โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๓. มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ (๒)

 

          ส่วนการถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ [] นั้น ก็พบความใน “เรื่องเบ็ดเตล็ดของพระยาเทพหัสดินฯ” ซึ่งพลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้กล่าวถึงการถวายตัวเมื่ออายุได้ ๕ ปีไว้ว่า

 

          “ข้าพเจ้าเกิดในสกุลข้าหลวงเดิมต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บิดาข้าพเจ้าเป็นเด็กที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเลี้ยงดูมาแต่อายุได้ ๗ ขวบ เพราะท่านเป็นบุตรข้าหลวงเดิม ผู้เคยเป็นทั้งพระพี่เลี้ยงและเจ้ากรมมาก่อนเสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติ เพราะฉะนั้นตามคตินิยมในสกุลของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นมหาดเล็ก มิฉะนั้นย่อมถือกันว่าเป็นการขาดความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และในการที่จะเป็นมหาดเล็กนั้นถือกันว่าจะไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กเจ้านายองค์หนึ่งองค์ใดนั้นไม่ได้ ลูกข้าหลวงเดิมต้องเป็นมหาดเล็กหลวง พออายุข้าพเจ้าได้ ๕ ขวบ ท่านบิดาก็ได้จัดดอกไม้ธูปเทียนนำข้าพเจ้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวง

 

ฯ ล ฯ

 

          ท่านผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านบิดานำข้าพเจ้าไปถวายตัวนั้น มีพระราชกระแสรับสั่งเป็นใจความว่า เด็กคนนี้หน้าตาดีและคล่องแคล่ว ทั้งอายุอานามก็ไร่เลี่ยกับฟ้าชายใหญ่ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กฟ้าชายใหญ่เถิด จะได้เป็นเพื่อนเล่นกัน แต่ให้คงรับเบี้ยหวัดทางกรมมหาดเล็กหลวง คำว่า “ฟ้าชายใหญ่” ในที่นี้หมายถึงทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ.

 

          ท่านบิดาจึงได้มอบให้คุณยายนำข้าพเจ้าเข้าไปถวายตัวที่พระตำหนักระพันวษาอัยยิกาเจ้า [] ซึ่งเป็นพระชนนีของทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ แต่ขณะนั้นทูลกระหม่อมยังบรรธมกลางวันอยู่ ต้องคอยอยู่นานจนข้าพเจ้ารู้สึกร้อน เริ่มต้นกวนและร้องไห้ คุณยายไม่รู้จะทำประการใด ต้องพาข้าพเจ้าไปถอดเสื้อผ้าอาบน้ำให้ เพราะฉะนั้นเวลาถวายตัวจริง ทั้งเจ้าทั้งข้าจึงอยู่ในสภาพตัวปล่าวเปลือย เพราะเมื่อทรงรับดอกไม้ธูปเทียนของข้าพเจ้านั้น ทูลกระหม่อมเพิ่งสรงน้ำใหม่ๆ พระองค์ยังไม่ทันแห้ง เป็นเรื่องขันที่ผู้ใหญ่เล่าต่อกันมาเรื่องหนึ่ง.”  []

 

          นอกจากนั้นยังมีมหาดเล็กอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “มหาดเล็กยาม” จัดอยู่ในพวกไม่มีสัญญาบัตรเช่นเดียวกับมหาดเล็กวิเศษ แต่มหาดเล็กยาม

 

          “มักจะเป็นบุตรหมู่มหาดเล็กมาตั้งแต่เดิมพวก ๑ เป็นพวกรักษาพระที่นั่งที่เรียกว่าเด็กชา แล้วเลิกเสียรวมมาเป็นมหาดเล็กยามจำพวก ๑ กับคนที่ไม่มีมูลนายสมัครเข้ามาขอเข้าบัญชีอยู่ในสังกัดมหาดเล็ก ซึ่งจางวางจะอนุญาตให้รับจำพวก ๑ รวมเรียกว่า มหาดเล็กยาม มีทะเบียนอยู่ในเวรสิทธิ์ซึ่งจะเป็นเวรสำหรับทำการโยธาหรือแห่แหนเป็นต้น คนพวกนี้ไม่มีตำแหน่งเฝ้า แต่ต้องรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยา”  []

 

          สำหรับมหาดเล็กเด็กๆ นั้น นอกจากจากการเฝ้าแหนตามกำหนดเวลาแล้ว หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมหาดเล็กเด็กๆ ก็คือ การเป็นเพื่อนเล่นของเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ ดังเช่นที่พลเอก พระยาเทพหัสดิน ได้เล่าไว้ใน “เรื่องเบ็ดเตล็ดของพระยาเทพหัสดินฯ” ว่า เมื่อตัวท่านได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารแล้ว

 

 

สามเณรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเฑอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี

 

 

          “แต่นั้นมา ข้าพเจ้าก็ต้องเข้าเฝ้าแหน เล่นหัวกับเจ้านายเล็กๆ หลายพระองค์ คือนอกจากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศแล้ว ก็มีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  [] และเจ้านายชั้นพระองค์เจ้า และหม่อมเจ้าอีกหลายองค์ เท่าที่จำได้คือ พระองค์เจ้าหญิงอาภา  [] ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิสิษฐ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นหม่อมเจ้า หม่อมเจ้าอัปสรสมาน ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ส่วนเจ้านายผู้ชายนั้นที่จำได้แน่ก็มี หม่อมเจ้าดนัยจักรพันธ์  [] กับหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ  [] เพราะท่านทั้งสองนี้ถึงแม้จะจะเป็นชั้นเล็กก็ซนมากจึงจำได้ดีกว่าองค์อื่นๆ ข้าพเจ้าเป็นไพร่คนเดียวที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศให้เข้าเฝ้าและเล่นหัวกับเจ้านาย นานๆ ทีก็มี ม.ร.ว.ปุ้ม (เจ้าพระยาธรรมา )  [] เข้าไปร่วมวงด้วยอีกคนหนึ่ง ส่วนมหาดเล็กคนอื่นๆ รวมทั้งเจ้ากรมและพระพี่เลี้ยงทั้งสี่นั้นเฝ้าได้แต่ข้างนอก เห็นจะเป็นเพราะเขาเป็นหนุ่มแล้วเข้าข้างในไม่ได้”  [๑๐]

 

 

พระราชวังสราญรมย์

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชวังสราญรมย์เป็นที่ประทับ แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่เคยถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ก่อนเสด็จออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ เช่น นายพงษ์ สวัสดิ์ - ชูโต [๑๑]วมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กข้าหลวงเดิมในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เช่น จางวางสาย หรือ นายจ่ายง (สาย ณ มหาชัย) โอนมาสมทบเป็นมหาดเล็กในพระองค์ รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยืมตัวนายพลพัน หุ้มแพร มาเป็นหัวหน้ามหาดเล็กห้องพระบรรทม กับให้นายพิจารณ์สรรพกิจ [๑๒]าเป็นผู้รับผิดชอบการตั้งเครื่องเสวย จนสามารถฝึกหัดมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตั้งเครื่องพระกระยาหารเช้า และเดินโต๊ะถวายในเวลาประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันและกลางคืนได้คล่องแคล่วแล้ว นายพิจารณ์สรรพกิจจึงได้กราบถวายบังคมลากลับไปรับราชการทางกรมมหาดเล็ก คงมอบหน้าที่ให้นายเล็ก โกมารภัจ [๑๓] มหาดเล็ก เป็นหัวหน้ามหาดเล็กเดินโต๊ะเสวยต่อมา นอกจากนั้นยังพบว่า ในเวลาต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการในพระราชสำนักมาประจำรับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อีกหลายคน อาทิ หลวงบุรีนวราษฐ [๑๔] (จันทร์ จิตรกร) เป็นปลัดกรมขอเฝ้าฯ หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ [๑๕] (นกยูง วิเศษกุล) เป็นราชเลขานุการในพระองค์ และนายวรการบัญชา [๑๖] (เทียบ อัศวรักษ์) เป็นจางวางรถม้า ขุนวิรัชเวชกิจ [๑๗] (สุ่น สุนทรเวช) เป็นแพทย์ประจำพระองค์

 

          นอกจากมหาดเล็กข้าหลวงใหญ่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาประจำรับราชการในพระองค์แล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้โปรดเกล้าฯ ให้บุตรธิดาทั้งสามของพระนมทัด พึ่งบุญ อันประกอบด้วย นางสาวเชื้อ พึ่งบุญ มารับราชการเป็นพนักงานพระภูษาและพระสุคนธ์ ส่วนม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ และ ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ ก็ได้ถวายการรับใช้ในหน้าที่มหาดเล็กห้องพระบรรทมในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ณ พระราชวังสราญรมย์

 

          ต่อจากนั้น “การถวายตัวเป็นข้าให้ทรงใช้สอยก็ตั้งต้น เด็กหนุ่มๆ มากมายทั้งลูกเจ้านายและข้าราชการทุกชั้นบรรดาศักดิ์”  [๑๘] และ “แม้บุตรหลานของสามัญชนบางคนก็ยังทรงรับการถวายตัวและทรงเลี้ยงไว้ในฐานะเดียวกันกับหม่อมเจ้าบุตรข้าราชการ”  [๑๙]

 

          “เด็กๆ ในพระอุปการะทั้งหมดได้รับพระราชทานทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค และการศึกษา และยังพระราชทานเงินค่าขนมอย่างต่ำเดือนละ ๕ บาท อย่างสูงเดือนละ ๓๐ บาท อาหารที่พระราชทานนั้น ๓ เวลา ทั้งเช้า กลางวัน และเย็นสำหรับหม่อมเจ้านั้นมื้อกลางวันและกลางคืนทรงพระกรุณาให้มาร่วมโต๊ะเสวย การศึกษานั้นทรงจัดให้ตามใจสมัคร บางคนขอพระราชทานไปโรงเรียนนายร้อยทหารบกบ้าง โรงรียนนายเรือบ้าง โรงเรียนราชวิยาลัยบ้าง... วันหนึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชโปรดเกล้าฯ ให้บุตรข้าราชการคนหนึ่ง ซึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดมหาธาตุอ่านหนังสือถวายให้ทรงสดับ นักเรียนผู้นั้นก็อ่านไม่ออก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอจิรการประสิทธิ์  [๒๐](นกยูง วิเศษกุล) เป็นอาจารย์ใหญ่ ให้เลขานุการในพระองค์คนหนึ่งเป็นครูสอน และให้เด็กที่เรียนอยู่ตามโรงเรียนวัดต่างๆ กับเด็กที่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนหนึ่งโรงเรียนใดเข้าเรียนในโรงเรียนที่ตั้งใหม่ สำหรับภาษาไทยนั้นใช้หนังสือมูลบทบรรพกิจเป็นหลัก นอกจากเรียนหนังสือแล้ว โปรดให้หัดโขนด้วย... นอกจากโขนยังต้องหัดแถวทหาร ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทหารมหาดเล็กมาหัด เป็นอยู่เช่นนี้จนเสวยราชย์”  [๒๑]

 

 
 
 

 

[ ]  ต่อมาทรงได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

[ ]  เวลานั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

[ ]  “ความอาลัยรัก”, เรื่องเบ็ดเตล็ดของพระยาเทพหัสดินฯ , หน้า ๑๔ - ๑๕.

[ ]  กรมศิลปากร. “แบบเรียนราชการกรมมหาดเล็ก”, เรื่องมหาดเล็ก ของ กรมศิลปากร, หน้า ๒๗.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ และทรงเป็นพระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

[ ]  หม่อมเจ้าดนัยวรนุช จักรพันธุ์ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอัฐิเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดนัยวรนุช

[ ]  นายพลตรี หม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่

[ ]  ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล โอรสในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังในรัชกาลที่ ๖

[ ๑๐ ]  พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา). เรื่องเบ็ดเตล็ดของพระยาเทพหัสดินฯ, หน้า ๑๔ - ๑๕.

[ ๑๑ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พระตำรวจโท พระยาอนุชิตชาญชัย ผู้ช่วยสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์

[ ๑๒ ]  นามเดิม ทับทิม อมาตยกุล ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายจ่ารง แล้วเป็นพระมาตลีรถาธร และพระยาบุษยรถบดี ตามลำดับ

[ ๑๓ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอัศวบดีศรีสุรพาหน

[ ๑๔ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอนุศาสน์จิตรกร

[ ๑๕ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทราชา

[ ๑๖ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง

[ ๑๗ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี

[ ๑๘ ]  พระราชวงศ์จักรี, หน้า ๒๓๖.

[ ๑๙ ]  พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์). “พระมหากรุณาแก่เด็ก”, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสุนทรพิพิธ, หน้า ๑๑๕.

[ ๒๐ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทราชา

[ ๒๑ ]  “พระประวัติหม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์”, จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า [๒] - [๓].