โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๕. มหาวชิรมงกุฎ

 

 

          "มหาวชิรมงกุฎ" เป็นนามของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด หรือที่ในปัจจุบันเรียกกันเป็นสามัญว่า "สาย ๓" หมายถึงสายสะพายลำดับที่บรรดาข้าราชการจะได้รับพระราชทานเป็นลำดับที่ ๓ ต่อจากประถมาภรณ์มงกุฎไทย และประถมาภรณ์ช้างเผือก ที่เรียกกันว่า "สาย ๑ และสาย ๒" ตามลำดับ

 

          เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทยนี้เริ่มร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลายในดวงตราเป็นรูปจุลมงกุฎบนพานสองชั้นมีเครื่องสูงสองข้าง เมื่อแรกสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ นั้น มีเพียง ๓ ชั้นและรวมอยู่กับตราช้างเผือก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา "พระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยยศอย่างสูง มงกุฎสยาม" ขึ้น โดยกำหนดให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มี ๕ ชั้น มีชื่อเรียกต่างกันตามลำดับ ดังนี้

 

               ชั้นที่ ๑ มหาสุราภรณ์

               ชั้นที่ ๒ จุลสุราภรณ์

               ชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์

               ชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์

               ชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์

 

          และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเหรียญทองและเหรียญเงินมงกุฎสยามเพิ่มเติมเป็นชั้นที่ ๖ และ ๗ ตามลำดับ

 

          ผู้ที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ ๑ นั้น นอกจากพระบรมวงศ์ชั้นสูงแล้ว ผู้ที่จะได้รับพระราชทานตราชั้นนี้เห็นจะมีแต่ข้าราชการผู้ใหญ่ ชั้นเจ้าพระยาเสนาบดี หรือพระยาปลัดทูลฉลองที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ปลัดกระทรวง กับเจ้าประเทศราชและพระยาประเทศราชเท่านั้น ส่วนข้าราชการชั้นอธิบดีหรือเทียบเท่านั้นก็พอมีอยู่บ้างแต่ก็เฉพาะผู้ที่มีความชอบพิเศษในราชการเท่านั้น

 

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่ง มงกุฎสยาม โดยโปรดเกล้าฯ ให้เลิกอัตราสมาชิกแล้วก็ตาม แต่การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ก็ยังคงเข้มงวด หาได้พระราชทานกันดาษดื่นเช่นปัจจุบัน

 

          อนึ่ง ในคราวที่โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีนมีเกียรติยศยิ่ง มงกุฎสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ นั้น ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาตราชั้นสูงสุดขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ให้เป็นคู่กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันที่เชิดชูยิ่ง ช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สถาปนาขึ้นไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระราชทานนามตรามงกุฎสยามชั้นสูงสุดนี้ว่า "มหาวชิรมงกุฎ"

 

          ตรา "มหาวชิรมงกุฎ" นี้ มีดวงตราตรงกลางเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธย่อ ร.ร.๖ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ห้อยกับแพรแถบสีครามแก่ มีริ้วสีขาวสีแดงอยู่ที่ริมขอบเป็นสายสะพาย กับมีดวงดาราที่อักษรพระบรมนามาภิไธยย่อกับเลข ๖ ประดับเพชร สำหรับติดที่อกข้างซ้ายดวง ๑

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเครื่องเต็มยศนายพลเอก นายทหารพิเศษกรมทหารราบเบาเดอรัม

ทรงสายสะพายราชวิคตอเรียน ชั้นที่ ๑ (Knight Grand Cross of the Royal Victorian Order)

 

 

          สายสะพายมหาวชิรมงกุฎนั้นเดิมใช้สะพายบ่าขวาเช่นเดียวกับสายสะพายราชวิคตอเรียน ชั้นที่ ๑ (Knight Grand Cross of the Royal Victorian Order)  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ  เมื่อครั้งประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ  ทั้งยังเป็นสายสะพายสีครามแก่เช่นเดียวกัน  จะต่างกันก็แต่เพียงสายสะพายราชวิคตอเรียนนั้นมีริ้วสีแดงสลับขาวและแดงที่ริมขอบ  ขณะที่สายสะพายมหาวชิรมงกุฎนั้นมีเฉพาะริ้วขาวและแดงที่ริมขอบ  เมื่อรวมกับพื้นสีน้ำเงินหรือครามแก่ตรงกลางสายสะพายนี้จึงมีสีเช่นเดียวสีธงไตรรงค์ธงชาติไทย

 

          ความเหมือนกันอีกประการหนึ่งนั้นเห็นจะได้แก่ เรื่องที่กล่าวกันว่า “ทรงหวงยิ่งนัก”  ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน "เกิดวังปารุสก์" ว่า

 

 

ดาราและสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ราชวิคตอเรีย ชั้นที่ ๑

Knight Grand Cross of The Royal Victorian Order

 

 

 

          สายสะพายมหาวชิรมงกุฎนั้นเดิมใช้สะพายบ่าขวาเช่นเดียวกับสายสะพายราชวิคตอเรียน ชั้นที่ ๑ (Knight Grand Cross of the Royal Victorian Order) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ เมื่อครั้งประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ทั้งยังเป็นสายสะพายสีครามแก่เช่นเดียวกัน จะต่างกันก็แต่เพียงสายสะพายราชวิคตอเรียนนั้นมีริ้วสีแดงสลับขาวและแดงที่ริมขอบ ขณะที่สายสะพายมหาวชิรมงกุฎนั้นมีเฉพาะริ้วขาวและแดงที่ริมขอบ เมื่อรวมกับพื้นสีน้ำเงินหรือครามแก่ตรงกลางสายสะพายนี้จึงมีสีเช่นเดียวสีธงไตรรงค์ธงชาติไทย
ความเหมือนกันอีกประการหนึ่งนั้นเห็นจะได้แก่ เรื่องที่กล่าวกันว่า "ทรงหวงยิ่งนัก" ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน "เกิดวังปารุสก์" ว่า

 

 

          "ตราราชวิกตอเรียนั้น ควีนวิกตอเรียทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๙... เนื่องด้วยอังกฤษมีตราถึง ๙ อย่าง และเขานับสูงต่ำกันด้วยอายุของตรา ตราวิกตอเรียเป็นตราเกือบใหม่ที่สุด ว่าตามกฎแล้วจึงนับว่าต่ำมาก แต่สำหรับคนอังกฤษเขาไม่คิดว่าเช่นนั้น เพราะได้ยากยิ่ง สำหรับชั้น ๑ แล้ว นอกจากเป็นข้าราชสำนัก กว่าจะได้มักจะได้ตราชั้น ๑ อื่นๆ อันเป็นที่ว่าสูงกว่ามาก่อนแล้ว ฉะนั้นจึงจะเปรียบต่ำสูงกับตราอื่นไม่ได้ ก่อนข้าพเจ้าเคยมีตนไทยดานี้ชั้น ๑ สองพระองค์เท่านั้นคือ ทูลหม่อมลุง  [] กับพ่อ  [] ภายหลังข้าพเจ้า พระองค์อาทิตย์  [] จะยังได้รับอีกพระองค์หนึ่ง และเท่าที่ข้าพเจ้าทราบทรงเป็นพระองค์เดียวที่ได้รับตรานี้ โดยมิได้เคยคุ้นกับพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษองค์หนึ่งองค์ใด"  []

 

 

          ในส่วนของตรา "มหาวชิรมงกุฎ" นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ก็ "ทรงหวงแหนนักไม่ค่อยจะพระราชทานผู้ใด" จึงปรากฏว่า ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงเลือกพระราชทานเฉพาะพระบรมวงศ์และเจ้าพระยาเสนาบดีบางพระองค์และบางท่านที่ทรงสนิทเสน่หาและทรงเคารพย่องเหนือผู้อื่น ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานนั้นก็ล้วนเป็นผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์แก่แผ่นดินและเป็นผู้ที่ทรงคุ้นเคยเป็นพิเศษ ดังมีรายพระนามและนามเรียงลำดับตามปีที่ได้รับพระราชทาน ดังนี้

 

          ฝ่ายหน้า

               วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑

                    ๑. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ []

                    ๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

                    ๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ []

                    ๔. มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ย  มาลากุล)

                    ๕. จางวางเอก พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ) []

 

               วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

                    ๖. มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร(ม.ร.ว.ลพ  สุทัศน์)

 

               วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

                    ๗. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช []

                    ๘. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต []

 

               วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑

                    ๙. มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น  สุขุม)

 

               วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔

                    ๑๐. จางวางเอก พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ)

                    ๑๑. จางวางเอก พระยาสุจริตธำรง (โถ  สุจริตกุล) [๑๐]

 

                    วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕

                    ๑๒. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา [๑๑]

 

                    วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

                    ๑๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ [๑๒]

                    ๑๔. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

 

                    วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘

                    ๑๕. จางวางเอก พระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น  อิศรเสนา) [๑๓]

                    ๑๖. จางวางเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ  ไกรฤกษ์)

                    ๑๗. นายพลเอก พระยาเทพอรชุน (อุ่ม  อินทรโยธิน) [๑๔]

 

          ฝ่ายใน

                    วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

                    ๑. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงทอดถวายที่หน้าพระบรมศพ ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัปดาหถวายพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

 

                    วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

                    ๒. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร [๑๕]

 

                    วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕

                    ๓. เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)

                    ๔. สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี [๑๖]

 

                    วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗

                    ๕. สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี [๑๗]

 

 

 


[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

[ ]  พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

[ ]  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์. เกิดวังปารุสก์, หน้า ๓๘๗.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

[ ๑๐ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุดมราชภักดี

[ ๑๑ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา

[ ๑๒ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[ ๑๓ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์

[ ๑๔ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน

[ ๑๕ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระปิตุจฉา เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

[ ๑๖ ]  ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

[ ๑๗ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |