โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๘. รมกองเสือป่า (๓)

 

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทหารกระบี่หลวงขึ้นเป็นกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ จัดเป็นเหล่าพรานในทำนองเดียวกับหน่วยทหารราบเบา (Light Infantry) ของอังกฤษ ที่เน้นการรุกรบและเคลื่อนที่ได้รวดเร็วประดุจทหารม้า ในเวลาปกติจัดอัตรากำลังเป็น ๒ กองร้อย คือ กองร้อยที่ ๑ และที่ ๒ "แต่กองร้อยที่ ๑ นั้น เปนกองร้อยที่ได้ทรงบังคับบัญชามาแต่เดิมในเมื่อยังเปนกองทหารกระบี่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศเปนพิเศษ ให้ขนานนามว่า "กองร้อยหลวง" และให้สมาชิกประจำการในกองร้อยนี้ ใช้เครื่องหมายวชิราวุธ ติดที่อินทรธนูทั้ง ๒ เปนสำคัญ"  [] ในขณะเดียวกันก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกนักเรียนทหารกระบี่หลวงซึ่งกำลังพลเป็นนักเรียนโรงเรียนทหารกระบี่ [] ออกจากกองทหารกระบี่หลวงแล้วจัดเป็นกองร้อยที่ ๓ (กองนักเรียนพรานหลวง) กรมนักเรียนเสือป่าหลวง

 

          ๒. กองพลมณฑลกรุงเทพฯ หรือกองพลกลาง คือ กองพลเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลกรุงเทพฯ มีอัตรากำลังประกอบด้วย กรมเสือป่าราบที่ ๑ ที่ ๒ และ ที่ ๓ รวม ๓ กรมๆ ละ ๒ กองพันๆ ละ ๓ กองร้อย

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่า

ทรงเครื่องปกตินายกองใหญ่กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยนายกอง นายหมู่ ผู้บังคับบัญชาเสือป่ากองมณฑลต่างๆ

ซึ่งมาร่วมประชุมเทศาภิบาลประจำปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่สโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต

 

 

          ส่วนกรมกองเสือป่าในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดรวมเป็นกองพล มีนามตามที่ตั้งกองพลนั้นๆ ดังนี้

 

          ๑) กองพลบน มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลกรุงเก่า (อยุธยา) และมณฑลนครสวรรค์ []

 

          ๒) กองพลเหนือ มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลพิษณุโลก และมณฑลเพชรบูรณ์

 

          ๓) กองพลปักษ์ใต้ มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลชุมพร [] มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี

 

          ๔) กองพลตวันออก มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดร

 

          ๕) กองพลตวันตก มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลนครไชยศรี และมณฑลราชบุรี

 

          ๖) กองพลอิสาณ มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลร้อยเอ็จ และมณฑลอุบล

 

          ๗) กองพลพายัพ มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลพายัพ

 

          ๘) กองพลอาคเนย์ มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลปราจิณบุรี และมณฑลจันทบุรี

 

          ๙) กองพลหรดี มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลภูเก็ต

 

          ต่อมาทรงพระราชดำริว่า "การขนานนามกองพลเสือป่าต่างๆ ซึ่งได้ใช้ขนานนามอนุโลมตามระเบียบกองทัพบก ที่เรียกว่า "กองพล" นั้น ยังไม่เหมาะแก่ระเบียบการ เพราะระเบียบการปกครองของเสือป่าย่อมไม่ตรงกับระเบียบการปกครองของกองทัพบกแท้ ด้วยเหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนขนานนามกองพลเสือป่าเสียใหม่ ให้ใช้เรียกว่า "กองเสนา" "  [] และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามกองเสนาต่างๆ เป็น ดังนี้

 

          กองพลหลวงรักษาพระองค์ เปลี่ยนเป็น กองเสนาหลวงรักษาพระองค์

          กองพลกลาง เปลี่ยนเป็น กองเสนากลาง

          กองพลบน เปลี่ยนเป็น กองเสนากรุงเก่า

          กองพลเหนือ เปลี่ยนเป็น กองเสนาเหนือ

          กองพลปักษ์ใต้ เปลี่ยนเป็น กองเสนาปักษ์ใต้

          กองพลตวันออก เปลี่ยนเป็น กองเสนาตวันออก

          กองพลตวันตก เปลี่ยนเป็น กองเสนาตวันตก

          กองพลอิสาณ เปลี่ยนเป็น กองเสนาอิสาณ

          กองพลพายัพ เปลี่ยนเป็น กองเสนาพายัพ

          กองพลอาคเนย์ เปลี่ยนเป็น กองเสนาอาคเนย์

          กองพลหรดี เปลี่ยนเป็น กองเสนาหรดี

 

          อนึ่งในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขระเบียบการปกครองเสือป่าในกองเสนาหลวงแลกองเสนารักษาดินแดนอีกครั้ง โดยให้เริ่มถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นดังนี้

 

          "(๑) กองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ให้แบ่งการปกครองออกเปน ๒ กองเสนาน้อย และมีกองที่เปนกำลังของกองเสนาหลวงอีกกอง ๑ รวมเปน ๓ กองด้วยกันดังนี้

 

               ก. กองเสนาน้อยราบเบา ให้มีกรมเสือป่ารวมอยู่ในความปกครอง คือ

                    ๑. กรมพรานหลวงรักษาพระองค์ (จัดเปน ๔ กองร้อย) แต่เวลานี้ให้มีเพียง ๓ กองร้อยไปก่อน

                    ๒. กรมนักเรียนเสือป่าหลวง (จัดเปน ๔ กองร้อย)

 

               ข. กองเสนาน้อยราบหนัก ให้มีกรมเสือป่าที่รวมอยู่ในความปกครอง คือ

                    ๑. กรมราบหลวงรักษาพระองค์ (จัดเปน ๔ กองร้อย)

                    ๒. (กรมนี้คงว่างไว้สำหรับกรมเสือป่ารักษาดินแดนกรมใดกรม ๑ ตามที่จะได้สั่งเข้าสมทบเปนครั้งคราว)

 

               ค. กองกำลังเสนาหลวง เปนกองที่ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ มีกรมเสือป่าที่รวมอยู่ คือ

                    ๑. กรมม้าหลวงรักษาพระองค์ (จัดเปน ๒ กองร้อย)

                    ๒. กรมเหล่าพิเศษหลวงรักษาพระองค์ มีกองเสือป่าเหล่าต่างๆ รวมอยู่ในกรมนี้ คือ กองเดินข่าวหลวงรักษาพระองค์ ๑ กองร้อย, กองช่างหลวงรักษาพระองค์ ๑ กองร้อย, กองพาหนะหลวงรักษาพระองค์ ๑ กองร้อย, กับต่อไปจะมีกองเหล่าพิเศษสมทบเพิ่มเติมอีก ซึ่งตามที่จะได้มีคำสั่งภายหลัง

 

          (๒) บรรดากองเสนาหัวเมืองทั่วไป ให้ขนานนามใหม่ว่า "กองเสนารักษาดินแดน" และเพิ่มนามตามท้องที่ต่อข้างท้าย ดังนี้

                    กองเสนากลางรักษาดินแดนกรุงเทพฯ

                    กองเสนารักษาดินแดนกรุงเก่า

                    กองเสนารักษาดินแดนฝ่ายเหนือ

                    กองเสนารักษาดินแดนอิสาณ

                    กองเสนารักษาดินแดนตวันออก

                    กองเสนารักษาดินแดนอาคเนย์

                    กองเสนารักษาดินแดนปักษ์ใต้

                    กองเสนารักษาดินแดนภูเก็จ

                    กองเสนารักษาดินแดนตวันตก

                    กองเสนารักษาดินแดนพายัพ"  []

 

          กองเสนาต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีผู้บัญชาการกองเสนาเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบการในกองเสนาโดยสิทธิ์ขาด และแบ่งการปกครองออกเป็นกรมและกองเสือป่าเหล่าต่างๆ ประจำตามเมืองมณฑลที่รวมขึ้นอยู่ในกองเสนานั้นๆ กรมเสือป่ากรมหนึ่งแบ่งเป็นหลายกองพัน หรือแบ่งเป็นกองพันเดียว แล้วแต่ความสะดวกแก่ระเบียบปกครอง

 

          ในกรณีที่กรมหนึ่งจัดเป็นกองพันเดียว ผู้บังคับการกรมนั้นเองเป็นตัวผู้บังคับกองพัน ส่วนกองพันนั้นแบ่งย่อยออกไปเป็นหลายกองร้อย จะเป็น ๔ กองร้อยหรือ ๒ กองร้อยก็ได้ กองร้อยแบ่งเป็น ๔ หมวด และหมวด ๑ แบ่งออกเป็น ๒ หรือ ๔ หมู่ ซึ่งแล้วแต่จะเป็นการเหมาะแก่จำนวนสมาชิกที่มีอยู่

 

 

นายกองใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเครื่องเต็มยศกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์

พร้อมด้วยพร้อมด้วยนายเสือป่าผู้มีตำแหน่งหน้าที่ประจำในกรมบัญชาการเสือป่า

ที่หน้าพลับพลาพิธีริมสนามในสโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘

(แถวนั่งจากซ้าย)

๑. นายพลเสือป่า พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ยกรบัตรเสือป่า

๒. นายกองเอก เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เกียกกายเสือป่า

๓. นายกองเอก พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) รองผู้บัญชาการกองเสนาหลวงรักษาพระองค์

๔. นายกองใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่าและผู้บัญชาการกองเสนาหลวงรักษาพระองค์

๕. นายกองเอก พระยาบุรีนวราษฐ (ชวน สิงหเสนี) ปลัดเสือป่า

๖. นายกองโท พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม๊ค เศียนเสวี) เสนาธิการเสือป่า

 

 

          นอกจากกรมกองเสือป่าซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นกองเสนาต่างๆ ดังได้กล่าวแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ "ให้จัดตั้งกรมบัญชาการเสือป่าขึ้นไว้สำหรับเปนที่รวมการปกครองเสือป่าทั่วไป"  [] ในกรมบัญชาการเสือป่านั้นแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเป็นกรมต่างๆ คือ

 

          ๑. กรมเสนาธิการเสือป่า มีเสนาธิการเสือป่าเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านตำราและแผนที่

 

          ๒. กรมปลัดเสือป่า มีปลัดเสือป่าเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่รับผิดชอบงานจัดทำและรักษาทะเบียนฐานันดรยศของเสือป่า

 

          ๓. กรมจเรเสือป่า มีจเรเสือป่าเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่รับผิดชอบงานตรวจตราและแนะนำการปฏิบัติงานของเสือป่า

 

          ๔. กรมยกรบัตรเสือป่า มียกรบัตรเสือป่าเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านยุทธอาภรณ์ ยุทธภัณฑ์ และครุภัณฑ์ของเสือป่า

 

          ๕. กรมเกียกกายเสือป่า มีเกียกกายเสือป่าเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านเสบียงและพาหนะ

 

          ๖. กรมสัสดีเสือป่า มีสัสดีเสือป่าเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านกำลังพลและการรักษาทะเบียนพลเสือป่า

 

          ๗. กรมพระธรรมนูญเสือป่า มีปลัดพระธรรมนูญเสือป่าเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านกระบวนการยุติธรรม และงานด้านกฎระเบียบต่างๆ ของเสือป่า

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง กรมสารวัดใหญ่เสือป่าขึ้นอีกกรมหนึ่งในกรมบัญชาการคณะเสือป่า มีสารวัดใหญ่เสือป่าเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเสนาธิการเสือป่า เพื่อทำหน้าที่ "ตรวจตราและอำนวยการในน่าที่สารวัดทั่วไปเพื่อให้เปนระเบียบอันดี" []

 

          กรมต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะมีหัวหน้าเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบการในกรมแล้ว ในแต่ละกรมยังแบ่งเป็นแผนกต่างๆ มีหัวหน้าแผนกและเจ้าพนักงานประจำตามสมควร

 

 

 


[ ]  "แจ้งความกรมบัญชาการเสือป่า", ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๒ พฤษภาคม ๒๔๕๘), หน้า ๒๕๐ - ๒๕๑.

[ ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนพรานหลวง

[ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกมณฑลเพชรบูรณ์ โดยรวมจังหวัดเพชรบูรณ์และหล่มสักเข้ากับมณฑลพิษณุโลกแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายกรมเสือป่ามณฑลนครสวรรค์ไปขึ้นสังกัดกองเสนาเหนือที่เปลี่ยนชื่อมาจากกองพลเหนือ

[ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็น มณฑลสุราษฎร์

[ "ประกาศเปลี่ยนขนานนามกองพลเสือป่า", ราชกิจจานุเบกษา ๓๑ (๒๘ มีนาคม ๒๔๕๗), หน้า ๕๖๘ - ๕๖๙.

[ "แก้ไขระเบียบการปกครองเสือป่าในกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ แลกองเสนารักษาดินแดน", จดหมายเหตุเสือป่า เล่ม ๑๐ ฉบับ ๑๑ (มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๘), หน้า ๑๑๐๙ - ๑๑๑๑.

[ "พระราชกำหนดลักษณปกครองเสือป่า พระพุทธศักราช ๒๔๕๘", ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๑๗ กันยายน ๒๔๕๘), หน้า ๒๐๔ - ๒๓๗.

[ "เรื่องตั้งกรมสารวัดใหญ่เสือป่า", ราชกิจจานุเบกษา ๓๗ (๑๕ สิงหาคม ๒๔๖๑), หน้า ๑๕๑๘ - ๑๕๒๐.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |