โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๔. รรมาสน์บุษบก

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาลแล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราโชบายเป็นหลักสำคัญในการอบรมนักเรียนในสถานศคกษานี้ไว้ ๓ ประการ คือ

 

          “๑. สอนให้เป็นคนมีศาสนา จะได้มีศีลธรรมเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ

           ๒. สอนให้เป็นผู้ดี จะได้รู้จักการตรากตรำ ไม่สำรวยหยิบโหย่ง จะได้ทำตัวให้เหมาะที่จะเป็นผู้รับใช้และใช้คน ไม่ทำตนเป็นคนถือยศศักดิ์เหยียดหยามผู้อื่น ต้องเป็นผู้กล้าหาญมีระเบียบ และมีความกตัญญูกตเวที รักเกียรติชื่อเสียงและวงศ์ตระกูลของตัว รู้จักรักหมู่รักคณะกล้าเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

           ๓. อบรมให้มีสติปัญญาความรู้ จะได้ใช้ในการครองชีพต่อไป”  []

 

          การอบรมนักเรียนให้เป็นผู้มีศาสนานั้น บรรดาพับลิคสกูลทั้งหลายต่างก็ถือเป็นหัวใจสำคัญในการอบรมสั่งสอนนักเรียน เนื่องด้วยพับลิคสกูลที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษนั้นล้วนมีรากฐานมาจาก Church ซึ่งได้รับภาระเลี้ยงดูกุลบุตรซึ่งต้องเป็นกำพร้าเพราะบิดาไปเสียชีวิตในสงครามครูเสต ฉะนั้นในบรรดาพับลิคสกูลทุกแห่งในประเทศอังกฤษจึงมี Church เป็นศูนย์กลางของสถานศึกษา

 

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเอกเวิร์ด ฮีลี สถาปนิกชาวอังกฤษ ซึ่งเวลานั้นรับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนช่างของกระทรวงธรรมการ [] ออกแบบวางผังจัดสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในที่ดินพระราชทานที่สวนกระจัง ริมคลองเปรมประชากร นายอี. ฮีลี จึงได้วางตำแหน่งตึกครูและนักเรียนที่ปัจจุบันเรียกว่า “คณะ” ไว้ที่สี่มุมโรงเรียน กับ “หอสวด” หรือ Church หรือปัจจุบันเรียกว่า “หอประชุม” ไว้ที่กึ่งกลางโรงเรียนค่อนมาทางริมคลองเปรมประชากร ตามคตินิยมของพับลิคสกูลในประเทศอังกฤษ

 

          หอสวดนี้จึงมีรูปลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโกธิคตามลักษณะนิยมของ Church ในคริสต์ศาสนา แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลงหลังคาและการตกแต่งซึ้มประตูหน้าต่างเป็นแบบไทย รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จำหลักลายหน้าบันเป็นตราพระราชลัญจกรสำคัญของแผ่นดิน ๔ องค์ คือ

 

          ด้านทิศตะวันออก เป็นลายพระราชลัญจกรพระวชิราวุธ ประจำพระองค์
          ด้านทิศใต้

เป็นลายพระราชลัญจกรมหาโองการ

          ด้านทิศตะวันตก เป็นลายพระราชลัญจกรหงส์พิมาน
          ด้านทิศเหนือ เป็นลายพระราชลัญจกรพระคุณพาห

 

          ด้วยเหตุที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหลักลายพระราชลัญจกรทั้ง ๔ ไว้ที่หน้าบัน หอสวดนี้จึงเปรียบเสมิอนที่สถิตแห่งพระเปนเจ้าทั้งสี่ คือ พระอินทร์ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ และด้วยพระราชประสงค์ให้นักเรียนมราผ่านการศึกษาอบรมจากโรงเรียนนี้เป็น “เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี” จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีงานวิสาขบูชาที่โรงเรียนนี้ถึง ๓ ปีติดต่อกัน และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงแสดงพระบรมราชานุศาสนีย์ด้วยพระองค์เองทั้งสามคราว นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนโดยเสด็จไปในการทรงเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นนิจ

 

 

นายพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

 

 

          ในตอนปลายรัชสมัย เมื่อนายพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชอนุชาร่วมพระบรมราชชนกและพระราชชนนี และทรงรับสถาปนาเป็นพระรัชทายาท เสด็จทิวงคตด้วยโรคพระวักกะอักเสบ (โรคไต) เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานเป็นลำดับ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างธรรมสน์บุษบกสำหรับพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนาในการพระศพนั้นหลังหนึ่ง เป็นธรรมาสน์โถงจตุรมุขปิดทอง มีรูปราชสีห์จำหลักไม้ปิดทองเป็นฐานทั้งสี่ด้าน กับมีราชสีห์ปิดทองหมอบรองรับขั้นบันไดขึ้นธรรมาสน์ ๓ ขั้น รูปราชสีห์นั้นสันนิษฐานว่า น่าจะมีที่มาจากพระนามกรม “นครราชสีมา”

 

          เสร็จการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมทั้งงานพระเมรุต่อท้าย คือ งานพระเมรุพระศพสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาบินีนพดารา สิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา พระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช และพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ แล้ว ก็คงจะโปรดเกล้าฯ ฝห้เจ้าพนักงานยกธรรมาสน์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในงานพระเมรุนั้นมาพระราชทานแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง จึงมีประกาศแจ้งความกรมบัญชาการกลางมหาดเล็กในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

 

“แจ้งความกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก

เรื่องโปรดเกล้าฯ พระราชทานธรรมาศน์

แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ

*****************

 

          เนื่องในการพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างธรรมาศน์ขึ้นใช้ในงานพระเมรุหนึ่งธรรมาศน์ ครั้นสิ้นการพระศพแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ เพื่อเปนที่ระลึกของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา โรงเรียนจะได้ใช้สำหรับมีพระธรรมเทศนาให้นักเรียนได้สดับครับฟัง อันจะได้เป็นปัจจัยให้นักเรียนได้รอบรู้ในทางสัมมาปฏิบัติในโอกาศอันควร

 

          ธรรมาศน์ที่กล่าวแล้วนี้โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ ได้รับพระราชทานไว้แล้ว รู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณเปนล้นเกล้าล้นกระหมิอม ขอพระราชทานอนุโมทนาในส่วนพระราชกุศลที่ได้ทรงบำเพ็ญครั้งนี้ แลขออานุภาพแห่งพระศรีรัตนไตรยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสกลโลก จงอภิบาลรักษาพระบาทสมเด็จพระบรมบพิตร์พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ปราศจากสรรพอุปัทวันตรายเหล่าริปูหมู่ร้ายจงเกรงขามพระบารมี จงประสพสิ่งสวัสดิ์ไชยมงคล เจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน

 

          อนึ่งพระราชกุศลที่ได้ทรงอุทิศครั้งนี้ขอสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา จงได้ทรงทราบด้วยพระญาณวิถีโดยทางหนึ่งทางใด แล้วทรงอนุโมทนาแลเปนผลสำเร็จในสุขสมบัติดุจพระประสงค์ เทอญ

 

          แจ้งความมา ณ วันที่ ๔ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๘

 

เจ้าพระยารามราฆพ

จางวางเอก ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก”  []

 

 

          ธรรมาสน์บุษบกนี้มีบันทึกว่า ในสมัยที่พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย เรื่อยมาจนถึงสมัยพระพณิชยสารวิเทศเป็นผู้บังคับการนั้น โรงเรียนได้อาราธนาพระราชาคณะผู้ทรงภูมิความรู้มานั่งแสดงพระธรรมเทศนาบนธรรมาสน์นี้ ให้นักเรียนได้สดับตรับฟังตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในการสดับพระธรรมเทศนาในวันอาทิตย์นั้นโรงเรียนกำหนดให้นักเรียนนุ่งโจงสีน้ำเงิน สวมเสื้อราชปะแตนนั่งพับเพียบสดับพระธรรมเทศนาบนหอสวดหรือหอประชุมตามธรรมเนียมการฟังธรรมของชาวพุทธในยุคนั้น

 

 

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ

เซอร์ ระพินทร์นาถ ฐากุร

 

 

          นอกจากนั้นยังพบบันทึกว่า ในสมัยพระยาปรีชานุสาสน์เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ยังได้มีการเชิญนักปราชญ์ราชบัณฑิต เช่น พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หรือ น.ม.ส. เซอร์ ระพินทร์นาถ ฐากุร นักปราชญ์ชาวอินเดียซึ่งเป็นชาวเอเซียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล มานั่งแสดงปาฐกถาให้นักเรียนฟังบนธรรมาสน์นี้ในตอนบ่ายวันพฤหัสบดี เป็นต้น

 

 

พระชัยวัฒน์รัชกาลที่ ๖

ประดิษฐานเหนือโต๊ะหมู่ในธรรมาสน์บุษบก

ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          ต่อมาในสมัยที่พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้ปรับให้ธรรมาสน์บุษบกนี้เป็นที่ตั้งโต๊หมู่ประดิษฐานพระพุทธรูปในการสวดมนต์ไหว้พระประจำวันของนักเรียน และใช้เป็นที่ประดิษฐานพระชัยวัฒน์รัชกาลที่ ๖ ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันคล้ายวันสวรรคต ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี กับเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในงานพระราชประกาศนียบัตรและรางวัลของวชิราวุธวิทยาลัยต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

 
 
 

 

[ ]   “คำกราบบังคมทูลกิจการของโรงเรียน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕”, วชิราวุธานุสาส์น เล่ม ๕ ฉบับที่ ๓ (ภาคมาฆบูชา ปีการศึกษา ๒๔๙๔), หน้า ๔๔.

[ ]  ต่อมายกฐานะเป็นโรงเรียนเพาะช่าง ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง

[ ]  “แจ้งความกรมบัญชาการกลางมหษดเล็ก เรื่องโปรดเกล้าฯ พระราชทานธรรมาศน์แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๒ (๙ สิงหาคม ๒๔๖๘) หน้า ๑๔๕๓ - ๕๔.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |