โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๘. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ (๑)

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาถึง ๙ ปีเศษนั้น มีพระอภิบาลและจิตรกรชาวอังกฤษได้รังสรรค์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์และภาพวาดลายเส้นแสดงพระราชกรณียกิจและเป็นภาพล้อไว้ถึง ๕ ภาพ สามารถแบ่งภาพดังกล่าวได้เป็น ๒ ชุด คือ

 

          ชุดแรก เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์และภาพที่วาดขึ้นในคราวที่ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ มีอยู่ด้วยกัน ๔ ภาพ

 

 

 

 

          สองภาพแรกเป็นภาพวาดลายเส้นชนิดภาพประกอบบทความ (Illustrator) คราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเครื่องเต็มยศนายร้อยโททหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปในการประชุมพระบรมวงศ์ข้าราชการและนักเรียนไทยในยุโรป ฟังประกาศสถาปนาพระอิสริยยศที่สถานอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗

 

          ภาพแรกเป็นภาพพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ [] กำลังถวายพระสังวาลปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ภาพนี้พบหลักฐานว่าได้ตีพิมพ์ในนิตยสารแบล็คแอนด์ไวท์ (Black & White) ฉบับประจำวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๕ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ส่วนภาพที่สอง พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เชิญพระแสงกระบี่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ยังไม่อาจหาที่มาของภาพได้

 

 

 

 

          ภาพถัดมาเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ทรงเครื่องพลเรือนประทับพระเก้าอี้ ที่มุมบนขวาของภาพเป็นตราแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์องค์นี้ S.P.Y. หรือ Sir Leslie Ward เป็นผู้เขียน ได้ตีพิมพ์เต็ม ๑ หน้าในวารสาร Vanity Fair ของประเทศอังกฤษ [] ฉบับลงวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๘๙๕ (พ.ศ. ๒๔๓๘) พร้อมพระราชประวัติย่ออีก ๑ คอลัมน์

 

 

 

 

          ภาพที่สี่เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์สีน้ำมันทรงเครื่องเต็มยศ นายร้อยโททหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เซอร์เบซิล ทอมสัน (Sir Basil Thompson) พระอภิบาลชาวอังกฤษเป็นผู้วาด โดยเสด็จประทับเป็นแบบเมื่อวันที่ ๘, ๒๓ กุมภาพันธ์ และ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๘

 

          ต่อมาวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ เซอร์เบซิล ทอมสันได้ถวายพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์องค์นี้แด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเสด็จประพาสประเทศอังกฤษ ทรงเชิญกลับมาประเทศไทย แล้วได้ประทานให้ประดิษฐานไว้ที่วชิราวุธวิทยาลัย

 

          ภาพชุดที่สอง เป็นภาพเขียนสีน้ำประเภทภาพล้อที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Caricature ในภาพผู้เขียนได้จับภาพพระพักตร์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเครื่องเต็มยศนายทหารราบเบาเดอรัมทรงมงกุฎแบบฝรั่ง ที่มุมบนซ้ายของภาพเป็นธงช้างเผือกซึ่งเป็นธงชาติสยามในเวลานั้น แต่วาดออกมาดูไม่เหมือนช้าง เข้าใจว่าผู้เขียนภาพนี้คงไม่เคยเห็นช้างจริงๆ ภาพนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารฉบับหนึ่ง เมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๙ (พ.ศ. ๒๔๔๒) คราวเสด็จไปประจำการในกองพันที่ ๑ กรมทหารราบเดอรัม ภายหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ (Royal Military Academy, Sandhurst) และได้ทรงอาสาไปร่วมรบในสงครามบัวร์ (Beor War) ที่อาฟริกาพร้อมกับนายทหารราบเบาเดอรัมที่ถูกส่งไปรบใน พ.ศ. ๒๔๔๒ แต่ทางราชการไทยและอังกฤษเกรงว่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์ชีพ จึงไม่อนุญาตให้เสด็จไปในการรบครั้งนั้น

 

 

 

 

 

          ภาพประวัติศาสตร์ทั้ง ๕ ภาพนี้ เป็นภาพที่นิยมเขียนกันในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ครั้นทรงจัดตั้งเมืองจำลองดุสิตธานีและทรงออกหนังสือดุสิตสมิตเป็นวารสารรายสัปดาห์ของดุสิตธานีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็ทรงนำวิธีการเขียนภาพประกอบรวมทั้งภาพล้อแบบที่นิยมกันในอังกฤษมาเป็นส่วนหนึ่งของวารสารดุสิตสมิตมาเผยแพร่ โดยทรงเขียนภาพล้อแบบ Caricature พระราชทานไปลงพิมพ์เผยแพร่ในดุสิตสมิตตั้งแต่ฉบับแรก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จางวางกรมช่างมหาดเล็กซึ่งเป็นช่างเขียนของดุสิตสมิตเขียนภาพล้อและภาพประกอบลงในดุสิตสมิตเป็นลำดับตลอดมา

 

          ภาพล้อแบบ Caricature นี้ ผศ. ดร.มะลิฉัตร เอื้ออานันท์ ได้ให้คำอธิบายไว้ในพจนานุกรมศัพท์ ศิลปะว่า "ภาพวาดล้อเลียนหรือเสียดสี วาดในลักษณะตัดทอนหรือทำให้ผิดส่วนอย่างจงใจ เช่นเน้นลักษณะเด่นจนเกินจริง รวมทั้งเน้นในจุดอื่นๆ เช่น ชนชั้นทางสังคม ภาพล้อใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกจิตสำนึก ก่ออารมณ์ตอบโต้ตั้งแต่อารมณ์ขันเบาๆ จนถึงความรู้สึกโกรธแค้นรุนแรง เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างภาพประกอบเรื่อง เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ศาสนาหรือการเมือง"  [] ในขณะที่พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ อังกฤษ - ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำอธิบายศัพท์นี้ไว้ว่า

 

          "ภาพวาดหรือรูปปั้นที่ต้องการแสดงการล้อเลียนหรือเสียดสีหรือให้ดูขบชัน การแสดงออกตามแนวดังกล่าวมีมานานแล้ว โดยทั่วไปจะเป็นภาพลายเส้น มีลักษณะคล้ายภาพประกอบเรื่อง มีเนื้อหาแสดงถึงบุคคลในด้านต่างๆ เช่น สังคม ศาสนา หรือการเมือง โดยวาดล้อให้ดูคล้ายลักษณะของบุคคลที่ต้องการแสดงถึง แต่เน้นลักษณะเฉพาะตัวให้เด่นชัดเกินจริง หรืออาจเสริมด้วยสิ่งของเครื่องใช้ประจำตัวของผู้นั้น เช่น ซิการ์ของวินส์ตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ หมวก หนวด และไม้เท้าของชาร์ลี แชปลิน ดาราภาพยนตร์อังกฤษยุคภาพยนตร์เงียบ"

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์

[ วารสาร Vanity Fair เป็นวารสารประวัติศาสตร์รายสัปดาห์ที่พิมพ์จำหน่ายในประเทศอังกฤษ ในระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๘ - ๑๙๑๔ และพิมพ์จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๓ - ๑๙๓๖.

[ มะลิฉัตร เอื้ออานันท์. พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ, หน้า๙๕.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐  ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |