โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๔. หลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ และ วชิราวุธวิทยาลัย (๑)

 

          หลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์) มหาดเล็กข้าหลวงเดิมเล่าไว้ว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังประทับอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช "วันหนึ่งสมเด็จพระบรมโอราสาธิราช โปรดเกล้าฯ ให้บุตรข้าราชการคนหนึ่ง ซึ่งเรียนอยู่โรงเรียนวัดมหาธาตุอ่านหนังสือถวายให้ทรงสดับ นักเรียนผู้นั้นก็อ่านไม่ออก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในพระราชวังสราญรมย์"  [] เรียกชื่อโรงเรียนนี้อย่างไม่เป็นทางการว่า "โรงเรียนพระราชวังสราญรมย์" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (นกยูง  วิเศษกุล) [] ราชเลขานุการในพระองค์เป็นอาจารย์ใหญ่ และในเวลาที่ทรงว่างจากพระราชกิจสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ได้เสด็จมาทรงสอนกุลบุตรเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง จึงเรียกชื่อโรงเรียนนี้ว่า "โรงเรียนพระราชวังพระราชวังสราญรมย์" บ้างก็เรียกว่า "โรงเรียนพระยุพราช"

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ต่อมาวันที่ ๒๙ ธันวาคมปีเดียวกัน ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลแล้ว

 

"ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งข้าราชการผู้ไว้วางพระราชหฤทัยเปนผู้ดำเนินการให้เปนไปสมพระราชประสงค์ด้วยอีกชั้นหนึ่ง. หลักสูตร์การเล่าเรียนในสมัยนั้นนอกจากมีวิชาสามัญอย่างโรงเรียนรัฐบาลแล้ว, ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เพิ่มวิชามหาดเล็กเข้าไว้ในหลักสูตร์อีกอย่าง ๑, กับทั้งให้ครูสอนให้หนักไปในทางภาษาและจรรยาอีกด้วย, ทั้งนี้เพื่อเปนทางขัดเกลาให้กุลบุตร์มีอุปนิสัยอันดีงาม, เปนคุณสมบัติประจำตัวต่อไปสมกับที่ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้ภายในพระราชฐาน, กับทั้งประพฤติตนให้ต้องด้วยกาละเทศะนิยมของสมาคมที่ดีทุกชั้นทุกชนิด

 

          นอกจากนี้ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนได้เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทและตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสชนบทเปนครั้งคราว เพื่อได้มีโอกาศสดับตรับฟังพระบรมราโชวาท, ทั้งนี้เปรียบเหมือนได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาศให้นักเรียนได้ศึกษาวิชาการ, และกิจการณะ "ท้องพระโรง", ซึ่งเปนปัจจัยให้เกิดคุณวุฒิในทางรับราชการและประพฤติตนให้ต้องด้วยพระราชนิยมต่อไป."  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องฝึกหัดนายกองใหญ่ ผู้บังคับการกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท

ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน เสือป่า ลูกเสือหลวง และนักเรียนมหาดเล็กหลวง

คราวตามเสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธบาท ณ เชิงบันไดนาคมณฑปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖

 

 

          ในการนี้ได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) พระราชทานไปยังพระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ความตอนหนึ่งว่า

 

"วันที่ ๒๒ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๐

 

พระยาไพศาล

 

          ด้วยได้ทราบฃ่าวว่า ในการที่นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งเปนลูกเสือหลวงได้ตามเสด็จออกไปที่สนามจันทร์ และได้ไปอยู่ที่นั้นจนตลอดเวลาที่ฃ้าอยู่นั้น มีผู้ปกครองนักเรียนบางคนเห็นว่าเปนการเสียเวลาเล่าเรียนของเด็กไปบ้างดังนี้ ฃ้าจึ่งต้องขอชี้แจงให้เจ้าเฃ้าใจฃ้อความบ้าง ดังต่อไปนี้

 

          ความตั้งใจของฃ้าที่ให้นักเรียนมหาดเล็กไปตามเสด็จนั้น อันที่จริงตั้งใจให้ไปแต่เฉภาะผู้ที่เปนนักรียนหลวง คือเด็กที่ฃ้าออกเงินค่าเล่าเรียนให้เองเท่านั้น เพราะเด็กเหล่านี้ฃ้าถือว่าฃ้าเปนผู้ปกครองอยู่เอง จึ่งไม่ต้องถามผู้ ๑ ผู้ใดก่อน การที่ให้ตามเสด็จก็ด้วยความประสงค์อันดี คือประสงค์จะให้เด็กได้มีโอกาศได้เฃ้าที่สมาคมอันดี เพื่อจะได้เปนประโยชน์แก่ตัวเด็กต่อไปภายน่าอย่าง ๑ ประสงค์ให้ได้มีโอกาศเห็นเมืองไทยนอกจากบางกอก จะได้ไม่หลงไปว่าเมืองไทยหมดอยู่เพียงบางกอก ซึ่งจะทำให้คนกลายเปนกบอยู่ใต้กลาครอบอย่าง ๑ ฃ้ามีความประสงค์อยู่เช่นนี้เปนที่ตั้ง จึ่งได้ให้นักเรียนของฃ้าตามเสด็จ โดยความเชื่ออยู่ในใจว่าจะเปน ประโยชน์แก่ตัวเด็ก และจะนับเนื่องเข้าในการศึกษาของเด็กส่วน ๑ ก็ได้ เจ้าย่อมรู้อยู่แล้วว่าฃ้าไม่เห็นด้วยในการที่คนไทยรุ่นใหม่จะมุ่งแต่เปนเสมียนอย่างเดียว เพราะฉนั้นจึ่งอยากให้การศึกษาของเด็กไปในทางอื่นๆ นอกจากทางเรียนหนังสืออย่างเดียว"

 

 

พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชทานพระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)

กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

นายกองใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่า

ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณฺพร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาเสือป่าและนักเรียนเสือป่าหลวง

 

(แถวนั่งเก้าอี้จากซ้าย)

๑. นายกองเอก หม่อมเจ้าปิยบุตร จักรพันธุ์ ผู้บังคับกองพันที่ ๑ กรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

๒. นายกองใหญ่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้บังคับการกรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์

๓. นายกองเอก พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - เจ้าพระยารามฆพ) รองผู้บังคับการกรมเสือป่าราบหลวง
รักษาพระองค์

๔. นายกองตรี พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ - พระยาบริหารราชมานพ) ผู้บังคับการกรมนักเรียนเสือป่าหลวง และนักเรียนเสือป่าหลวงกองร้อยที่ ๑ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ที่ค่ายหลวงบ้านโป่ง เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๗

 

 

          ต่อมาเมื่อมีกองเสือป่าอาสาสมัคและลูกเสือขึ้นแล้ว, ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ และราชวิทยาลัยเปนลูกเสือหลวง (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนนามเปนนักเรียนเสือป่าหลวง), และให้เพิ่มวิชาการเสือป่าเข้าไว้เปนส่วนสำคัญในหลักสูตร์อีกอย่าง ๑, เพื่อฝึกหัดให้เกิดความรักชาติ, ศาสนาและพระมหากระษัตริย์, และรู้จักค่าแห่งการสละประโยชน์ความศุขจนที่สุดชีวิตของตนเพื่อสงวนความรักนั้นๆ ในเมื่อประจวบความจำเปนเนื่องในการอบรมวิชาประเภทนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนเสือป่าหลวงได้โดยเสด็จพระราชดำเนินในการฝึกซ้อมวิธียุทธเสือป่าเสมอทุกปี..."  []

 

 

พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชทานพระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)

กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          อนึ่ง นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงได้เล่าเรียนตามหลักสูตรหลวงของกระทรวงธรรมการแล้ว ยังมีพระราชดำริให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงได้ฝึกหัดโขน ดังความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังพระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงว่า

 

          "กับมีอยู่อีกข้อ ๑ ซึ่งฃ้าควรจะบอกเจ้าไว้ คือมีนักเรียนหลวงบางคนได้เคยฝึกหัดวิชาโขนอยู่แล้ว ถ้าจะทิ้งเสียฃ้าก็ออกเสียดาย เพราะวิชานี้มันจะสูญอยู่แล้ว ยังมีที่หวังอยู่แต่ในพวกนี้ เพราะฉนั้นฃ้าอยากจะขอให้ได้มีโอกาศฝึกซ้อมต่อไปบ้างตามสมควร และบางครั้งบางคราวถ้าจวนๆ จะเล่นอาจจะต้องขอมาซ้อมผสมบ้าง การซ้อมผสมเช่นนี้บางทีก็มีต้องอยู่ดึกไปบ้าง แต่คงจะไม่มีบ่อยนัก และฃ้าเข้าใจว่าเด็กๆ ไม่ใคร่จะรู้สึกอะไร เพราะเคยสังเกตมาแล้วว่า เวลาไรที่มิใช่บทเฃาก็แอบไปหลับไปงีบกันได้ ถ้าแม้จะต้องฃาดในระเบียบเวลาไปบ้างก็คงจะมีแต่ในตอนเช้า ซึ่งเห็นจัดไว้เปนเวลาสำหรับหัดทหารหรือหัดยิมนาสติกส์ ซึ่งน่าจะยอมผ่อนให้ได้บ้าง เพราะการฝึกซ้อมโขนก็เปนยิมนาสติกส์อยู่ในตัวแล้ว ผู้ที่ฃ้าจะขอมาฝึกซ้อมโขนเปนพิเศษเช่นกล่าวมาแล้วนั้น คงจะเปนจำนวนนักเรียนหลวงทั้งสิ้น ซึ่งแปลว่าถ้าเสียเวลาเรียนบ้าง จะต้องอยู่ในโรงเรียนช้าไป และเสียเงินค่าเรียนนานไปอีก ก็เปนเงินของฃ้าเอง ไม่ต้องเกรงใจใคร"

 

          ดังนั้นเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้มีการซ้อมโขนละคร ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้ส่งรถยนต์หลวงไปรับนักเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งบางคนเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมมานั่งดูการซ้อมอยู่แทบเบื้องพระยุคลบาทโดยรอบที่ประทับ บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้ร่วมฝึกซ้อมเป็นเสนายักษ์บ้าง เสนาลิงบ้าง เป็นผู้ชมบ้าง และโดยที่การซ้อมโขนละครแค่ละคราวนั้นกว่าจะเริ่มลงโรงซ้อมกันก็ราวห้าทุ่มล่วงแล้ว และกว่าจะเลิกก็ล่วงเข้าตีสองตีสามของวันใหม่ ในระหว่างการซ้อมโขนละครนั้นจึงมักจะมีเรื่องแปลกๆ ถึงขนาดทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลอยู่บ่อยๆ เช่น มีอยู่วันหนึ่งมีการซ้อมโขนตอนพระรามยกทัพออกมารบกับทศกัณฐ์ พระรามแผลงศรถูกพวกยักษ์ล้มตายเกลื่อนกลาด รบกันจนถึงย่ำพระทินกรก็ยังหาแพ้ชนะกันไม่ ทศกัณฐ์จึงเจรจาหย่าทัพว่า รุ่งขึ้นจงมารบกันใหม่ให้แพ้ชนะกันไป พูดแล้วทศกัณฐ์ก็ยกทัพกลับเข้ากรุงลงกา บรรดาเสนายักษ์ที่ต้องศรพระรามล้มลงนอนตายก็รีบลุกขึ้นกลับเข้าโรงไป แต่มีเสนายักษ์ตนหนึ่งเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง ต้องศรพระรามจนหลับไปจริงๆ พวกยักษ์เพื่อนๆ จะเข้าไปปลุก ก็ทรงห้ามไว้พร้อมกับมีพระราชกระแสว่า "ปล่อยให้มันนอนตามสบาย" จนกระทั่งกองทัพพระรามยกพลกลับเข้าโรงจนหมดแล้ว เสนายักษ์ตนนั้นจึงรู้สึกตัวลุกขึ้นนั่ง เมื่อเหลียวมองไม่เห็นผู้ใด จึงทำท่าเร่อร่าวิ่งเข้าโรงไป ล้นเกล้าฯ ถึงกับทรงพระสรวลและปรบพระหัตถ์ไล่หลัง ข้างฝ่ายฝ่ายเสนาลิงนั้นก็มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในการฝึกซ้อมบางคราวถึงกับเต้นลงไปในกระบะหมากของครูบ้าง เตะรางระนาดแทบล้มบ้าง จูบเสากลางโรงเข้าตูมเบ้อเร่อบ้าง เข้าประตูโรงไม่ถูกบ้าง ผิดแถวบ้าง ชนกันเองบ้าง นอนหลับกันกลางโรงบ้าง คลานเหยียบหางกันเองถึงกับหงายหลังกันบ้าง ยิ่งเวลารบกัน ยักษ์ลิงฟาดฟันกันนัวเนียจนถึงหัวโนห้อเลือดก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ

 

 
 
 

 

[ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า [๓]

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทราชา

[ ]  รายงานแสดงกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์. (พิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗), หน้า ๒๕ - ๒๗.

[ ]  รายงานแสดงกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์. (พิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗), หน้า ๒๕ - ๒๗.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |