โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

 

๘๒. คณะฟุตบอลแห่งชาติสยาม ()

 

 

          การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิยมสนับสนุนการกีฬาฟุตบอลเป็นพิเศษนี้เอง จึงทำให้กีฬาชนิดนี้แพร่ขยายออกไปยังหัวเมืองต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว ดังมีพยานปรากฏในบทพระราชนิพนธ์ "ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย" ว่า เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น

 

          "คิดจะจัดโดยปัจจุบันให้มีการเล่นฟุตบอลถวายตัวน่าพระที่นั่ง ที่สนามสโมสรเสือป่านครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนนี้  [] ในวันแรกมีผู้สมัครขอเล่นมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๖ สำรับ และเมื่อคนทั้ง ๖ สำรับนี้ แสดงความปรารถนาที่จะเล่นเช่นนี้แล้ว จึงต้องคิดจัดการเปนพิเศษ เพื่อให้มีโอกาสได้เล่นทั่วถึงกัน ตกลงได้จัดขึ้นให้เล่นเปน ๓ ชุดๆ ๑ ให้เล่นสลับกันชุดละ "กึ่งเวลา" หรือจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้ "โกล" ชุดที่ ๑ นั้นกรมพรานหลวงรักษาพระองค์กับเสือป่านครศรีธรรมราช ชุดที่ ๒ นักเรียนเสือป่าหลวงกับลูกเสือนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ ราบหลวงรักษาพระองค์กับเสือป่านครศรีธรรมราชอีกพวก ๑. พวกเสือป่าหลวงและนักเรียนเสือป่าหลวง ซึ่งชำนาญมามากแล้วนั้นชนะ แต่เสือป่าและลูกเสือนครศรีธรรมราชก็ได้ต่อสู้โดยแข็งแรง. ในชุดที่ ๑ พรานหลวงรักษาพระองค์ กับเสือป่านครศรีธรรมราชนั้น พรานหลวงชนะ ๒ โกลต่อสูญ. ชุดที่ ๒ นักเรียนเสือป่าหลวงชนะ ๒ โกลต่อสูญ. และชุดที่ ๓ ราบหลวงชนะ ๒ โกลต่อสูญเหมือนกัน ในที่สุดพวกเล่น ๒ สำรับในกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ คือราบหลวงแลพรานหลวงนั้นได้เล่นแข่งขันกันกึ่งเวลา ด้วยตวันจวนจะตกอยู่แล้ว พรานหลวงแสดงการเล่นรวมกันดีกว่า พรานหลวงจึงชนะ ๑ โกลต่อสูญ.

 

          เมื่อวันที่ ๒๒ ได้มีพวกเล่นมาอีก ๖ สำรับ. ชุดที่ ๑ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กับตำรวจภูธร ทหารมหาดเล็กชนะ ๑ โกลต่อสูญ ด้วยอาศรัยการเล่นรวมดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง. ชุดที่ ๒ นักเรียนเสือป่าหลวง กับลูกเสือมณฑลภูเก็จ ลูกเสือมณฑลภูเก็จชนะ ๓ โกลต่อสูญ เพราะการเล่นรวมของเขาดีมากแต่ค่อนข้างใหญ่กว่านักเรียนเสือป่าหลวง ส่วนนักเรียนเสือป่าหลวงนั้น ถึงแม้ว่าเล็กกว่ามากก็จริง ก็ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญแขงแรงซึ่งถึงแพ้ก็ได้รับความชมเชยตามที่สมควรจะได้รับโดยแท้. ในที่สุดชุดที่ ๓ ราบหลวงกับพรานหลวงได้เล่นกันอีกกึ่งเวลา พรานหลวงชนะอีกในวันนี้ ๒ โกลติดๆ กัน จึงรวมคะแนนทั้งเมื่อวันก่อนเปน ๓ โกลต่อสูญ

 

 

ชุดฟุตบอลโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พ.ศ. ๒๔๖๓

(แถวหลังจากซ้าย)

น.ร.ม.ผล ศิวเสน [] , น.ร.ม.แม่น ชลานุเคราะห์, น.ร.ม.จรัส เหมวัฒนะ []

(แถวกลางจากซ้าย)

น.ร.ม.ประโยชน์ บุรณศิริ, น.ร.ม. ..., น.ร.ม สำอาง นิลประภา

(แถวหน้าจากซ้าย) น.ร.ม.จรูญ ตุลยานนท์, น.ร.ม.ชวน ไชยเสวี, น.ร.ม.สวัสดิ์ ผลัญไชย [] , น.ร.ม.ม.ล.ยาใจ อิศรเสนา, น.ร.ม.ม.ล.แวด อิศรเสนา

 

 

          วิธีเล่นของสำรับพรานหลวงรักษาพระองค์นั้นนับว่าเปนอย่างดีที่สุดที่ได้เห็นในนครศรีธรรมราช เพราะว่าได้เล่นอยู่เสมอและมีหัวหน้าดี คือ นายแพทย์ในกรมพรานหลวงนั้นเองซึ่งเล่นเปน "ฟอรวาด" อย่างคล่องแคล่วดีมาก

 

          วิธีเล่นซึ่งเราได้เห็นที่เมืองนครศรีธรรมราชนี้จะนับว่าเปนอย่างดีทีเดียวไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่ย่อมส่อให้เห็นว่า การเล่นของอังกฤษชนิดนี้เปนที่พอใจแห่งคนไทยรุ่นใหม่เพียงใด การที่ในมณฑลปักษ์ใต้นี้มีคนเล่นรวบรวมได้หลายสำรับเช่นนี้ ก็เปนพยานที่แสดงให้เห็นซึ่งความนิยมในฟุตบอล และความนิยมอันนี้นับวันจะมีแพร่หลายขึ้นทุกที"  []

 

 

ถ้วยทองของหลวง หรือ "ถ้วยทองนักรบ"

ถ้วยรางวัลพระราชทานสำหรับการแข่งขันฟุตบอลถ้วยแรกของประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

 

 

          เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้คราวนั้นแล้ว จึงได้ "ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีถ้วยทองขึ้นสำหรับเปนของรางวัลพระราชทานแก่ผู้ชนะในการแข่งขันด้วย เพื่อเปนเครื่องปลูกน้ำใจแก่ผู้เล่นทั้งหลาย, ให้มีความกระหายอยากได้ถ้วยทองรางวัลมาไว้เปนเกียรติยศและชื่อเสียงของคณะของกรม. เพื่อแสดงความปรากฏว่าเปนผู้ที่ได้ชื่อแล้วว่าเปนผู้มีความสามารถและความพร้อมเพรียงซึ่งกันและกัน."  []

 

 

แผนที่เขตพระราชวังดุสิต พ.ศ. ๒๔๕๖

แสดงที่ตั้งสนามม้าสวนดุสิตซึ่งเป็นสนามแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองหลวง

ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "สนามเสือป่า"

 

 

          ต่อมาวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้โปรดเกล้าฯ ให้

 

          "ตั้งต้นแข่งขันฟุตบอลคณะถ้วยทองของหลวงที่สนามม้าสวนดุสิต (สโมสรกลาง)  [] มีการเก็บสตางค์จากผู้เข้าดู คือรถซึ่งนั่งไม่เกินแก่ ๗ คน เก็บคันละบาท เข้าได้ทางประตูพระบรมรูปทรงม้ากับประตูทางพระที่นั่งอนันต์

 

อัตราค่าดู
  บ. สต.
ชั้นที่ ๑ นั่งเก้าอี้ระหว่างกลางสนามฟุตบอลราคา -
ชั้นที่ ๒ นั่งอัฒจันทร์ระหว่างกลางสนาม - ๕๐
ชั้นที่ ๓ รอบเส้นข้างแลเส้นโกล์ทางเหนือ - ๑๐
ส่วนพลทหารพลตระเวนพลตำรวจลูกเสือนักเรียนที่แต่งเครื่องนักเรียน -

 

          เวลาบ่าย ๔ โมง ทรงรถยนต์เสด็จสโมสรกลางทอดพระเนตรฟุตบอลระหว่างนักเรียนนายเรือ กับกองเสนากลาง  [] พระยาประสิทธิ์ศุภการ  [] เปนผู้ตัดสิน นักเรียนนายเรือได้ ๒ กองเสนากลางได้ ๑ เวลาย่ำค่ำเสด็จกลับ"  [๑๐]

 

          การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองหลวงหรือเรียกกันว่า "ถ้วยทองนักรบ" ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น มีหน่วยทหาร ตำรวจ และเสือป่า ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันรวม ๑๒ ชุด คือ

          ๑. กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จ.ป.ร.

          ๒. กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.

          ๓. กรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์

          ๔. กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์

          ๕. กองเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์

          ๖. นักเรียนนายร้อยทหารบก

          ๗. นักเรียนนายเรือ

          ๘. กองเสือป่าเดินข่าวหลวง

          ๙. นักเรียนสารวัด

          ๑๐. นักเรียนราชแพทยาลัย

          ๑๑. นักเรียนเสือป่าหลวง

          ๑๒. กองเสนากลาง

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกคณะฟุตบอลถ้วยทองของหลวง

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยชุดฟุตบอลกรมเสือป่าม้าหลวง

ที่ได้ตำแหน่งที่ ๓ ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองหลวงประจำปี พ.ศ. ๒๔๕๘

 

 

          การแข่งขันจัดเป็นรอบๆ แต่ละรอบคัดชุดที่ชนะเข้าไปแข่งขันกันในรอบถัดไป จนที่สุดชุดโรงเรียนนายเรือได้คะแนนรวมสูงสุด ได้รับพระราชทานถ้วยทองหลวงไปครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ ดังมีความปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันประจำวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ว่า

 

          "เวลาบ่าย ๔ โมง ทรงรถยนตรพระที่นั่ง เสด็จสนามฟุตบอลสโมสร(กลาง)เสือป่า ประทับบนพลับพลายก ทอดพระเนตร์ฟุตบอลสำรับขาวคล่องเล่นจนเลิก ฝ่ายขาวได้ ๓ ฝ่ายแดงได้ ๑ แล้วโปรดพระราชทานถ้วยของหลวงในการแข่งขันแก่นักเรียนนายเรือซึ่งเป็นพวกชนะ โปรดพระราชทานรางวัลที่ ๑ แลแหนบสายนาฬิกาลงยามีพระมหามงกุฎ แก่นักเรียนนายเรือพวกชนะทุกคน กับพระราชทานรางวัลที่ ๒ ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลก แก่กรมราบหลวง ร.อ. รางวัลที่ ๓ ของพระยาประสิทธิ์ศุภการ แก่กองม้าหลวง ร.อ. แล้วเสด็จประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ถ้วยทองของทหารเรือ กระบวนที่ ๑ มีรถยนตรสีทองแดงหลังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์เคยทรง แต่งด้วยดอกไม้สด แห่ถ้วยทอง มีรถตามประมาณ ๒๐ คัน กับแตรวงทหารเรือบรรเลงอีกคันหนึ่ง กระบวนที่ ๒ ทหารม้าแตรหมู่นำ รถเทียมม้าเทศ ๔ มีรถเทียมม้าเทศ ๒ อีก ๔ – ๕ หลัง คณะฟุตบอลม้าหลวงนั่ง กับอีกคันหนึ่งเป็นรถพิณพาทย์ กระบวนที่ ๓ ของกรมราบหลวง ร.อ. เป็นกระบวนเดินท้าว มีแตรวงนำกรมราบหลวง กองพรานหลวง กองเดินข่าวหลวง กองพันพิเศษ กรมนักเรียนเสือป่าหลวงแลนักเรียนมหาดเล็กเดินเป็นลำดับ กระบวนกลองยาวของกรมพรานหลวงอยู่รั้งท้าย

 

          เงินเก็บได้จากคนดูฟุตบอลนี้ นายกกรรมการฟุตบอลถ้วยทองของหลวง ส่งให้แก่สภากาชาด"  [๑๑]

 

 

 


[ ]  วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘.

[ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายพินัยราชกิจ

[ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวิเศษพจนกรณ์

[ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พันตำรวจเอก นายรองพลพ่าห์

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ บ.๘/๑ เรื่อง ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย (๒๒ กรกฎาคม ๒๔๕๘).

[ ]  พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ). "ความเจริญแห่งฟุตบอล", ดุสิตสมิต เล่ม ๑ (ฉบับพิเศษ สำหรับเปนที่ระฦกในงานเฉลิมพระชนมพรรษา), หน้า ๔๓.

[ คือ สโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต ปัจจุบันคือ สนามเสือป่าพระราชวังดุสิต

[ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็น กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ

[ นามเดิม ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ

[ ๑๐ หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘.

[ ๑๑ ]  หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |