โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๖. พระมนูแถลงสาร (๑)

 

          เรื่องของ “พระมนู” หรือ “พระมนูแถลงสาร” ที่เป็นตราประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และตกทอดมาเป็นตราโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในบัดนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ใน “อภิธานในหนังสือนารายณ์” ว่า “มนู [ส.l - “ผู้สร้างมนุษย์” [] “ และในพระราชนิพนธ์อธิบายในหนังสือนารายณ์สิบปาง ก็มีพระบรมราชาธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า

 

          “ในคัมภีร์ “มานวธรรมศาสตร์” กล่าวไว้ว่า เมื่อพระอาตมภู (ผู้เกิดเอง) มีพระหฤทัยจำนงที่จะทรงสร้างสิ่งทั้งปวง ได้ทรงสร้างน้ำขึ้นก่อน, แล้วได้ทรงเอาพืชหว่านในน้ำ. จากพืชนั้นได้เกิดเป็นไข่ทอง, และพระอาตมภูเองได้เฃ้ากำเนิดในไข่นั้นเป็นพระพรหมา, ปิตามหา (ผู้สร้าง) แห่งโลก. พระพรหมาอยู่ในไขนั้น ๑ ปี แล้วจึ่งแบ่งไข่นั้นออกเปนสองภาคโดยอำนาจพระมโนเท่านั้น. เหตุที่ได้มีกำเนิดในใช่ทองเช่นนี้ จึ่งเรียกพระพรหมาว่า “หิรัณยครรภ”. เมื่อออจากไข่แล้วพระพรหมาจึ่งเริ่มทรงสร้างโลกต่อไป. คัมภีร์ “พรหมาปุราณะ” กล่าวว่า เมื่อได้ออกจากไข่ทองแล้ว พระพรหมาแบ่งพระองค์เปน ๒ ภาค, ชายภาค ๑ หญิงภาค ๑, ซึ่งช่วยกันสร้างพระวิษณุเปนเจ้า, แล้วพระวิษณุจึ่งได้ทรงสร้างบุรุษที่ ๑ ชื่อวิราช, และวิราชสร้างพระมนูสวายัมภูว. แต่คัมภีร์ “มัตสยะปุราณะ” กล่าวว่า พระพรหมาสร้างนางขึ้นองค์ ๑ ชื่อ ศตะรูปา (หรืสรัสวดี), และตรัสชวนให้ช่วยกันสร้าง “ภูตะ” (สัตว์มีชีวิต) ทุกชนิด, คือมนุษ, สุระ, และอสุระ. สององค์จึ่งไปอยู่สำราญในที่รโหฐานด้วยกัน ๑๐๐ ปีสวรรค์, แล้จึ่งได้กำเนิดพระมนูองค์ที่ ๑ ซึ่งเรียกว่าสยัมภูวและวิราช

 

          พระมนูสวายัมภูวองค์นี้เปนผู้ที่รับมอบธุระสร้างคน, ฉนั้นคนจึ่งได้ชื่อว่า “มนุษ" เพราะเกิดแต่มนู พระมนูได้สร้างประชาบดีขึ้น ๑๐ ตน, เพื่อให้เปนมหาชนกของมนุษสืบมา. ประชาบดี, หรือมหาฤษี ๑๐ ตน คือ (๑) มะรีจิ (๒) อัตริ (๓) อังคีรส (๔) ปุลัสตยะ (๕) ปุละหะ (๖) กระตุ (๗) วสิษฐ (๘) ประเจตัส (๙) ภฤคุ (๑๐) นารท. บางตำหรับก็ออกนามประชาบดีเพียง ๗ ตน, คือที่เรียกสัปตะฤษีนั้นเอง... พระมนูองค์ที่ ๑ นี้เปนผู้รจนาคัมภีร์ ที่เรียกว่า “มนูสันหิตา”, หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “มานวธรรมศาสตร์”, พระมนู่ที่ ๑ นั้นจัดว่าเปนพราหมณ์โดยพระชาติ.

 

          พระมนูกำหนดจะมาบังเกิดในโลก ๑๔ องค์, เปนใหญ่อยู่ในโลกองค์ละ ๑ มานวันตร, ซึ่งเทียบเปนปีมนุษถึง ๔,๒๐๐,๐๐๐ ปี... พระมนูในเรื่องมัตสยาวตารเปนกษัตริยชาติ, โอรสพระสุริยาทิตย์, เปนมนูองค์ที่ ๗, และในกาลบัดนี้ ยังเปนมานวันตรของมนูองค์ที่ ๗ นั้นอยู่.

 

          นามพระมนู ๑๔ องค์มีตามลำดับดังต่อไปนี้, คือ (๑) สวายัมภูว (๒) สวาโรจิษ (๓) โอตตมี (๔) ตามะสา (๕) ไรวตะ (๖) จากษุษ (๗) ไววัสวัต, หรือสัตยพรต (๘) สาวรรณ (๙) ทักษะสาวรรณ (๑๐) พรหมสาวรรณ (๑๑) ธรรมสาวรรณ (๑๒) รุทระสาวรรณ (๑๓) เราจยะ (๑๔) เภาตยะ.”  []

 

          นอกจากความเป็นมาของพระมนูตามที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ อธิบายและอภิธานในเรื่องนารายณ์สิบปาง” แล้ว ในคัมภีร์ “มนูสันหิตา” หรือ “มานวธรรมศาสตร์” ซึ่งพระมนูสวายัมภูได้รจนาไว้เป็นกฎหมายที่อิทธิพลยิ่งในชมพูทวีปในอดีตกาล ก่อนที่จะแพร่ไปสู่ประเทศต่างๆทางประจิมทิศ ซึ่งบรรดากษัตราธิราชแห่งประเทศเหล่านั้นต่างก็รับเอาหลักพระธรรมศาสตร์ หรือหลักแห่งความยุติธรรมอันปรากฏในคัมภีร์นั้นไปดัดแปลงใช้เป็นกฎหมายของประเทศตนสืบมา

 

          สำหรับประเทศไทยเรานั้นก็รับเอาหลักแห่งความยุติธรรมในคัมภีร์ “มนูสันหิตา” หรือ “มานวธรรมศาสตร์” มาปรับใช้เป็น “กฎหมายพระธรรมศาสตร” โดยสันนิษฐานกันว่า

 

          “เข้ามาสู่ประเทศไทยพร้อมกับพุทธศาสนา สมัยเมื่อชาวอินเดียได้พากันอพยพเข้ามายังสุวรรณภูมิ ระหว่าง พ.ศ. ๒๗๐ ถึง ๓๐๐ ชาวอินเดียได้นำศิลปวิทยาการต่างๆ ตลอดจนศาสนาพราหมณ์และหลักพระธรรมศาสตร์เข้ามาด้วย ดังจะเห็นว่าศิลาจารึกสมัยสุโขทัยก็มีร่องรอยวัฒนธรรมฮินดูอยู่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไทยได้ใช้กฎหมายนี้แล้วอย่างบริบูรณ์ ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก ต้นฉบับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์สำหรับศาลหลวงก็สาบสูญไปหมด คงมีเหลืออยู่ในจังหวัดไกลๆ ซึ่งพม่าข้าศึกไม่ได้ไปรบกวน แต่ไม่ได้จบบริบูรณ์ดีเหมือนต้นฉบับหลวง ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกฎหมายขึ้นไว้ เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง พระธรรมศาสตร์เป็นลักษณะหนึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายดังกล่าว”  []

 

          ด้วยเหตุที่ไทยเรารับเอาคัมภีร์มนูสันหิตา หรือมานวธรรมศาสตร์มาเป็นหลักในการอำนวยความยุติธรรมแก่ทวยราษฎรนั้นเอง จึงเกิดเป็นธรรมเนียมในราชสำนักที่บรรดาเจ้านายราชตระกูลซึ่งจะต้องทรงเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมจักต้องทรงเรียนรู้กฎหมายพระธรรมศาสตร์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ แล้วจึงเกิดเป็นคติความเชื่อต่อๆ กันมาว่า “แต่ปางหลังยังมีฤษีขลัง พระมนูนามดังโลกรู้จัก แต่งตำราธรรมศาสตร์ฉลาดนัก กษัตริย์มักถือว่าเป็นอาจารย์”

 

 

 

 

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงวังจัดสร้างตราประจำชาดรูป “พระมนูแถลงสาร” เป็นตรางาแกะ [] พระราชทานให้เป็นตราประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

 

 

ตราประจำชาดรูปพระมนูแถลงสารประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอประวัติวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

 

 

          ตราพระมนูแถลงสารที่พระราชทานให้เป็นตราประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นั้น มีลักษณะเป็นดวงตรากลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖.๕ เซนติเมตร อันจัดอยู่ในชั้นตราพิเศษสำหรับหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลางดวงตราแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งห้อยขาขวาอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ในมือถือใบลาน สองข้างซุ้มเรือนแก้วตามแนวขอบโค้งของดวงตราเป็นลายเถาโค้งมีกระหนกข้างละ ๓ ตัว ยอดกระหนกปลายสบัด กาบตัวเหงาประกอบเป็นลายเถาซึ่งเป็นแบบตราประทับที่ใช้ในราชสำนัก

 

 

ดวงตราประทับรูปพระมนูแถลงสาร

(ซ้าย) โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ (ขวา) กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

          ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมุรธาธรจัดสร้างดวงตราประจำรูปกลมลายกลางเป็นรูปพระมนูแถลงสารเช่นเดียวกับตราโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นอีกดวงหนึ่ง แต่เพิ่มข้อความที่ริมขอบดวงตราว่า “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง จังหวัดเชียงใหม่” และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์” เป็นส่วนราชการที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการในโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้ง ๔ แห่ง คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนพรานหลวง แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานตราประจำชาดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เซนติเมตร ลายกลางเป็นรูปพระมนูแถลงสาร มีอักษรที่ริมขอบว่า “กรมโรงเรียน ในพระบรมราชูปถัมภ์” ให้เป็นตราประจำกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อีกดวงหนึ่ง

 

 

บัตรเชิญงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 
 
 

 

[ ]  อธิบายและอภิธานในหนังสือนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๐๒.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗ - ๙.

[ ]  สถิตย์ เล็ง”ธสง, “พระธรรมศาสตร์”, สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ๑๕ (๒๕๒๑ – ๒๕๒๒), หน้า ๙๑๘๔.

[ ]  ดวงตราตำแหน่งราชการสำหรับประทับในเอกสารคำสั่งต่างๆ ในทางราชการนั้น มีลำดับชั้นแตกต่างตามขนาดของดวงตราลดหลั่นกันลงไป เช่น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงถือดวงตราขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ เซนติเมตร เสนาบดีกระทรวงต่างๆ ถือตราสองดวง เรียกว่า ตราใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เซนติเมตร สำหรับประทับสารตราหรือหนังสือซึ่งเสนาบดีดำเนินกระแสพระบรมราชโองการดำรัสสั่งข้อราชการ (คือเสนาบดีรับพระบรมราชโองการมาจัดทำเป็นหนังสือหรือประกาศ) กับตราน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ เซนติเมตร สำหรับประทับท้องตราซึ่งเป็นประกาศหรือหนังสือสั่งราชการซึ่งเป็นคำสั่งของเสนาบดี

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |