โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๙. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ()

 

 

          ภาพฝีพระหัตถ์ที่พระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิตนั้น ล้วนเป็นภาพวาดชนิดภาพล้อเส้นหมึก มีทั้งที่ทรงวาดไว้เป็นภาพเดี่ยวและเป็นชุด ซึ่งสามารถจัดแบ่งภาพล้อฝีพระหัตถ์นั้นเป็นประเภทต่างๆ ได้ ดังนี้

 

          ๑. ภาพเชิงสั่งสอน คือ ภาพที่พระราชทานไปลงในดุสิตสมิต ฉบับแรก ซึ่งออกจำหน่ายเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ คือภาพที่ชื่อ "ภาพปฤศณา" ซึ่งทรงล้อเลียนคณะผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ "ดุสิตสมัย" และ "ดุสิตรีคอร์เดอร์" ซึ่งดีแต่จะตีโวหารโต้ตอบกันไปมาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ นอกจากภาพ "ปฤศณา" นี้แล้ว ในดุสิตสมิตฉบับเดียวกันยังได้พิมพ์บทความชื่อ "พิลึก" ซึ่งกล่าวถึงหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับนั้นไว้ ดังนี้

 

 

 

 

          "ขอเราพูดต่อไปตามรูปเดิมแห่งข้อความที่เราตั้งใจจะเขียนเมื่อได้เริ่มจ่าหน้าไว้ว่า "พิลึก"

 

          ที่เราตั้งใจจะกล่าวนั้นคือ หนังสือพิมพ์รายวันในดุสิตธานีมีถึงสองฉบับ, แต่จะหาข่าวเท่าเส้นผมยักษ์ก็ไม่ได้ บางทีจะเป็นเพราะมัวแต่แสดงโวหารประกวดผรุสวาทกันเสียกระมัง จึ่งไม่มีหน้ากระดาษเหลือสำหรับลงข่าว.

 

          นี่ท่านผู้อ่านจะย้อนถามเรากระมัง, ว่า "ก็หนังสือพิมพ์ของท่านล่ะ, มีข่าวที่ไหนบ้าง ?" ขอตอบว่าไม่มี, และไม่ตั้งใจจะให้มีเสียด้วยซ้ำ ! เพราะนามของเราก็บอกชัดอยู่แล้วว่า "ดุสิตสมิต" ถ้าเราชื่อ "ดุสิตสมัย" เราก็จะหาข่าวลงให้ทันสมัย; หรือถ้าเราชื่อ "ดุสิตรีคอร์เดอร์" เราก็จะได้ "รีคอร์ด" ข่าวให้ท่านอ่านจริงๆ. (ในที่นี้เราขอชี้แจงว่า เราออกสำเนียงคำ "Record" ว่า "รีคอร์ด" เช่นนี้, ไม่ใช่เพราะเราไม่รู้ว่าภาษาอังกฤษเขาออกสำเนียงคำนี้ว่าอย่างไรฉนั้นหามิได้, แต่เพราะเจ้าของเขาเรียกนามหนังสือพิมพ์ของเขาว่า "รีคอร์เดอร์" เราจึงได้พลอย "รี" กับเขาไปด้วย). เราชื่อ "ดุสิตสมิต" เราก็ตั้งใจแต่จะให้ผู้อ่านของเราได้ "สมิต" (ยิ้ม) น้อยบ้างใหญ่บ้าง, หรือแห้งบางตามทีเท่านั้น" []

 

 

          ๒. ภาพเชิงบันทึกเหตุการณ์ เป็นภาพที่ทรงเขียนขึ้นเพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นไว้ มีอาทิ

 

 

 

 

          ภาพ "ศิลป์ศรไม่กินกัน" ลงพิมพ์ในดุสิตสมิต ฉบับที่ ๔ วันเสาร์ที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ความหมายของภาพคือ คณะฟุตบอลแห่งชาติสยามและคณะราชกรีฑาสโมสร ซึ่งได้แข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติชิงถ้วยทองของหลวงกันมาเป็นประจำทุกปี ได้เริ่มแข่งขันครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ คณะฟุตบอลแห่งชาติสยามเป็นฝ่ายชนะ ๒ : ๑ แต่การแข่งขันในอีกสามปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๔๕๙, ๒๔๖๐ และ ๒๔๖๑ นั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่สามารถเอาชนะกันได้

 

 

 

 

          ภาพ "พรานเก่งไหมขอรับ" เป็นภาพที่พระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิต ฉบับที่ ๙ วันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ในโอกาสที่ทีมฟุตบอลกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ได้ครองถ้วยชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลถึง ๒ ถ้วยในปีเดียวกัน คือ "ถ้วยทองนักรบ" สำหรับการแข่งขันในระหว่างทีมสโมสรต่างๆ ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือนและเสือป่า ณ สนามสโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต ในระหว่างเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน กับ "ถ้วยน้อยนักรบ" ซึ่งเป็นการแข่งขันในระหว่างกรมกองทหารและเสือป่าที่ได้ตามเสด็จไปในการซ้อมรบเสือป่าประจำปี ณ ค่ายหลวงพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และค่ายหลวงบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม

 

 

 

 

          ภาพนายทหารถือธงไตรรงค์ มีป้าย ๒๔๖๑ ปักไว้ที่พื้นนั้น เป็นภาพที่ทรงเขียนและพระราชทานไปลงในดุสิตสมิต ฉบับที่ ๑๗ วันเสาร์ที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ พร้อมคำอำนวยพรปีใหม่ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ธงไชยเฉลิมพลของกองทหารบกรถยนต์ซึ่งได้ไปในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรปเพิ่งจะได้รับตรา "ครัวเดอแกรซ์" (Croix de Guerre) อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทางทหารจากรัฐบาลฝรั่งเศส ดุสิตสมิตฉบับเดียวกันนี้จึงได้ลงบทความเรื่อง "ธงไทยได้ตรา" มีเนื้อความว่า

 

          "หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับได้ลงแล้วถึงเรื่องที่กองทหารไทยเราในสมรภูมิตวันตกได้ตราฝรั่งเศษ. แต่ด้วยเหตุที่หนังสือพิมพ์รายวันนั้นๆ แถลงข้อความแต่โดยย่อๆ, เราผู้ที่ได้ทราบเรื่องนี้พอเปนหลักฐานอยู่บ้าง จึ่งถือโอกาศแถลงข่าวอันเปนที่น่ายินดีนี้ให้พิสดารสักหน่อย. และอีกประการหนึ่งเราจะทิ้งโอกาสในการที่มีนามว่าไทยและงดการกระพือปีกรำแพนด้วยความปลื้มปิติ ด้วยเพื่อนร่วมชาติของเราได้ไปทำชื่อเสียงและเกียรติคุณไว้ในแดนไกลเช่นนั้นไม่ได้; จึ่งขอเล่าดังต่อไปนี้

 

          เมื่อวันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม เสนาธิการทหารบก [] ได้ทรงรับโทรเลขจากนายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์  [] ความว่า

 

          "โปรดนำข้อความในโทรเลขนี้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย. ก่อนอื่นข้าพระพุทธเจ้าจะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า การที่ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องจากกองรถยนต์ไทยมาก่อน จึ่งได้จัดการให้มีการฉลองธงชัยเฉลิมพลของใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท. พิธีนี้ได้กระทำที่เมืองนอยสตัดท์ต่อหน้าประชาชนชาติศัตรู. ข้าพระพุทธเจ้ามีความปลื้มใจที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า นายพลผู้บัญชาการทัพฝรั่งเศษได้ถือโอกาศนี้ ให้ตรากางเขนสงคราม  [] แก่ธงชัยเฉลิมพลของใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท, เพื่อเปนเครื่องแสดงว่า ตั้งแต่ทหารไทยได้เข้าร่วมมือกระทำกิจสงคราม เขาได้แสดงกิริยาองอาจกล้าหาญมิได้ย่อท้อต่อกระสุนปืนของข้าศึก เช่นเมื่อระหว่างวันที่ ๒๖ ถึง ๓๑ ตุลาคมนี้เปนต้น. ครั้นแล้วกองทหารไทยได้เดินสวนสนามอย่างสง่าผ่าเผย. ข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดีที่จะกราบบังคมทูลว่า รู้สึกเปนเกียรติยศอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาศให้เปนผู้ควบคุมผู้ที่มีคุณวุฒิเช่นนั้น และข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดีด้วยใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทยิ่งนัก."

 

          มีใครบ้างในหมู่คนไทยที่จะไม่รำแพนในการที่ได้ทราบข่าวดีเช่นนี้. เมื่อก่อนหน้าที่จะได้ส่งทหารออกไปยุโรปซิมีเสียงพูดกันต่างๆ นาๆ. เดี๋ยวนี้ขอถามหน่อยว่าถ้าหากไม่ส่งทหารออกไปละก็จะได้รำแพนเช่นนี้ฤา? ก็เปล่าอีกนั้นแหละ, ขี้คร้านจะต้องนั่งนิ่งอ้าปากคอยอ่านข่าวโทรเลขประเทศโน้นเปนอย่างนั้น ประเทศนั้นได้อย่างนี้, ก็จะต้องเสียใจภายหลัง คราวนี้ถึงคราวแล้วที่ไทยเราจะเดินเกี่ยวแขนกับประเทศน้อยใหญ่ได้อย่างอกผายไหล่ผึ่ง, ใครเล่าจะมาดูแคลนไทยเราอีก.

 

          พวกเราได้เห็นพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ณ บัดนี้โดยตระหนัก. นอกจากพระองค์จะปกครองร่มเกล้าฯ ให้เราเปนสุขแล้วยังทรงนำเกียรติศักดิ์ไทยแผ่เผยไปในแดนไกลอีกด้วย. ขอเชิญท่านนึกดูทีหรือว่าตั้งแต่ไทยได้เปนไทยมาเคยมีเช่นนี้บ้างไหม? ฉะนั้นควรจะระฦกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และช่วยกันเปล่งถวายพระพรชัยมงคล.

 

          ขอให้พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีทรงพระเจริญ.

 

ชโย."  []

 

          ๓. ภาพเพื่อการกุศล เป็นภาพที่ทรงเขียนขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายหารายได้บำรุงการกุศลสาธารณะ ภาพที่ทรงวาดเพื่อการกุศลภาพแรกคือ ภาพ "เราขอชักชวน" เป็นภาพนักเรียนมหาดเล็กหลวงแต่งเครื่องแบบนักเรียนตามที่ทรงกำหนดไว้ในพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการฝ่ายพลเรือนในพระราชสำนักนิ์ ร.ศ. ๑๒๙ คือ สวมหมวกหนีบสีน้ำเงินติดดุมเงินตราพระมหามงกุฎที่หน้าหมวกหนีบ ๒ ดุม ที่ขวาหมวกประดับเข็มเครื่องหมายเงินรูปพระวชิราวุธมีพระมหามงกุฎอยู่เหนือ เสื้อผ้าขาวแบบราชการ (ราชปะแตน) ติดดุมเงินตราพระมหามงกุฎ ๕ ดุม ที่คอติดแผ่นคอพื้นสีน้ำเงินมีแถบเงินกว้าง ๑ เซนติเมตรพาดกลางตามทางยาว กับมีอักษร ม. โลหะสีเงินติดทับที่กึ่งกลางแผ่นคอทั้งสองข้าง กางเกงไทยขาสั้นสีน้ำเงิน ถุงเท้าดำ รองเท้าหนังดำ พระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิตฉบับพิเศษ "เฉลิมพระชนมพรรษา ๒๔๖๑" คู่กันกับบทความเรื่อง "เราขอชักชวน" ของมหาสมิต [] ซึ่งมีเนื้อความ ดังนี้

 

 

 

 

          "หนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับได้ลงแล้วถึงเรื่องที่กองทหารไทยเราในสมรภูมิตวันตกได้ตราฝรั่งเศษ. แต่ด้วยเหตุที่หนังสือพิมพ์รายวันนั้นๆ แถลงข้อความแต่โดยย่อๆ, เราผู้ที่ได้ทราบเรื่องนี้พอเปนหลักฐานอยู่บ้าง จึ่งถือโอกาศแถลงข่าวอันเปนที่น่ายินดีนี้ให้พิสดารสักหน่อย. และอีกประการหนึ่งเราจะทิ้งโอกาสในการที่มีนามว่าไทยและงดการกระพือปีกรำแพนด้วยความปลื้มปิติ ด้วยเพื่อนร่วมชาติของเราได้ไปทำชื่อเสียงและเกียรติคุณไว้ในแดนไกลเช่นนั้นไม่ได้; จึ่งขอเล่าดังต่อไปนี้

 

          "เราขอชักชวนห้ท่านชำเลืองดูรูป "คาร์ตูน" ที่เปนฝีพระหัดถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนขึ้นเพื่อพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง. ที่จริงใครๆ ก็ย่อมจะทราบอยู่แล้ว ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเขียนรูปน้อยทีเดียว. และเราได้ยินพระราชกระแสรทรงออกพระองค์อยู่เสมอว่ามิได้ทรงศึกษาในทางวาดเขียนเลย เพราะฉนั้นการที่ทรงเขียนรูปนี้ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรานำลงหนังสือพิมพ์ "ดุสิตสมิต" ฉบับพิเศษนี้, จึ่งนับว่าเปนเกียรติยศพิเศษแก่คณะเราส่วน ๑ ซึ่งเราไม่สามารถจะหาถ้อยคำสำแดงความรู้สึกภูมใจให้เพียงพอได้.

 

          นอกจากนี้ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์จำลองรูปนี้ขึ้นสำหรับให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงขายในงานออกร้านที่สวนจิตรลดา, เพื่อจะได้เก็บเงินส่งบำรุงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง. เราหวังใจว่าผู้อ่านของเรา ถึงแม้ได้ซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้แล้ว ก็จะซื้อรูปจำลองที่นักเรียนมหาดเล็กจะขายนั้นอีกด้วย. เพราะรูปจำลองนั้นจะเปนแผ่นเขื่องกว่าที่แนบอยู่ในหนังสือพิมพ์นี้. ทั้งจะได้มีโอกาสเอารูปนั้นเข้ากรอบโดยไม่ต้องตัดออกจากหนังสือพิมพ์นี้ด้วย. ถ้าท่านซื้อรูปนั้นแล้วจะได้รับความพอใจเปน ๒ สถาน. คือ สถาน ๑ ได้มีรูปที่จำลองฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. อีกสถาน ๑ เท่ากับได้บำเพ็ญกุศลโดยเสด็จในการพระราชทานวิทยาทานแก่กุลบุตร์, ผู้จะเปนเหมือนกระดูกสันหลังของชาติเราสืบไป. เพราะฉะนั้นขออย่าให้ลืม เชิญซื้อจงได้นะขอรับ !

 

มหาสมิต"  []

 

 

 


[ ]  ดุสิตสมิต เล่ม ๑ ฉบับที่ ๑ (๒ ธันวาคม ๒๔๖๑), หน้า ๘ - ๙.

[ เสนาธิการทหารบกในเวลานั้น คือ จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

[ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลเอก พระยาเทพหัสดิน

[ ตราครัวเดอแกรซ์ (Croix de Guerre)

[ ดุสิตสมิต เล่ม ๒ ฉบับที่ ๑๗ (๕ เมษายน ๒๔๖๒), หน้า ๘๕ - ๘๖.

[ พระนามแฝงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.

[ ดุสิตสมิต เล่ม ๑ ฉบับพิเศษ (เฉลิมพระชนม์พรรษา ๒๔๖๑), หน้า ๒๖.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |