โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๒. โรงเรียนราษฎร์มณฑลกรุงเทพฯ และมณฑลพายัพ ()

 

          ต่อมาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย ได้มีมติให้จัดตั้งโรงเรียนเด็กรุ่นเล็ก (คณะเด็กเล็ก) ในที่ดินพระราชทานริมถนนสุโขทัยขึ้นใหม่ ดังมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

 

 

 

 

          โรงเรียนเด็กเล็กนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศอนุญาตให้ดำรงโรงเรียนตามความในพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ และประกาศรวมสองโรงเรียนเป็นโรงเรียนเดียวกันเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙

 

          อนึ่ง เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ และในมาตรา ๕๒ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ ครูใหญ่ หรือครูแห่งโรงเรียนราษฎร์ อยู่แล้วในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ให้คงเป็นต่อไปได้ แต่ต้องขอรับใบอนุญาตภายในกำหนดสามเดือน นับตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้”  [] ผู้แทนวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้ยื่นเรื่องราวขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนตามความในบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และกระทรวงศึกษาธิการได้ออกใบอนุญาตตั้งโรงเรียนเลขที่ ๔๕/๒๔๘๐ เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐

 

 

 

 

          รายละเอียดในใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนฉบับนี้ มีข้อน่าสังเกตในหลายประเด็น ดังนี้

 

 

 

 

          ๑) เจ้าของโรงเรียนที่ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนนี้ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และโฉนดที่ดินสวนกระจังที่พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนก็ออกในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ นั้น มีบทบัญญัติให้ทรัพย์สินใดๆ ที่มิใช่ทรัพย์สินที่เป็นของส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์มาแต่ก่อนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ หรือเป็นทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า พระราชวัง ให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นที่ดินสวนกระจังที่พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนและโฉนดออกในพระปรมาภิไธยเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จึงถูกโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และโดยที่ใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้นออกในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งได้ทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนนี้เมื่อเสด็จเสวยสิริราชสมบัติแล้ว วชิราวุธวิทยาลัยจึงมีสถานะเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติทระพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ พระมหากษัตริย์ที่ทรงรับสิริราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นทั้งเจ้าของและผู้รับใบอนุญาตวชิราวุธวิทยาลัยสืบต่อกันมาเป็นลำดับ

 

          ๒) ที่อยู่ของผู้ขอรับใบอนุญาตตามที่ระบุในใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน คือ บ้านเลขที่ ๙๖๓ ถนนสะพานแดง แขวงสะพานเจริญพาสน์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้

 

          นอกจากนั้นตานฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีที่ประทับตามทะเบียนราษฎรอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง เลขที่ ๑ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นมาตรฐานมาช้านาน ฉะนั้นที่อยู่ของผู้รับใบอนุญาตตามที่ปรากฏในใบอนุญาตนั้นจึงออกจะผิดปกติวิสัยอยู่

 

          ๓) สถานที่ตั้งโรงเรียนตามใบอนุญาตดังกล่าวระบุว่า ตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๑๙๗ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานครนั้น นอกจากจะแย้งกับทะเบียนราษฎรของโรงเรียน ที่ระบุสถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ที่ เลขที่ ๑๙๗ ถนนราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพมหานครแล้ว ยังขัดกับหลักฐานเดิมของกระทรวงธรรมการที่ระบุว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนซางฮี้ใน (ถนนราชวิถี) อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร

 

 
 
 

 

[ ]  “พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๗๙”, ราชกิจจานุเบกษา ๕๔ (๓ พฤษภาคม ๒๔๘๐) หน้า ๓๓๓ - ๓๕๖.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |