โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

 

๙๐. ถึงล้อก็ล้อเพียง กละเยี่ยงวิธีสหาย ()

 

 

          "คำนำ" ของสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนครนั้น นอกจากจะกล่าวถึงประวัติของผู้วายชนม์แล้ว ในประวัติผู้วายชนม์ดังกล่าวยังจะมีเรื่องราวของสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนครและข้อความบางตอนจากพระราชพงศาวดารเป็นส่วนแถมพกไปด้วยเสมอ ด้วยเหตุฉะนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรณาธิการใหญ่ของดุสิตสมิต จึงได้ทรงหยิบยกวิธีการเขียนคำนำของสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนครขึ้น "ล้อเลียน" ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "ตำนานบุหรี่ไทย" โดยทรงแปลง "หอพระสมุดสำหรับพระนคร" เป็น "หอพระตำหรับสำหรับพระบุรี" และ "สภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร" ก็ทรงกำหนดให้เป็น "สภานายกหอพระตำหรับสำหรับพระบุรี" โดยมีเนื้อความดังนี้

 

"ตำนานบุหรี่ไทย

 

พิมพ์แจกในงานศพ

หลวงจำนงนิตยภัต (อึ๊ด อุคคานนท์) ฯ

------------------

 

คำนำ

 

          ท่านตุ่ย ภรรยาหลวงจำนงนิตยภัต มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระตำหรับสำหรับพระบุรีว่า พร้อมใจกับรองอำมาตย์ตรี (อึ๊ม อุคคานนท์) ผู้บุตร์ จะทำการศพสนองคุณหลวงจำนงนิตยภัต (อึ๊ด อุคคานนท์) ผู้สามีและบิดา มีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระตำหรับเป็นของแจกสักเรื่องหนึ่งขอให้กรรมการเลือกเรื่องหนังสือให้ อยากจะให้เป็นหนังสือซึ่งเนื่องด้วยเรื่องบุหรี่ เพราะหลวงจำนงนิตยภัตเป็นผู้ชอบสูบบุหรี่อย่างชำนิชำนาญจนมีชื่อเสียงในทางนั้น ข้าพเจ้าเห็นชอบอนุโมทนาด้วย ด้วยได้คุ้นเคยชอบพอมากับหลวงจำนงนิตยภัตตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ครึ่งเดือน ได้ทราบเรื่องประวัติของคุณหลวงจำนงนิตยภัตอยู่แก่ใจ มีเรื่องราวดังจะกล่าวต่อไปนี้พอเป็นสังเขป.

 

          หลวงจำนงนิตยภัต นามเดิมอึ๊ด นามสกุล อุคคานนท์ เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๘๑ ตระกูลคนดง, บิดาชื่อนายโอ๊ย มารดาชื่อก๊าว บ้านเดิมอยู่ที่ในดงพญาไฟ, เมื่ออายุได้ ๘ ปีได้ไปเรียนหนังสืออยู่ในสำนักพระอาจารย์อินวัดคอกหมู ตำบลสูงนอน แลเมื่ออายุ ๑๔ ปีได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระครูประทีปแก้วเตร็จฟ้า (โคม) วัดลิงกัด และได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในสำนักนั้นจนอายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบท พระครูประทีปแก้วเตร็จฟ้าเป็นอุปัชฌาย์ พระสมุห์เปิ่นเป็นกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาเซี้ยวเป็นอนุสาวนาจารย์ ครั้นเมื่ออุปสมบทอยู่ได้ ๒๐ พรรษาแล้ว จึ่งลาสิกขาบท แล้วเข้ามาฝากตัวอยู่กับข้าพเจ้าที่บ้าน ข้าพเจ้าได้ใช้ให้กวาดชลาบ้านอยู่ประมาณ ๖ เดือน แล้วจึ่งได้จัดการให้เข้ารับราชการในกรมปาฐะกะถาธิการเมื่อครั้งข้าพเจ้ายังเป็นอธิบดีกรมนั้นอยู่ เพื่อข้าพเจ้าจะได้ไม่ต้องให้เงินเดือนเลี้ยงอีกต่อไป ครั้นรับราชการอยู่ได้ ๑๐ ปี นายอึ๊ดได้รับพระราชทานสัญญาบัติเป็นขุนจำนงนิตยภัต และต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดทุย ขุนจำนงนิตยภัตก็ได้ย้ายตามข้าพเจ้าไปรับราชการในกระทรวงนั้น ในตำแหน่งเสมียนกวาดห้องเสนาบดี ได้ทำราชการในตำแหน่งนั้นได้ ๕ ปี แล้วได้รับพระราชทานสัญญาบัติเลื่อนขึ้นเป็นหลวงในนามเดิมและคงรับราชการในตำแหน่งนั้นต่อมาจนอายุครบ ๖๓ ปี มีความชราทุพพลภาพ จึ่งออกจากราชการ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญสืบมาจนถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘ อายุได้ ๗๗ ปี

 

          ตลอดเวลาที่รับราชการอยู่กับข้าพเจ้า หลวงจำนงนิตยภัต ได้แสดงตนปรากฏว่า เป็นผู้มีความสามารถในทางสูบบุหรี่หาตัวจับได้ยาก แต่ใช่แต่จะได้สามารถในทางนี้ ต่อเมื่อเข้ามารับราชการอยู่กับข้าพเจ้าแล้วเท่านั้นก็หามิได้ ข้าพเจ้าได้เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า หลวงจำนงนิตยภัต เปนผู้ที่ชอบสูบบุหรี่มากมาตั้งแต่ยังหนุ่ม จนได้มีชื่อเสียงเรียกกันมาแต่เมื่อยังอุปสมบทอยู่นั้นว่า คุณอึ๊ดปล่องไฟ การที่สูบบุหรี่จนมีชื่อเสียงเช่นนี้ที่จริงไม่ใช่เปนของใหม่ เพราะได้ปรากฏมาแล้วแต่โบราณว่านายโข่งมหาดเล็กในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เปนผู้ที่สูบบุหรี่เก่งได้เคยสูบประชันกับทหารฝรั่งเศสในสมัยนั้น พวกฝรั่งเศสนอนกลิ้งกันเปนแถวไปจึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกขุนกำแหงบุหรี่ และราชทินนามนี้เองภายหลังเลื่อนมาเปนพระกำแพงบุรี ต่อลงมาในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาออกขุนกำแหงบุหรี่ผู้เปนข้าหลวงเดิมได้เลื่อนเปนออกพระกำแหงบุหรี่ เจ้ากรมช้างต้น นามกำแหงบุหรี่หรือกำแพงบุรี จึ่งติดอยู่ในกรมช้างต้นสืบมา.

 

          (เรื่องออกพระกำแพงบุหรี่นี้เก็บมาแสดง เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า ข้าพเจ้าเชี่ยวชาญปานใดในทางพงศาวดาร)

 

          ส่วนบุหรี่จะได้เกิดมีขึ้นในกรุงสยามเมื่อใดนั้น ไม่ปรากฏชัด, ในหอพระตำหรับก็มีหนังสือเรื่องนี้อยู่ฉบับเดียวแต่ที่พิมพ์คราวนี้เท่านั้น และไม่ปรากฏว่าใครเปนผู้แต่ง แต่เทียบดูสำนวนโวหารกับหนังสืออื่นๆ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า น่าจะได้แต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระพันวรรษาซึ่งเรียกกันตามภาษาสามัญว่า พระเจ้าเหา หรือบางทีจะก่อนนั้นหรือภายหลังนั้นก็ได้ แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ได้มีโอกาศปฤกษากับนาย ม.ส.ว. ยี่สุ่น จึงกล่าวแน่นอนไม่ได้

 

          อนึ่งข้าพเจ้าได้คิดไว้ว่าจะแต่งคำนำนี้ให้ยืดยาวยิ่งกว่านี้อีก แต่เสียใจที่ได้ทราบข่าวจากโรงพิมพ์ว่า กระดาษของเราเหลือน้อยเกรงจะพิมพ์ไม่พอ จึ่งจำต้องระงับไว้ที ๑ แต่คงจะหาโอกาศแต่งคำนำให้ยาวยิ่งกว่านี้จงได้ในหนังสือคราวหน้าที่จะมีใครมาขอพิมพ์ เพราะฉนั้นท่านผู้อ่านอย่าเสียใจเลย.

 

          ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราศี ซึ่งท่านตุ่ย และรองอำมาตย์ตรีอึ๊ม อุคคานนท์ ทำการปลงศพสนองคุณหลวงจำนงนิตยภัต ผู้สามีและบิดา และให้โอกาศแก่ข้าพเจ้าแต่งคำนำนี้ และเชื่อว่าท่านทั้งหลายที่รับหนังสือนี้ไปอ่าน ก็คงจะอนุโมทนาอย่างเดียวกัน

 

          (ลายเซ็นแกะไม่ทัน)

 

 

สภานายก
หอพระตำหรับสำหรับบุรี
วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑

 

 

ตำนานบุหรี่ไทย

 

          ๏ บุหรี่ไทยท่านใช้สำหรับสูบ สูดควันเข้าอมไว้ในปากแล้วพ่นออกมา ช้าบ้างเร็วบ้างตามวิสัยและอัธยาศัยของบุคคลผู้สูบ ส่วนยาที่ใช้นั้นคือยาเกาะกร่าง  [] หรือยาเพชรบูรณ์  [] มวนด้วยใบจากบ้าง, ใบตองอ่อนบ้าง, ใบตองแก่บ้าง, กลีบบัวแดงบ้าง, กลีบบัวขาวบ้าง.

 

          ๏ เมื่อจะสูบใช้จุดด้วยดุ้นแสมจากครัวไฟบ้าง ชุดบ้าง เหล็กไฟบ้าง ไม้ขีดไฟบ้าง เมื่อจุดแล้วจึ่งดูดสูดควันเข้าไปในปาก สตรีสูบบ้างก็มี แต่ทารกสูบมักวิงเวียนอาเจียนแม่นแล.ฯ

 

          ๏ จบตำนานบุหรี่ไทยตามฉบับเดิมเพียงเท่านี้ ฯ"  []

 

**************

 

หมายเหตุ :

บุคคลที่ทรงหยิบขึ้นมาล้อเลียนในเรื่องตำนานบุหรี่ไทยนั้น มีดังนี้

สภานายกหอพระตำหรับสำหรับบุรี คือ สภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร หรือ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นาย ม.ส.ว. ยี่สุ่น คือ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ หรือ นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ ซึ่งเป็นปู่ของหุ้มแพร หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (นัดดา ตฤษณานนท์) อดีตครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

 

นาย ม.ส.ว. ยี่สุ่น หรือ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ

 

 

          นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ หรือ ก.ศ.ร. กุหลาบ เกิดในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๗ ครั้นอายุได้ ๔ ขวบ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ากินรี ทรงพระกรุณารับตัวเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จะในฐานะเป็นพระญาติหรือเป็นบุตรบุญธรรมไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จนอายุครบเกศากันต์แล้วได้ถวายบังคมลาออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยกับพระรัตนมุนีที่วัดพระเชตุพน แล้วได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ได้รับประทานนามฉายาว่า "เกสโร" อันที่มาของนาม ก.ศ.ร. กุหลาบ ตามแบบตะวันตก

 

          สามเณรกุหลาบได้ลาสิกขาบทเมื่อต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วได้ไปเล่าเรียนภาษาละติน อังกฤษและฝรั่งเศสกับสังฆราชปาเลอกัวซ์ ต่อจากนั้นได้ไปทำงานเป็นเสมียนในห้างฝรั่งอยู่หลายปี ราว พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ออกหนังสือพิมพ์ "สยามประเภท" ตีพิมพ์เรื่องพงศาวดาร ชีวประวัติบุคคลสำคัญ รวมทั้งเรื่องในพระราชสำนักเป็นทำนอง ‘ท่านเล่ามาว่า’ โดยเป็นบรรณาธิการด้วยตนเอง

 

          เรื่อง "ท่านเล่ามาว่า" นั้น แท้จริงแล้วนายกุหลาบใช้วิธียืมหนังสือจากหอหลวงซึ่งเวลานั้นห้ามคัดลอกและตีพิมพ์เผยแพร่ แล้วจ้างเสมียนแอบคัดลอกเอาไว้ เมื่อจะตีพิมพ์เผยแพร่ในสยามประเภทได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาและถ้อยคำของหนังสือเสียใหม่ เพื่อไม่ให้ถูกจับได้ว่าคัดลอกมา

 

          เรื่องราวของ ก.ศ.ร.กุหลาบนั้น หลายเรื่องเขียนด้วยหลักฐานและความเป็นจริง แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่เขียนขึ้นมาเอง โดยการโยงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน ดังเช่นเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยที่นายกุหลาบเขียนลงในสยามประเภทว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินชื่อ พระปิ่นเกษ มีพระราชโอรสชื่อ พระจุลปิ่นเกษ ข้อความนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้ว ทรงเห็นว่า นาย ก.ศ.ร.กุหลาบอุตริแต่งพงศาวดารขึ้นเองอย่างเลื่อนลอย แถมยังยกพระปรมาภิไธยไปแปลงเป็นพระจุลปิ่นเกษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีกรรมการชำระความนาย ก.ศ.ร.กุหลาบขึ้น สุดท้ายบรรณาธิการ "สยามประเภท" ผู้นี้ ต้องรับพระราชอาญาเข้าไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลคนเสียจริตที่ปากคลองสานเสีย ๓๓ วัน

 

          การอ่านบันทึกหรือจดหมายเหตุของ ก.ศ.ร.กุหลาบที่เขียนไว้ ผู้อ่านจำต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ เพราะอาจจะไปเจอเรื่องที่นายกุหลาบแต่งขึ้นมาเอง ซึ่งคำว่า "กุ" ซึ่งมีความหมายว่า "ไม่มีมูล" ก็มีที่มาจากนามนายกุหลาบ หรือ ก.ศ.ร.กุหลาบนี้เอง
ก.ศ.ร. กุหลาบ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ สิริอายุได้ ๘๗ ปี

 

          แม้นายกุหลาบจะเสียชีวิตแล้วก็ตาม ก็ยังได้รับพระราชทานพรพมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานทรงเป็นสหายคนหนึ่งนายกุหลาบ

 

 

 


[ ]  เกาะกร่างเป็นตำบลในแขวงกาญจนบุรี อันเป็นเมืองกำเนิดของพลายแก้ว ทหารเอกของสมเด็จพระพันวรรษา รับราชการมีความชอบได้เป็นขุนแผนสะท้าน แล้วเป็นพระสุรินทฦาชัยไปกินเมืองอยู่เมืองอยู่เมืองกาญจนบุรี จึ่งน่าสันนิษฐานว่าหนังสือนี้จะแต่งในแผ่นดินสมเด็จพระพันวรรษา

[ มืองเพชรบูรณ์ไม่ใคร่มีใครได้ไปเพราะกลัวความไข้ แต่ข้าพเจ้าได้ไป เมืองนี้น่าดูมาก เพราะภูเขาสูงกว่าพื้นดินราบ น้ำก็ไหลตามทางแม่น้ำ ใบไม้เป็นสีเขียว ราษฎรพลเมืองกินข้าว ข้าพเจ้าสังเกตได้เช่นนี้ด้วยปรีชาญาณ จึ่งเก็บมาสู่กันฟัง

[ ]  ดุสิตสมิต เล่ม ๑ (๗ ธันวาคม ๒๔๖๑ - ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑)

 

 

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |