "(๑) จางวางมีหน้าที่อันจะเป็นผู้ชี้ขาดผิดและชอบในกรมมหาดเล็ก และเป็นผู้แนะนำขนบธรรมเนียมและตรวจตราจริตกิริยามหาดเล็ก อันจะเข้าสู่หน้าพระที่นั่ง ฯ ท้องพระโรงที่เสด็จออกก็ดี ที่ประพาสก็ดี และเป็นผู้รวบรวมบัญชีระเบียบยศ ระเบียบตำแหน่ง จำนวนคน และอายุพรรษกาลแห่งข้าราชการในกรมมหาดเล็ก ดังนี้ คือ

 

          (ก) อรรถคดีอันใดอันเกิดแต่หมู่มหาดเล็ก จะเป็นวิวาทโต้เถียงกันส่วนตนก็ดี เกี่ยงแย่งในหน้าที่ราชการก็ดี จางวางเป็นหน้าที่จะชี้แจงผิดและชอบโดยขนบธรรมเนียมแห่งราชการนั้น

 

          (ข) เป็นผู้ตรวจตราจริตกิริยามหาดเล็ก อันจะเข้าเฝ้าทูลละอองให้ประพฤติอาการคล่องแคล่ว มิให้ทำอาการเกะกะอันเป็นที่รำคาญพระเนตรด้วยความฟุ้งซ่านก็ดี ด้วยโฉดเขลาก็ดี หรือเซอะก็ดี เป็นหน้าที่จางวางจะแนะนำและสั่งสอนเฉพาะผู้นั้นอย่าให้กระทำการเช่นนั้นได้

 

          (ค) เป็นผู้รวบรวมบัญชีสำมะโนครัวคนที่มีสังกัดในกรมมหาดเล็กทั้งปวง ทั้ง ๔ เวร ให้รู้ระเบียบผู้ที่เข้าออกไปมาดังนี้ ๑. เวรนั้น ๒. ชื่อผู้นั้น ๓. บุตรผู้นั้น ๔. อายุเท่านั้น ๕. ถวายตัวหรือเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กแต่วันเดือนปีนั้น ๖. บ้านอยู่ตำบลนั้น ๗. ประกอบการเลี้ยงชีพอย่างนั้น ๘. ได้รับราชการสิ่งนั้นเมื่อนั้น ๙. ผลของราชการเป็นดังนั้น ๑๐. ออกไปเป็นตำแหน่งในกระทรวง หรือถึงแก่กรรม หรือทุพพลภาพที่จะลาออกจากตำแหน่งเป็นอันควรยกจากบัญชีแต่วันเดือนปีนั้น

 

          (ฆ) เป็นหน้าที่เอาใจใส่สืบสวนความประพฤติของมหาดเล็ก อันรับราชการในชั้นสูง ที่ประพฤติชั่วไม่สมควรแก่การที่จะทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้มีตำแหน่งสูง คือ ๑. เป็นนักเลงสุราอันเสพมึนเมาเนืองนิตย์มิอาจจะละเว้นได้ ๒. เป็นนักเลงบ่อนเบี้ยที่ปรากฏว่าไปเล่นเนืองนิตย์ ๓. เป็นนักเลงติดยาฝิ่น ๔. เป็นโจรมือไว ๕. ทำชู้ด้วยด้วยภรรยาท่านที่ศาลพิพากษาให้แพ้คดี ๖. ต้องคดีถึงล้มละลายให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาตามเหตุผลบรรดาที่ปรากฏจงทุกเรื่องทุกราย สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

 

          (ง) เป็นหน้าที่จะตักเตือนและรับรายงานของมหาดเล็กที่ไปทำการต่างๆ นำกราบบังคมทูลพระกรุณาในโอกาสอันสมควร มีหุ้มแพรพิเศษช่วยราชการในหน้าที่นี้พอสมควร"  []

 

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

 

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบรมราชภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ [] เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ทรง "แยกกิจการส่วนตัวกับกิจการแผ่นดินเปนคนละแพนก"  [] เมื่อทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยพระดำริของเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบราชการในพระราชสำนัก โดยให้แยกราชการในส่วนกรมพระราชพิธี กรมสนมพลเรือน กรมภูษามาลา กรมรองงาน กรมอภิรมย์ราชยาน กรมคลังราชการ ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบการพระราชพิธีต่างๆ ไปสังกัดกระทรวงวังขึ้นการบังคับบัญชาตรงต่อเสนาบดีกระทรวงวัง รวมทั้งได้โปรดเกล้า ให้รวมส่วนราชการอื่นๆ ในพระราชสำนักที่มิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพระราชพิธีและมิได้เป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทโดยเฉพาะเหมือนกรมมหาดเล็ก แต่เป็นกรมอิสระที่เคยขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ เช่น กรมพระคชบาล กรมพระตำรวจ ซึ่งต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามใหม่เป็น "กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์", กรมวังนอก (ทหารชาววัง) ซึ่งมีหน้าที่รักษาพระราชวัง และได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็น "กรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" มารวมไว้ในสังกัดกระทรวงวังแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกแผนกฎีกาในกรมราชเลขานุการ กับศาลรับสั่งในกระทรวงวัง มารวมตั้งเป็นกรมพระนิติศาสตร์ ในสังกัดกระทรวงวัง รวมทั้งได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมงานประณีตศิลปกรรมที่เดิมกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มารวมเป็นกรมศิลปากร ขึ้นสังกัดในกระทรวงวังด้วย

 

 

 


[ ]   บุรุษรัตน, หน้า(๒๕) - ๒๗).

[ ]  "แบบเรียนราชการกรมมหาดเล็ก", เรื่องมหาดเล็ก ของ กรมศิลปากร, หน้า ๒๐ - ๒๑.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

[ ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๘๐.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |