โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๖. โรงเรียนเมืองนครเชียงใหม่

จากโรงเรียนสอนหนังสือไทย

สู่มหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยามประเทศ (๑)

 

 

พระภิกษุบอกหนังสือแก่กุลบุตร อันเป็นการศึกษาเล่าเรียนแบบเดิมของไทย

 

 

          การศึกษาของไทยก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวนั้น นอกจากการเล่าเรียนในวัดโดยมีพระภิกษุเป็นผู้สั่งสอนแล้ว เมื่อกุลบุตรนั้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเจ้านาย ก็จะได้มีโอกาสศึกษาวิธีปฏิบัติราชการน้อยใหญ่โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ดังเช่นที่จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน "ตำนานกรมทหารบกราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ว่า

 

          "...เดิมเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นในปี ๒๔๑๑ นั้น เสด็จออกทอดพระเนตรกรมและกองทหารบกเกณฑ์หัดอย่างยุโรป ซึ่งมีมาแต่โบราณกาล และที่มีอยู่ในครั้งรัชกาลที่ ๔ เรียกว่า "ทหารหน้า" ฝึกหัดยุทธวิธีอย่างซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้น ถวาย ณ ท้องสนามไชยหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์อยู่เนือง ๆ กระทำให้เกิดมีพระราชนิยมในการทหารยิ่งขึ้น

 

          ลำดับนั้นมีบุตรในราชตระกูล และข้าราชการที่ยังมีอายุเยาว์เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นในหลายคนด้วยกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเด็กพวกนั้นรวมกันฝึกหัดขึ้นเป็นทหารตามยุทธวิธีอย่างใหม่ในสมัยนั้น ทหารเด็ก ๆ พวกนั้นเรียกว่า "ทหารมหาดเล็กไล่กา" คือสำหรับไล่กาที่บินมารบกวนข้าวสุกในเวลาทรงบาตร และตั้งแถวยืนรับเสด็จในที่นั้นทุกเวลาเช้า มีจำนวนตัวผู้เป็นทหารพวกนั้นในชั้นแรกประมาณสัก ๑๒ คน... ควรนับว่าเป็นแต่ชั้นการเล่น ๆ หรือจะนับว่าเป็นแต่ชั้นนักเรียนทหารก็ดี ถึงกระนั้นทหารพวกนี้ก็ได้มีนามว่า "ทหารมหาดเล็ก" เป็นครั้งแรก และเป็นเหตุให้เกิดมีกรมทหารมหาดเล็กที่จริงจัง สืบเชื้อนามนั้นเป็นหลักฐานต่อมา...

 

          ครั้นถึงปี ๒๔๑๕ มีพระราชประสงค์จะให้พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงพระเยาว์ และบุตรหลานราชตระกูลและข้าราชการได้รับความศึกษาวิชาไว้เป็นประโยชน์ในราชการสืบไป โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งสถานที่สอนภาษาอังกฤษมีฝรั่งเป็นครูชื่อ "ฟรานซิส ยอร์ช แปตเตอร์ซัน"... เป็นโรงเรียนพิเศษเกิดขึ้นใหม่ในกรมนี้แห่งหนึ่ง จัดสถานที่สอนภาษาไทยอยู่ในความปกครองของกรมทหารมหาดเล็กเหมือนกันอีกแห่งหนึ่ง..."  []

 

 

พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้ง

โรงเรียนพระตำหนักสวนหุหลาบของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

 

 

          โรงเรียนภาษาอังกฤษที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กนั้น ได้เปิดการเล่าเรียนอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิกล้มไป แต่ส่วนโรงเรียนไทยที่มีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) คงเปิดสอนและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ "...จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนเรียกว่า "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" คงอยู่ในความปกครองของกรมทหารมหาดเล็กสืบต่อมา..."  []

 

          ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ [] เป็นข้าหลวงพิเศษเสด็จขึ้นไปเมืองนครเชียงใหม่เพื่อจัดการรักษาพระราชอาณาเขตทางเมืองนครเชียงใหม่ที่ต่อกับพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ขบวนเสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ รัตนโกสินทรศก ๑๐๗ (วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๓๑) มีมหาดเล็กข้าในพระองค์ พระตำรวจหลวง และนายทหารตามเสด็จมาในคราวนั้นรวม ๒๖๒ คน

 

 

ที่ว่าการจ้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพริมแม่น้ำปิง สถานที่ตั้งโรงเรียนเมืองนครเชียงใหม่

 

 

          พระกรณียกิจสำคัญเมื่อเสด็จถึงเมืองนครเชียงใหม่ คือ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงสอนหนังสือไทยขึ้นในบริเวณตำหนักที่ประทับในบริเวณ "ที่ข้าหลวงพัก" ริมแม่น้ำปิงซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๕ ดังปรากฏความตอนหนึ่งในรายงานกรมศึกษาธิการที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ [] อธิบดีกรมศึกษา ธิการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ว่า "...ที่เมืองนครเชียงใหม่นั้น พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ มีจดหมายมายังข้าพระพุทธเจ้าฉบับ ๑ ขออาจาริย์แลเครื่องเล่าเรียนขึ้นไปจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาเดกชาวเมืองนครเชียงใหม่แห่ง ๑..."  []

 

          โรงเรียนที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ทรงจัดตั้งขึ้นนั้นมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า "โรงเรียนเมืองนครเชียงใหม่" จัดเป็นโรงเรียนมูลศึกษาสามัญชั้นต้นตามหลักสูตรของกรมศึกษาธิการ "...ให้นักเรียนรู้อักขรวิธีภายในปีเดียวหรือปีครึ่งเป็นอย่างช้า..."  [] มีหม่อมราชวงศ์จันทร์ บุตรหม่อมเจ้านภา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ ซึ่งเดิมเป็นอาจารย์ไทยอยู่ที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นอาจารย์ใหญ่ และหม่อมหลวงตึก เป็นอาจารย์รอง เปิดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓) มีนักเรียนในวันเปิดโรงเรียนทั้งสิ้น ๓๙ คน

 

          อนึ่ง ใน "รายงานการในกรมศึกษาธิการ ประจำปี จำนวน รัตนโกสินทร ศก ๑๐๘" ได้กล่าวไว้ว่า อาจารย์ใหญ่และอาจารย์รองของโรงเรียนเมืองนครเชียงใหม่นี้ "...ไม่ได้รับพระราชทานเงินเดือนในกรมศึกษาธิการ ด้วยได้รับพระราชทานอยู่กับกรมทหาร..." [] แต่โดยที่ไม่ได้ระบุไว้ว่า กรมทหารที่กล่าวถึงนั้น คือ กรมทหารรักษาพระองค์ [] ที่ตามเสด็จขึ้นมาจากกรุงเทพฯ หรือกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ [] ซึ่งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสังกัดอยู่ แต่เมื่อคำนึงถึงสังกัดเดิมของผู้เป็นอาจารย์ใหญ่แล้ว น่าจะอนุมานได้ว่า "กรมทหาร" ดังกล่าวน่าจะหมายถึงกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

 

          โรงเรียนเมืองนครเชียงใหม่ที่มีหม่อมราชวงศ์จันทร์ มหากุล เป็นอาจารย์ใหญ่นี้จะเปิดดำเนินการถึงเมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในชั้นนี้คงพบหลักฐานแต่เพียงว่าเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) นั้นโรงเรียนนี้ยังคงเปิดสอนอยู่ ส่วนหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ ใบบอกของพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลลาวเฉียง ฉบับลงวันที่ ๒๗ กันยายน ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

 

 

          "...ด้วยมีตราพระราชสีห์น้อย [๑๐] ฉบับที่ ๓๒/๖๕๕๑ ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๓ โปรดเกล้า ฯ ว่าได้ทรงทราบบอกพระรักษ์เสนา [๑๑] ฉบับที่ ๒๖๔/๑๖๙๗ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒ เรื่องจัดการฝึกหัดให้บุตรหลานเจ้านายเมืองลาวเฉียงเล่าเรียนฝึกหัดวิชานั้น ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าและพระรักษ์เสนาได้จัดการให้เจ้านายบุตรหลานเมืองลาวเฉียงเล่าเรียนวิชา เพื่อให้เป็นประโยชน์ในราชการดังปรากฏในบอกฉบับนี้ ชอบด้วยราชการยิ่งนัก โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดการให้สำเร็จสืบไปนั้น พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ ทราบเกล้าฯ ทุกประการแล้ว..." [๑๒]

 

 

 


[ ]  จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช. ตำนานกรมหารบกราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑ - ๙.

[ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๕.

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพันเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ศ.๑/๑๒ หนังสือราชการ ปี ๑๐๙, ๑๑๑ เจ้าพระยาภาส การตัวแลราชการ. (๑๔ สิงหาคม ๑๐๙ - ๒๘ พฤษภาคม ๑๑๑).

[ เรื่องเดียวกัน

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ศ.๑/๑๒ หนังสือราชการ ปี ๑๐๙, ๑๑๑ เจ้าพระยาภาส การตัวแลราชการ. (๑๔ สิงหาคม ๑๐๙ - ๒๘ พฤษภาคม ๑๑๑).

[ ใน "ข่าวพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ เสด็จไปเมืองนครเชียงใหม่" ระบุว่า ในคราวนั้นมีทหารในกรมทหารรักษาพระองค์ (ต่อมาเปลี่ยนนามเป็น กรมทหารบกราบที่ ๒ มณฑลนครไชยศรี) เป็นนายทหาร ๓ และพลทหาร ๑๐๐ โดยเสด็จขึ้นมาจากกรุงเทพฯ พร้อมกับนายทหารจากกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์อีก ๑๙ นายด้วย

[ ปัจจุบันคือ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ๑๐ หมายถึงหนังสือราชการของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

[ ๑๑ข้าหลวงที่ ๒ มณฑลลาวเฉียง ต่อมาได้เป็นปลัดกรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ นามเดิม แย้ม เป็นบุตรพระจินดาจักรรัตน์ (เลื่อน) เจ้ากมกองแก้วจินดา

[ ๑๒หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ม.๕๘/๖๓ เรื่อง จัดนักเรียนฝึกหัดรับราชการมณฑลลาวเฉียง (๑ กรกฎาคม ๑๑๓ - ๑๙ ตุลาคม ๑๑๕)

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |