โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๖. โรงเรียนราษฎร์มณฑลกรุงเทพฯ และมณฑลพายัพ (๑)

 

          ในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงเรื่องที่ทรงขัดแย้งกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติไว้ในตอนที่ว่าด้วย “ฉันต้องเข้าเนื้อ” ว่า เมื่อเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขอให้ “แยกกิจการส่วนตัวกับกิจการแผ่นดินเปนคยละแพนก, เพราะพอหลุดปากยอมไปเช่นนั้นแล้วอะไรๆ กระทรวงพระคลังก็คอยแต่ปัดเอามาเปน “ส่วนพระองค์” เสียแทบทั้งนั้น, เว้นแต่ถ้าอะไรเปนของที่คลังต้องการ, เช่นที่ดินและตึกเรือนโรงเปนต้น, คลังก็เอาเสียเฉยๆ โดยไม่ยอมคิดค่าป่วยการให้แก่ฉันเลยจนนิดเดียว หรือจนชั้นจะขอบใจก็ไม่มี.” []

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๕๘

เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร พ.ศ. ๒๔๖๖ - ๒๔๖๘

 

 

          ในเรื่องการแยกการใช้จ่ายส่วนพระองค์ออกจากการใช้จ่ายเงินแผ่นดินนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่องสร้างตลาดสำหรับเมืองว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างผู้เชี่ยวชาญการคลังชาวอังกฤษชื่อ มิตเชล อินเนส (Mitchel Innest) เข้ามาเป็นที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

 

          มิสเตอร์มิตเชลอินเนสมาถึงเมืองไทยแล้ว ได้ศึกษาระเบียบการคลังของชาติ และได้เขียนบันทึกความเห็นถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติว่า

 

          “ลักษณะ “การเงิน” ของเมืองไทยอย่างเช่นเป็นอยู่ในเวลานั้น ถ้าว่าตามคติโบราณก็นับว่าดีอยู่ เพราะพิกัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรก็ไม่เรี่ยวแรงถึงเดือดร้อน ได้เงินแผ่นดินมาเท่าใดก็ใช้จ่ายในวงเงินที่มี ต่อเงินเหลือจ่ายจึงจะทำการจรทำนุบำรุงบ้านเมือง เมืองไทยจึงไม่มีหนี้สินอยู่เมืองเดียวเท่านั้นในบรรดาประเทศที่มีวัฒนธรรม แต่วิธีการเงินเช่นที่เมืองไทยใช้อยู่นี้ จะบำรุงบ้านเมืองให้เจริญเร็วทันเวลาเหมือนอย่างประเทศอื่นไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นการสร้างทางรถไฟ ถ้าใช้เงินเหลือจ่ายทำทางรถไฟต่อออกปีละน้อยๆ เช่นทำอยู่ การสร้างทางรถไฟในเมืองไทยแม้เพียงสายแรกที่ได้กะไว้ว่าจะทำแต่กรุงเทพฯ ไปเมืองนครราชสีมากว่าจะสำเร็จก็ช้านานหลายสิบปี ประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้จากรถไฟให้บ้านเมืองมีความเจริญก็เกิดช้าไปด้วยกันหมด ถ้าทำรถไฟให้สำเร็จเร็วขึ้น บ้านเมืองก็จะเจริญรุ่งเรืองเร็วขึ้นตามกัน แต่เช่นนั้นจำจะต้องใช้วิธีกู้เงินมหาชน (Public Loan) ตามอย่างประเทศอื่นมาเป็นทุนทำรถไฟ การสร้างสิ่งอื่นซึ่งจะได้ดอกผลพอใช้ดอกเบี้ยและต้นเงินไม่ขาดทุน ก็ควรใช้วิธีกู้เงินทำทุนอย่างเดียวกัน ขอให้รัฐบาลพิจารณาดูว่า ใช้วิธีเดิมรักษาชื่อเมืองไทยว่าไม่มีหนี้สินต่อไปดี หรือจะยอมเป็นหนี้กู้เงินมหาชนมาทำการบำรุงบ้านเมืองให้เจริญเร็วทันตาโลกไหนจะดีกว่ากัน กรมหมื่นมหิศรฯ [] นำบันทึกนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี เห็นพร้อมกันว่าถ้ากู้เงินมาทำการที่เกิดดอกผลก็ไม่ควรรังเกียจ แต่การที่ไม่เกิดดอกผล เช่นซื้อเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นต้นมิให้กู้เงินมาใช้” []

 

          ครั้นที่ประชุมเสนาบดีตกลงพร้อมกันให้กู้เงินจากตลาดเงินในต่างประเทศมาใช้ในการขยายเส้นทางรถไฟแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติออกประกาศโฆษณางบประมาณแผ่นดินแก่มหาชนเช่นในนานาประเทศ แต่ในส่วนที่กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดินมาแต่เดิมว่า “พระเจ้าแผ่นดินอาจจะเอาเงินแผ่นดินไปใช้ใน (พระคลังข้างที่) สำหรับพระองค์เองได้ร้อยละ ๑๕ ของรายได้” [] นั้น มีพระราชดำริว่า “เงินแผ่นดินที่แบ่งให้พระเจ้าแผ่นดินใช้สอยส่วนพระองค์ ต้องมีจำกัดจำนวนบอกไว้ให้ปรากฏในงบประมาณ จะว่าแต่เท่านั้นๆ เปอร์เซ็นต์หาควรไม่ ให้กระทรวงพระคลังแก้ไปให้ตรงตามแบบฝรั่งด้วย ส่วนจำนวนเงินที่จะถวายให้ทรงใช้สอยปีละเท่าใด ก็ให้กระทรวงพระคลังพิจารณาดูตามเห็นสมควร ถวายเท่าใดก็จะยอมรับเท่านั้นโดยไม่รังเกียจ สุดแต่ให้สำเร็จประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นประมาณ” []

 

          ที่ประชุมเสนาบดีจึงได้พิจารณา “กำหนดเงินพระคลังข้างที่สำหรับทรงใช้สอยเป็นส่วนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวปีละ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท” [] แต่เมื่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดเงินจำนวนดังกล่าวถวายมาได้เพียงสองหรือสามปี ก็มีพระราชปรารภด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า “ทรงอัตคัดด้วยเงินพระคลังข้างที่ไม่พอจะใช้ ครั้นจะปรับทุกข์กับกระทรวงพระคลังก็ได้ลั่นพระโอษฐ์แล้วว่าจะยอมรับเพียงปีละหกล้าน จะเป็นพูดไม่แน่นอน ตรัสปรึกษาฉันว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะได้เงินพอใช้” []

 

 

พระยาศุภกรณ์บรรณสาร (นุ่ม วสุธาร)

อธิบดีกรมพระคลังข้างที่

 

 

          พระเจ้าน้องยาเธอฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงได้มีรับสั่งให้หาพระยาศุภกรณ์บรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) รองอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ [] มาชี้แจงให้ทรงทราบความโดยตลอดว่า

 

          “ในงบประมาณเดิมที่กำหนดเงินพระคลังข้างที่ว่า ๑๕ เปอร์เซนต์ของรายได้เงินแผ่นดินนั้น ไม่ได้รับจริงอย่างนั้น เป็นแต่เอาจำนวนเงินตามบัญชีที่ปรากฏว่าใช้สอยในราชสำนักปีละเท่าใดคิดถัวกันตั้งเป็นเกณฑ์ กำหนดเป็นอัตราจ่ายเงินพระคลังข้างที่ปีละเท่านั้น แต่ปีใดเงินไม่พอใช้ก็เรียกเพิ่มเติมได้ไม่มีจำกัด ก็แต่เงินพระคลังข้างที่นั้นมิใช่แต่สำหรับพระองค์พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอย ยังต้องเอาไปใช้ในการอื่นอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่าเงินงวดประจำปีที่พระราชทานเจ้านายเช่นตัวฉัน และเบี้ยหวัดเงินเดือนราชบริพารฝ่ายใน ตลอดจนรับแขกเมืองก็ใช้เงินพระคลังข้างที่... ครั้นทำงบประมาณแบบใหม่จำกัดกำหนดเงินพระคลังข้างที่ปีละหกล้านบาท ถ้าดูแต่ยอดจำนวนเงินก็เห็นมากกว่าที่กระทรวงพระคลังเคยจ่ายประจำปีมาแต่ก่อน แต่ที่จริง พระเจ้าอยู่หัวได้เงินพระคลังข้างที่น้อยลงกว่าเช่นเคยมาแต่ก่อน เพราะกระทรวงพระคลังตัดรายจ่ายเงินแผ่นดินซึ่งกระทรวงพระคลังเคยจ่ายในบรรดาการซึ่งเนื่องกับราชสำนัก เช่นเงินเดือนข้าราชการ ค่าใช้สอยในการเสด็จประพาส การก่อสร้างซ่อมแซมรักษาพระราชวังต่างๆ แม้ที่สุดจนการเลี้ยงช้างเผือก รวมทุกอย่างมาให้พระคลังข้างที่จ่ายในเงินหกล้านนั้น ผลของงบประมาณใหม่จึงกลายเป็นลดเงินพระคลังข้างที่น้อยลงกว่าแต่ก่อน เพราะถูกพ่วงรายจ่ายเพิ่มเข้ามาก”  []

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงตอบรับที่จะแยกการใช้จ่ายส่วนพระองค์ออกจากการแผ่นดินตามคำกราบบังคมทมูลชองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว ราชการในพระองค์จึงแยกขาดจากราชการแผ่นดิน เช่นเดียวกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นส่วนราชการในพระราชสำนัก บรรดาอาจารย์และครูแม้จะโอนมาจากกระทรวงธรรมการ เมื่อมารับราชการประจำในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็โปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายจากข้าราชการกระทรวงธรรมการมาเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็ก รับพระราชทานเงินเดือนจากพระราชทรัพย์ทางกรมมหาดเล็ก

 

          ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนพรานหลวงขึ้นในกรมมหรสพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ และโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ก็โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ ครู และข้าราชการในโรงเรียนทั้งสามนี้เป็นข้าราชการในพระราชสำนักสังกัดกรมมหาดเล็กเช่นเดียวกับอาจารย์ ครู และข้าราชการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนพรานหลวงจึงมีฐานะเป็นส่วนราชการสังกัดกรมมหาดเล็ก แต่เพราะกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขอให้ทรงแยกราชการในพระองค์ออกจากราชการแผ่นดิน ราชการในพระองค์ในเวลานั้นจึงมีสถานะเหมือนเป็นเอกชนรายหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจากนายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) ซึ่งเสด็จไปตรวจราชการมณฑลพายัพพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ว่า โรงเรียนของอเมริกันมิชชันนารีที่เปิดสอนในมณฑลพายัพนั้น ไม่มีการสอนหนังสือไทยในโรงเรียนคงจัดสอนวิชาต่างๆ ด้วยอักษรพื้นเมืองและภาษาอังกฤษเป็นพื้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งรายงานการตรวจรายงานนั้นไปให้กระทรวงธรรมการพิจารณา แล้วต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ให้กระทรวงธรรมการมีอำนาจตรวจตราและควบคุมการดำเนินกิจการของโรงเรียนราษฎร์ทั้งปวงทั่วพระราชอาณาจักร

 

 

เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

กับอาจารย์ ครู และข้าราชการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

(จากซ้าย)

๑. มร.ซี เอ. เอส. สิเวล อาจารย์ชาวต่างประเทศ

๓. พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

๔. พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) เจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

๕. เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

๖. พระยาไชยนันทน์นิพัทธพงษ์ (เชย ไชยนันทน์) อาจารย์วิชามหาดเล็ก

๙. หม่อมพยอม ในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ แม่บ้านคณะเด็กเล็ก

 

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว ในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้โรงเรียนราษฎร์ที่เปิดการเรียนการสอนอยู่ในเวลานั้นยื่นความจำนงที่จะดำรงโรงเรียนราษฎร์ต่อไป ในการนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้จางวางเอก พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - เจ้าพระยารามราฆพ) ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ยื่นคำขอดำรงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนพรานหลวง เป็นโรงเรียนราษฎรณ์สังกัดมณฑลกรุงเทพฯ และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เป็นโรงเรียนราษฎร์ในมณฑลพายัพ

 

 
 
 

 

[ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๘๐.

[ ]  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เวลานั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ.

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ชุมนุมพระนิพนธ์, หน้า ๒๑๘ - ๒๑๙.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๑๙.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๒๐.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๒๑.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ]  ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เลื่อนเป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ แล้วกราบถวายบังคมลาออกจากราชการใน พ.ศ. ๒๔๖๓.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๒๒.