โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๓. จากดุสิตธานีสู่โฮเต็ลพญาไท (๑)

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงส่งนายทหารอาสาที่จะเดินทางไปในงานพระราชสงครามทวีปยุโรป ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว วันรุ่งขึ้นได้เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดเพชรบุรี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่ง ณ พระราชวังบ้านปืน ซึ่งในโอกาสนั้นได้พระราชทานนามพระที่นั่งและพระราชวังนั้นว่า "พระที่นั่งศรเพชรปราสาท" และ "พระรามราชนิเวศน์" ตามลำดับ

 

          ประทับแรมที่พระที่นั่งศรเพชรปราสาท ๖ ราตรีแล้ว จึงแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ เพื่อทรงรักษาโรครูมาติซั่มตามคำแนะนำของแพทย์

 

          ในระหว่างประทับรักษาพระองค์ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญนั้น นอกจากจะทรงพระอักษรสั่งราชการและทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง "ท่านรอง" และ "เสียสละ" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวทหารที่ไปราชการสงครามเช่นเดียวกับทหารอาสาที่ไปงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรปแล้ว ในเวลาเย็นได้เสด็จลงสรงน้ำทะเลและทอดพระเนตรมหาดเล็กรุ่นเด็กๆ อายุ ๑๒ - ๑๖ ปี ที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็น "มหาดเล็กรับใช้" เล่นทรายกันที่ชายหาดจนได้พระราชทานคำแนะนำให้สร้างเป็นเมืองทราย ดังที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มหาดเล็กรับใช้คนหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า

 

 

นักเรียนเสือป่าหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

 

 

          "เมืองทรายมีกำเนิดเมื่อตอนบ่ายของวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เด็กๆ อย่างข้าพเจ้าได้มาเที่ยวชายทะเลก็สนุกยิ่งนัก เราจึงเริ่มขุดทรายเล่นตามภาษาของเด็กๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสรงน้ำทะเล เสด็จลงเห็นพวกเราเล่นอะไรสนุกๆ จึงเสด็จเข้าร่วมวงด้วย เรามีเจ้าชีวิตของเราอยู่ที่นั่นแล้ว จึงกราบบังคมทูลถามอะไรหลายอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบาย พระองค์จึงทรงกลายเป็นเจ้าของโครงการเมืองทรายไป"  []

 

 

           ที่เมืองทรายนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสอนมหาดเล็กเด็กๆ นั้นให้รู้จักวิธีทำน้ำตก วิธีลำเลียงน้ำลอดลำคลองที่เรียกว่า "ไซฟอน" (Siphon) การสูบน้ำดับเพลิง การสูบฉีดน้ำเพื่อการทำเหมืองแร่ การทำน้ำพุและน้ำตก และการทำท่อล้างสิ่งโสโครก

 

           การทรงเล่นที่เมืองทรายนั้นคงจะเป็นเพราะทรงระลึกไปล่วงหน้าแล้วว่า เมื่อสงครามในทวีปยุโรปยุติลงแล้วจะต้องทรงปฏิบัติอย่างไรบ้าง

 

 

           "คงจะต้องทรงหาทางให้ประเทศไทยได้ประโยชน์เมื่อเสร็จสงคราม ซึ่งไม่มีอะไรจะดีกว่าแก้สัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ได้ทำไว้ขณะที่ประเทศสยามอ่อนแอ ถ้าจะให้มหาประเทศเห็นใจ ไทยจะต้องทำตัวเป็นเด็กที่ดี คือพยายามพัฒนาประเทศไปในทางที่ถูกต้อง ได้แก่งาน ๓ อย่าง คือ แก้ประมวลกฎหมายของไทยให้เรียบร้อย ต้องให้การศึกษาบังคับแก่คนไทย และพยายามปรับปรุงประเทศให้หันไปทางเป็นประชาธิปไตย"  []

 

 

ภาพวาดฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          การแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายนั้น ทรงมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมซึ่งมีที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างประเทศไปช่วยกันดำเนินการได้ ด้านการศึกษาภาคบังคับนั้นก็ได้ทรงทมอบหมายให้กระทรวงธรรมการเร่งดำเนินการขยายการศึกษาลงสู่อำเภอและตำบลทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่การปรับปรุงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยนั้น คงไม่มีใครที่จะช่วยปฏิบัติได้ เพราะเวลานั้นมีคนไทยที่พอจะรู้เรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยบ้างก็แต่เพียงผู้ที่สำเร็จการศึกษามาจากต่างประเทศ แต่ประชาชนไทยเกือบทั้งประเทศยังไม่เคยรู้จักว่าประชาธิปไตยคืออะไรเลย ฉะนั้นจึงต้องทรงรับพระราชภาระปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยด้วยพระองค์เอง

 

 

พระที่นั่งอัมพรสถานและพระที่นั่งอุดรภาค (ในวงกลม) พระราชวังดุสิต

 

 

          ในการที่จะทรงสอนเรื่องสิทธิและหน้าที่ รวมถึงการเลือกตั้งอันเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยให้คนที่ไม่เคยมีพื้นความรู้มาก่อนนั้นคงจะเป็นเรื่องยาก แต่คงจะทรงนึกถึงการที่ทรงสอนเด็กๆ สร้างเมืองทรายที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ซึ่งทรงสอนเรื่องที่ยากๆ ให้เด็กเข้าใจได้ด้วยวิธีการ "Play to Learn" หรือการเรียนรู้ด้วยการเล่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต ในตอนเย็นวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว ต่อมาในเย็นวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันบรรจบครบรอบปีที่ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย - ฮังการี ได้เสด็จลงยังที่ว่างรอบพระที่นั่งอุดร ทรงวัดที่และกะวางผังสร้างเมืองจำลองขึ้นในพื้นที่ว่างระหว่างพระที่นั่งอุดรกับอ่างหยก แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวบ้านหรือที่ต่อมาโปรดให้เรียกว่า "ทวยนาคร" จำนวนเกือบ ๓๐๐ คน เข้าจับจองพื้นที่เพื่อสร้างบ้านในเมืองจำลองที่ได้พระราชทานนามเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ว่า "ดุสิตธานี"

 

 

แผนที่เมืองจำลองดุสิตธานีที่พระราชวังดุสิต

 

 

          เมื่อทรงวางผังเมืองจำลองโดยโปรดให้สร้างสวนสาธารณะและภูเขาจำลองขึ้นแล้ว จึงโปรดให้ขุดคูคลอง สร้างถนน สะพาน เพื่อแบ่งพื้นที่ของเมืองจำลองออกเป็นส่วนๆ ทรงกะที่ตั้งพระราชวัง วัด โรงทหาร โรงเรือ โรงพยาบาล ฯลฯ แล้วโปรดให้ทวยนาครเข้าจับจองพื้นที่เพื่อจัดสร้างบ้านและอาคารพาณิชย์ เพราะทรงกำหนดให้พลเมืองหรือทวยนาครของดุสิตธานีซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในพระราชสำนักกับมีข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงนครบาลร่วมสมทบอีกจำนวนหนึ่งนั้น มีถิ่นที่อยู่เป็นของตนเอง ทวยนาครจึงต้องลงทุนปลูกสร้างบ้านหรืออาคารพาณิชย์ของตนลงในพื้นที่ของดุสิตธานี สำหรับผู้ที่มีทุนทรัพย์น้อยไม่สามารถสร้างบ้านเรือนหรือโรงร้านของตนได้ก็อาจจะเช่าบ้านหรือโรงร้านของพระคลังข้างที่หรือของทวยนาครรายอื่น

 

 

อาคารหลากรูปแบบสถาปัตยกรรมในดุสิตธานี

 

 

          อาคารต่างๆ ที่โปรดให้สร้างขึ้นในดุสิตธานีนับร้อยหลังคาเรือนนั้น ล้วนปลูกสร้างขึ้นด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมอันวิจิตร ทั้งแบบไทย จีน แขก ฝรั่ง ญี่ปุ่น แต่ถูกย่อส่วนลงเหลือเพียง ๑ : ๒๐ ของอาคารจริง เมืองจำลองดุสิตธานีจึงมีลักษณะเป็นเสมือนเมืองตุ๊กตาที่คนไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้ นั้น บางส่วนโปรดให้จำลองมาจากอาคารจริงที่ได้เคยทอดพระเนตรมาทั้งในและต่างประเทศ

 

 

 


[ ]  ม.ล.ปิ่น มาลากุล. ประชาธิปไตยแบบต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๘๙.

[ ]  ม.ล.ปิ่น มาลากุล. อัตชีวประวัติ ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, หน้า ๓๑.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |