โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

          ก่อนจะเริ่มเรื่อง "จดหมายเหตุวชิราวุธ" ขออนุญาตรายงานตัวให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของคอลัมน์นี้ไว้ก่อนว่า เกิดขึ้นมาจากท่านกรรมการอำนวยการโรงเรียนท่านหนึ่งได้ปรารภกับผู้เขียนว่า อยากจะให้มาช่วยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวชิราวุธวิทยาลัยเผยแพร่ในเวบไซด์ของโรเรียนบ้าง โดยเรื่องราวที่จะนำบอกเล่านี้ท่านสั่งมาว่า น่าจะเป็นเรื่องที่มีทั้งสาระและไม่มีสาระคละเคล้ากันไป จึงได้ตกลงใจแยกเรื่องราวที่จะบอกเล่าออกเป็น ๒ คอลัมน์ คือ คอลัมน์สาระความรู้เชิงวิชาการให้ชื่อว่า "จดหมายเหตุวชิราวุธ" ที่พยายามจะทยอยเขียนมาลงเป็นประจำทุกวันที่ ๑ และ ๑๖ ของเดือน ส่วนที่เป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำของนักเรียนเก่าอาวุโสหรือที่ผู้เขียนได้ประสบพบเห็นมาด้วยตนเองได้ให้ชื่อคอลัมน์นั้นว่า “ฝากเรื่องราวไว้กับน้องๆ” ซึ่งกำหนดจะนำเสนอผ่านหน้าเวบนี้ราววันที่ ๙ และ ๒๔ ของทุกเดือน

 

          บอกกล่าวความเป็นมากันแล้ว ขอเริ่มประเดิมตอนแรกด้วยเรื่อง

 

๑. มหาดเล็ก (๑)

 

          คำว่า "มหาดเล็ก" นี้  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชิบายไว้ว่า

 

 

          "มหาดเล็กคืออะไร ตอบว่า คือผู้ที่รับใช้พระราชาหรือเจ้านาย มหาดเล็กผิดกับข้าราชการและข้าในกรมอื่น ๆ ดังนี้ คือ เป็นผู้รับใช้อยู่ใกล้พระองค์เจ้านายของตนยิ่งกว่าผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่มหาดเล็กจึงจำต้องเลือกสรรผู้ที่ไว้วางพระราชหฤทัยแห่งเจ้าได้ การที่จะเลือกคนอย่างนี้  ถ้าจะว่าไปตามการที่ควรก็ต้องตรวจตราทราบความประพฤติและอัธยาศัยของบุคคลก่อน  จึงจะทราบได้ว่าเป็นคนควรไว้ใจได้หรือไม่  แต่ถ้าจะตรวจตราจริงเช่นนี้ก็จำจะต้องรอดูอยู่นานนัก  ส่วนมหาดเล็กนั้นท่านประสงค์ผู้ที่ยังเยาว์  เพื่อจะใช้ได้คล่องแคล่ว  ถ้าจะมัวรอดูนิสัยดูอัธยาศัยและดูความประพฤติแล้ว  ก็ย่อมจะไม่ได้ผู้ที่มีอายุสมควรแก่ความประสงค์นั้นอยู่เอง

          เพราะฉะนั้นท่านจึงคิดผ่อนผันไปทางเลือกสรรบุตรผู้ดีมีตระกูล  โดยเหตุที่บุคคลชนิดนี้มีความอบรมอันดี  อาจหันไปหาทางดีทางชอบได้มากกว่าผู้ที่ขาดการอบรม  เพราะเหตุนี้แหละจึงเกิดมีข้อจำเป็นขึ้นว่า  ผู้ที่เป็นมหาดเล็กต้องเป็นบุตรผู้ดีมีตระกูลดี"  [ ]

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ที่อัฒจันทร์ตะวันออก 
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อคราวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร
วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕

 

          มื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครภายหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาที่ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชวังสราญรมย์เป็นที่ประทับ  พร้อมกับได้โปรดเกล้าฯ ให้มีมหาดเล็กมาประจำพระองค์ อาทิ พระเทพทวาราวดี (สาย ณ มหาชัย) เป็นเจ้ากรม หลวงบุรีนวราษฐ (จันทร์  จิตรกร) เป็นปลัดกรม และนายวรการบัญชา (เทียบ  อัศวรักษ์) เป็นจางวางรถม้าแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ก็ได้พระราชทานมหาดเล็กในพระองค์ ๒ คน คือ ม.ล.เฟื้อ (ต่อมาเป็นเจ้าพระยารามราฆพ) และม.ล.ฟื้น  พึ่งบุญ (ต่อมาเป็นพระยาอนิรุทธเทวา) สองพี่น้องผู้เป็นบุตรของพระยาประสิทธิ์ศูภการ (ม.ร.ว.ลม้าย  พึ่งบุญ) และ
พระนมทัด  พึ่งบุญ มาเป็นมหาดเล็กในพระองค์  ต่อจากนั้นก็ได้มีข้าราชการและพ่อค้าคหบดีนำบุตรหลานมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์เป็นลำดับ

          มหาดเล็กที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงไว้นั้น มีทั้งหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง และเด็กชายบุตรหลานเจ้านายและ
ข้าราชการ และถึงแม้จะมีฐานันดรยศต่างกัน แต่เมื่อได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กข้าในพระองค์แล้ว ก็ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงเสมอหน้ากันทั้งสิ้น พระราชทานทั้งการศึกษา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนเบี้ยเลี้ยงแก่มหาดเล็กเด็ก ๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้นั้นถ้วนทั่วทุกตัวคน

          พระยาสุนทรพิพิธ (เชย  มัฆวิบูลย์) คุณมหาดเล็กซึ่งได้ถวายตัวมาตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราชได้เล่าไว้ว่า มหาดเล็กเด็ก ๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้นี้มีหน้าที่สำคัญ นอกจากการไปเล่าเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ใกล้ ๆ พระราชวังสราญรมย์ตามความถนัดของตนแล้ว เวลาที่กลับมาจากโรงเรียนแล้ว ต่างก็มีหน้าที่ประจำ คือ คอยเฝ้าทูลละอองพระบาทในห้องทรงพระอักษรเผื่อจะทรงใช้สอยเล็ก ๆ น้อย ๆ  หรือเวลาทรงกีฬาก็จะโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กเด็ก ๆ เหล่านี้เข้าสมทบ แต่ธรรมชาติของเด็กการที่จะต้องนั่งคอยรับใช้อยู่ใกล้ ๆ ผู้ใหญ่ แล้วยิ่งผู้ใหญ่นั้นเป็นถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ผู้ทรงพระอิสริยศักดิ์สูงยิ่งจะทรงเป็นรองก็แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยแล้ว ถ้าเลี่ยงได้ บรรดาคุณ ๆ มหาดเล็กเด็ก ๆ เหล่านั้นก็มักจะถือโอกาสหลบเลี่ยง คงทิ้งให้ทรงพระอักษรอยู่เพียงลำพังพระองค์ ซึ่งล้นเกล้าฯ ก็ทรงมีวิธีแก้เผ็ดเด็ก ๆ เหล่านั้นด้วยวิธีการพิเศษส่วนพระองค์

          ว่าจะเล่าถึงวิธีลงพระราชอาญาแก่เด็ก ๆ ด้วยวิธีพิเศษส่วนพระองค์ ซึ่งต่อมาเมื่อครั้งที่ผู้เขียนเป็นนักเรียนคณะเด็กเล็กก็เคยถูกคุณครูผู้ใหญ่ของคณะเด็กเล็กลงโทษด้วยวิธีเดียวกับที่ล้นเกล้าฯ ทรงพระราชอาญาแก่เด็ก ๆ ที่ทรงชุบเลี้ยง ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงอยากจะรู้กันแล้วว่าล้นเกล้าฯ ทรงมีวิธีลงพระราชอาญาแก่เด็ก ๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้อย่างไร  แต่เนื่องจากเนื้อที่สำหรับนำเสนอนี้มีจำกัด  คงต้องรบกวนให้ติดตามอ่านกันในตอนหน้าต่อไป

 

 

 


 

[ ] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. “พระบรมราโชวาท เรื่องมหาดเล็ก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร) พระราชทานเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์”, เรื่องมหาดเล็กของกรมศิลปากร, หน้า ๙๐ - ๙๑.

 

 

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |