โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

 

๘๘. พระคเณศร์เสียงา

 

 

          สังคมไทยนับแต่อดีตได้รับความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์เข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาหลักของคนไทยจนแทบจะแยกไม่ออกว่า ไหนเป็นพุทธ ไหนเป็นพราหมณ์ เฉพาะอย่างยิ่งการจัดสร้างรูปเคารพไว้เป็นที่เคารพบูชา ก็นิยมสร้างกันทั้งพระพุทธรูปและเทวรูปในศาสนาพราหมณ์

 

          เทวดาในศาสนาพราหมณ์ที่คนไทยเคารพนับถือและนิยมจัดสร้างเป็นรูปเคารพนั้น มีอยู่หลายองค์ ที่พบมากคือ พระพรหม และพระนารายณ์ แต่รูปเคารพของพระเป็นเจ้าทั้งสองนั้นนิยมสร้างเป็นเทวรูปขนาดใหญ่มีเทวาลัยเป็นที่ประดิษฐาน ส่วนรูปเคารพที่นิยมสร้างกันทั้งขนาดใหญ่ที่ต้องประดิษฐานในเทวาลัยหรือตั้งไว้กลางแจ้ง จนถึงขนาดเล็กที่สามารถแขวนคอไว้ประจำกายได้ เห็นจะมีแต่เทวรูปพระคเณศร์ หรือ พระพิฆเนศวร

 

          เหตุที่พระคเณศร์ผู้มีเศียรเป็นศีรษะช้างสีแดงชาด ต้องเสียงาไปข้างหนึ่งนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระเป็นเจ้าของพราหมณ์" ว่า

 

          "๕. พระคเณศร์ ฤา วิฆเนศร์ เรียกว่าโอรสของพระอิศวรและพระอุมา (ปรรวตี) พราหมณ์นับถือว่าเป็นเจ้าแห่งวิทยาการต่างๆ เรื่องราวที่กล่าวถึงกำเนิดของพระคเณศร์มีต่างๆ หลายอย่าง และเรื่องที่เล่าว่าเหตุไรเศียรจึงเป็นเศียรช้างก็มีต่างๆ เหมือนกัน นอกจากคเณศร์ เรียกว่า "คณปติ" (คณบดี) ซึ่งแปลความอย่างเดียวกันก็ได้ "วินัยกะ" (พินายของไทยเรา) ก็เรียก "เอกทันตะ" ก็เรียก เพราะมีงาเดียว เดิมมี ๒ งาบริบูรณ์ แต่ครั้งหนึ่งปรศุราม (รามสูร) ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรที่เขาไกรลาศ พระอิศวรบรรทมหลับอยู่ พระคเณศร์จึ่งห้ามมิให้เข้าไป ปรศุรามถือว่าเป็นคนโปรดจะเข้าไปให้ได้ เกิดวิวาทกันถึงรบกัน พระคเณศร์จับปรศุรามด้วยงวงปั่นขว้างไปจนปรศุรามสลบ ครั้นฟื้นขึ้นปรศุรามจึ่งจับขวานขว้างไป พระคเณสร์เห็นขวานจำได้ว่าเป็นของพระอิศวรประทานจึ่งไม่ต่อสู้ แต่ก้มลงรับไว้ด้วยงาข้างหนึ่ง งานั้นก็สบั้นไปทันใด ฝ่ายพระปรรวตีกริ้วปรศุราม กำลังจะทรงแช่ง ก็พอพระนารายณ์ซึ่งเป็นที่เคารพแห่งปรศุรามแปลงเป็นกุมารมาวิงวอนขอโทษ พระปรรวตีจึ่งประทานโทษให้ (เรื่องนี้มาจากคัมภีร์พรหมาไววรรตะปุราณะ วิลสันแปล)

 

          รูปพระคเณศร์ที่มักทำมีเศียรเป็นศีร์ษะช้าง โดยมากมี ๔ กร แต่ ๖ กร ๘กร ฤา ๒ กรก็ใช้ กายอ้วนใหญ่ หนูเป็นพาหนะ"  []

 

          นอกจากพระราชนิพนธ์ประวัติความเป็นมาของพระคเณศร์ ดังที่ปรากฏในพรหมาไววรรตะปุราณะแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องของพระคเณศร์ ในฐานะเป็นบรมครูช้างผู้ใหญ่ไว้ในบทพระราชนิพนธ์บทเสภาเรื่องสามัคคีเสวก ว่า

 

          " ๏ อนึ่งพระพิฆเนศเดชอุดม เปนบรมครูช้างผู้ใหญ่

เธอสร้างสรรค์พะกะรีที่ในไพร

เพื่อให้เปนสง่าแก่ธตรี
สร้างสารแปดตระกูลพูนสวัสดิ์ ประจงจัดสรรพางค์ต่างๆ สี
แบ่งปันคณะอัฎฐะกะรี ประจำที่อัฎฐะทิสสถิตพร
อีกรังสรรค์ช้างเผือกเลือกศุภลักษณ์ ประดับยศพระจอมจักรอดิศร
อีกสร้างช้างดำกล้ำกุญชร พื่อภูธรเธอทรงสู่รงค์ราน
อันพระเกียรติจักรพรรดิรัตนราช เกรอกประกาศก้องในตรัยสถาน

ประชาชนชื่นชมพระสมภาร

เพราะมีสารศุภลักษณ์ศักดิ์ฦาชา" []

 

          พระราชนิพนธ์ที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาในพระคเณศร์อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่อง "พระคเณศร์เสียงา" ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นละครเบิกโรงดึกดำบรรพ์ ทรงกำหนดให้จัดแสดงก่อนการแสดงละครเรื่องใหญ่ที่ได้กำหนดให้เล่นในลำดับต่อไป ละครเบิกโรงจึงเป็นการแสดงเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจผู้ดูผู้ชมให้อยู่ในภาวะทางอารมณ์มี่จะชมละครเรื่องใหญ่ ในขณะเดียวกันผู้แสดงละครเรื่องใหญ่ก็มีเวลาเตรียมพร้อมที่จะแสดงในลำดับต่อไป ทั้งนี้ในพระราชนิพนธ์ "พระคเณศร์เสียงา" นั้น ได้ทรงกล่าวถึงคุณวิเศษของพระคเณศร์ซึ่งได้รับประทานพรมาจากพระนารายณ์ไว้ว่า

 

          "ขอพรประเสริฐเลิศดี

มีแด่คชมุขศุขสม

พร้อมทั้งวิทยาอาคม

อุดมเลิศล้ำภพไตร

ผู้ใดจะเริ่มประเดิมงาน

ทั้งสรรพกิจการน้อยใหญ่

ให้บูชาคเณศร์ก่อนไซร้

หาไม่อย่าสมอารมณ์ปอง

ทั่วทั้งโลกาสากล

จงนับถือเอกทนต์ทั้งผอง

ส่วนปวงนายโขลงนายกอง

ล้วนต้องเคารพบูชา ฯ" []

 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงเรื่อง "พระคเณศร์เสียงา" ทั้งในรูปการแสดงละครเบิกโรง และแสดงต่อท้ายมหาอุปรากรหลายครั้ง ดังนี้

 

          โขนมหาดเล็กแสดงในงานพิธีฉลองสะพานพระราชเสาวนีย์ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

 

          เสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์ แสดงในงานฉลองศารทูลธวัช (ธงไชยเฉลิมพล) ประจำกอง ที่สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘

 

          แสดงในงานวันประประสูติสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ครบ ๖๐ พรรษา หรือที่เรียกกันว่า "แซยิดวังบูรพา" เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓

 

          แสดงต่อท้ายมหาอุปรากรเรื่อง II Pagliacci (อีปายลิอัจจี) ณ โรงโขนหลวงสวนมิสกวัน เพื่อเก็บเงินบำรุงสภากาชาดสยาม เมื่อวันที่ ๑๗ และ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

 

          อนึ่ง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นแล้ว ก็ได้มีพระราชดำริที่จะจัดสร้างเทวาลัยคเณศร์ไว้เป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังสนามจันทร์ ดังปรากฏความตอนหนึ่งใน "ชื่อพระที่นั่งแลสถานต่างๆ พระราชวังสนามจันทร์ พระปฐมเจดีย์" ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ว่า

 

"ด้วยพระที่นั่งแลสถานต่างๆ ที่พระราชวังสนามจันทร์ พระปฐมเจดีย์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นแล้วแลจะสร้างต่อไปนั้น พระราชทานนามดังต่อไปนี้

 

          ฯ ล ฯ

 

          ยังจะสร้างต่อไป คือ

 

          ฯ ล ฯ

 

          ๕ เทวาลัยคเณศร์ คือศาลเทพารักษ์สำหรับพระราชวังสนามจันทร์" []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชักสายสูตรเปิดคลุมองค์พระคเณศร์

ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญไปประดิษฐาน ณ หอแก้ว พระราชวังสนามจันทร์

เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑

 

 

          เทวาลัยพระคเณศร์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่กึ่งกลางสนามหน้าพระที่นั่งพิมานปฐม ซึ่งเป็นตำแหน่งศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ และอยู่ในแนวเดียวกับห้องพระเจ้าในพระที่นั่งพิมานปฐมและองค์พระปฐมเจดีย์นั้น จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด คงพบแต่เพียงหลักฐานว่า ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงาน

 

 

ปหล่อพระคเณศร์

ที่ประดิษฐาน ณ เทวาลัยพระคเณศร์ พระราชวังสนามจันทร์

 

 

          กระทรวงวังเชิญเทวรูปพระคเณศร์ซึ่งหล่อด้วยสำริด เศียรด้านหน้าเป็นศีรษะช้าง เศียรด้านหลังและตัวองค์เป็นมนุษย์ หูทั้งสองกางใหญ่แบบหูช้าง มี ๒ เนตร ๒ กร ๑ งวง งาข้างขวาหัก คงเหลือแต่งาข้างซ้าย ประทับนั่งงอพระชงฆ์ หันฝ่าพระบาทเข้าหากันจนเกือบชิด พระนาภีพลุ้ย ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๐๒ เซนติเมตร และสูงตลอดองค์ ๑๕๖.๕ เซนติเมตร ไปจากกรุงเทพฯ เมื่อได้ประดิษฐานเทวรูปพระคเณศร์เหนือแท่นสำริดรูปแปดเหลี่ยมสูง ๔๑ เซนติเมตรไม่มีลวดลายภายในเทวาลัยคเณศร์แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยพระคเณศร์ ณ เทวาลัยคเณศร์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ และต่อจากนั้นเมื่อทรงกระทำนมัสการพระพุทธรูปในห้องพระเจ้า ซึ่งอยู่ติดกับห้องพระบรรทมภายในพระที่นั่งพิมานปฐม ก็เท่ากับได้ทรงกระทำสักการะบูชาพระคเณศร์ที่เทวาลัยคเณสร์และทรงนมัสการพระบรมสารีริกธาตุซึ่งประดิษฐานไว้ในพระปฐมเจดีย์พร้อมกันไปทีเดียว

 

 

 


[ ]  พระบาทสมเด็จพะมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระเป็นเจ้าของพราหมณ์, หน้า ๕๖.

[ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. บทเสภาเรื่อง พญาราชวังสัน กับสามัคคีเสวก, หน้า ๕๐.

[ หอวชิราวุธานุสรณ์. พระคเณศร์เสียงา. (สำเนาลายพระราชหัตถ์)

[ "ชื่อพระที่นั่งแลสถานต่างๆ พระราชวังสนามจันทร์ พระปฐมเจดีย์", ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๒๗ สิงหาคม ๑๓๐), หน้า ๑๐๖๔ - ๑๐๖๕.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |