โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๒. พระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๘)

 

 

เวรถูกกริ้ว

 

          มหาดเล็กกองตั้งเครื่องและกองห้องพระบรรทมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะมีเวรผลัดเปลี่ยนกันเข้ารับราชการแล้ว ยังมีเวรอีกชนิดหนึ่งสำหรับมหาดเล็กกองตั้งเครื่องที่เรียกกันในเชิงล้อเลียนว่า "เวรถูกกริ้ว" ซึ่งมีความหมายว่า มหาดเล็กที่เข้าเวรปฏิบัติราชการประจำแล้วถูกกริ้วจนกลายเป็นเรื่องปกติ แม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีเวรในทำนองเดียวกันนี้ แต่เรียกกันว่า "เวรเข้า นั้นหมายว่า ถูกกริ้ว ฤาถูกโกรธ คำว่าออกเวร ก็มีความหมายว่า พ้นจากที่ต้องถูกเกนให้ทำ ฤาพ้นจากที่กังวล ฤาพ้นจากที่อยู่ในบังคับ"  []

 

          การที่ทรงกริ้วมหาดเล็กที่เข้าเวรถวายการรับใช้นั้น กล่าวกันว่าเป็นเพราะมีพระราชประสงค์จะทรงเย้าแหย่บรรดามหาดเล็กที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงมาแต่เด็กให้รู้สึกโกรธ เป็นการพระราชทานการอบรมอุปนิสัยของบรรดามหาดเล็กนั้นให้รู้จักระงับความโกรธประการหนึ่ง แต่อีกเหตุหนึ่งนั้นเกิดจากบรรดามหาดเล็กหนุ่มๆ มักจะใช้เวลาว่างจากราชการไปสนุกกับการเล่นต่างๆ จนถึงกับลืมเวลาที่จะต้องเข้าเวรปฏิบัติราชการ หรือเป็นเพราะปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเฉพาะพระพักตร์ทั้งที่ได้รับการฝึกหัดมาแล้วเป็นอย่างดี จึงเป็นธรรมดาที่จะมีพระราชดำรัสทรงค่อนแคะต่างๆ นานา เพื่อให้รู้สึกหลาบจำ เช่นกรณีที่กำลังกริ้วมหาดเล็ก ๒คน ที่ไปเล่นบิลเลียดที่โต๊ะแพร่งภูธร "ไปแทงผ้าสักหลาดปูโต๊ะของเขาขาดไปตั้ง ๑๐ นิ้วกว่า เจ้าของโต๊ะเขาเรียกค่าเสียหายโดยใช้ผ้าสักหลาดให้เขาทั้งผืนตามกติกาที่เขาวางไว้ ในสมัยนั้นราคาก็เพียงผืนละ ๑๒๐ บาท แต่คนทำขาดไม่ยอมใช้ให้เจ้าของโต๊ะเขาจึงต้องถวายฎีกา พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้วก็กริ้ว ลงท้ายก็ต้องพระราชทานเงินใช้ค่าผ้าสักหลาดให้แก่เจ้าของโต๊ะ ๑๒๐ บาท"  [] ต่อมาในเวลาประทับโต๊ะเสวยคืนนั้น พอทอดพระเนตรเห็นพระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) ที่กำลังเดินโต๊ะเสิรฟอาหารข้าราชการที่นั่งโต๊ะเสวยนั้น ก็มีรับสั่งกับเจ้าพระยารามราฆพว่า "อ้ายนี้ของเฟื้อก็อีกคนหนึ่งเหมือนกัน เมื่อไรมันจะบวชเสียที ไม่เห็นมันมีความรู้ทางพระทางเจ้าอะไรเลย มันรู้แต่พระพุทธเจ้าต่อพระเยซูกี่แต้มเท่านั้น"  []

 

          แต่สำหรับผู้ที่เป็นนักเลงการพนัน เป็นนักเลงผู้หญิง หรือเสพสุราเป็นอาจิณ อันเป็นความประพฤติที่ไม่ต้องด้วยพระราชนิยม ทั้งจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่พระราชสำนักและบุคคลผู้ประพฤติเช่นนั้น อันเป็นการไม่สมควรที่จะให้คงรับราชการในที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอีกต่อไปแล้ว ก็มักจะโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกจากกรมมหาดเล็กไปประจำรับราชการที่กรมมหรสพ กรมพระอัศวราช กรมชาวที่ หรือกระทรวงวัง ซึ่งมีโอกาสเติบโตในราชการน้อยกว่าอยู่ในกรมมหาดเล็ก หรือบางรายถึงกับต้องปลดเป็นกองหนุนรับพระราชทานเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ เช่น กรณีหลวงสถานพิทักษ์ (กุหลาบ โกสุม) ซึ่งโปรดให้ย้ายออกจากกรมมหาดเล็กไปประจำกรมชาวที่เพราะประพฤติตนไม่ต้องด้วยพระราชนิยม แต่สุดท้ายก็ต้องออกจากราชการและถูกถอดจากยศและบรรดาศักดิ์เพราะยังคงประพฤติตนไม่เหมาะสม ครั้นสำนึกผิดและกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณากลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ก็โปรดเกล้าฯ ให้กลับเข้ารับราชการในกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกชวา นี้ย่อมเป็นพยานให้เห็นว่า เมื่อผู้กระทำผิดสำนึกผิดแล้ว ก็มักจะพระราชทานพระมหากรุณาและพระราชทานบำเหน็จในพระองค์ให้เป็นพยานว่า มิได้ทรงผูกใจเจ็บ แต่ต้องทรงลงพระราชอาญาเพื่อให้หลาบจำ

 

 

ส่งกลับกรุงเทพฯ

 

          ส่วนกรณีที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวถึงพระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต) พร้อมมหาดเล็กอื่นอีก ๖ คนที่ต้องรับพระราชอาญาส่งกลับกรุงเทพฯ ในคราวตามเสด็จประพาสประเทศมลายูเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ นั้น นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พันเอก เรวัต เตมียบุตรได้เล่าไว้ใน "เรื่องจริงในอดีต" ว่า เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงสิงคโปร์

 

 

พระตำรวจโท พระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์ สวัสดิ์ – ชูโต)

ผู้ช่วยสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์

 

 

          "ในหลวงประทับที่ตึกกงสุลไทยประจำสิงคโปร์ ส่วนบรรดามหาดเล็กพักอยู่ที่โรงแรมกู๊ดวู๊ดฮอลล์  [] (ซึ่งเดิมเป็นสถานทูตเยอรมัน) ในหลวงไม่ทรงมีเวลาว่างเลย มีผู้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปที่นั่นที่โน่นทุกชั่วโมง มิได้ทรงว่างสักชั่วโมง บรรทมก็ดึก ถึงเวลาเสวยก็ไม่ต้องใช้มหาดเล็ก เพราะการรับรองเขาใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิงคโปร์ ยามทางเราก็ไม่ต้องจัดเฝ้าเขาจัดยามโดยใช้ทหารอังกฤษ ทางการทหารอังกฤษไปตั้งกองเกียรติยศ และจัดวางยามกันทั่วๆ ไป...

 

          เพราะมีเวลาว่างเที่ยวเตร่กันบ้าง มีเหตุเคราะห์ร้ายจนได้ ในวันที่ผู้ว่าราชการสิงคโปร์ทูลเชิญเสด็จเสวยที่ "แรฟเฟิลโฮเต็ล" พร้อมด้วยข้าราชบริพาร เขาได้ทำการ์ดชื่อวางไว้ที่โต๊ะและจัดรถไปรับ เจ้าพระยารามราฆพบอกให้พระวิเศษพจนกร [] (ต่อมาเป็นพระไผทสถาปัต) เป็นผู้บอกชื่อให้ฝรั่งจด บังเอิญลืมบอกไปเสีย ๖-๗ คน คือ

               ๑. พระยาอนุชิตชาญชัย

               ๒. พระยาอิศรา []

               ๓. จมื่นเสมอใจราช  []

               ๔. นายจ่าเรศ (ในรัชกาลที่ ๗ เป็นพระนายสรรเพ็ชร) []

               ๕. นายขันหุ้มแพร (ม.ร.ว.มานพ)  []

               ๖. นายเสนอหุ้มแพร (ในรัชกาลที่ ๗ เป็นพระมหาเทพ) [๑๐]

               ๗. พระดรุณรักษา [๑๑]

 

          ทั้ง ๗ คนจึงไม่มีชื่อนั่งโต๊ะและไม่มีรถมารับ เพราะรถเขาก็แขวนป้ายบอกชื่อคนนั่งด้วยเหมือนกัน เป็นอันว่าท่านทั้ง ๗ คนไม่ได้ไปแน่นอน จึงปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันว่า ไปหาอะไรกินเองและเที่ยวกันดีกว่า

 

          ในหลวงทรงพระพิโรธด้วยทรงคิดว่า ที่มิได้ทรงเห็นบุคคลดังกล่าว ทรงคิดว่าไม่มีความจงรักภักดีและคงไปเที่ยวหาผู้หญิงกันหมด อ้ายพวกนี้อาศัยการตามเสด็จมาเที่ยวเตร่กัน

 

          ณ ที่โต๊ะเสวย ทันใดนั้นเจ้าพระยาธรรมาฯ [๑๒] ก็ได้กราบทูลว่า

          “เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรป ได้เคยมีมหาดเล็กตามเสด็จและประพฤติเช่นนี้ พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงโปรดให้ส่งกลับเมืองไทย มีมาแล้วเป็นตัวอย่าง”

 

          ในหลวงจึงรับสั่งอย่างทันทีว่า

          “นั่น! ต้องเอาอย่างนั้น” แล้วรับสั่งให้เจ้าพระยาธรรมาฯ จัดการส่งมหาดเล็กทั้ง ๗ คนนั้นกลับกรุงเทพฯ

 

          วันรุ่งขึ้นมหาดเล็กที่จะต้องถูกส่งตัวกลับกรุงเทพฯ ได้พากันเข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษ โดยให้เจ้าคุณอนุชิตชาญชัยเป็นหัวหน้านำ เจ้าคุณอนุชิตฯ และมหาดเล็กเข้าไปรออยู่ในห้องพระบรรทม เห็นว่านานนัก จึงขึ้นไปบนพระที่ เจ้าคุณอนุชิตฯ ก็ปลุกพระบรรทมและกราบทูลความจริงที่ไม่ได้รับเชิญจึงไม่ได้ไปนั่งร่วมโต๊ะเสวย พระองค์ไม่ทรงเชื่อ ดังนั้นต่างก็กราบถวายบังคมลากลับ เว้นแต่พระดรุณรักษายังหมอบเฝ้าและขอพระราชทานอภัยโทษจนได้ ประจวบเหมาะกับเวลานั้นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีเสด็จมาถึงทรงทราบเรื่องราว ได้ช่วยกราบทูลขอให้ทรงยกโทษ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่งกลับ ซึ่งมีเจ้าพระยาธรรมาฯ พระยาปฏิพัทธ์ภูบาลได้ดำเนินไปตามพระกระแสรับสั่งเสียแล้ว จึงเป็นอันว่าท่านทั้ง ๗ ต้องถูกส่งกลับกรุงเทพฯ

 

          ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว พระยาอนิรุทธเทวาได้บอกให้บรรดา ๗ สหาย ที่ถูกส่งกลับจากสิงคโปร์เข้าเฝ้าขอพระราชทานอภัยโทษเสียให้แน่นอน เวลานั้นนั่งอยู่พร้อมเฉพาะพระพักตร์แล้ว เพียงแต่ลุกจากเก้าอี้ เข้าไปกราบพระบาทกราบทูลขออภัยโทษก็เพียงพอแล้ว พระดรุณรักษาได้เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นไปเฝ้าตามคำแนะนำของพระยาอนิรุทธฯ ต่อๆ มาก็พระยาอิศราฯ เจ้าหมื่นเสมอใจราช นายจ่าเรศ นายขันหุ้มแพร และนายเสนอหุ้มแพร ตามกันไปเป็นลำดับ

 

          พระยาอนุชิตชาญชัย คนเดียว ไม่ยอมไปขออภัยนั่งสูบไป๊เฉยอยู่ ต่อให้ใครๆ ไปบอกก็ไม่ยอมเชื่อ พร้อมกับพูดว่า

          “ผมไม่มีความผิด จะไปขอโทษทำไม?”

 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นว่า เจ้าคุณอนุชิตฯ ดื้อไม่ยอมขอโทษ ก็ทรงพระพิโรธถึงกับรับสั่งว่า จองหอง ไม่ขอเห็นหน้า ห้ามไม่ให้เข้าเฝ้าอีกต่อไป

 

          พระยาอนุชิตฯ ก็ได้ลงกราบถวายบังคมลา แล้วฉวยหมวกออกเดินไปขึ้นรถยนต์กลับบ้านเลย”  [๑๓]

 

 

          กรณีที่พระยาอนุชิตชาญชัยและคณะไม่ได้รับเชิญไปในการถวายเลี้ยงพระกระยาหารที่จวนผู้สำเร็จราชการประจำสิงคโปร์เมื่อค่ำวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗ นั้น น่าจะเป็นเพราะ "ระหว่างเวลาประทับในเกาะสิงคโปร์ กงสุลเยเนอราล (สยาม) ได้จัดให้บรรดาข้าราชบริพารแยกพักกันอยู่ ๒ ที่ ที่แรฟเฟิลโฮเตลแห่งหนึ่ง ที่กูดวูดฮอลล์ใกล้กับบริเวณที่ประทับนั้นอีกแห่งหนึ่ง"  [๑๔] และเมื่อพระวิเศษพจนกรบอกชื่อผู้ที่จะรับเชิญร่วมโต๊ะเสวยให้ฝรั่งจดนั้น คงจะบอกแต่นามผู้ที่พักอยู่ที่แรฟเฟิลโฮเต็ล โดยลืมนึกถึงผู้ที่พักอยู่ที่กูดวูดฮอลล์ หรืออาจจะเป็นเพราะความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ทางสิงคโปร์ที่คิดว่า กูดวูดฮอลล์นั้นอยู่ใกล้ที่ประทับ ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดรถยนต์ไปรับส่ง จึงทำให้ทั้ง ๗ รายนั้นมิได้รับเชิญไปในงานถวายพระกระยาหารและเป็นเหตุให้ต้องถูกส่งกลับกรุงเทพฯ ดังกล่าว

 

          อนึ่ง เมื่อพิจารณาเทียบเคียงบทลงโทษในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระราชอาญาแก่ขุนหลวงพระยาไกรสีห์ (เทียม บุนนาค) ที่พร้อมกัน "สไตรค์" ด้วยการยื่นหนังสือลาออกจากราชการพร้อมด้วยตุลาการผู้เป็นศิษย์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมอีก ๒๗ คน เมื่อคราวเกิดคดีพญาระกาในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ด้วยเห็นกันว่า เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมผู้เป็นอาจารย์มิได้รับพระราชทานพระมหากรุณา แต่เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จไปทรงระงับเหตุวุ่นวายพร้อมกับทรงเกลี้ยกล่อมให้ตุลาการทั้ง ๒๘ คนนั้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีแต่ขุนหลวงพระยาไกรสีห์เพียงรายเดียวที่ดื้อดึงไม่ขอพระราชทานโทษ จึงต้องรับพระราชอาญาปลดออกจากราชการ ถูกถอดจากยศและบรรดาศักดิ์ รวมทั้งเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานไปทั้งหมด แต่กรณีพระยาอนุชิตชาญชัยนั้นเพียงแต่โปรดเกล้าฯ ให้ออกเป็นกองหนุน คงได้รับพระราชทานเบี้ยเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองหนุนข้าราชการในพระราชสำนักนิ์ รัตนโกสินทรศก ๑๓๑ จึงน่าจะเป็นพยานแสดงให้เห็นชัดว่า การลงพระราชอาญาแก่พระยาอนุชิตชาญชัยครั้งนี้ คงจะมีพระราชประสงค์เพียงสั่งสอนให้พระยาอนุชิตชาญชัยรู้จักละทิฐิมานะลงเท่านั้น

 

 

 


[ ]   "อธิบายคำ", พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ขณะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖), หน้า ๓๕๘.

[ พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช). "ขอฝากความอาลัยด้วยความจริงใจไว้ให้แด่เพื่อน", อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี), หน้า ๒๖ - ๓๔.

[ ]  เรื่องเดียวกัน.

[ ]  พระยาสมบัติบริหาร (เอื้อ ศุภมิตร) ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศมลายู พ.ศ. ๒๔๖๗ ว่า "ระหว่างเวลาประทับในเกาะสิงคโปร์ กงสุลเยเนอราล (สยาม) ได้จัดให้บรรดาข้าราชบริพารแยกพักกันอยู่ ๒ ที่ อีกที่ แรฟเฟิลโฮเตลแห่งหนึ่ง ที่กูดวูดฮอลล์ใกล้กับบริเวณที่ประทับนั้นอีกแห่งหนึ่ง"

[ ]  นามเดิม ประชิต สถาปิตานนท์

[ ]  หัวหมื่น พระยาอิศราธิราชเสวี (เลื่อน บุนนาค) เจ้ากรมกองตั้งเครื่อง

[ ]  เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ดี สุเดชะ) ต่อมาเป็นพระยาสุเทพภักดี

[ ]  เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (ชม วงกาญจน)

[ ]  นายขัน หุ้มแพร (ม.ร.ว.มานพ เกษมสันต์)

[ ๑๐ ]  หุ้มแพร นายเสนองานประภาษ (เนื่อง สาคริก) ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห

[ ๑๑ ]  นามเดิม เพิ่ม เมษประสาท

[ ๑๒ ]  เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง

[ ๑๓ ]  พันเอก เรวัต เมียบุตร. "เรื่องจริงในอดีต", อนุสรณ์งานฌาปนกิจ นายประวิตร บัณฑุรัตน์, หน้า ๑๘๔ - ๑๘๖.

[ ๑๔ ]  เรื่องเดียวกัน

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |