โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๑. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี (๑)

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องพระมหาพิชัยยุทธ

เมื่อคราวทรงประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย - ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

 

 

          เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำสยามเข้าร่วมรบกับชาติสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว ก็ได้มีพระราชปรารภว่า "ราชการทหารเปนกิจพิเศษอย่าง ๑ ซึ่งผู้ปฏิบัติราชการอย่างนั้นต้องออกกำลังแรงและปัญญาอย่างอุกฤษฐ์ ทั้งต้องพร้อมอยู่เสมอที่จะสละชีวิตเป็นราชพลี และเพื่อรักษาอิศรภาพบำรุงความรุ่งเรืองแห่งชาติบ้านเมือง สมควรจะมีเครื่องราชอิศริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบแก่ผู้ทำดีในราชการพแนกนี้เปนพิเศษอีกส่วน ๑" [] จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี หรือที่เรียกกันว่า "ตรารามาธิบดี" ขึ้นไว้เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑

 

          เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ทรงกำหนดไว้เป็น ๔ ชั้น กับมีเหรียญอีก ๒ อย่าง คือ

 

 

ดารา สายสะพายและดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี

ชั้นที่ ๑ เสนางคบดี

 

 

          ชั้นที่ ๑ เสนางคบดี มีดวงดาราใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปไข่ทำด้วยทอง มีลายแหลมออกสี่ทิศ กลางดวงด้านหน้าเป็นรูปพระปรศุมาวตารปราบพญาการตวีรยะอยู่บนพื้นลงยาสีลูกหว้าอ่อน ด้านหลังเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ "ร.ร." กับเลข "๖" อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายความว่า "สมเด็จพระราม ราชาธิบดี รัชชกาลที่ ๖" อยู่บนพื้นลงยาสีขาวขอบสีขาบ มีรัศมีเงินแฉกใหญ่แปดแฉก รัศมีทองเล็กแซกแปดแฉก สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย กับมีแพรแถบเป็นสายสะพายขนาดกว้าง ๑๐ เซนติเมตรสีดำ มีริ้วแดงกว้าง ๒ เซนติเมตรอยู่ใกล้ขอบทั้ง ๒ ข้าง มีดวงดาราน้อยสำหรับห้อยที่สายสะพายมีลักษณะเป็นรูปไข่ทำด้วยทอง มีลายรูปอย่างเดียวกับกลางดวงดาราใหญ่ ต่างแต่ไม่มีรัศมี สายสะพายนี้ใช้สะพายเฉียงบ่าขวา

 

 

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล

ประดับดารามหาโยธินที่อกเสื้อเบื้องขวา

 

 

          ชั้นที่ ๒ มีดวงดาราใหญ่เช่นเดียวกับชั้นที่ ๑ แต่ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา กับมีดวงดาราน้อยแบบเดียวกับที่ใช้ห้อยสายสะพายชั้นที่ ๑ แต่เปลี่ยนมาห้อยแพรแถบคล้องคอ แพรแถบนี้มีสีเช่นเดียวกับสายสะพายชั้นที่ ๑ แต่มีขนาดกว้างเพียง ๔๕ มิลลิเมตร

 

          ชั้นที่ ๓ มีแต่ดวงดาราน้อยห้อยกับแพรแถบคล้องคอ เช่นเดียวกับชั้นที่ ๒

 

          ชั้นที่ ๔ มีดวงดาราเล็กห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง ๓๒ มิลลิเมตร สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

 

          ส่วนเหรียญอีก ๒ อย่างนั้น ประกอบด้วย

 

          เหรียญรามาลา มีลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปพระปรศุมาวตารปราบพญาการตวีรยะ ด้านหลังเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ "ร.ร." กับเลข "๖" อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง ๓๒ มิลลิเมตร สำหรับติดที่อกเบื้องซ้าย กับอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เหรียญรามมาลา เข็มกล้ากลางสมร มีรูปลักษณะเช่นเดียวกับเหรียญรามมาลาทุกประการ แต่เพิ่มเครื่องหมายพระวชิราวุธที่แพรแถบขึ้นเป็นพิเศษให้เห็นแปลกกัน

 

          ในการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยคณะหนึ่งเป็น "คณะที่ปฤกษา" แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ประกอบด้วย คณาธิบดี ๑ เลขาธิการ ๑ ที่ปฤกษา ๕ ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะที่ปฤกษานี้มีสิทธิและหน้าที่ในการเสนอชื่อรวมทั้งรับความเห็นจากผู้ที่มีอำนาจเสนอความชอบ แล้วประชุมพิจารณาปรึกษากันว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นสมควรที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหรือไม่ และเมื่อพิจารณาเห็นสมควรแล้วจึงให้คณาธิบดีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ต่อไป

 

          คณะที่ปฤกษาชุดแรกที่ทรงแต่งตั้งจากผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ คือ

 

          จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก เป็นคณาธิบดี

          นายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย (แย้ม ณ นคร) [] ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นเลขาธิการ

          จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จเรทหารทั่วไป เป็นที่ปฤกษา

          จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสววรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เป็นที่ปฤกษา

          นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จเรทหารเรือ เป็นที่ปฤกษา

          นายพลตรี หม่อมเจ้าพันธุประวัติ เกษมสันต์ [] แม่ทัพกองทัพน้อยทหารบกที่ ๑ เป็นที่ปฤกษา

          นายพลโท พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) สมุหราชองครักษ์ เป็นที่ปฤกษา

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จอมทัพเรือสยาม

ทรงเครื่องปกติจอมพลเรือ ประดับพระดาราเสนางคะบดี

ทรงเร่งรัดนำ "สยามรัฐนาวา" ฝ่าคลื่นลมไปสู่ความเจริญ

 

 

          คณะที่ปรึกษาได้ประชุมกันเป็นครั้งแรก แล้วมีมติว่า "การที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเรื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จแก่ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติราชการทหารดีเปนพิเศษ บรรดาทั้งหลารู้สึกว่าราชการทหารซึ่งได้ดำเนมาเปนลำดับเห็นปานนั้น ก็โดยอาศัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำไปด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชหฤทัยสอดส่องเปนพระราชธุระอยู่ทุกเมื่อเพื่อเปนพยานแห่งพระราชกิจอันบันดาลประโยชน์และความเจริญค่อราชการทหารเปนพิเศษเอกอุเช่นนี้ พร้อมทั้งพยานแห่งความจงรักภักดีแห่งบรรดาทหารที่มีต่อพระองค์ คณะที่ปฤกษาจึงขอพระราชทานกราบบังคมทูลอัญเชิญทรงรับพระราชถานันดรเปนพระ "เสนางคะบดี" แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี" แล้วจอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหวงพิษณุโลกประชานาถ คณาธิบดีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ ๑ เสนางคะบดีให้ทรงเป็นปฐม แล้วจึงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแก่คณะที่ปฤกษารวม ๔ พระองค์กับ ๒ นาย กับได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้แก่ นายทหาร นายเสือป่า และข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์และบางคนที่ได้ร่วมสนองพระเดชพระคุณเนื่องในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรปต่อมาอีกหลายคราว

 

 

 


[ ]  "พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี", ราชกิจจานุเบกษา ๓๕ (๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๑), หน้า ๑๖๙ - ๑๘๒.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น นายพลโท

 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |