โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๒. มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ (๑)

 

          คำว่า “มหาดเล็ก” นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้ความหมายไว้ว่า “ข้าราชการในพระราชสำนักมีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน ; ผู้ที่รับใช้ประจำเจ้านายหรือผู้ที่ถวายตัวเป็นผู้รับใช้”  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น

นายพลเรือเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพเรือ

 

 

          อนึ่ง ใน “พระบรมราโชวาท เรื่อง มหาดเล็ก” ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ [] (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์) เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้ทรงกล่าวถึงคำว่า “มหาดเล็ก” ไว้ว่า

 

          “ก่อนอื่นจะต้องถามว่ามหาดเล็กคืออะไร ตอบว่า คือผู้ที่รับใช้พระราชาหรือเจ้านาย มหาดเล็กผิดกับข้าราชการและข้าในกรมอื่นๆ ดังนี้ คือ เป็นผู้รับใช้อยู่ใกล้พระองค์เจ้านายของตนยิ่งกว่าผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่มหาดเล็กจึงจำต้องเลือกสรรผู้ที่ไว้วางพระราชหฤทัยแห่งเจ้าได้ การที่จะเลือกคนอย่างนี้ ถ้าจะว่าไปตามการที่ควรก็ต้องตรวจตราทราบความประพฤติและอัธยาศัยของบุคคลก่อน จึงจะทราบได้ว่าเป็นคนควรไว้ใจได้หรือไม่ แต่ถ้าจะตรวจตราจริงเช่นนี้ก็จำจะต้องรอดูอยู่นานนัก ส่วนมหาดเล็กนั้นท่านประสงค์ผู้ที่ยังเยาว์ เพื่อจะใช้ได้คล่องแคล่ว ถ้าจะมัวรอดูนิสัยดูอัธยาศัยและดูความประพฤติแล้ว ก็ย่อมจะไม่ได้ผู้ที่มีอายุสมควรแก่ความประสงค์นั้นอยู่เอง เพราะฉะนั้นท่านจึงคิดผ่อนผันไปทางเลือกสรรบุตรผู้ดีมีตระกูล โดยเหตุที่บุคคลชนิดนี้มีความอบรมอันดี อาจหันไปหาทางดีทางชอบได้มากกว่าผู้ที่ขาดการอบรม เพราะเหตุนี้แหละจึงเกิดมีข้อจำเป็นขึ้นว่า ผู้ที่เป็นมหาดเล็กต้องเป็นบุตรผู้ดีมีตระกูลดี

 

          ก็ทำไมผู้ดีมีตระกูลจึงยินยอมหรือบางทีถึงขวนขวายให้บุตรตนได้เป็นมหาดเล็กนักเล่า ควรหรือที่ผู้ดีมีตระกูลจะไปกระทำการซึ่งดูคล้ายๆ กับการของบ่าว ในข้อนี้ต้องแก้ว่าที่จริงไม่ควรคิดว่ามหาดเล็กเป็นบ่าว ควรคิดเทียบเป็นศิษย์มากกว่า ก็พาลูกไปฝากเป็นศิษย์ท่านอาจารย์ในวัดทำไมไม่เป็นที่เสียหาย ท่านอาจารย์ก็ใช้ศิษย์ให้ทำงานปฏิบัติต่างๆ เช่นบ่าวเหมือนกัน ที่บิดามารดาไม่รังเกียจในการที่บุตรต้องรับใช้อาจารย์นั้น ก็เพราะเห็นว่าท่านอาจารย์ท่านให้ความรู้บุตรตนจึงปฏิบัติท่านเป็นการตอบแทนฉะนี้ไม่ใช่หรือ มหาดเล็กเจ้านายก็ปฏิบัติท่านโดยฐานตอบแทนเหมือนกัน เพราะการที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ท่านย่อมมีโอกาสได้ทราบการงานต่างๆ ซึ่งมิอาจรู้ได้ที่อื่นดีเท่า ถ้าจะนึกดูถึงพงศาวดาร ไม่ต้องย้อนขึ้นไปนานนักก็คงจะแลเห็นปรากฏได้ว่าผู้ที่มีชื่อเสียงตราไว้ในแผ่นดินนั้น ได้เริ่มต้นเป็นมหาดเล็กมาก่อนสักกี่คน เพราะเหตุไรเล่า ก็ไม่ใช่เพราะมหาดเล็กเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดพระองค์หรือ จึงสามารถกระทำการใหญ่โตจนมีชื่อเสียงได้ ในสมัยก่อนซึ่งยังไม่มีโรงเรียนมากเหมือนในกาลบัดนี้ ลองคิดดูเถิดว่าโรงเรียนไหนจะดีกว่าอยู่กับเจ้า ครูไหนจะดีไปกว่าเจ้า ถ้าเราประสงค์ทราบการงานซึ่งควรจัดดัดแปลงในแผ่นดิน เดี๋ยวนี้เสียอีกยังพอจะหาวิชาได้ในโรงเรียนต่างๆ แต่โบราณท่านว่าไว้ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ถึงจะฟังคำแนะนำสั่งสอนในโรงเรียนสักเท่าใด คงยังสู้อยู่ใกล้เจ้านายไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะได้เห็นลักษณะที่ท่านทรงจัดการงานต่างๆ และได้ฟังท่านตรัสสั่งการงานอีก อันเป็นสิ่งจำเป็นทั้งสองประการ แม้แต่ในยุโรปซึ่งนับว่ามีโรงเรียนสอนวิชาทุกชนิด ผู้มีประสงค์จะให้บุตรมีชื่อเสียงทางปกครองยังต้องนำบุตรไปฝากให้เป็นเลขานุการของท่านอำมาตย์ต่างๆ ผู้มีชื่อเสียง เพื่อให้ได้ศึกษาทางการด้วยความชำนาญโดยตนเอง นี่ก็เพราะโรงเรียนสอนวิชาอื่นๆ อาจจัดตั้งขึ้นได้หมด แต่โรงเรียนสอนวิธีเป็นนายคนนั้นตั้งไม่ได้ เพราะจะหาอาจารย์ที่ไหนมาสอนวิชานี้ ผู้ที่สามารถจะสอนได้ดีก็มีหน้าที่กระทำการเพื่อประโยชน์แผ่นดินในการอื่น ผู้ที่มีเวลาจะสอนได้ก็ไม่มีความสามารถ จึงเป็นอันต้องศึกษากันทางฝากตนรับใช้ท่านผู้สามารถนั้นเอง เพราะเหตุฉะนี้แหละ ถึงจะตั้งโรงเรียนและวิทยาลัยขึ้นอีกกี่แห่งก็ดี วิธีถวายบุตรเป็นมหาดเล็กเจ้านายคงจะยังเป็นทางดีกว่าทางอื่นอยู่นั้นเอง และผู้มีสติปัญญาตริตรองเห็นทางไกลดังกล่าวแล้วคงจะต้องขวนขวายหาเจ้าให้บุตรเป็นที่พึ่งอยู่อย่างเดิมนั้นเอง ถึงท่านผู้มีวิชาชั้นใหม่จะกล่าวอย่างไรก็ตาม ความจริงเป็นดังกล่าวมาแล้ว”  []

 

          การถวายตัวเป็นมหาดเล็กนั้น มีแบบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า ต้องมีผู้ที่เคยถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาก่อนเป็นผู้นำเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อผู้นำเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาเบิกผู้จะถวายตัวว่าเป็นบุตรหลานผู้ใดแล้ว ผู้จะถวายตัวเป็นมหาดเล็กเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน และทรงรับแล้วก็ถือว่าได้ถวายตัวเสร็จสิ้น ถือได้ว่า ได้เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กวิเศษซึ่งเป็นตำแหน่งไม่มีสัญญาบัตร และ

 

          “ไม่มีจำนวนจำกัดว่าเท่าใด และตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษไม่มีธรรมเนียมกราบถวายบังคมลาออกได้ นอกจากที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรไปมีตำแหน่งราชการในกรมอื่นๆ กับถ้าผู้ใดกระทำผิดเจ้าพนักงานจึงจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา และโปรดเกล้าฯ ให้คัดออกจากบัญชีมหาดเล็กจึงจะเป็นอันขาดตำแหน่ง ส่วนตำแหน่งราชการของมหาดเล็กวิเศษนั้น ก็เป็นอย่างเดียวกันกับชั้นหุ้มแพรและนายรอง ต่างแต่ถ้าที่มีหน้าที่รับราชการก็จึงได้รับพระราชทานเงินเดือน ถ้าไม่มีหน้าที่รับราชการก็ไม่ได้รับพระราชทานเงินเดือน”  []

 

          นอกจากเด็กๆ ที่บิดาหรือผู้ปกครองเป็นผู้นำบุตรหลานเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กตามแบบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแล้ว การถวายตัวเป็นมหาดเล็กนั้นยังมีกรณีที่แตกต่างออกไปอีก ดังเช่นที่หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ทรงเล่าไว้ในพระประวัติส่วนพระองค์ว่า

 

          “เมื่อชนมายุได้ ๑๐ ปีปลาย เสด็จพ่อ  [] ทรงดำเนินการให้โกนจุก เสด็จป้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภักตร์พิมลพรรณ กราบทูลสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในรัชกาลที่ ๖ และที่ ๗ ถวายหม่อมเจ้าชัชวลิตเป็นมหาดเล็ก ทั้งนี้โดยมีพระประสงค์จะให้สมเด็จพระพันปีหลวงประทานพระบรมราชานุเคราะห์ในเรื่องแต่งตัวสำหรับเกษากันต์ สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้ และได้ทรงให้แต่งองค์เพื่อเกศากันต์ในพระราชพิธีสัมพจฉรฉินท์รัตนโกสินทรศก ๑๒๓ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อเสร็จเกศากันต์แล้ว สมเด็จพระพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ให้นำหม่อมเจ้าชัชวลิตไปถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพ่อจึงทรงนำหม่อมเจ้าชัชวลิตไปถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชตามพระราชเสาวนีย์ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๔๘”  []

 

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยพระราชโอรส

เมื่อคราววันเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๔๐ พรรษา ๑ มกราคม ๒๔๔๖

(จากซ้าย)

๑. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา)

๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ)

๔. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง)

๕.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย)

๖. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

 

 
 
 

 

[ ]  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๗๐๐.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีวรวงษ์

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. “พระบรมราโชวาท เรื่อง มหาดเล็ก”, เรื่องมหาดเล็ก ของ กรมศิลปากร, หน้า ๙๐ - ๙๒.

[ ]  “แบบเรียนราชการกรมมหาดเล็ก”, เรื่องมหาดเล็ก ของ กรมศิลปากร, หน้า ๑๗.

[ ]  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์

[ ]  “พระประวัติ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์”, จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า [๑] - [๒]