โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๖. รมกองเสือป่า (๑)

 

 

นายกองใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่า

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยสมาชิกเสือป่า

ที่ได้ร่วมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพิเศษกองเสือป่าครั้งแรก ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          เนื่องจากเสือป่าล้วนเป็นอาสาสมัคร ซึ่งต่างจากทหารที่นอกจาก "จะต้องมีโรงให้อยู่ให้เป็นที่สง่าผ่าเผย" [] มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่สวยงามเพื่อจูงใจให้คนอยากมาเป็นทหารแล้ว รัฐบาลยังต้องจัดสรรงบประมาณเป็นค่าตอบแทนให้แก่ทหารทั้งในรูปเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง ในขณะที่เสือป่าซึ่งเป็นกองกำลังอาสาสมัคร นอกจากรัฐบาลไม่ต้องจัดหาที่พักให้แล้ว ถึงเวลาผู้ที่เป็นเสือป่าต่างก็มาฝึกหัดตามกำหนดนัดหมาย เสร็จการฝึกหัดแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้านหรือที่พักของตน ในขณะที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายผู้ที่เป็นสมาชิกเสือป่าต่างก็จัดหากันเอง ที่จำเป็นก็มีแต่เพียงชุดฝึกหัด ส่วนผู้ที่ประสงค์จะแต่งกเครื่องแบบให้สวยงามก็สามารถจัดหาเครื่องแบบเต็มยศหรือครึ่งยศหรือเครื่องสโมสรได้ตามใจสมัครโดยทุนทรัพย์ของตนเอง

 

          ในเมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลเฉกเช่นราชการทหาร จึงทำให้สามารถจัดตั้งกรมกองเสือป่าขึ้นในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังมีพยานปรากฏว่า เมื่อแรกสถาปนากองเสือป่านั้น มีสมาชิกเสือป่าเพียง ๑๓๐ นายที่ได้เข้ารับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในการถือน้ำพิเศษกองเสือป่า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ แต่ถัดมาอีกเพียงเดือนเศษก็ได้มีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่าเพิ่มขึ้นอีกมาก จนได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพิเศษเสือป่าเป็นครั้งที่ ๒ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้วได้โปรดเกล้าฯ จัดแบ่งสมาชิกเสือป่าออกเป็น ๓ กอง คือ กองร้อยที่ ๑ และกองร้อยที่ ๒ กับมีกองฝึกหัดอีก ๑ กอง โดยกองร้อยที่ ๑ ซึ่งเป็นกองเริ่มแรกนั้น นอกจากจะได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าที่เป็นกองรักษาพระองค์ร่วมกับหน่วยทหารรักษาพระองค์แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานขนนกขาวให้ปักที่ข้างขวาหมวกเป็นเกียรติยศพิเศษ โดยนายเสือป่าชั้นนายกองมีพู่ขนนกใหญ่ปักที่ขวาหมวกในเวลาแต่งเต็มยศหรือครึ่งยศ ส่วนเวลาแต่งเครื่องปกติคงปักขนนกขาวเล็กเช่นเดียวกับนายเสือป่าชั้นนายหมู่

 

 

นายกองใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่า

ทรงเครื่องเต็มยศนายกองใหญ่กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

ทรงม้าพระที่นั่งสยามพันธุ์นำขบวนนายกองนายหมู่เสือป่าไปในการสวนสนามถวายไชยมงคล

เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ สนามเสือป่า พระราชวังดุสิต

เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          ต่อจากนั้นได้มีการขยายการจัดตั้งกรมกองเสือป่าออกไปยังหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร "ชั้นต้นตามจังหวัดจัดเปนหมวดเสือป่าราบ มีข้าราชการสัญญาบัตร์เปนพื้น; ต่อมาไม่ช้าพวกเสมียนพนักงานทุกน่าที่ได้สมัคเปนสมาชิก, และขยายการปกครองขึ้นเปนกองร้อย;"  [] แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างธงไชยเฉลิมพลประจำกองเสือป่า และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพิเศษและพระราชทานธงไชยเฉลิมพลแก่กองเสือป่ามณฑลมณฑลนครไชยศรี มณฑลปราจิณบุรี มณฑลพิษณุโลก มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า ตามลำดับ

 

 

สมาชิกเสือป่าทั่วพระราชอาณาจักร ประชุมพลสวนสนามถวายไชยมงคล

เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ สนามเสือป่า พระราชวังดุสิต

เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          ต่อมาในคราวที่เสือป่าจากหัวเมืองมณฑลต่างๆ เข้ามาประชุมพลถวายไชยมงคลเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน - ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการถือน้ำพิเศษของกองเสือป่า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ และในคราวนี้ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานธงไชยเฉลิมพลเสือป่ากองมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลนครราชสีมา มณฑลราชบุรี ตามลำดับ และมีบันทึกว่า ในการสวนสนามถวายไชยมงคลเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ สโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ มีเสือป่าจากทั่วประเทศมาร่วมการสวนสนามจำนวนกว่าพันนาย

 

          ถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ มีหลักฐานปรากฏชัดว่าสมาชิกเสือป่าในกรุงเทพฯ ได้ทวีจำนวนมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแบ่งกำลังพลเสือป่าในกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ออกเป็น

               กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

               กรมที่ ๒ รักษาพระองค์

               กองม้าหลวงรักษาพระองค์

 

          อนึ่ง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการเสือป่าให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษประจำกรมกองเสือป่าต่างๆ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ และได้ทรงรับเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลกรุงเทพฯ กองมณฑลกรุงเก่า และกองมณฑลพายัพ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษกองเสือป่าต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้

 

 

นายกองเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพผู้บังคับการพิเศษกรมเสือป่ารักษาดินแดนอุดร

 

 

          นายกองเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ [] เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลอุดร

 

 

นายกองเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

ผู้บังคับการพิเศษกรมเสือป่ารักษาดินแดนราชบุรี

 

 

          นายกองตรี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช [] จเรทหารทั่วไป ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลราชบุรี

 

          นายกองตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต [] เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลนครสวรรค์

 

 

นายกองเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

ผู้บังคับการพิเศษกรมเสือป่ารักษาดินแดนพิษณุโลก

 

 

          นายกองตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ [] เสนาธิการทหารบก ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลพิษณุโลก

 

          นายหมู่เอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา [] ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเสือป่า กองมณฑลนครราชสีมา

 

 

 


[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕. ม. ๕๘/๔๔ เรื่อง รายงานราชการในมณฑลพายัพ (๑๑ กุมภาพันธ์ ๑๒๐ - ๑๐ กันยายน ๑๒๙).

[ นายพลเสือป่า พระยาสุรินทราชา (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์). "ความเจริญของเสือป่าตามจังหวัด", ดุสิตสมิต เล่ม ๖ ฉบับพิเศษสำหรับเปนที่ระฤกเนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๓ มกราคม, พระพุทธศักราช ๒๔๖๒, หน้า ๕๓ - ๕๗.

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายกองเอก สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็นนายกองเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายกองเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายกองเอกสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา

 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |